Skip to main content

นอกก็ไม่ใช่ –ในก็ไม่เชิง

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


มาถึงไทยกว่าสัปดาห์หนึ่งแล้วขณะที่พิมพ์ต้นฉบับนี้อยู่ มีอะไรน่าตื่นเต้นมากมาย เหมือนตอนกลับมาไทยใหม่ๆ เมื่อเรียนจบโท และเมื่อเรียนจบเอก เพราะว่ามาแบบปักหลัก ไม่ใช่แค่แวะมาเยี่ยม มีความแตกต่างกว่าการเยี่ยมบ้านหก-เจ็ดครั้งที่ผ่านมาเพราะตอนนั้นมาแค่ช่วงสั้นๆ เหมือนนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาผ่านไป ไม่ต้องวางแผนระยะยาวและไม่ต้องคิดถึงเรื่องที่ต้องทำอย่างถาวร


 


ในใจนั้นรู้อยู่ก่อนแล้วว่า It will never be home again.  ถอดเป็นไทยได้ว่า บ้านจะไม่เหมือนเดิม ความรู้สึกต่างๆ ของเราจะเปลี่ยนไป เพราะตัวเราเองก็เปลี่ยน คนทางบ้านก็เปลี่ยน สิ่งแวดล้อมและสังคมทางบ้านก็เปลี่ยน  โชคดีที่มีประสบการณ์ผ่านมา 2 ครั้งก่อนหน้านี้ จึงไม่แปลกแยกนัก แต่ก็มีให้รู้สึกอึดอัดได้ โดยเฉพาะเรื่องของระบบความคิดและความเป็นอยู่ของสังคมนี้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยต่อไป หลายคืนที่ผ่านมาถามตนเองว่าฝันไปรึเปล่าที่มาอยู่ไทยแล้ว มันเหมือนฝัน เพราะใจนั่นยังอยู่ที่สหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ายังอาลัยเมืองนอก เพียงแต่ว่าการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปมาก ระบบความคิดของคนตรงนี้ต่างกับที่คุ้นมาเป็นเวลากว่า 6 ปี


 


เรื่องราวที่ผู้เขียนเจอตอนนี้ พูดเป็นภาษาอังกฤษว่า return shock หรือการช็อคทางวัฒนธรรมเมื่อกลับมาสู่บ้านเกิด ของคนที่เคยไปอยู่ต่างแดนเป็นระยะเวลานาน อาการมีมากน้อยนั้นแล้วแต่ปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ ความยาวนานของการอยู่ต่างแดน  พื้นฐานส่วนบุคคล  หลายคนเกิดอาการฟาดหัวฟาดหางเหมือนผู้เขียนเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ทำให้ต้องดิ้นรนกลับไปสหรัฐฯ เพื่อเติมให้เต็มในความรู้สึก ตอนนั้นผู้เขียน "แรง" มาก เรียกได้ว่ารับไม่ได้เลยกับระบบไทยๆ ในขณะนั้น  เป็นความเขลาที่เกิดขึ้นเพราะมองโลกแบบไร้เดียงสาและเล็งผลเลิศ ทำให้ไม่มีความสุขในระบบไทยๆ  เมื่อมองย้อนกลับรู้สึกขำตัวเองแต่ไม่เสียใจเพราะว่าเป็นเรื่องการเรียนรู้ แม้จะราคาแพงไปมาก แต่บอกตนเองว่าคุ้มเหลือคุ้ม คิดเป็นเงินตราไม่ได้


 


นึกถึงคำว่า "รู้มากยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญ" เพราะตนเองรู้สึกว่ารู้น้อยเกี่ยวกับไทยๆ ในสมัยนั้น แต่เริ่มรู้มากขึ้นมาอีกในวันนี้ แต่ยังคงต้องเรียนรู้ต่อไป เพราะสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน


 


เรื่องที่สำคัญที่สุดในความเขลาที่เกิดขึ้นคราวนั้น คือการเรียนการสอนในเมืองไทยที่ไม่ได้เน้นคุณภาพอย่างที่ควรเป็น  หากเน้นในเรื่องกฎระเบียบจุกจิกเช่นเรื่องรูปเล่มของงาน การแต่งกาย ผู้เขียนเกิดความท้อแท้ในการเรียนการสอนเพราะสิ่งแวดล้อมนั่นอืดอาดยืดยาด เด็กเองก็คิดไม่ได้ สอนให้คิดก็ไม่ยอมคิด  คอยให้แต่ป้อน สอนไปรันทดใจไป จนไปสอนที่สหรัฐฯ ที่ผู้เรียนมีความรับผิดชอบมากกว่า  แต่น่าเสียดายว่าตอนหลังๆ นี้ผู้เรียนนั้นก็ด้อยคุณภาพลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เข้าใจว่าเป็นโลกาภิวัตน์เสียจริงๆ คือเลวลงได้ทั่วไปหมดทั้งโลก


 


ตอนนั้นสอนไปก็เคี่ยวเข็ญเด็กไป ตนเองลืมไปว่านี่มันบริบทไทยๆ ไม่เหมือนกับที่เราโดนฝึกมา คุมงานภาคนิพนธ์/วิทยานิพนธ์ของเด็กปริญญาโทด้วยความยากลำบาก เพราะเด็กไม่รู้ว่าทำไปทำไม หลายคนไม่ยอมอ่าน ไม่ยอมเขียน แทบจะต้องจับมือเขียน บอกเด็กว่าโชคดีเท่าไรที่ทำในเมืองไทย ไม่ต้องเหงาหรือโดดเดี่ยวแบบในเมืองนอก อีกทั้งอาจารย์ก็คุมและติดตามขนาดนี้ น่าถือว่าเป็นข้อเด่นได้เปรียบมาก แต่เหมือนว่าจะไม่เป็นผล เด็กน้อยคนนักที่จะเข้าใจ กลายเป็นว่าเกิดความอึดอัดใจทั้งผู้สอนผู้เรียน ไม่น่าพิสมัยเอาเสียเลย


 


ถ้ารู้แต่วันนั้นว่า เด็กไม่ต้องการและผู้ใหญ่เองก็ไม่ต้องการ และที่สำคัญคือการเรียนการสอนแบบไทยๆ เป็นแบบนั้น  ผู้เขียนจะพยายามคล้อยตาม แต่เหมือนมีกรรมมาบังทำให้ผู้เขียนดันทุรัง ฟาดหัวฟาดหาง สร้างศัตรูอีกด้วยเพราะตนเองเห็นว่าคนอื่นๆ ไม่ตั้งใจทำงานไม่ว่าเด็กหรืออาจารย์เอง  แต่มันก็ผ่านไปแล้วแก้ไขไม่ได้


 


เพราะความไม่รู้และเหมาไปว่า ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปัญหาจึงเกิด เพียงแต่ว่าเรื่องแบบนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบ ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล ผู้เขียนได้ตั้งคำถามว่า ทำไมสังคมไทยจึงมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาแต่หากยอมรับในเชิงปฏิบัติว่าถูกต้อง ทั้งที่เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับหลักการที่ถูกต้อง  แต่นั่นแหละเมื่อคำตอบออกมาว่า "ก็เป็นแบบไทยๆ จะเอาอะไรกันมากมาย" กลายเป็นว่าคนที่เห็นค้านกับความเป็นไปต้องเป็นคนแปลกแยกหรือสังคมรังเกียจไปเสียเลย


 


มีเพื่อนผู้เขียนคนหนึ่งบอกว่า  "เป๋อต้องทำใจในการสอนและเผยแพร่ความรู้ในสังคมไทย เพราะเปรียบเสมือนเป๋อเดินออกไปนอกบ้าน แล้วเดินกลับมาในบ้านเพื่อจะบอกสิ่งใหม่ๆให้สังคมไทย ที่ไม่ได้เปิดใจมากนักกับเรื่องใหม่ๆที่เกินกว่าเรื่องวัตถุง่ายๆ การที่จะทำให้สังคมแบบนี้เปิดรับนั้นยากที่สุด ไม่ใช่เรื่องของเนื้อหา แต่เป็นเรื่องของระบบความคิดที่ไปยังไม่ถึง ของที่เป๋อพยายามนำมาให้หลายอย่างจึงไม่สามารถที่จะเข้ากับระบบตรงนี้ได้ง่าย หรือ อาจไม่ได้เอาเลยก็เป็นได้"   ตอนนั้นผู้เขียนได้แต่ฟัง แต่ด้วยความ "แรง" และ "ผิดหวัง" ในหลายเรื่อง จึงทำให้มุ่งหน้าที่จะกลับไปสหรัฐฯ


 


วันนี้ เมืองไทยเปลี่ยนไปมาก  เช่นกระบวนการควบคุมมาตรฐานต่างๆ  การปฏิรูปการปกครองที่เน้นการมีส่วนร่วมมากขึ้น  การที่ผลักดันให้เกิดการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น  แต่ไปๆ มาๆ ก็เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ อำนาจยังรวมศูนย์ กลุ่มอิทธิพลก็ยังอยู่ เพียงแต่อาจเปลี่ยนมือของอำนาจเท่านั้น


 


การเป็นคนรู้น้อยเกี่ยวกับสังคมไทยที่ไม่ใช่ในหนังสือ ทำให้ผู้เขียนอดไม่ได้ ที่จะรู้สึกรำคาญในหลายๆ เรื่อง  เพราะไม่เข้าใจใน "รหัสลับ" ในสังคมไทย ไม่ได้ฝรั่งจ๋า แต่เข้าไม่ถึง อย่างไรก็ตามในสายตาเพื่อนๆ ผู้เขียนกลับโดนมองว่า "รู้เยอะ" เลยทำให้เป็นคนขี้รำคาญและทำอะไรก็กลายเป็นเรื่องซับซ้อน ไม่เรียบง่ายในสายตาของพวกเขา บางครั้งเคยได้ยินคนที่เพิ่งรู้จักกันพูดว่าพวกจบเอกนี่พูดจาอะไรไม่รู้เรื่อง ผู้เขียนแรกๆ ก็บอกว่าเป็นการเข้าใจผิด แต่ตอนหลังก็เฉยๆ เพราะไม่เห็นประโยชน์ที่จะเถียง คิดในใจว่าอีกหน่อยเมืองไทยก็มี ดร.เต็มไปหมดเพราะทุกวันนี้โครงการปริญญาโทและเอกก็มีกันเกลื่อนกล่น คงหยุดพูดแบบนี้ไปเองในไม่ช้า เพราะจะมีความหลากหลายของคนจบเอกมากขึ้น หลายคนก็อาจเป็นได้แค่ ดร.กำมะลอที่อาจพูดอะไรพื้นๆ ได้อย่างที่คนไม่จบเอกก็พูดได้คิดได้


 


"รีเทิร์นช็อค" คงยังมีผลต่อผู้เขียนไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่เชื่อว่าแม้หายแล้วก็คงไม่ได้กลายพันธุ์ได้ง่ายๆ เพียงแต่ว่าคงจะทำใจได้มากขึ้น สามารถเข้าใจสังคมไทย-คนไทยได้ในมุมมองแบบคนในได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันคงต้องพยายามเป็นคนนอกในระดับหนึ่งเพื่อที่จะมองเข้ามาได้และมีมุมมองที่ไม่ไหลตามกระแสจนเกินไปนัก การเป็นคนที่"นอกก็ไม่ใช่ –ในก็ไม่เชิง"นั้น เป็นเรื่องที่ยากที่สุด ถ้านักมานุษยวิทยามาอ่านตรงนี้ คงร้องอ๋อ เพราะเป็นวิธีที่พวกเขาใช้กัน และนี่ก็เป็นวิธีที่ผู้เขียนได้รับการสอนและฝึกมาในการมองวัฒนธรรมและสังคม


 


ก่อนจบ ขอบอกว่าทุกคนต้องรักสังคมไทย แต่ไม่ได้มาหาเสียง หรือพยายามโปรยยาหอม เพียงแต่อยากบอกว่าไม่ว่าใครในสังคมนี้ต้องช่วยกัน จริงใจต่อกัน  การเข้าใจปัญหาสังคมนั้นต้องมองไปด้วยกัน แล้วช่วยกันแก้จากมุมมองที่แตกต่าง ไม่ใช่มาจ้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน สร้างพรรคพวกเพื่อรักษาอำนาจ หากการสร้างพวกเพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาและไม่เห็นแก่ตัว พร้อมทั้งยอมรับความเห็นที่แตกต่างได้นั้น ถือเป็นอุดมคติในโลกประชาธิปไตยที่แท้จริง


 


บางทีสังคมไทยนี่ต้องเริ่มหัดสอนให้คนในสังคมหัดคิดแบบ "นอกก็ไม่ใช่ –ในก็ไม่เชิง" ได้แล้ว ความแตกต่างทางภูมิปัญญาจะได้ลดน้อยลงกันเสียที เรื่องนี้แหละคงเรียกว่ายากที่สุดเรื่องหนึ่งของนักพัฒนาประชาธิปไตย