Skip to main content

สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา

คอลัมน์/ชุมชน

สัปดาห์นี้มีข่าวการเสียชีวิตของผู้ที่ดิฉันเคารพนับถือประดุจพี่ชาย คือ พี่เชิด ทรงศรี ผู้กำกับภาพยนตร์คุณภาพเยี่ยมยอดของไทย กับข่าวการถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสของครูจูหลิง ผู้ถูกจับเป็นตัวประกันที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งสะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศ ที่ผู้ร้ายไม่ละเว้นการก่อเหตุรุนแรง ข่มขวัญแม้แต่กับผู้ที่เป็นครู เป็นผู้หญิงอายุเพียง ๒๔ ปี ซึ่งเปรียบเสมือนดอกไม้แห่งความดี ความงาม เป็นความหวังแห่งความรักและสันติภาพ แต่กลับถูกเด็ดทำลายก่อนที่จะเบ่งบานเพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคมได้เต็มที่


 


ข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับวันจันทร์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๙ เกือบทุกฉบับ ลงเรื่องไว้อาลัยต่อการจากไปของพี่เชิด  ซึ่งสกู๊ปของเดลินิวส์เขียนได้อย่างน่าประทับใจว่า พี่เชิดกำกับชีวิตของตัวเอง ให้จบฉากสุดท้ายของชีวิตโดยหลับตายิ้มสดชื่น ขอบคุณชีวิตที่ได้ให้โอกาสอยู่ในโลกอย่างเป็นสุขถึง ๗๕ ปี


 



ขอขอบคุณคุณธัชตะวัน ทรงศรี ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ


 


หนังเรื่อง "แผลเก่า" เป็นสื่อให้ดิฉันศรัทธาและชื่นชมพี่เชิดเป็นอย่างยิ่ง โดยที่ยังไม่เคยรู้จักพี่เชิดเป็นส่วนตัว ดิฉันประทับใจไอ้ขวัญ (สรพงษ์ ชาตรี) อีเรียม (นันทนา เงากระจ่าง) และเรื่องราวความรักแท้ของหนุ่มสาวคู่นี้ที่สร้างจากนิยายของยาขอบ  พี่เชิดทำให้ภาพยนตร์เรื่องแผลเก่า โลดเต้น มีชีวิต สะท้อนคุณค่าของสังคมชนบทที่รักศักดิ์ศรีและซื่อตรง จริงใจ ดิฉันได้ดู "แผลเก่า" ถึง ๓ ครั้ง และร้องไห้ด้วยความซาบซึ้งทุกครั้ง


 


โย่ง สุจิตรา สุดเดียวไกร ยอดกัลยาณมิตรผู้รอบรู้ รู้จักผู้คนในวงการหนังสือ วรรณกรรมและวงการพัฒนา ได้แนะนำให้ดิฉันรู้จักกับพี่เชิด "ธม ชาตรี" เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน จึงทำให้มีความเคารพผูกพันกันทั้งสองครอบครัวจนถึงทุกวันนี้


 


พี่เชิดสนใจหนังสือ "แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน" ซึ่งโย่งได้เป็นบรรณาธิการ นับเป็นบันทึกชีวิตและเรื่องราวการทำงานกับผู้คนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เปรียบดังญาติมิตร ซึ่งอยู่ร่วมกันมานานนับสิบปี เป็นหนังสือที่ทำให้ดิฉันได้มีโอกาสสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจทำงานเพื่อสังคมเป็นครั้งแรก


 


การเดินทางท่องภาคใต้ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ กระบี่ ร่วมกับพี่เชิด โย่ง ทำให้คุณธนูชัย (อ๊อด) และดิฉัน ประทับใจในความเมตตาของพี่เชิดเป็นอย่างยิ่ง พี่เชิดคงเห็นว่าเราสองคนอยู่บนดอยมานาน อยากให้มาเรียนรู้ เปลี่ยนบรรยากาศชมทะเล กินอาหารทะเลเพื่อเติมพลัง


 


เมื่อเริ่มก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา (พชภ.) พ.ศ.๒๕๒๙  พี่เชิดกับครอบครัว คือ พี่จันทนา น้องแสงแดด น้องผึ้ง น้องไม้ไผ่ ได้ขึ้นไปเยี่ยมเยียนพี่น้องชาวอาข่าที่บ้านป่าคาสุขใจ บ้านอาแบ ตำบลแม่ สลองนอก ได้กิน นอน ในหมู่บ้าน ได้เยี่ยมชมการทำงานของครูอาสา โครงการ ศศช.(ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา) มีรูปถ่ายแห่งความทรงจำ เก็บไว้เป็นที่ระลึก


 



ภาพความทรงจำ ในหนังสือ แม่จันสายน้ำที่ผันเปลี่ยน


 


หลังจากนั้น เมื่อดิฉันและสามีมีธุระต้องเข้ามากรุงเทพ ฯ พี่เชิดก็กรุณาให้มาพักที่บ้าน ตอนเย็นพาไปกินข้าวร้านอร่อย จะไปติดต่องานที่ไหน ถ้าพี่เชิดว่างก็จะขับรถไปส่งด้วยตัวเอง ถ้าดิฉันมากรุงเทพฯ คนเดียว พี่เชิดจะให้พักที่สำนักงาน มีพี่แจ้ดกับแม่แก้วดูแลการกินอยู่อย่างอบอุ่น


 


สำนักงานเชิดไชยภาพยนตร์ที่มีหนังสือที่ดี ทั้งนิยาย เรื่องสั้น สารคดี นิตยสารจำนวนมาก พี่เชิดเป็นผู้ที่ใฝ่ใจศึกษาอยู่ตลอดเวลา ทันสมัย อ่านหนังสือทุกแนว ทั้งแนวธรรมะ แนววัยรุ่น แนวสุขภาพ


 


ไปพักกับพี่เชิดทีไร นอกจากคุยเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองด้วยความห่วงใยแล้ว ก็ได้ความรู้ ได้แรงบันดาลใจจากพี่เชิด ได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการทำภาพยนตร์ ว่าต้องเตรียมการ เตรียมใจ เตรียมบุคลากร และปัจจัยหนุนช่วยมากขนาดไหน


 


หนังเรื่องอื่นๆ ที่พี่เชิดสร้างและกำกับ ดิฉันได้ติดตามดูโดยตลอด เช่น เรื่องพลอยทะเล อำแดงเหมือนกับนายริด ข้างหลังภาพ ทุกเรื่องมีพัฒนาการของแนวคิด ฝีมือการกำกับ ถ่ายทำ ตัดต่อ ทั้งการปลูกฝังคุณค่าวัฒนธรรมไทย ความรักชาติ สิทธิความเสมอภาคหญิงชาย คุณค่าของคุณธรรมความดี ความเป็นผู้ดี ซึ่งทั้งหมดล้วนมีอยู่ในตัวพี่เชิด


 


ความทันสมัยไม่เคยหยุดนิ่ง คือคุณสมบัติของพี่เชิด ดิฉันทราบว่าพี่เชิดเดินทางไปต่างประเทศ ชมการประกวดหนังในต่างประเทศเสมอ รวมทั้งการศึกษาสถานที่ถ่ายทำหนังที่เหมาะสม เช่น เรื่องข้างหลังภาพ ซึ่งเรื่องเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น พี่เชิดก็หาสถานที่ที่เข้ากับเนื้อเรื่องได้ดี


 


สุขภาพเป็นเรื่องที่พี่เชิดดูแลอย่างดี ทั้งสุขภาพใจ ที่หล่อหลอมด้วยธรรมะและสุขภาพกาย พี่เชิดรักษาตัวเองให้เป็นวัยรุ่น "อายุ ๒๘ ปี" ไว้ได้อย่างเป็นอมตะ รูปร่างสูงโปร่ง เดินตัวตรง ยืนตัวตรง ไม่ค่อยแตะต้องอาหารเย็น แต่รู้จักร้านอร่อยเพื่อพาเพื่อน ๆ น้อง ๆ ไปกินได้โดยไม่เบื่อ


 


ความเกื้อกูลของพี่เชิดต่อผองเพื่อนและรุ่นน้องในวงการบันเทิง เป็นที่ประจักษ์ของทุกคน เช่น หนัง "มหาลัยเหมืองแร่" ที่เก้ง จิระ มะลิกุล กำกับและอำนวยการสร้าง ซึ่งเป็นหนังดีที่วัยรุ่นและผู้ใหญ่ควรดู แต่กลับผิดคาด เป็นหนังที่ไม่ได้เงิน ได้แต่กล่องคือได้รับรางวัลมากมายในภายหลังจากหนังออกจากโรงแล้ว ทั้ง ๆ ที่พี่เชิดหนุนช่วยทุกวิถีทาง


 


งานรดน้ำศพและสวดพระอภิธรรมเพื่อพี่เชิดที่วัดเทพศิรินทร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙ สวดได้เพียง ๕ วัน เพราะพี่เชิดบริจาคร่างให้เป็น "อาจารย์ใหญ่" ของนักศึกษาแพทย์ อีก ๑ – ๒ ปี จึงนำกลับมาบำเพ็ญกุศล เหล่าดารา ผู้กำกับ และบุคคลในวงการบันเทิงจึงมาไว้อาลัยกันอย่างคับคั่ง


 


ผลงานภาพยนตร์อันเป็นอมตะของพี่เชิด เช่น เรื่องแผลเก่า เพื่อนแพง รวมทั้งผลงานภาพยนตร์ที่เชิดชูเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยโดยผู้กำกับแนวหน้าคนอื่น เช่น คนเลี้ยงช้าง มือปืน ๒ สาละวินของท่านมุ้ย(หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคล) อุกาฟ้าเหลือง (จำไม่ได้ว่าใครกำกับ) รัฐบาลควรสนใจนำมาศึกษา นำฟิล์มมาจัดการให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์  จัดเป็นเทศกาลหนังที่คนไทยควรดู ทำพิพิธภัณฑ์หนังไทยที่ทรงคุณค่า


 


รัฐบาลควรสนับสนุนภาพยนตร์ไทยอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับต้องเสี่ยงต่อการตลาดเพียงฝ่ายเดียว หนังดีที่ใช้เวลาชมแค่ ๒ ชั่วโมง สามารถปลูกฝังเปลี่ยนทัศนคติของคนได้ แต่ผู้สร้าง ผู้กำกับ ดารา และทุกคนที่อยู่เบื้องหลังการถ่ายทำ ล้วนต้องทุ่มเทใจกาย ปัญญา ไม่น้อยกว่า ๑ – ๒ ปี งานจึงสำเร็จ


 


การคุ้มครองสวัสดิภาพ สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ของเหล่าศิลปินทุกสาขา ควรที่รัฐบาลจะพิจารณา รวมทั้งผู้ที่ทำความดีต่อประเทศทุกแขนง


 


ความดีที่พี่เชิด ทรงศรี มอบไว้ให้แก่แผ่นดินไทยและชาวโลก จะสถิตอยู่ในดวงใจของพวกเราตลอดไป ขอให้วิญญาณของพี่จงไปสู่สุขติภูมิจนถึงพระนิพพานในอนาคต


 


ส่วนกรณีของครูจุ้ย จูหลิง  ปงกันมูล นั้น นักเรียนในเชียงรายและทุกคนที่ได้รับรู้ล้วนพากันส่งผลบุญไปช่วย ไม่ว่าครูจุ้ยจะมีโอกาสกลับมามีชีวิตที่เหมือนตายแล้วเกิดใหม่หรือไม่ แต่คุณความดีของครูจุ้ย ก็เตือนสติ ให้บทเรียนเป็นตัวอย่างแก่ผู้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะวัยรุ่น ให้ตั้งเป้าหมายในชีวิตว่า จะใช้เวลาที่เป็นมนุษย์อยู่ในโลกใบนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งปวง ด้วยความกล้าหาญ ดังเช่น ครูจุ้ยที่มุ่งมั่นจากเหนือสุดของประเทศมาสู่ใต้สุดของประเทศ  เพื่อให้ความรัก ความรู้ แก่เด็กน้อยชาวมุสลิม แม้จะต่างศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม 


 



ภาพจาก http:// www.kapook.com


 


คุณแม่คำมี ปงกันมูล ได้เล่าให้ดิฉันฟังทางโทรศัพท์ในช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคมนี้ว่า น้องจุ้ยเป็นลูกสาวคนเดียวของพ่อแม่ เมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางก็สมัครมาเป็นครูที่ภาคใต้ น้องจุ้ยเพิ่งพาพ่อแม่มาเที่ยวที่โรงเรียนเมื่อไม่กี่วันนี้ ไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องร้ายขึ้น


 



ภาพจาก http:// www.manager.co.th


 


รูปครูจุ้ยที่ถ่ายกับแม่หน้าภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดในนราธิวาส เห็นใบหน้าอ่อนเยาว์สดใส กับภาพงดงามที่น้องเป็นผู้วาดถวายวัด ลงหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ข่าวสด แสดงถึงความสามารถด้านศิลปะที่โดดเด่นของครูจุ้ย ซึ่งน่าเสียดายที่คุณค่าของศิลปะที่ควรจะได้ถ่ายทอดสู่นักเรียนตัวน้อย ๆ จะสูญไป หากครูจุ้ยจะฟื้นขึ้นมาโดยไม่มีสภาพชีวิตที่สมบูรณ์เหมือนเดิม


 


 "ทำร้ายครู คือ ทำลายลูกตัวเอง" การ์ตูนการเมือง หน้า ๓ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๒๒ พฤษภาคม โดย "เซีย" เขียนไว้อย่างจับใจ ดิฉันเห็นด้วย เสียดายโอกาสที่เด็กน้อย ๆ ในหมู่บ้านกูจิงลือปะ จะได้มีครูคนใหม่ที่เติมสุนทรียภาพลงในจินตนาการ เพื่อบ่มเพาะให้เด็กน้อย ๆ เป็นทูตแห่งความรัก ความดี ความงาม และสันติภาพสู่โลกในอนาคต


 


ข่าวบอกว่าเมียของผู้ต้องหาและกลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้าน เป็นตัวการจับครูผู้หญิงเป็นตัวประกัน ดิฉันไม่อยากเชื่อเลยว่า ผู้หญิงจะคิดและลงมือกระทำด้วยความแค้น ด้วยความเกลียดชังได้ถึงเพียงนั้น


 



ขอขอบคุณมูลนิธิกระจกเงาที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ


 


ขอให้ทุกฝ่ายที่มีหน้าที่แก้ปัญหา อย่าใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ ดับไฟด้วยน้ำ อย่าดับไฟด้วยไฟ สติ ปัญญา เมตตา และขันติ จะช่วยดับไฟใต้ได้โดยเร็ว