Skip to main content

สังคมคนหูตึง

คอลัมน์/ชุมชน

นึกอยู่แล้วทีเดียวว่า รัฐบาลจะต้องออกมาจัดการกับเรื่อง "เสียง" กันอย่างจริงจังแน่นอน ทันทีที่มีกระแสพระราชดำรัสเรื่องมลพิษทางเสียงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กที่เข้าไปเที่ยวตามสถานบันเทิงต่าง ๆ แล้วจะทำให้กลายเป็นเด็กหูตึง โดยตอนนี้ก็จะเห็นได้ว่ารัฐบาลกำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องความดังของเสียงในดิสโกเธค ตามพระราชดำรัสที่ได้ยกตัวอย่างขึ้นมา


นับเป็นบุญกุศลของคนไทยอย่างใหญ่หลวงที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคอยเป็นห่วงเป็นใยพสกนิกรเป็นอย่างยิ่งไม่เคยละเลยแม้เรื่องเล็กน้อย ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้รัฐบาลน่าจะรู้ได้ด้วยตัวเองและจัดการได้ด้วยตัวเองแต่ก็ละเลยไป จนกระทั่งต้องได้รับการตักเตือนหรือกระตุ้นจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


ทว่า การทำงานของรัฐบาลนั้นไม่เคยเปลี่ยนไปเลยในเรื่องของการทำงานกันแบบทีละชิ้น ทีละส่วน เรื่องเดียวกันแท้ ๆ สาระชนิดเดียวกัน แต่เอามาเป็นเหตุต่างกรรมต่างวาระให้ปฏิบัติต่างกันอยู่ตลอดเวลา เพราะที่จริงแล้วปัจจุบันนี้ถ้าจะมองภาพรวม เรื่องแก้ไขมลพิษทางเสียง มันก็มีอยู่ทั้งหลายจุด หลายรูปแบบ ดังนั้นการทำงานเพื่อแก้ไขก็น่าที่จะทำทั้งหมด


ตัวอย่างหนึ่งที่จะพิสูจน์ว่า ถ้าเป็นห่วงเรื่องมลพิษทางเสียงจริงก็น่าจะยอมรับในสิ่งที่ทางประชาคมจังหวัดอุดรธานีเขาร้องเรียนกันมาด้วยที่ว่า การที่ยอมให้สิงคโปร์มาเช่ากองบิน 23 เป็นเวลาถึง 15 ปีนั้นก็ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงให้กับพวกเขาเช่นกัน แม้ไม่ใช่เสียงในดิสโกเธค และที่สำคัญเสียงในดิสโกเธคนั้น คุณต้องไปอยู่ที่นั่นคุณถึงจะได้ยิน แต่ที่อุดรฯ นั้นคุณอยู่บ้านตามปกติคุณก็ยังถูกรบกวน ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะต้องแก้ไขก่อนด้วยซ้ำ ยิ่งกว่านั้นก็ควรที่จะขอความเห็นจากประชาชนที่นั่นก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ โดยการทำประชาพิจารณ์ตามหลักการอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะไม่มีความคืบหน้าใดต่อการยื่นหนังสือขอทำประชาพิจารณ์ของชาวอุดรฯ

อันที่จริงการตอบสนองต่อพระกระแสรับสั่งของรัฐบาลอย่างทันท่วงทีนั้น ถือเป็นเรื่องปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอย่างยิ่ง ทว่า น่าเสียดายที่ในยุคของรัฐบาลที่ออกมาบอกประชาชนของตนเองว่า ไม่ต้องอ่านหนังสือมาก แต่ให้คุยกับคนเก่ง ๆ แทน (มีคนเก่งที่ไหนไม่อ่านหนังสือไม่ทราบ) และบอกว่าต้องเป็นหนี้แล้วรวยแทนที่จะสอนให้คนออมนั้นกลับสะท้อนให้เห็นว่า ความอัจฉริยภาพ และความปราดเปรื่องทางสติปัญญาขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการพยายามรักษามารยาทที่จะไม่ไปตำหนิติเตียนโดยตรงที่พยายามจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมในขณะนี้คืออะไรนั้น ไม่สามารถทำให้คนที่อ่านหนังสือไม่แตก (แม้ว่าจะสามารถสำเร็จการศึกษาขั้นดุษฎีบัณฑิต) ตีความได้อย่างลึกซึ้งกับพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน คงได้แค่ถอดความอย่างตื้นเขิน และทำงานแค่ตรงเปลือกนอกเท่านั้น


แน่นอนขณะนี้ผู้คนต่างสรรเสริญที่รัฐบาลหันมาเอาจริงกับเรื่องเสียง และการกวดขันแหล่งอบายมุขต่าง ๆ ที่ไม่ให้อยู่ใกล้กับสถานศึกษา และศาสนสถาน ทั้งที่ควรจัดการตั้งนานแล้ว แต่วันนี้อยากจะหยิบยกขึ้นมากล่าวซ้ำ และอยากจะขอตีความเท่าที่คนสามัญของประเทศคนหนึ่งจะทำได้ เพราะไม่อยากให้คนเรามองแค่รูปธรรมเท่านั้น แต่อยากให้มองอย่างลึกซึ้งไปกว่านั้นกันสักหน่อย


ในกระแสพระราชดำรัสนั้น ให้สังเกตว่าก่อนที่จะตรัสถึงเรื่องเสียงนั้น ได้ตรัสถึงเรื่องการฟัง เอาไว้ก่อน และตรัสถึงการมีหูที่ดีเอาไว้ฟัง โดยยกตัวอย่างของการฟังดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีแจ๊ส ที่ต้องอาศัยหู และทักษะการฟังที่ดีมาก ๆ และถ้าหูไม่ดีเสียแล้วก็ไม่สามารถแยกเสียงหรือเล่นดนตรีให้ดีได้ รวมทั้งเรื่องของการฟังให้ได้ศัพท์ก่อนจับไปกระเดียด ที่แม้ไม่ได้เอ่ยตรง ๆ แต่ในฐานะประชาชนผู้เห็นความเป็นของประเทศไทย ณ เวลานี้ก็สามารถตีความได้เช่นนั้น


ต่อมา ก็นำมาถึงเรื่องรายการนายกฯ คุยกับประชาชนตอนที่ว่าสิ่งที่นายกฯ พูดเด็ก ๆ ต้องฟัง แต่ก็ต่อด้วยการฟังของเด็ก แล้วถึงค่อยมากล่าวถึงว่าเด็กที่ไปดิสโกเธค "เด็ก ๆ ต้องฟัง เด็ก ๆ ต้องเรียน ถ้าเรียนประเทศชาติจะดี เดี๋ยวนี้เขาว่าเด็ก ๆ ไม่เรียน เด็ก ๆ แม้แต่ถึงขั้นมหาวิทยาลัย ใช้คำว่าไม่ได้ความ เมื่อไม่ได้ความ อนาคตของชาติอยู่ไหน คือเด็กไม่ฟัง หรือฟัง ฟังแต่ฟังไม่เข้าใจ ฟังไม่เข้าใจ แทนที่จะปฏิบัติสร้างสรรค์ต่อไป ก็ไปเข้าดิสโก้เธค ไปฟังเพลง

ไปฟังเพลงที่ ความจริงก็ไม่ใช่เพลงอะไรดี ที่เป็นเพลงที่ไม่ได้เรื่อง ทำให้หูเสีย หูเสียไม่ใช่ว่าคนที่ฟังหูสูง หูต่ำ แต่หูไม่ได้ยิน หูตึง คนที่ไปฟังเพลงในดิสโก้เธค หูตึงทั้งนั้น ถ้าใครเป็นหมอที่นี่ หมอหู ไปตรวจก็ขอยืนยันว่าเด็กสมัยนี้ ถ้าไปตรวจหู หูเสียมากกว่าเด็กสมัยก่อน แม้จะเด็กสมัยท่านนายกฯ ก็หูตึงกว่าเด็กสมัยพระเจ้าอยู่หัวฯ"

อยากตั้งข้อสังเกตไว้สักเล็กน้อยว่า กระแสพระราชดำรัสในปีนี้ได้เน้นเรื่องหู และการฟังนั้นน่าจะมีความหมายระหว่างบรรทัดอยู่บ้างว่า คนเรานั้นต้องฟัง พระราชดำรัสอีกตอนหนึ่งมีว่า "ประสิทธิภาพของคนที่หูดีเหนือประสิทธิภาพของคนที่หูตึง แม้จะมีเครื่องช่วยให้ฟังได้ อันนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่น่าจะแก้ไข หรือน่าจะระมัดระวังให้คนไทย อนาคตมีหูที่ดีขึ้น มีหูที่ฟังได้ดี ไม่ใช่ว่าเป็นผู้เฒ่าถึงจะฟังไม่ได้ แต่ว่าเด็ก ๆ น่ะฟังไม่ได้ แต่ถ้าระมัดระวัง เดี๋ยวนี้ก็รู้สึกว่าจะยากในการที่รณรงค์ให้เด็กหูดีขึ้น ยาก เพราะว่าเคยชิน"
หากผู้คนทั้งหลายได้ฟังแล้วคิดตามนั้น ก็น่าจะรู้ว่า ในกระแสพระราชดำรัสนั้นไม่น่าจะหมายถึงแค่เพียงว่า จะให้ไปแก้ไขปัญหาเสียงในดิสโกเธคเท่านั้น ควรที่จะได้รู้ว่าหมายถึงการฝึกให้คนเป็นคนที่สามารถรับฟังคนอื่นด้วย เพราะย่อมรู้อยู่แล้วว่าใครเป็นคนที่ไม่ชอบฟังคนอื่นในบ้านเมืองนี้ และนิสัยเหล่านี้มันก็อาจจะติดกันไปหมดได้

จากการนั่งฟังกระแสพระราชดำรัสที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุในที่ 4 ธันวาคม และได้มาอ่านซ้ำอีกเมื่อมีการตีพิมพ์ในวันต่อมา ก็ตระหนักได้ว่านี่ถือว่าเป็นเรื่องที่ทรงเป็นห่วงเป็นใยอย่างมาก จึงได้นำมาเปรียบเทียบเช่นนี้ กล่าวคือ การที่คนเรานั้นใครพูดอะไรแล้วไม่ได้ยิน ก็เท่ากับเป็นคนหูตึง การไม่ฟังนั้นก็คือการทำเป็นไม่ได้ยิน ก็เหมือนกับคนหูตึงนั่นเอง แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมของเราถ้ามีแต่คนหูตึง (อันนี้ไม่ได้หมายถึงคนที่หูตึงโดยกำเนิด) ทุกวันนี้เรามีคนหูตึงอย่างหนักอยู่แค่หนึ่งคนสังคมเราก็แย่พอแล้ว

เห็นได้ว่าหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วแก้ไขไม่ได้นั้นไม่มากก็น้อยก็เพราะว่า มีคน ๆ หนึ่งหูตึงไปเสียแล้ว ใครพูดอะไรก็เลยไม่ได้ยินหรือได้ยินก็ไม่ถนัด ฟังไม่ค่อยได้ศัพท์ ก็เลยพาลทำตามใจแต่ที่ตัวเองคิดไปเพียงลำพัง

ดังนั้นอยากให้ทุกคนได้ร่วมสนองพระราชดำรัสโดยการเป็นผู้ฟังที่ดีกันมากขึ้น หมายถึงยอมรับฟัง ฟังแล้วรู้จักคิด และพิจารณา ถ้าดีก็นำไปปฏิบัติต่อดังที่พระองค์ท่านได้ยกตัวอย่างเอาไว้ด้วยเถิด