Skip to main content

หน่วยสันติเสนา กองกำลังสมานฉันท์

คอลัมน์/ชุมชน

 


ในรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ซึ่งเตรียมจะนำเสนอต่อรัฐบาลในเร็ว ๆ นี้ ได้เสนอมาตรการเฉพาะหน้าและระยะยาวหลายประการเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   หนึ่งในมาตรการเฉพาะหน้าที่น่ากล่าวถึงในที่นี้ได้แก่การจัดตั้ง "หน่วยสันติเสนา"


 


แม้ว่า กอส.ไม่ได้ปฏิเสธบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามและจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงแรง   แต่เห็นว่าการยุติความรุนแรงในภาคใต้อย่างได้ผลนั้นจะต้องใช้มาตรการทางการเมืองเป็นหลัก   ชัยชนะทางทหารนั้นให้ผลได้ไม่ยั่งยืนเท่าชัยชนะทางการเมือง  นี้คือบทเรียนจากการต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อ ๒๕ ปีก่อน จนทำให้สงครามกลางเมืองยุติได้ในที่สุด  จริงอยู่ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันแตกต่างจากความรุนแรงจากกองกำลังติดอาวุธคอมมิวนิสต์ในอดีต แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ความรุนแรงในทั้งสองกรณีขยายตัวไปได้อย่างรวดเร็วก็เพราะผู้ก่อการนั้นมีประชาชนเป็นแนวร่วมอย่างกว้างขวาง และที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะมีความโกรธเกลียดและหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเชื้อมูลสำคัญ


 


หน่วยสันติเสนาที่ กอส.เสนอนั้น เป็นกองกำลังพิเศษที่ไม่ติดอาวุธ ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และพลเรือน มีสังกัดเฉพาะของตน แต่บังคับบัญชาโดยกองทัพ  อาจมีสถานะเป็นกองพัน หรือเป็นหน่วยเล็ก ๆ อยู่ในกองทัพระดับต่างๆ ก็ได้  หน้าที่สำคัญก็คือปฏิบัติงานสร้างสันติในกรณีความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น จนถึงขั้นจับเจ้าหน้าที่หรือครูเป็นตัวประกัน ดังกรณีตันหยงลิมอ  หรือก่อการชุมนุมเพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่รัฐดังกรณีตากใบ   และที่น่าเป็นห่วงคือต่อไปอาจมีความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกัน


 


ความขัดแย้งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการสูญเสียเลือดเนื้อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอไป  หากเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชน รวมทั้งมีทักษะในการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี สามารถเข้าไปคลี่คลายสถานการณ์โดยได้รับความไว้วางใจจากทุกฝ่าย  หรือหากจะเกิดความรุนแรงขึ้น ก็สามารถระงับหรือจำกัดขอบเขตไม่ให้บานปลาย


 


ที่ผ่านมา เรามักปล่อยให้เจ้าหน้าที่หรือผู้รับผิดชอบในพื้นที่ (เช่น ผู้ว่าฯ) แก้ปัญหาเหล่านี้เอาเอง โดยไม่ได้มีการตระเตรียมทักษะความสามารถมาก่อน อีกทั้ง "ต้นทุนทางสังคม"  ก็อาจไม่มากพอที่จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนที่เกี่ยวข้อง  ดังนั้นบ่อยครั้งสถานการณ์กลับเลวร้ายลงจนกลายเป็นความรุนแรง  


 


หน่วยสันติเสนา เป็นความพยายามที่จะเข้ามาอุดช่องว่างดังกล่าว โดยมีหน้าที่เฉพาะหน้าคือป้องกันมิให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้ว ลุกลามกลายเป็นความรุนแรง  หน่วยนี้จะมีเครื่องแบบพิเศษหรือสัญลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากทหารและตำรวจทั่วไป  ที่สำคัญคือได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษในด้านการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เช่น มีทักษะในการเจรจาและการไกล่เกลี่ย  การระงับข่าวลือ  รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในด้านศาสนา วัฒนธรรม ภาษา และประเพณีของท้องถิ่น  ด้วยเหตุนี้นอกจากมีพลเรือนที่ชำนาญการด้านสันติวิธีร่วมด้วยแล้ว  ยังควรมีอนุศาสนาจารย์ทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิมอยู่ในหน่วยนี้ด้วย


 


แม้ว่าหน่วยนี้จะเข้าไปปฏิบัติการทันทีที่เกิดความขัดแย้งในพื้นที่  แต่ในยามปกติก็มีงานประจำคือการให้ความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในเรื่องทักษะการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี  รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจในด้านศาสนา มิใช่เพื่อให้รู้จักศาสนาของเพื่อนบ้านดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพื่อให้เข้าใจศาสนาของตนอย่างถูกต้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน ภารกิจดังกล่าวยังจะเป็นการช่วยปลูกฝังธรรมะให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน


 


ในสถานการณ์ที่มีความรุนแรงรายวัน อีกทั้งประชาชนมีความหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐอย่างสูง  ไม่ใช่เรื่องง่ายที่หน่วยสันติเสนา (หากจัดตั้งขึ้นมาได้) จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจนทำงานได้ผล  แต่การที่ประชาชนหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐอย่างสูงนั้นเอง คือเหตุผลที่สมควรจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา เพื่อฟื้นฟูความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชนขึ้นใหม่  


 


การฟื้นฟูความไว้วางใจที่เสียไปให้กลับคืนมานั้น  สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ ความกล้าที่จะเสี่ยง  โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะไว้ใจอีกฝ่ายหนึ่ง และพร้อมที่จะเอาตัวเข้าแลกเพื่อชนะใจเขา    การที่จะได้ใจของอีกฝ่ายหนึ่ง(ซึ่งทั้งหวาดกลัวและระแวง)กลับคืนมานั้น ต้องอาศัยความเสียสละและความจริงใจ   แม้จะไม่มีหลักประกันว่าจะได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์   แต่ก็ไม่มีทางอื่นที่ดีไปกว่านี้  หน่วยสันติเสนาคือสิ่งหนึ่งที่จะบ่งชี้ถึงเจตจำนงของกองทัพว่าพร้อมจะคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนด้วยสันติวิธี และพร้อมที่จะฟื้นฟูความไว้วางใจที่สูญเสียไปมากแล้วให้กลับคืนมา


 


หากหน่วยสันติเสนาสามารถตั้งขึ้นได้ในกองทัพ ย่อมถือว่าเป็นก้าวสำคัญของกองทัพไทยและเป็นนวัตกรรมที่จะมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย  จะว่าไปแล้วอาจเป็นคุณูปการในระดับโลกด้วยซ้ำ   เพราะปัจจุบันเริ่มมีความพยายามในหลายประเทศที่จะจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี  มีทั้งที่ริเริ่มโดยภาครัฐเองและโดยภาคเอกชน  ในเยอรมนี รัฐบาลได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดตั้ง หน่วยบริการสันติภาพขึ้น (Civil Peace Service) ทำหน้าจัดการความขัดแย้งทั้ง ๓ ขั้นตอน คือ ๑) ป้องกันความขัดแย้งไม่ให้ลุกลามเป็นความรุนแรง   ๒) บรรเทาความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น   ๓) ฟื้นฟูความสงบและสร้างความสมานฉันท์    ผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดเป็นพลเรือนและทำงานอย่างอาสาสมัคร แต่มีการฝึกฝนอบรมอย่างเข้มข้น เพิ่มเติมจากพื้นฐานหรือประสบการณ์เดิมที่มีอยู่แล้ว   และจะปฏิบัติงานเมื่อได้รับการร้องขอจากหน่วยงานหรือประชาชนในพื้นที่


 


ในสวีเดน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรีย ก็มีความริเริ่มในทำนองเดียวกันโดยภาครัฐ  ที่อิตาลี กระทรวงกลาโหมได้มีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง "กองกำลังหมวกขาว" ขึ้นในกองทัพ  แม้ส่วนใหญ่เป็นการจัดตั้งเพื่อส่งเสริมงานด้านสันติภาพนอกประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความรุนแรงจากความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์หรือศาสนา  แต่ก็เริ่มคิดถึงการนำมาใช้กับกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศของตนด้วย  เพราะความขัดแย้งดังกล่าวกำลังเป็นปัญหาในทุกประเทศ  ไม่เว้นแม้แต่ยุโรปเอง ดังนั้นไม่กี่ปีมานี้ สหภาพยุโรปจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง  เช่น  มีการตั้งเป้าฝึกทักษะการจัดการเหตุวิกฤตให้แก่ตำรวจ ๕,๐๐๐  นาย  จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินโดยมีเจ้าหน้าที่ ๒,๐๐๐ คน สามารถปฏิบัติงานได้อย่างฉับพลัน


 


กองกำลังพิเศษอย่างหน่วยสันติเสนาแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย  แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้  สังคมไทยมี "ต้นทุน" มากมายที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมดังกล่าวได้ ไม่ว่าประสบการณ์จากการปฏิบัติตามคำสั่ง ๖๖/๒๓ จนสำเร็จมาแล้ว ตลอดจนพื้นฐานทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ใฝ่สันติ  และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ มีบุคคลจำนวนมากโดยเฉพาะในภาครัฐที่ทำงานแนวทางนี้อยู่แล้วเป็นส่วนตัว ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง  บุคคลเหล่านี้คือทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยให้หน่วยสันติเสนาหากจัดตั้งขึ้นมาได้จะเป็นพลังสำคัญในการดับไฟใต้ด้วยสันติวิธี


 


เผยแพร่ครั้งแรกในโพสต์ทูเดย์ พฤษภาคม ๒๕๔๙