Skip to main content

การทำงานต้านการค้ามนุษย์บนทางสองแพร่ง

คอลัมน์/ชุมชน

1


การค้ามนุษย์ถือเป็นรูปแบบใหม่ของการค้าทาสและการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ที่เป็นปรากฏการณ์ขยายวงกว้างขึ้นไปเรื่อย ๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ทุกวันนี้จึงกลายเป็นปัญหาระดับโลก ที่หลายประเทศต่างพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกันในระดับต่าง ๆ และเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันในระดับโลกนั้นก็ได้มีพิธีสาร (protocol) ว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และ การลงโทษการค้ามนุษย์ ต่อท้ายอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (ดู- โลก "การค้ามนุษย์" ไร้พรมแดน)


ทั้งนี้ เป็นความพยายามที่จะกระทำโดยให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์นั้นได้รับความช่วยเหลือ ให้หลุดพ้นออกมาจากการถูกค้าในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งการถูกแสวงประโยชน์ต่าง ๆ ถูกบังคับใช้แรงงาน ถูกบังคับค้าประเวณี ถูกทำให้อยู่ในสภาวะจำยอม และอื่น ๆ ตามคำจำกัดความที่ว่าไว้ในพิธีสาร (ดู-โลก "การค้ามนุษย์" ไร้พรมแดน)



ด้วยเหตุที่ว่าในเรื่องของการค้ามนุษย์นั้นมีทั้งในส่วนของความช่วยเหลือและการปราบปรามซึ่งทั้งนี้แม้จะเป็นการเน้นการปราบปรามผู้ที่มีอิทธิพล หรือผู้ที่เป็นคนค้า อย่างเช่น เจ้าของกิจการ หรือมีส่วนร่วมที่ต้องทำให้มนุษย์ต้องตกเป็นเหยื่อ แต่หลายๆครั้งภายใต้การช่วยเหลือเหล่านั้นก็กลับเป็นอันตรายต่อผู้บริสุทธิ์ไปด้วย จึงมีการถกเถียงกันเกิดขึ้นในประเด็นที่ว่า ควรที่จะยังคงใช้แนวคิดในเรื่องการทำงานเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์มาเป็นหลักในการทำงานอยู่หรือไม่ หรือ ควรใช้เรื่องของการบังคับใช้แรงงานหรืออื่นประเป็นแนวคิดหลักแทน


การถกเถียงอย่างหลากหลายและจริงจังเกิดขึ้นในการประชุมสมัชชาของพันธมิตรสากลต้านการค้าหญิง ( GAATW) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนไม่แสวงผลกำไรซึ่งทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิผู้ที่มีสมาชิก และพันธมิตรอยู่ทั่วโลก ที่ทำงานเรื่องการค้ามนุษย์และแรงงานหญิงย้ายถิ่น ที่ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วม 150 คน จาก 31 ประเทศ โดยผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นสมาชิก และเป็นผู้สนใจ จากกลุ่มประเทศอัฟริกา ลาตินอเมริกา อเมริกาเหนือ ยุโรป และ เอเชีย โดยการจัดสมัชชาดังกล่าวนี้ เป็นการจัดเนื่องในโอกาสการทำงานครบรอบ 10 ปีของ GAATW เพื่อทบทวนแนวทางการทำงานที่ผ่านมารวมทั้งเพื่อหาแนวทางการทำงานต่อไปในอนาคต


ประเด็นถกเถียงที่เกิดขึ้น โดยกลุ่มที่ทำงานเพื่อเสริมศักยภาพผู้ค้าบริการทางเพศ และผู้ที่ทำงานในประเด็นแรงงานข้ามชาตินั้นได้เรียกร้องว่า ควรที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm) การทำงานแนวใหม่โดยเน้นในเรื่องของการบังคับค้าแรงงานแทนที่จะใช้ประเด็นการค้ามนุษย์ เห็นว่าวิธีการทำงานโดยใช้แนวคิดดังกล่าวนั้นได้พุ่งเป้าการใช้กฎหมายและมาตรการต่าง ๆ จัดการกับผู้ค้าบริการทางเพศและแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นการเน้นกรอบทำงานโดยใช้วิธีคิดเรื่องการต้านค้ามนุษย์ ( Anti-trafficking Framework) จะทำให้บุคคลเหล่านั้นไม่ปลอดภัย


บุคคลกลุ่มนี้ได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงปัญหาอย่างเช่นในการเข้าไปบุกจับ หรือเข้าทลายสถานประกอบการ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกบังคับค้าแรงงาน หรือค้าประเวณี และอื่น ๆ เพื่อที่จะช่วยคนเหล่านี้ออกมา แต่ปรากฏว่ากลับมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ต้องการรับความช่วยเหลือกลับถูกจับไปด้วย


ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ กรณีใกล้ตัวคือในประเทศไทย เคยมีตำรวจรับแจ้งเรื่องการบังคับค้าประเวณีเด็กในสถานบริการแห่งหนึ่งการเข้าไปบุกจับนั้นแทนที่จะได้ตัวผู้ประกอบการมาดำเนินคดี แทนที่จะได้ตัวผู้ประกอบการกลับพบเด็กจำนวนหนึ่งและผู้ใหญ่ที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการจำนวนมาก ผู้หญิงหลายคนแม้ถูกบังคับมาตั้งแต่ต้นแต่เนื่องจากมีนายหน้าไปนำตัวมาและเป็นหนี้เป็นสินอยู่ รวมทั้งอยู่บ้านเดิมก็มีหนี้สิน และระหว่างที่อยู่ในสถานบริการนั้นก็เป็นงานเพื่อใช้หนี้ บางคนคิดว่าหากใช้หนี้หมดแล้วจะได้มีเงินเก็บจำนวนหนึ่งและกลับบ้านได้ โดยที่เงินจากการทำงานนั้นส่วนใหญ่จะไม่ได้รับก่อนแต่จะอยู่ที่ผู้ประกอบการโดยฝากเอาไว้ก่อนถึงเวลากลับบ้านก็จะได้เป็นกอบเป็นกำ ทว่า วิธีการดังกล่าวกลับทำให้ผู้ประกอบการหายไป เงินที่คิดว่าจะได้ก็หายไปด้วย เท่ากับว่าทำงานฟรี และหนี้สินก็มีอยู่ ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงเห็นว่า การทำงานเพื่อการช่วยเหลือภายใต้วิธีคิดแบบนั้นจึงเป็นการทำงานช่วยเหลือกลุ่มหนึ่ง แต่กลับเป็นอันตรายกับอีกกลุ่มหนึ่ง จึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนกรอบวิธีคิดในการทำงานเสียใหม่


2


ส่วนผู้ที่กำลังทำงานภายใต้กรอบเรื่องของวิธีคิดเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์ ยังคงยืนยันว่า ยังมีความจำเป็นอยู่ดีที่จะต้องการใช้กระบวนการทำงานภายใต้วิธีคิดเรื่องการค้ามนุษย์อยู่ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะจำแนกไม่ได้ว่าใครที่ตกเป็นเหยื่อบ้าง โดยสนับสนุนว่า ในกรณีการทำงานเรื่องสิทธินั้น แน่นอนว่า ควรจะทำงานเพื่อส่งเสริมการย้ายถิ่นที่ปลอดภัย แต่ว่าในภาพใหญ่ของการย้ายถิ่นนั้นจะมีเรื่องของการค้ามนุษย์อยู่ด้วย หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะเรียกร้องสิทธิของตนเองได้อย่างไร เพราะปัจจุบันนี้มีคนจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ แต่กลับต้องกลับกลายเป็นจำเลยไปแทนที่จะได้รับความช่วยเหลือ


ตัวอย่างเช่น หญิงไทย ที่ถูกหลอกไปทำงานที่ญี่ปุ่น หากไม่อาศัยแนวปฎิบัติต่อผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์มามองแล้ว คนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย อาจถูกจับ ถูกปรับและถูกเนรเทศได้


การถกเถียงยังคงดำเนินต่อไป จนดุเหมือนว่า การทำงานที่ปรารถนาดีกลับกลายเป็นประสงค์ร้าย อย่างไรก็ตาม ตามมุมมองของที่ปรึกษาพิเศษของคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โจธี สังเฮรา ให้ความเห็นว่า การทำงานภายใต้กรอบความคิดเรื่องการค้ามนุษย์นั้นจะเป็นอันตรายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กลับกระบวนการการทำงานที่ใช้ได้ถูกหรือไม่ หากเป็นกระบวนการที่อยู่ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน (Rights based- Approach) แล้วก็ไม่อันตราย แต่กลับเป็นการช่วยเหลือมากกว่า


โดยกลุ่มดังกล่าวก็เห็นด้วยที่จะนำเรื่องหลักการทำงานภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชนมาทำความเข้าใจให้กับคนที่ทำงานในระดับต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลกระทบทางลบจากการทำงานเพื่อช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์


อย่างไรก็ตาม มีความจากผู้เข้าร่วมเป็นทำนองเดียวถึงประเด็นที่ทำให้การทำงานภายใต้กรอบการต้านค้ามนุษย์ที่ถูกมองว่าเป็นอันตราย ว่าความจริงแล้วส่วนหนึ่งมีผลโดยตรงมาจากนโยบายของสหรัฐอเมริกา


เนื่องมาจากสหรัฐฯ ได้เน้นเรื่องการปราบปรามและให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เป็นผู้ค้า และตั้งลำดับประเทศที่ให้ทำงานประสบความสำเร็จในเรื่องการค้ามนุษย์เอาไว้ว่า ประเทศไหนอยู่ลำดับ (tier) ไหน ตัวอย่างประเทศไทยที่เคยเชื่อว่า ดำเนินการด้านการค้ามนุษย์มาแล้วอย่างถูกทาง โดยที่ทำงานทั้งในเรื่องของการป้องกันและช่วยเหลือ แต่เมื่อสหรัฐฯ เห็นว่ายังไม่มีผลงานในการปราบปรามจึงจะลดลำดับไทยลงมา เป็น tier 3 (ซึ่งอยู่ลำดับเดียวกับประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงสุด เช่น พม่า ) แต่ในฐานกรุณาก็ให้ยังคงอยู่ tier 2 watch list แปลว่าเป็นประเทศที่จะต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ การจัดลำดับนั้นทำให้แต่ละประเทศอับอาย จึงต้องดำเนินการเรื่องปราบปรามมากขึ้น จนขาดมุมมองที่เป็นประเด็นอ่อนไหวอันจะเกิดกับเหยื่อ และเกิดกับผู้คนรอบข้าง


นอกจากนั้น การที่สหรัฐฯ มีเงื่อนไขของการให้ทุนสนับสนุนกับประเทศต่าง ๆ ในการทำงานทั้งในเรื่องของการค้ามนุษย์และทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์ว่า ไม่สนับสนุนองค์กรที่ทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพ ผู้ค้าบริการทางเพศ ทำให้การทำงานยิ่งยากขึ้น เพราะหลาย ๆ ครั้งการทำงานเพื่อให้เข้าถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาจต้องอาศัยความช่วยเหลือจากกลุ่มคนเหล่านี้ อีกทั้งการปราบปรามที่สหรัฐฯ ใช้นั้นก็หมายถึงการปราบปรามผู้ค้าบริการทางเพศไปด้วย หากคนเหล่านั้นไม่ได้รับการจำแนกว่าเป็นเหยื่อ


ในที่สุดการทำงานก็มาถึงทางสองแพร่งว่าจะเลือกทางไหนดี แต่ที่แน่ ๆ หากเลือกวิธีเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนแล้ว ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด