Skip to main content

"นอมินี" เกิดขึ้นในโลกนี้เพราะ "กฎหมาย" และ "กิเลสมนุษย์"

คอลัมน์/ชุมชน


 


 


"ทนายสีชมพู"


 


 


ช่วงนี้เวลาอ่านข่าวสารบ้านเมืองโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เงิน ๆ ทอง ๆ คงเห็นคำว่า "นอมินี (Nominee)" กันแทบทุกวัน โดยทั่วไป นอมินีหมายถึงตัวแทนในการถือครองทรัพย์สิน แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนนาม "ทนายสีชมพู" ขอเล่าเฉพาะ นอมินี ซึ่งเป็นตัวแทนถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ แทนเจ้าของหุ้นตัวจริงก็แล้วกัน เล่ามากกว่านี้เดี๋ยวจะปวดหัวมากเกินไป


 


เหตุผลหลักที่ทำให้นอมินีเกิดขึ้นในโลกนี้ตามความเห็นของคนเขียนมีอยู่สองอย่างคือ "กฎหมาย" และ "กิเลสมนุษย์" เมื่อเกิดความโลภ ความอยากแต่กฎหมายห้ามไว้ก็ต้องหาวิธีเลี่ยงกฎหมายเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่อยากได้ใคร่มี


 


กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวกำหนดประเภทธุรกิจซึ่งคนไทยหรือบริษัทห้างร้านนิติบุคคลไทยทำได้แต่คนต่างด้าวทำไม่ได้เอาไว้ กฎหมายที่ดินห้ามคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวถือครองที่ดินในเมืองไทย นอกจากนี้ก็มีกฎหมายอื่น ๆ กำหนดประเภทธุรกิจซึ่งห้ามคนต่างด้าวทำ อย่างเช่น ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจสื่อสารคมนาคมภายในประเทศ ลองสังเกตดี ๆ ธุรกิจที่กฎหมายห้ามไม่ให้คนต่างด้าวทำล้วนแต่เป็นธุรกิจซึ่งเกี่ยวพันกับความมั่นคงของประเทศและเกี่ยวข้องกับรายได้จำนวนมหาศาล "เงิน" ใครบ้างจะไม่อยากได้และมีคนรวยสักกี่คนในโลกนี้ที่รู้จักพอ


 


เรื่องมันเป็นเรื่องก็เพราะว่าบรรดากฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ว่า "คนต่างด้าว" คือบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย บริษัทต่างด้าวคือบริษัทซึ่งคนไทยถือหุ้นอยู่ไม่ถึงครึ่งของหุ้นในบริษัท ถ้าคนต่างด้าวอยากทำธุรกิจซึ่งกฎหมายห้ามไม่ให้ทำหรืออยากถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเมืองไทย คนต่างด้าวพวกนี้จะต้องปลอมตัวเป็นคนไทย วิธีที่ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุดคือการปลอมตัวด้วยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและให้นอมินีถือหุ้นแทนเพื่อให้บริษัทที่ตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย โครงสร้างการถือหุ้นยอดนิยมคือคนไทยถือหุ้น 51% คนต่างด้าวถือหุ้น 49% ในแวดวงนักกฎหมาย นักบัญชีและนักอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนอมินี ถ้าพูดว่า 49/51 ก็เป็นอันรู้กัน


 


ตัวอย่างเช่น นายเบิกบานกับ Mr.Happy  ตั้งบริษัทรื่นเริง จำกัด ขึ้นเพื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินริมชายหาด สัดส่วนการลงทุนในบริษัทที่แท้จริงคือนายเบิกบานลงทุน 30% Mr.Happy  ลงทุน 70% ในกรณีนี้สัดส่วนการถือหุ้นระหว่างคนไทยกับคนต่างด้าวคือ 30/70 ซึ่งทำให้บริษัทรื่นเริง จำกัด มีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ได้ จึงต้องมีการหานอมินีมาถือหุ้นแทน Mr.Happy  


 


โดย Mr.Happy ถือหุ้นในชื่อของตัวเอง 30%และให้นายชื่นมื่นถือหุ้นไว้ 40% ส่วนนายเบิกบานเป็นนักการเมืองใหญ่ ไม่อยากให้ผู้คนรู้ว่าแอบสมคบกับฝรั่งถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน นายเบิกบานก็จัดการให้นายคิกคักถือหุ้น 30% ไว้แทนตัวเอง บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท รื่นเริง จำกัดซึ่งยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์จะมีชื่อ Mr.Happy ถือหุ้น 30% นายชื่นมื่นถือหุ้น 40% นายคิกคักถือหุ้น 30% และมีคนอื่น ๆ ถือหุ้นไว้อีกคนละหนึ่งหุ้นเพื่อให้ได้จำนวนผู้ถือหุ้นขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด


 


ตามตัวอย่างที่ว่ามา นายชื่นมื่น นายคิกคักและคนอื่น ๆ ซึ่งถือหุ้นในบริษัท รื่นเริง จำกัด คือนอมินี ในทางปฏิบัติ เมื่อตั้งบริษัทเสร็จนอมินีเหล่านี้จะเซ็นใบโอนหุ้นซึ่งไม่ระบุชื่อผู้รับโอนไว้ให้กับเจ้าของหุ้นตัวจริงหรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า "โอนลอย"


 


นอกจากนี้ก็ทำใบมอบฉันทะไว้ให้เจ้าของหุ้นตัวจริงใช้สิทธิในที่ประชุมผู้ถือหุ้นและทำสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินปันผลหรือผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งผู้ถือหุ้นจะได้รับให้กับเจ้าของหุ้นตัวจริง ถ้าหากไม่ค่อยไว้ใจกันก็อาจจะมีการทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างเจ้าของหุ้นตัวจริงกับนอมินีขึ้นมา ถ้านอมินีโกงเอาหุ้นไป เจ้าของหุ้นตัวจริงก็ฟ้องนอมินีตามสัญญากู้ยืมเงิน ตามปกติเรื่องฟ้องร้องไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะไก่ซึ่งเห็นตีนงูและงูซึ่งเห็นนมไก่มักจะอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี


 


ส่วนในด้านการบริหารกิจการบริษัท อำนาจบริหารจะอยู่ที่กรรมการ และกฎหมายกำหนดไว้ว่ากรรมการไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้น จากตัวอย่างบริษัท รื่นเริง จำกัด Mr.Happy สามารถเป็นกรรมการบริษัทเองได้ อำนาจในการบริหาร อำนาจในการเซ็นเอกสาร อำนาจในการควบคุมเรื่องเงินทองก็ยังอยู่ในมือของ Mr. Happy


 


กฎหมายเกี่ยวกับบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชนหรือบริษัทมหาชนกำหนดไว้ว่าบริษัทต้องมีการแบ่งทุนออกเป็นหุ้นและผู้ถือหุ้นแต่ละคนมีความรับผิดจำกัดอยู่แค่วงเงินที่ตัวเองลงทุนซื้อหุ้น เช่น ซื้อหุ้นราคา


ตามมูลค่าที่ตราไว้ 50,000 บาท ความรับผิดของผู้ถือหุ้นจะถูกจำกัดอยู่แค่เงิน 50,000 บาท ถ้าหากนอมินีเป็นนอมินีมืออาชีพ พวกนี้จะรับถือหุ้นแทนเฉพาะกรณีที่มีการชำระค่าหุ้นครบถ้วนเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองมีความรับผิด ส่วนค่าตอบแทนการเป็นนอมินีก็รับกันไปเป็นรายเดือนตามแต่จะตกลงกัน แต่ก็อาจจะมีบางคนเป็นนอมินีด้วยใจรักค่าตอบแทนไม่รับก็มี


 


การขุดคุ้ยว่าใครเป็นนอมินีให้ใครเป็นเรื่องยาก เพราะเอกสารซึ่งเป็นเอกสารสาธารณะสามารถตรวจสอบได้มีแค่เอกสารการจัดตั้งบริษัท บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น งบการเงิน ทุกชิ้นเป็นเอกสารซึ่งได้รับการปรุงแต่งมาเรียบร้อยแล้ว ส่วนเอกสารลึกลับซับซ้อนต่าง ๆ ถือเป็นเอกสารส่วนตัว เจ้าของเขาไม่เปิดคนอื่นก็มองไม่เห็น


 


สำหรับชาวชนชั้นตะเกียกตะกายไม่ได้มีทรัพย์สินเงินทองมากมายหรือต้องปกปิดการได้มาของทรัพย์สินให้เป็นความลับก็คิดเสียว่านั่งดูกิจกรรมการแฉนอมินีพอเพลิน ๆ ก็แล้วกัน เพราะฉากบางฉากในละครชีวิตตอนคนรวยคนมีอำนาจเขาออกมาแฉกันมันสนุกกว่าละครโทรทัศน์เสียด้วยซ้ำไป