Skip to main content

"ความเจ็บปวดของครูจูหลิง" กับ "บาดแผลของสังคมไทย"

คอลัมน์/ชุมชน

 



 


เมื่ออุณหภูมิทางการเมืองในส่วนกลางลดระดับลงเหลือเพียงอาการคุกรุ่น และหมอกควันของความขัดแย้งและแตกแยกแตกต่าง สิ่งที่บรรยากาศและสถานการณ์ทางการเมืองในศูนย์รวมอำนาจเช่นกรุงเทพมหานครกลบทับไว้นานหลายเดือน ก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง ราวจะยืนยัน ว่า "ไฟใต้" มิได้มอดดับลงแต่อย่างใด


 


ระดับความรุนแรง และท่วงทำนองของปฏิบัติการณ์ ซึ่งขยายผลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ยังยืนยันความมีอยู่ของ "ปัญหา" และบ่งบอกแก่ทุกฝ่าย ว่า "สาเหตุที่แท้จริง" ยังคงมิได้รับการแก้ไข หรือกระทั่งจะสนใจไยดี ดังที่ควรมีและควรเป็น


 


พุทธศาสนาชี้แนะไว้ว่า...อะไรก็ตามที่ "เกิด" ขึ้นมาจากเหตุและปัจจัย จะ "ดับ" จะ "ยุติ" หรือ "จบสิ้น" ลงได้ ก็ต่อเมื่อเหตุและปัจจัย(ที่จะทำให้เกิดขึ้น)ดับไปได้ "โดยสิ้นเชิง" แล้วเท่านั้น การทุเลาเบาบาง หรือลดระดับความรุนแรงลง หรือแม้แต่จะเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมากลบทับ ก็อยู่ในเงื่อนไขเดียวกัน


 


นอกจากนั้น ยังได้กล่าวไว้ถึงความสัมพันธ์และโยงใยของเหตุและปัจจัยเอาไว้ด้วยว่า สามารถสัมพันธ์และส่งผลกระทบถึงกันและกันทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อชี้ให้เห็นว่า "สาเหตุ" และ "ปัจจัย" ใน "ปรากฏการณ์" หรือ "สิ่งที่เกิดขึ้น" ตลอดจน "คงอยู่" หรือ "ดับไป" แต่ละอย่าง ก็ยังส่งผลต่อกันและกันอีกด้วย


 


ซึ่งหมายความว่า จะมากจะน้อย ทุกสิ่งก็เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มิได้โดดเดี่ยวหรืออิสระ ชนิดจะตัดทำลายสิ่งใดทิ้ง โดยมิได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ ได้เลย


 


น่าเสียดายที่กรอบคิดอันยืนอยู่บนหลักการและตรรกะอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เช่นนี้ หรือแม้แต่หลักการและคำสอนของศาสนาที่ประชาชนส่วนใหญ่ในแถบนั้นศรัทธาเชื่อถือ มิได้รับความสนใจหรือใส่ใจจากผู้ที่เกี่ยวข้อง มิหนำซ้ำ ยังมีความพยายามอันมักง่าย จากทุกฝ่าย ในการใช้ความรุนแรงและเด็ดขาด ความรวดเร็วและฉับพลัน ในการปฏิบัติต่อปัญหาต่างๆ อย่างแยกส่วน หวังเพียงปราบวัชพืชบางต้นบางกลุ่ม ด้วยสารเคมีหรือการกระทำที่เฉียบขาดที่สุด โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหาย หรือความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งต่อตัวผู้ปฏิบัติการณ์ ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อเนื้อดินอันอุดม และต่อสรรพชีวิตที่เหลือ ตลอดจนต่อความจริงที่ว่า การกระทำอย่างเฉียบขาดและรุนแรงต่อ "บางส่วน" นั้น ยังคงเหลือพืชพันธุ์ชนิดเดียวกัน ยังคงเหลือความเหมาะสมของเหตุและปัจจัยทำนองเดียวกัน ในการเกิดซ้ำขึ้นอีก หรือจะยิ่งขยายพันธุ์ ให้ต้องปราบและปรามกันอีก อย่างไม่รู้จบสิ้น


 


สิ่งที่เกิดขึ้นกับ "ครูจุ้ย" หรือนางสาวจูหลิง ปงกันมูล สิ่งที่เกิดขึ้นกับนาวิกโยธินหรือเจ้าหน้าที่ที่ถูกทำร้ายหรือลอบสังหาร สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนทั่วไปที่บาดเจ็บล้มตาย หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านผู้ชุมนุมที่ตากใบ สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในมัสยิดกรือเซะ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกหลายต่อหลายกรณี หลายต่อหลายฝ่าย ใน ๓ - ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่ได้นอกเหนือไปจากที่กล่าวมาแล้ว


 


นั่นก็คือ เป็นผลงานอันมักง่ายและไม่ยอมรับความจริง ชนิดปราศจากเหตุผลและความรับผิดชอบ ตลอดจนยืนอยู่บนหลักการซึ่งนิยมความรุนแรง


 



 


ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี รวมถึงงานนโยบายด้านความมั่นคง และแนวทางในการสร้างสันติสุขของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในระยะเวลาที่ผ่านมานั้น จะเป็นอย่างไร มีที่มาที่ไปเช่นไร มีเป้าหมายตลอดจนวิธีปฏิบัติเช่นไรก็เป็นเรื่องหนึ่ง (และดูเหมือนกับว่า จะเป็นเรื่องที่รัฐ หรือรัฐบาลเอง จะไม่นิยมแพร่งพรายให้เจ้าของภาษี หรือเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้รับทราบ ได้มีส่วนร่วม ทั้งด้านการเสนอแนะ กำหนด หรือร่วมรับผิดชอบใดๆ นอกไปเสียจากการที่จะต้องยอมรับเหตุเภทภัยและผลกระทบ ที่จะตามมาจากปฏิบัติการณ์ต่างๆ ดังที่ว่ามาแล้ว)


 


แต่สิ่งที่เกิดขึ้น และปรากฏการณ์ชนิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ดูจะเป็นที่รับรู้กันได้โดยทั่วไป จากสื่อสารมวลชนและข้อมูลปากต่อปาก ว่านับวันจะยิ่งรุนแรง นับวันจะยิ่งขยายตัว ทั้งคุณภาพและปริมาณ และนับวันจะยิ่งยกระดับไปสู่เงื่อนปมที่เกินกว่าใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะคิดแก้ไขได้โดยลำพัง ซึ่งยากจะปฏิเสธว่านั่นมิใช่ความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของ "รัฐบาลทักษิณ" หรือ "ระบอบทักษิณ" ที่ใครต่อใครว่าๆ กัน


 


ในส่วนจำเพาะต่อกรณีของ "ครูจุ้ย" หรือ นางสาวจูหลิง ปงกันมูล ถ้อยคำของนายไพรัช แสงทอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมดูอาการและมอบเงินที่รวบรวมเพื่อช่วยเหลือเป็นค่ารักษาพยาบาลแก่ครอบครัวของครูสาวผู้นี้ ได้กล่าวถึงท่าทีของเพื่อนร่วมระบบราชการกับตนในต่างสายงานไว้อย่างน่าสนใจ ว่า


 


"โดยส่วนตัวผิดหวังกับการทำงานของฝ่ายมั่นคงอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยนำบทเรียนเป็นกรณีศึกษาเลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยเฉพาะใน จ.นราธิวาส แทบทุกครั้งที่ทหาร หรือตำรวจ จับคนร้าย ชาวบ้านจะล้อมโรงเรียนจะจับครูเป็นตัวประกัน เเละเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีการวางกำลัง รปภ.ครู หลังจากควบคุมตัวผู้ต้องหา ซึ่งทุกฝ่ายรู้ดีแก่ใจว่าเป็นแกนนำระดับสำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อการปลุกปั่นมวลชนในพื้นที่แน่นอน แต่ไม่มีกำลังตำรวจดูแลครูเลย และทุกฝ่ายยังชะล่าใจปล่อยให้เหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้" (คม ชัด ลึก ฉบับออนไลน์ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙)


 


นอกจากนั้น ยังมีเพื่อนร่วมวิชาชีพกับผู้บาดเจ็บได้กล่าวถึงแนวทางในการเกื้อกูลกันเอง ท่ามกลางสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ไว้ ดังที่ปรากฏในสื่อเดียวกับข้างต้น ความว่า


 


"...นายธวัช แซ่ฮ่ำ ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับเพื่อนครูในพื้นที่จำนวนหนึ่งเพื่อเฝ้าติดตามอาการของ น.ส.จูหลง กล่าวว่า ได้ประสานให้ครูประจำโรงเรียนกูจิงลือปะทั้งหมด 10 คน ย้ายออกไปอาศัยนอกพื้นที่เพื่อความปลอดภัยทั้งหมดแล้ว เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นการออกมาแสดงท่าทีของกลุ่มชาวบ้านที่บ่งบอกถึง ความเสียใจ และรับผิดต่อการกระทำต่อชีวิตครูในเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้จะมีหลายคนระบุว่าถูกผู้ไม่หวังดีปลุกปั่นหลอกลวงให้ก่อเหตุก็ตาม


 


นายสงวน อินทรักษ์ เลขาธิการสมาพันธ์ครูจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า แกนนำครูจะประชุมเพื่อกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้รัฐหันมาจริง จังกับการรักษาชีวิตของแม่พิมพ์ในพื้นที่มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยการหารือด้วยการเตรียมประกาศหยุดเรียนทั้งจังหวัด ซึ่งจะมีการนัดพบแกนนำสถาบันศึกษาทั้งหมดในวันที่ 21 พฤษภาคม ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 นราธิวาส


 


"เราจำเป็นต้องเคลื่อนไหวอย่างจริงจังกว่าเดิม เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นเรื่องเดิมซ้ำซากทั้งที่ทุกฝ่ายเสนอแนวทาง ป้องกันมาตลอดแต่ดูเหมือนฝ่ายความมั่นคงจะไม่ได้สนใจเท่าที่ควร ขณะเดียวกัน การช่วยเหลือจากรัฐก็ยังล่าช้ากว่าที่หลายคนคาดคิด" นายสงวน กล่าว..." (จาก คม ชัด ลึก ที่มาเดียวกันกับข้างต้น แต่แก้ไขรายละเอียดบางประการของผู้บาดเจ็บให้ตรงตามศูนย์ข่าวอิศรา ซึ่งรายงานจากพื้นที่)


 


และที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือ ความคิดเห็นของนางสุดสาย บุญช่วย เลขาธิการสมาพันธ์ครูสตรีภาคใต้ ซึ่งปรากฏในสื่อเดียวกันนั้นเอง ที่ว่า


 


"...ครูสตรีในพื้นที่ อ.ระแงะ ได้ทยอยเข้าเยี่ยมครูจูหลงและจัดทีมผลัดกันเฝ้าดูแลครูอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ได้ร่วมกันร่างแถลงการณ์ประณามการกระทำของกลุ่มคนร้ายที่จิตใจ โหดเหี้ยม ทำร้ายกระทั่งครูสตรีที่ไม่มีทางต่อสู้ และขอความร่วมมือประชาชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ช่วยกันแจ้งเบาะแสและติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษให้ได้"


 


นางสุดสาย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครูนับวันยิ่งมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ครูในพื้นที่หวาดผวา เพราะไม่มั่นใจในมาตรการดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะครั้งนี้ครูส่วนใหญ่มีมติเป็นเสียงเดียวกันว่า เกิดจากความผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามมาตรการแผนการป้องกันคุ้มครองครูที่ได้ตกลงร่วมกัน ทั้ง 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ และครู โดยเฉพาะประเด็นที่ครูเรียกร้องขอความร่วมมือจากฝ่ายกองกำลังทุกหน่วยที่จะ เข้าดำเนินการปิดล้อมและจับกุมผู้ต้องสงสัยในพื้นที่ใดๆ ขอให้แจ้งข้อมูลให้ครูในพื้นที่ทราบด้วยเพื่อจะได้เตรียมป้องกันความ ปลอดภัยไว้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน แต่แผนงานทั้งหมดกลับไม่ได้รับการตอบรับและปฏิบัติหน้าที่ตามแผนเลย


 


"เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อมูลให้ครูทราบล่วงหน้า เป็นสิ่งที่ครูไม่พอใจมาก เพราะสะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด เพราะไม่เดินตามแผน ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญส่งผลให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง กระทั่งการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินที่เป็นไปอย่างล่าช้าช่วงเวลา 3 ชั่วโมง ที่เจ้าหน้าที่ปล่อยให้เหตุการณ์บานปลาย แทนที่จะเข้าไปช่วยเหลือเอาตัวประกันออกมาก่อน แต่กลับอ้างว่าเข้าพื้นที่ไม่ได้ เพราะมีการวางตะปูเรือใบซึ่งเป็นเพียงอุปสรรคเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความ ปลอดภัยของครู ซึ่งในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ จะประชุมหน่วยงานครูด่วน เพื่อหาผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ครูยอมไม่ได้แล้วที่จะปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ผ่านเลยไป โดยไม่แก้ไข" นางสุดสาย กล่าว..."


 


ท่าทีของครูผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โดยตรงและอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้นี้เอง ที่ส่อสะท้อนถึงกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐฟากฝ่ายของการใช้อาวุธและยุทธวิธี ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงต่องานด้านความมั่นคง ว่ากระทำการเช่นใด และอย่างไร


ซึ่งหากเป็นดังที่ครูกล่าว ก็ชัดเจนอยู่ในตัวเองแล้ว ว่ากำลัมีปฏิบัติการเช่นไรอยู่ในพื้นที่ ๓-๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้


และคำกล่าวจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเองเช่นนี้ ก็น่าจะมีน้ำหนักในสายตาของนักเชื้อชาตินิยม และชวนให้หลายต่อหลายคน ที่กำลังก่อกระแสเกลียดมุสลิม และ/หรือ เกลียดคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ฉุกคิดถึง "เหตุและปัจจัย" ที่มีมากไปเสียกว่า "ชาวบ้านฆ่าใคร" หรือ "ชาวบ้านฆ่าครูทำไม" หรือ "ชาวบ้านกับโจรก็พวกเดียวกันนั่นเอง" ที่กำลังถูกจุดพลุขึ้นมากระหึ่มเมือง


ดูจากชื่อ ชื่อสกุล และสถานะทางสังคม ตลอดจนตำแหน่งหน้าที่การงาน ก็น่าเชื่อว่าผู้พูดเป็น "ไทยพุทธ" เป็นครู" และเป็น "แกนนำครู" ซึ่งเป็นที่ยอมรับของครูและผู้คนทั่วไปนี่เอง ดูไม่น่าที่จะเป็น "แนวร่วมโจร" ไปได้ดอกกระมัง?


 



 


นอกจากนั้น หากจะลองพิจารณาทัศนะของคุณครูผู้บาดเจ็บผ่านถ้อยคำของผู้เป็นแม่ และกำลังอยู่ในภาวะโศกเศร้าเสียใจ ซึ่งไม่น่าที่จะกล่าวเท็จหรือบิดเบือนประเด็นจนเป็นคุณแก่บุคคลในชุมชนใกล้โรงเรียน ที่ข่าวสารหลายกระแสระบุว่าอาจจะอยู่ในกลุ่มของบุคคลที่ทำร้ายบุตรีของเธอ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารับฟังอยู่ไม่น้อย


 


นางคำมี ปงกันมูล เล่าถึงลูกสาวและงานสอนเด็ก ตลอดจนโรงเรียนที่ "ครูจุ้ย" กำลังสอนอยู่ว่า


"ตอนที่รู้ว่าเขาสอบบรรจุเป็นข้าราชการได้ ทางบ้านก็ดีใจ เพราะได้งานเป็นหลักแหล่งมั่นคง แต่แม่ก็อดถามไม่ได้ว่า ไปทำงานที่นั่นไม่กลัวบ้างหรือ จุ้ยก็บอกว่าไม่เป็นไร โรงเรียนที่จุ้ยสอนไม่ใช่พื้นที่อันตราย...


 


"อยู่ได้ซักพัก จุ้ยเล่าว่า ชาวบ้านที่นี่ใจดีมาก นิสัยดี เด็กๆ ก็รักจุ้ย จุ้ยก็รักเด็กๆ รักโรงเรียน โรงเรียนนี้อยู่ห่างจากที่พักของจุ้ย ๑๒ กิโลเมตร แม่เลยถามว่าไม่อยากย้ายมาสอนใกล้ๆ ที่พักบ้างหรือ จุ้ยบอกว่าถ้าจะย้ายต้องสอนไปก่อน ๒ ปี ตอนนี้จุ้ยไม่อยากย้ายไปไหนหรอก เพราะกำลังวาดรูปที่รั้วโรงเรียน จุ้ยกะว่าจะวาดให้รอบโรงเรียนเก็บไว้เป็นผลงาน..." (จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท เผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙)


 


นอกจากนั้น ก่อนเกิดเหตุ ‘แม่คำมี ปงกันมูล’ ก็ลงไปเยี่ยมลูกสาวคนนี้ และมีโอกาสอยู่ด้วยกันถึง ๒๐ วัน หลังจากกลับไปเชียงรายได้ ๗ วัน ก็เกิดเหตุร้ายกับลูกสาว (ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทที่อ้างแล้ว)


 


นี่อาจจะเป็นภาพอีกด้านหนึ่ง ซึ่งอ่อนโยนและงดงาม แต่ไม่น่าตื่นเต้นหวือหวา หรือไม่ควรค่าแก่ความ "สะใจ" ในการหยิบยกขึ้นมาสร้างภาพหรือสร้างข่าว หรือสร้างเงื่อนปมแห่งการผูกโกรธและอาฆาตแค้น เช่นที่บางฝ่ายขยายผลขึ้น จนกลายเป็นรอยร้าวและตราบาป ที่มีสีสันอันตื่นเต้นโลดโผนเปรอะเปื้อนฉาบทาอยู่ โดยมีอกุศลเจตนาหลบซุกหรือหมกเม็ดเอาไว้ ไม่มากก็น้อย


 



 


สิ่งหนึ่งซึ่งหลายฝ่ายพยายามนำเสนอกับบุคคลหรือหน่วยงานซึ่งอ้างว่าตนเป็นเจ้าภาพ หรือเป็นผู้รับผิดชอบหลักของเหตุการณ์ หรือปัญหาความรุนแรงใน ๓ – ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ การมีส่วนร่วมของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตและศรัทธาความเชื่อกับผู้คนส่วนใหญ่ในภูมิภาคอื่นๆ ดูจะไม่ได้รับความสนใจหรือใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นระดับบริหาร ระดับนโยบาย หรือฝ่ายที่ปฏิบัติการณ์อยู่ในพื้นที่ก็ตาม


 


ไม่เพียงเท่านั้น แม้การทำความเข้าใจ หรือการเข้าถึงความเป็นจริง ข้อเท็จจริง ตลอดจนท่าทีที่จะยอมรับความจริงของทุกฝ่าย ในปรากฏการณ์ต่างๆ ก็ดูจะห่างไกลออกไปอย่างกู่ไม่กลับ


 


รัฐบาลเองก็แสดงตัว และกระโดดลงสู่สนามที่ฝ่ายตรงกันข้ามสร้างไว้อย่างเต็มที่ โดยพกพาสูตรสำเร็จต่างๆ มาบรรจุลงเป็นแนวทางการทำงานในพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จหรือสำเร็จรูป


 


ข้อมูลบางประการที่ฟังดูราวกับเรื่องแต่ง หรือนิยายก่อการร้าย ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างของหลายหน่วยงานเชื่อกันเป็นตุเป็นตะ เช่นที่ระบุว่า เด็กวัยรุ่นที่เล่นฟุตบอลอยู่ข้างถนนหรือในสนามกีฬาแม้แต่จะมืดค่ำแล้วก็ตามนั้น เป็นสมาชิกกองกำลังแบ่งแยกดินแดน หรือหน่วยรบของผู้ก่อการร้าย ที่แอบแฝงมาออกกำลังกาย ก่อนจะมีการฝึกซ้อมด้านยุทธวิธีกันลับๆ ในห้องแถวริมถนน หรือในสวนยางพารา และ/หรือ แม้แต่ในโรงเรียนปอเนาะ


 


คำพูดที่บอกต่อกันปากต่อปาก ว่าคนวิกลจริตที่ถูกเรียกตัวมาสอบถาม หรือผู้ป่วยด้วยอาการทางจิต ที่มีบัตรประจำตัวของโรงพยาบาลประสาท หรือแผนกจิตเวช ล้วนแล้วแต่เป็นนักรบ หรือหน่วยล่าสังหารของฝ่ายศัตรู แม้ฟังดูเกินจริงในความรับรู้ของคนนอกหน่วยงาน แต่นั่นก็เป็นสาเหตุให้เกิดความเข้าใจผิด ให้เกิดอาการวิตกจริต และท่าทีที่ไม่ไว้วางใจระหว่างกันและกันให้กับเจ้าหน้าที่ ที่ต้องทำงานเสี่ยงภัยอยู่ในพื้นที่ได้เสมอ


 


เช่นเดียวกับที่มีข่าวลือแพร่หลายในวงคุยระดับร้านน้ำชาหลากพื้นที่ ถึงหน่วยนักฆ่านินจาที่น่าจะเป็นคนของรัฐ หรือนักฆ่าในชุดดาวะห์ ที่บางครั้งสวมทับเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ไม่นิยมกันในหมู่มุสลิม แต่แอบแฝงเข้ามาในพื้นที่อย่างประสงค์ร้ายและจับตัวได้แล้วหลายครั้ง หรือกระทั่งจำนวนคนหายและคนถูกอุ้มฆ่า ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฏิบัติต่อผู้บริสุทธิ์ เพราะหวังรีดข่าวสารด้านลึกของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้นทุกที


 


นี่จะเรียกว่าอะไรได้ หากมิใช่บรรยากาศของความสับสนอลหม่าน อันเกิดจากความไม่ชัดเจนหรือการเข้าไม่ถึงข้อมูลที่เป็นจริง ตลอดจนการไม่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของข้าราชการชั้นผู้น้อย และประชาชนในระดับ "ชาวบ้าน" ทั่วๆ ไป กระทั่งเกิดบรรยากาศแห่งความกลัวและหวาดระแวงระหว่างกันและกัน จนเปราะบาง และง่ายดายยิ่งที่จะกระทบกระทั่ง จนเป็นที่มาของความสูญเสีย อย่างชนิด "ไม่น่า" หรือ "ไม่ควร" ที่จะต้องเกิดขึ้น แต่อย่างใดเลย


 


อย่างไรก็ตาม ที่ว่ามานี้เป็นการชี้ชวนให้สังเกต หรือพินิจพิจารณา โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของสถานการณ์ปกติ ที่มิได้ถูกสร้าง หรือมีเจตนาบงการจากบางฝ่าย ชนิดตั้งใจจะกระตุ้นเร้าให้เกิดขึ้น ดังที่ร่ำลือกันอยู่ในหมู่ผู้สนใจ ว่ากรณีของ "ครูจุ้ย" หรือ น.ส.จูหลิง ปงกันมูล นั้น ช่างพ้องกับเหตุการณ์อื่นๆ ที่กำลังปรากฏในสังคม "ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง" เสียเหลือเกิน


 


กล่าวคือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับครูจุ้ย ซึ่งโดยรายละเอียดจากปากคำคนในพื้นที่ ที่กล่าวมาแล้วต้น ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิด และน่าจะระวังป้องกันได้มากกว่านี้


 


แต่ที่มาเกิดขึ้น และพ้องกันเข้า กับการกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิม ของผู้ใหญ่ทางการเมืองบางคน ก็ดูจะบังเอิญจนน่าจับตา


 


เรียกว่าเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้ ปลุกผีดิบให้คืนชีพขึ้นอีกครั้ง หรือช่วยสร้างความจำเป็น ให้อัศวินปากดีได้ขี่ม้าขาวเข้าทำเนียบ เพื่อแก้เหตุเภทภัยให้แผ่นดิน เอาเลยทีเดียว


 



 


แน่ละ ว่าสมมติฐานดังกล่าวออกจะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไปสักหน่อย และดูจะสร้างขึ้นจากทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) อันเกินเลยไปสักนิด แต่ใครเล่าจะรับรองว่า ความน่าจะเป็นระดับ ๑ ใน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในท่ามกลางความจริงและลวงนานัปการ บนโลกใบนี้ หรือในประเทศไทยของเรานี้


 


หลายต่อหลายครั้ง ที่เราพบได้ไม่ยากเย็นนัก ว่าเล่ห์ลวงระดับเลี่ยงภาษีเป็นหมื่นล้าน หรือยักย้ายถ่ายเทหุ้นระดับร่วมๆ แสนล้าน หรือการเคลื่อนตัวเข้า "ฮุบกิจการประเทศไทย" ของบางคนบางกลุ่ม ที่หากพูดให้กันฟังก่อนหน้านี้สักยี่สิบปี ก็ยากยิ่งที่จะมีใครเชื่อ


 


บัดนี้ ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว  และในยุคร่วมสมัยกับเราทั้งหลายนี้เอง


 


อย่างไรก็ตาม ด้วยการมองโลกในแง่ดี และวิธีคิดอันยืนอยู่บนฐานของข้อมูลอันแพร่หลายโดยทั่วไป ที่มักเชื่อกันว่า "ความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้" ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังทางการเมืองจากนอกพื้นที่ (แต่มีการชักใยอยู่ในประเทศ) หากเป็นเรื่องของธรรมชาติ และวิวัฒนาการทางสังคม โดยมีเหตุและปัจจัยทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองแฝงอยู่ จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาในการต่อสู้และประสงค์จะแบ่งแยกดินแดนอย่างที่ว่าๆ กัน เราก็คงจะต้องพินิจพิจารณาและหาทางออกด้วยฐานคิดดังกล่าวเป็นหลัก


 


กล่าวคือ ต่อเหตุการณ์นี้ ในฐานะศาสนิกชน และในฐานะประชาชนอีกคนหนึ่งของแผ่นดิน จะมากจะน้อย ก็ยังต้องใส่ใจและใช้ปัญญาคือความรู้แจ้ง หรือวิปัสสนา--ความรู้รอบรู้ทั่ว มากำกับอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งมักปรุงแต่งไปตามสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบ อีกทั้งยังต้องมีสติหรือความระลึกได้ และสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อม และสมาธิที่หมายถึงความมีใจตั้งมั่น สงบแน่วแน่ และไม่ฟุ้งซ่าน มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่เป็นจริง ยิ่งถ้าอยู่ในวิสัยที่จะสืบค้น หรือแสวงหาแก่นสาระ ตลอดจนวิเคราะห์ด้วยธรรมวิจัย ก็จะยิ่งได้รับประโยชน์ โดยถือเอาสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุบายในการเริ่มต้นค้นหาความจริง ค้นหาสัจจะจากเหตุการณ์ แล้วทำความเข้าใจเพื่อเผยแพร่ อันจะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะในลำดับต่อไป


 


ความเจ็บปวดของครูจูหลิงนั้น มองอีกแง่หนึ่ง ก็มิใช่เพียงเกิดจากการทุบตีหรือทำร้ายจากชาวบ้าน, โจรก่อการร้าย, ใครคนใดคนหนึ่ง หรือบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เพราะหากพิจารณาโดยแยบคาย เราอาจค้นพบได้โดยไม่ยาก ว่าเอาเข้าจริง สิ่งที่ทำให้เธอกำลังเจ็บปวด หรือบาดเจ็บสาหัสอยู่ในขณะนี้ ก็คือบาดแผลขนาดใหญ่ของสังคมไทยนั่นเอง ที่กำลังยืม หรือใช้ มือและไม้ของคนไม่กี่คน มากลุ้มรุม และ/หรือ ทำร้ายกายและใจของเธออย่างทารุณยิ่ง


 


และกล่าวโดยถึงที่สุดแล้ว ใช่หรือไม่ว่า ไม่เพียงแต่ครูจุ้ย หรือครูจูหลิง ปงกันมูล และพ่อแม่ ตลอดจนญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิด หรือผู้ติดตามข่าวนี้มาตั้งแต่ต้นเท่านั้น ที่จะรู้สึกเจ็บปวด และทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะหากกล่าวโดยไม่อ้อมค้อมแล้ว เราทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่ถูกกระทำอย่างเจียนตายแทบไม่แตกต่างกัน


 


เพียงแต่ความเจ็บปวดของบางคน หรือบาดแผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ของสังคมไทย วันนี้หลายต่อหลายคนยังเห็นได้ไม่ชัด หรือาจมีคนสนใจมอง ยังไม่มากเท่ากับร่องรอยที่ปรากฏบนร่างกายของครูจูหลิงเท่านั้นเอง...