Skip to main content

ทำอย่างไรให้เสียงส่วนน้อยได้มีที่ยืนใน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

คอลัมน์/ชุมชน


ผมไม่แน่ใจว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ มีวัตถุประสงค์ใดในการบัญญัติให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทบัญชีรายชื่อจำนวน ๑๐๐ คน นอกเหนือจาก ส.ส.เขตอีก ๔๐๐ คน แต่เราเข้าใจว่ามี ๒ เหตุผลเท่านั้น คือ


 


(๑) เพื่อให้ผู้เลือกได้เห็นหน้าตาของรัฐมนตรีก่อนตัดสินใจ เพราะพรรคการเมืองต่างๆมักจะเอาบุคคลที่มีชื่อเสียงของพรรคมาอยู่ในบัญชีรายชื่อ  และ


(๒) เพื่อแยกอำนาจบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติออกจากกัน เพราะ ส.ส.ที่ขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส. การแต่งตั้งรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อไม่ได้ทำให้ต้องเลือกตั้งซ่อม


 


แต่ผมเพิ่งได้ยินจากอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเร็วๆนี้ว่า  "การมี ส.ส.บัญชีรายชื่อก็เพื่อเปิดโอกาสให้กับเสียงส่วนน้อยของพรรคเล็กที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ" (พูดที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙) นอกจากนี้ท่านยังได้เสริมอีกว่า "ต้องให้เสียงส่วนน้อยได้มีที่พูด ได้นำเสนอความคิดเห็นของตนเองในสภา เสียงส่วนน้อยในวันนี้อาจจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ในวันหน้าก็ได้"


 


ประเด็นที่ผมสนใจก็คือว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ ได้ตั้งวัตถุประสงค์อย่างที่อาจารย์แก้วสรรกล่าวมาแล้วจริง ผมเห็นว่าวิธีการในการคิดคะแนนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์นี้อย่างสิ้นเชิง  คือแทนที่จะเอื้อให้กับเสียวส่วนน้อยได้มีที่ยืนแต่กลับเอาเสียงส่วนน้อยไปยกให้กับเสียงส่วนใหญ่เสียนี่


 


ผมเห็นด้วยกับเหตุผลของอาจารย์แก้วสรร  ดังนั้น ผมจะนำเสนอวิธีการคิดคะแนนแบบใหม่ พร้อมกับนำผลการเลือกตั้งในปี ๒๕๔๘ มาเปรียบเทียบกับวิธีคิดที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้


 


ก่อนอื่นต้องกล่าวถึงวิธีคิดแบบเดิมก่อน คือ พรรคที่จะได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อได้ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๕% ของผู้ที่มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด บรรดาพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึง ๕% จะถูกตัดสิทธิ์ออกไปก่อน จากนั้นก็เอาคะแนนของพรรคที่ได้คะแนนตั้งแต่ ๕% ขึ้นไปมารวมกัน แล้วแบ่งจำนวน ส.ส. ไปตามสัดส่วนที่พรรคได้รับ


 


คำถามที่ผมจะถามในที่นี้ก็คือ ในเมื่อเรายอมให้คนในแต่ละพื้นที่ที่รวมกันแล้วมีจำนวนประมาณ ๑ แสน ๕ หมื่นคนสามารถมี ส.ส.ได้ ๑ คน แล้วทำไมเราไม่อนุญาตให้คนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองเหมือนหรือคล้ายกันจำนวน ๑ แสน ๕ หมื่นคนสามารถมี ส.ส.ของตนได้ได้สัก ๑ คนด้วยเล่า


 


ในโลกทุกวันนี้ คนที่มีความคิดทางการเมืองเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านใกล้กัน แต่เขาสามารถสื่อสารถึงกันได้ แล้วทำไมเราจึงไม่ยอมให้เขาเหล่านั้นสามารถแสดงความคิดเห็นของเขาออกสู่สาธารณะเล่า


ต่อไปผมจะเสนอวิธีการคิดจำนวนที่นั่งของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อโดยใช้คณิตศาสตร์อย่างง่าย ดังนี้


นำคะแนนของทุกพรรคการเมืองที่ได้คะแนนตั้งแต่ ๑ แสน ๕ หมื่นคนมารวมกัน จากนั้นก็สร้างฟังก์ชันเชิงเส้น (Linear function) ที่สามารถทำให้พรรคที่ได้คะแนนตั้งแต่ ๑ แสน ๕ หมื่นคนสามารถมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ๑ คน และทำให้พรรคที่ได้คะแนนมากมีจำนวน ส.ส.มากขึ้นตามสัดส่วน


 


ผมได้ลองนำผลการลงคะแนนในการเลือกตั้ง ๒๕๔๘ ของพรรคต่างๆ มาคิดตามวิธีการที่ผมได้กล่าวมาแล้ว มาเสนอในที่นี้ สำหรับตัวเลขในวงเล็บคือจำนวน ส.ส. ที่คิดตามเกณฑ์ในปัจจุบัน พบว่า จากเดิมที่มี ส.ส. บัญชีรายชื่อเพียง ๓ พรรค คือ ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์และชาติไทย แต่ถ้าคิดตามที่ผมเสนอใหม่นี้จะได้ ๗ พรรคจากทั้งหมด ๒๐ พรรคที่ส่งสมัครรับเลือกตั้ง  คือ


 


ไทยรักไทย ๖๐ คน (๖๗)  ประชาธิปัตย์ ๒๓ คน (๒๖) ชาติไทย ๗ คน (๗) มหาชน ๕ คน (เดิมไม่ได้เลยทั้งๆที่ได้คะแนนกว่า ๑ ล้าน ๓ แสนคะแนน)  พลังเกษตรกร ๒ คน พรรคคนขอปลดนี้ ๒ คน และพรรคแรงงาน ๑ คน (ได้คะแนนกว่า ๑ แสน ๖ หมื่นคน)


 


ในการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ แม้เราควรจะให้น้ำหนักไปที่ว่าทำอย่างไรให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและรวมทั้งข้อมูลข่าวสาร แต่เราก็ไม่ควรละเลยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เอื้อต่อการเห็นความสำคัญของสิทธิของคนส่วนน้อยด้วย


 


จากตัวอย่างที่คิดด้วยวิธีการที่ได้กล่าวมาแล้ว เราจะพบว่า พรรคเล็กๆที่มีวัตถุประสงค์ของตนเอง เช่น พรรคพลังเกษตรกร พรรคคนขอปลดหนี้ และพรรคแรงงานจะได้มีโอกาสเผยแพร่ความคิดและนโยบายของตนเองในเวทีสาธารณะ


 


ลองจินตนาการกันเล่นๆ นะครับว่า ถ้าพรรคแรงงานได้ "คนอย่าง อ. แก้วสรร" หลุดเข้าไปในสภาสักคนจะทำให้แนวคิดของกรรมกรได้รับการเผยแพร่ได้มากโขอยู่นะ


 


จึงขอฝากแนวคิดนี้มาให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มอื่นๆ ได้ช่วยกันพิจารณาต่อไปครับ อย่าลืมว่าสังคมไทยมีเรื่องที่อะไรต่อมิอะไรกลับหัวกลับหางอยู่หลายเรื่อง ต้องช่วยกันคิดและเผยแพร่ครับ แต่ก็อย่าลืมประเด็นหลักของการปฏิรูปการเมือง คือการเมืองภาคประชาชน ทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากร