Skip to main content

กะเทย ตำรวจ และการนำเสนอข่าว

คอลัมน์/ชุมชน


ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 2549 ที่ปรากฏข่าวตำรวจชั้นนายพันท่านหนึ่งเสียชีวิตในโรงแรม หลังจากเข้าพักพร้อมกับหญิงสาวที่ภายหลังข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เรียกว่า "อี..." กะเทยแสบทุกครั้ง พบว่าสามารถดำเนินคดีได้รวดเร็วมาก คือวันที่ 19 ก็ออกหมายจับได้  วันที่ 20 พาไปทำแผนในที่เกิดเหตุได้  ใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้นแสดงให้เห็นว่าตำรวจมีศักยภาพมากเพียงใด


 


แต่เมื่อย้อนกลับไปคิดเรื่องอาชญากรรมอื่นๆ ที่ประชาชนคือผู้ได้รับผลโดยตรงเช่น กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่หายตัวไปขนาดสามารถจับผู้ต้องหาบางคนที่เป็นตำรวจได้และถูกพิพากษาดำเนินคดี แต่ก็ยังไม่อาจตามหาตัวทนายหรือร่างกายหรือเบาะแสสถานที่ที่เกิดเหตุได้ จึงไม่รู้ว่าอะไรเป็นมาตรฐานของการดำเนินการของตำรวจได้ 


 


อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ต้องคิดเกี่ยวกับมาตรฐานทางสังคมที่มีต่อ "กะเทย" เมื่อรู้ว่าผู้ทำร้ายตำรวจเป็นชายแปลงเพศ การนำเสนอข่าวได้พิพากษาการเป็นคนแปลงเพศไปเรียบร้อยแล้วว่าเป็น "อีกะเทย" เป็นน้ำเสียงดูหมิ่นดูแคลนและทำให้สังคมไม่ค่อยอยากเอาใจใส่คดีนี้สักเท่าไร การเป็นกะเทยไม่เป็นที่ยอมรับของสื่อมวลชน และได้นำเสนอสื่อสารในเชิงดูถูกออกไป รวมถึงการที่ได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเชียงใหม่ที่ตำรวจออกกวาดจับ "ผู้แปลงเพศ" "ผู้แต่งกายตรงข้ามกับเพศ" หรือ "กะเทย" บริเวณลานประตูท่าแพ มาเพื่อตักเตือนและจัดทำทะเบียนว่าเป็นใคร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน เพื่อเป็นการปรามว่าถูกติดตามอยู่นะ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าตำรวจเกี่ยวข้องกับบรรดากะเทย ทั้งในเชิงอำนาจควบคุม ตรวจสอบ และมีผลประโยชน์ร่วมกันคือเมื่อไม่มีเหตุการณ์ใดใดก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน หรือบางทีก็สัมพันธ์กันเช่นนายพันตำรวจโทกับกะเทยในผับที่ถูกตาต้องใจกัน พูดคุยกัน ดื่มด้วยกัน กินข้าวต้มด้วยกัน และมีเพศสัมพันธ์กัน


 


สำหรับการนำเสนอข่าวเรื่องนี้ นับเป็นที่น่าสนใจในประเด็นที่สื่อมวลชนไม่ได้ให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัวของนายตำรวจที่เสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความเคารพต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหาย ครั้งนี้ เราไม่เห็นการขุดคุ้ยว่านายตำรวจคนนี้เป็นใคร มีพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นใคร ลูกเมียเป็นอย่างไร งานศพเป็นอย่างไร เหมือนกับที่มักจะมีการขุดคุ้ยกับผู้ตกเป็นข่าวรายอื่นๆ หรือกรณีนี้เพราะเป็นตำรวจเลยได้รับการยกเว้น หรือเป็นเพราะสื่อให้ความเคารพในเรื่องนี้มากขึ้นแล้วจริงๆ


 


ภาวะความเป็นสุขของสังคมคือการที่ทุกคนได้รับการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของวิถีชีวิตไม่ว่าคนนั้นจะมีสถานะใดในสังคม  เป็นคนธรรมดา เป็นตำรวจ เป็นทหาร เป็นข้าราชการ เป็นคนรวยหรือเป็นคนจน  มีสภาวะวิถีชีวิตทางเพศที่นอกเหนือไปจากเป็นหญิงเป็นชาย มีความสัมพันธ์ทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน หรือรักต่างเพศ หรือรักทั้งสองเพศกลับไปกลับมา หรือมีความรู้สึกนึกคิดเป็นเพศตรงข้ามกับอวัยวะทางเพศ การเป็นกะเทย เป็นเกย์ เป็นหญิงรักหญิง หากสื่อมวลชนไม่ทำหน้าที่ตัดสินวิถีชีวิตของผู้คน ให้ความเคารพในความแตกต่าง  เพื่อช่วยสร้างสมดุลให้สังคมที่อ่านข่าวได้ฉุกคิดบ้างว่าชีวิตของผู้คนแต่ละคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเคารพ ได้รับการยอมรับ ไม่รังเกียจ ไม่ดูหมิ่น เหยียดหยามต่อกัน เพื่อสร้างสังคมแห่งความรักความเข้าใจมากกว่าความเกลียดชังและแบ่งแยก  


 


คราวนี้เขียนเหมือนบ่น ต้องขออภัยท่านผู้อ่านด้วย แต่ดิฉันให้ความสำคัญกับเรื่องการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของชีวิตผู้คนมาก จึงมีความรู้สึกต่อข่าวตำรวจกับกะเทยในครั้งนี้มากหน่อยและพาลคิดไปถึงเรื่องการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนด้วย  อย่างไรก็ตาม มันก็เกี่ยวโยงกับชื่อคอลัมน์ด้วยนั่นคือทำอย่างไรชุมชนจึงจะเป็นสุข  เป็นสุขทั้งกายใจสังคมและจิตวิญญาณ