Skip to main content

ประเทศเราเป็นประชาธิปไตย?

คอลัมน์/ชุมชน

1


ในที่สุดผลก็ออกมาแล้วว่ากำหนดให้เปลี่ยนวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2005 อันเนื่องมาจากการท้วงติงจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีที่จะไม่ให้มีสุญญากาศทางการเมืองนานเกินไป ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยินดีที่จะขานรับ ทั้ง ๆ ที่เดิมวางแผนไว้อย่างดีแล้วว่าจะเป็นวันไหน และที่สำคัญจังหวะของการทำงานก็ถูกวางเอาไว้แล้วอย่างดี จึงสงสัยว่าทำไม กกต. ถึงไม่ยืนยัน และนี่ถ้าเป็นคนอื่นออกมาพูด กกต.จะยอมเลื่อนวันหรือไม่ ที่สำคัญ ทำไมคนอื่นถึงไม่ได้คิดห่วงประเทศชาติเลยว่าจะมีสุญญากาศทางการเมือง


การจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต. ซึ่งเป็นหน่วยงายอิสระตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และการเลือกตั้งในประเทศไทยก็เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และในความหมายที่เข้าใจและรับรู้ร่วมกันมาก็คือ ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และ เพื่อประชาชน ซึ่งไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้ผู้คนยังยืนยันความหมายนี้อยู่หรือไม่ เพราะหากยังยืนยันเช่นนี้อยู่ก็หมายถึงว่า เสียงของประชาชนทุกเสียงย่อมมีความหมาย เป็นเสียงที่รัฐบาลต้องฟัง จะเสียงข้างมากหรือข้างน้อยก็ต้องฟัง


แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนทุกอย่างกลับเปลี่ยนไป คือ ประชาชนต้องฟังรัฐบาลข้างเดียว และหน่วยงานอิสระที่ตั้งขึ้นไปเพื่อทำงานเพื่อตรวจสอบหรือเป็นกลาง หรือให้ความเป็นธรรมก็เริ่มหันมาฟังเสียงรัฐบาลเช่นกัน ไม่ได้มีอำนาจอิสระตามที่ว่าไว้เป็นตัวหนังสือ ดังตัวอย่าง กกต. ในเรื่องกำหนดวันเลือกตั้ง แม้อาจไม่สร้างความเสียหายกับประชาชนโดยตรง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการตอบสนองอย่างทันท่วงทีก็เท่ากับว่า กกต.คิดเองไม่ได้


อย่างที่ว่าไว้ ในระบอบประชาธิปไตยนั้น รัฐบาลควรจะต้องฟังเสียงประชาชน แน่นอนล่ะว่าประชาชนได้ไว้วางใจลงคะแนนให้ไปทำหน้าที่แทนประชาชน กลุ่มหนึ่งก็ให้ไปบริหารประเทศ แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ประชาชนเลือกไปตรวจสอบซึ่งอยู่ในฐานะของฝ่ายค้าน แต่ทุกวันนี้ด้วยหลายปัจจัยประกอบกันที่ทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่คุมอำนาจส่วนใหญ่และแทบจะเบ็ดเสร็จ ความน่าเชื่อถือของฝ่ายค้านที่ค่อนข้างตกต่ำเมื่อเทียบกับฝ่ายรัฐบาล ประกอบกับปัญหาภายในของฝ่ายค้านเอง ดังนั้นจึงเท่ากับว่าฝ่ายที่จะต้องออกมาคานอำนาจได้หมดไป

แต่ถึงแม้ว่าฝ่ายค้านจะทำงานไม่ได้มากนัก ก็ใช่ว่าส่วนอื่นจะต้องนิ่งดูดาย ผู้ที่มองเห็นจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ จากการทำงานหรือการตัดสินบางอย่างของรัฐบาลก็ยังมีโอกาสที่จะเสนอแนะรัฐบาล ตัวอย่างเช่นบรรดานักวิชาการทั้งหลาย หรือกลุ่มที่ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเรียกสั้นว่า เอ็นจีโอ ที่เข้าถึงประชาชนและเห็นถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชน ก็ช่วยกันออกมาท้วงติงรัฐบาล แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลนี้ได้มองเห็นใครก็ตามที่เห็นต่างว่าเป็นศัตรู หรือเป็นผู้ไม่รักชาติ และดูแคลนความคิดเห็นและทำลายความน่าเชื่อถือ หรือ ดิสเครดิต (อย่างที่บางคนชอบพูด) ผู้ที่ออกความคิดเห็นเหล่านั้นเสีย


ตัวอย่างเช่น ทางฝ่ายนักวิชาการที่เฝ้าจับตามองด้านการเมืองก็พยายามที่จะออกมาทักท้วงและถกเถียงในหลายประเด็นที่ดูจะไม่ชอบมาพากล รัฐบาลก็ออกมาเรียกพวกนี้ว่า "ขาประจำ" โดยไม่ใส่ใจกับสาระที่นำมาเสนอ และออกมาชี้แจงให้ประชาชนรับรู้เป็นทำนองว่าพวกนี้ไม่ได้ทำงานจริง ดีแต่วิจารณ์ ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลจัดการกับศัตรูหมายเลขหนึ่งคือฝ่ายค้านลงไปได้แล้ว ต่อมาก็เป็นคิวของนักวิชาการ ซึ่งในที่สุดนักวิชาการหลายคนก็เป็นที่ชังน้ำหน้าของประชาชนไป ทั้ง ๆ ที่ได้เสนอหรือทักท้วงหลายกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อชาติ หรือถ้าเป็นในส่วนของเอ็นจีโอ ก็บอกว่า เอ็นจีโอใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ หรือเอ็นจีโอรับเงินต่างชาติ และการออกมาเรียกร้องเป็นการสร้างผลงาน และทำลายเครดิตเอ็นจีโอถึงขั้นทำให้คนรู้สึกว่าเอ็นจีโอไม่รักชาติ ผู้คนก็เริ่มชิงชังเอ็นจีโอ


กระนั้น หากรัฐบาลไม่ยอมรับฟังทั้งฝ่ายค้าน นักวิชาการ และเอ็นจีโอแล้ว เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ใช่หรือไม่ รัฐบาลต้องการจะฟังจากประชาชนโดยตรงใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ทำไมเราจึงเห็นเรื่องการออกมาเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมากมายตลอดทั้งปี ตั้งแต่เรื่องเขื่อนปากมูล ราศีไศล โรงไฟฟ้าหินกรูด ท่อก๊าซที่จะนะ และอื่น ๆ และสาเหตุของการเคลื่อนไหวก็เนื่องมาจากสิ่งที่รัฐตัดสินใจกระทำลงไปนั้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นหรือพื้นที่นั้น ๆ และทุกเรื่องล้วนยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนทั้งสิ้น


2


ล่าสุด "ประชาคมจังหวัดอุดรธานี" ได้ยื่นหนังสือให้ทางวุฒิสภาได้ตรวจสอบกรณีที่กองทัพอากาศได้ไปลงนามบันทึกความเข้าใจ ( MoU) กับสิงคโปร์ที่จะให้ใช้กองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา 15 ปี โดยไทยจะได้รับ เครื่องบิน เอฟ 16 เอ/บี เป็นจำนวน 7 ลำเป็นการตอบแทน และก่อนหน้านี้ก็มีการออกมาให้ความเห็นของทางตัวแทนหอการค้าและนักธุรกิจจากอุดรธานีต่อกรณีดังกล่าว ด้วยความหวั่นเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดอุดรฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของมลพิษทางเสียง ทั้งนี้ ทางประชาคมจังหวัดอุดรธานีนั้นต้องการให้นำเรื่องนี้มาดูใหม่และขอให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อฟังเสียงประชาชนก่อน


หากลองพิเคราะห์ดูให้ดีแล้วจะเห็นว่า กรณีการออกมาเคลื่อนไหวจากประชาคมจังหวัดอุดรธานี ไม่ได้เป็นอะไรที่ใหม่หรือแตกต่างไปจากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ทางภาคประชาชนดังกล่าวข้างต้น


การออกมาเรียกร้องของภาคประชาชนเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลไม่เคยยอมให้ประชาชนได้เข้าไปมีโอกาสรับรู้ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบกับประชาชน ประชาชนมักรับรู้หลังจากที่รัฐบาลตัดสินใจไปแล้ว รัฐบาลนี้มักจะใช้ข้ออ้างในการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ซึ่งถือว่าได้รับฉันทานุมัติมาแล้วจากประชาชนให้เข้ามาทำงานแล้วจึงคิดว่าการตัดสินใจอย่างเฉียบขาดและฉับพลันเป็นเรื่องที่ชอบธรรม และไม่ถือเสียงเรียกร้องที่มาจากประชาชนเป็นสาระ


เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ในกรณีของกองบิน 23 นั้น ทางกลุ่มนักธุรกิจจากอุดรฯ เป็นคนออกโรงเอง ไม่ได้เป็นการริเริ่มโดยนักวิชาการ หรือเอ็นจีโอ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ที่สุดแล้วประชาชนก็ต้องออกแรง และเป็นเสียงของประชาชนเองโดยตรง น่าเสียดายที่ว่า ที่ผ่านมานั้น เรามักมองเรื่องที่คนไปเรียกร้องอันเนื่องมาจากความเดือดร้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของใครของมันเป็นจุด ๆ ไป จนกว่าจะกระทบกับตนเองจึงรู้ว่า เหตุการณ์เช่นนี้เองหรือเช่นนั้นเองที่ทำให้คนที่นั่นหรือที่นี่เดือดร้อนและต้องออกมาเรียกร้องหรือร้องเรียน โดยไม่ได้มองว่าให้เห็นเรื่องที่เกิดขึ้นว่าเป็นภาพรวมของประเทศ ดังนั้นจึงเกิดเหตุการณ์คล้าย ๆ กันโผล่ขึ้นมาจุดแล้วจุดเล่า


เรื่องการออกมาเรียกร้อง การรวมกลุ่มประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่าจะไม่เกิดขึ้น หากรัฐบาลกระทำการโปร่งใส และให้ประชาชนมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้น การตัดสินใจใด ๆ อันส่งผลกรทบต่อประชาชนน่าจะได้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 หมวดที่ 3 มาตรา 59 นั้นยิ่งชัดเจนถึงการต้องทำประชาพิจารณ์เมื่อการกระทำใด ๆ จะส่งผลส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญที่เกี่ยวกับชุมชนหรือท้องถิ่น


"บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กฎหมายบัญญัติ"

ในกรณีนี้ทางประชาคมอุดรฯ เชื่อว่าจะเกิดมลพิษทางเสียง และจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานี ทั้งนี้อันที่จริงแล้วมีผู้วิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้หนักหน่วงกว่านี้เสียอีกด้วยซ้ำ หลายคนเกรงถึงขั้นจะเป็นชักศึกเข้าบ้านด้วยซ้ำ ผลกระทบหนักขนาดนี้ แต่รัฐบาลยังสามารถปล่อยปละเลยไม่ได้ให้ประชาชนได้รู้ล่วงหน้า และที่สำคัญอยู่ในช่วงที่สถานการณ์ภาคใต้กำลังรุนแรง


3


รัฐบาลได้ละเลยที่จะแจ้งให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยมักอ้างความชอบธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวผู้นำเองมักจะรับปากว่าจะดูแลให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของชาติ แต่ละเลยที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความโปร่งใสของการกระทำต่าง ๆ


ตัวอย่างง่าย ๆ ก็ตั้งแต่การไปตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับออสเตรเลีย ที่ประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้เลยว่าจะมีเนื้อหาเช่นไร ผู้นำรัฐบาลบอกเพียงว่าขอให้ไว้ใจ แล้วกลับมาจะเล่าให้ฟัง การตัดสินใจส่งทหารไปอิรัก ที่แรกทีเดียวก็บอกว่าจะเป็นไปตามมติยูเอ็น แต่ได้ส่งไปทั้งที่ไม่มีมติของยูเอ็น และไม่ได้ถามความเห็นประชาชนที่อยู่ในความกังวล


และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งครั้งที่เป็นการกระทำโดยฝ่ายรัฐ แล้วถูกประชาชนออกมาทักท้วง แต่ไม่แน่ใจว่าคราวนี้รัฐบาลจะมองว่าคนที่ออกมาทักท้วงเป็นศัตรูหรือไม่รักชาติอีกหรือไม่


ฯพณฯ นายรัฐมนตรีเองนั้นกล่าวให้สัญญาเสมอว่า จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยพัฒนาขึ้น ทว่า เท่าที่รัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศมาพบว่า องค์กรอิสระต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบ และคานอำนาจรัฐบาลกลับยิ่งอ่อนแอลง ความอิสระในการตรวจสอบก็น้อยลงทุกที จนกระทั่งประชาชนต้องออกโรงมาเองเพื่อให้รัฐบาลใส่ใจผลกระทบต่าง ๆ ที่มีต่อท้องถิ่นอันเนื่องมาจากการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ก็น้อยครั้งที่ประชาชนจะได้รับการตอบสนองอย่างจริงจัง เพราะรัฐบาลกำลังผลักให้ประชาชนคิดว่า "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" หรือ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" แทนที่จะยอมให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมตัดสินใจ


ถึงตอนนี้ก็เป็นที่น่าสงสัยว่า ประชาธิปไตย ในความหมายของประชาชนชาวไทยผู้เคยมีส่วนร่วมในการเรียกร้องประชาธิปไตย และเคยมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ กับคำว่าประชาธิปไตยที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีพูดถึง กับประชาธิปไตยที่ประชาชนเข้าใจมาแต่ดั้งแต่เดิมนั้น มีความหมายเดียวกันหรือไม่ และเป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนมีอำนาจจริงหรือ