Skip to main content

กินข้าวนอกบ้าน

คอลัมน์/ชุมชน

ชีวิตคนกรุงเทพฯ กับการกินข้าวนอกบ้านดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว ยิ่งอาหารกลางวันนั้นไม่ต้องพูด คนทำงานนอกบ้านฝากท้องไว้กับร้านอาหารเกือบทั้งร้อย หมดยุคเอาอาหารกล่องไปทานนานแล้ว สมัยผู้เขียนเด็กๆ ไม่ชอบทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดให้ก็มี "ป้า" ที่เป็นเหมือนแม่นมเอาอาหารไปให้ตอนกลางวัน ไม่งั้นก็พากลับมาทานที่บ้าน พอโตขึ้นก็หัดซื้อกินเองบ้าง จากนั้นก่อนเข้ามหาวิทยาลัยก็เอาใส่กล่องไปกิน เป็นที่แปลกประหลาดในบรรดาพรรคพวก จนเข้ามหาวิทยาลัยนั่นแหละจึงพึ่งพาร้านอาหารอย่างจริงจัง เพราะไม่สามารถหอบข้าวกล่องไปกินได้อีกแล้ว เพราะจะโดนล้อว่า "งก"


 


จนกระทั่งไปเรียนที่สหรัฐฯ พฤติกรรมข้าวห่อ กลับมาใหม่แต่กลายเป็นแซนด์วิชห่อ ไม่งั้นกลับมากินที่บ้านเพราะบ้านใกล้มหาวิทยาลัย ไม่งั้นก็เป็นหอพักในมหาวิทยาลัยเลย  อาหารนอกบ้านเป็นเรื่องความหรูหราราคาแพง เพราะนอกจากค่าอาหารแล้วยังต้องทิปอีกกว่า 15% ถ้าเป็นฟาสต์ฟู้ดก็ไม่ต้องเสีย แต่ว่าก็แพง ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่กินนอกบ้าน  ประหยัดได้ไม่น้อย ในช่วงที่ทำงานเองผู้เขียนก็นำอาหารกล่องติดตัวไปแล้วเอาเข้าตู้เย็นน้อยๆ ในห้องทำงาน ก่อนกินก็เอาออกใส่จานชามที่ใช้กับไมโครเวฟได้แล้วอุ่นอาหารนั้น เป็นอย่างนี้เกือบทุกวัน ส่วนอาหารมื้ออื่นก็กลับไปกินที่บ้าน ทำให้มีเงินเก็บมาธุระเมืองไทยในช่วง 6 ปีผ่านมา มิเช่นนั้นแล้วคงไม่มีปัญญา อย่านึกว่าทำงานเมืองนอกจะมีเงินเหลือมากถ้าหากว่าไม่รู้จักใช้เงิน ยิ่งอาชีพสอนหนังสือในเมืองเล็กๆ เงินเดือนจะต่ำมากแถมภาษีโหด ต้องระมัดระวังการใช้เงินมาก


 


ผู้เขียนจึงเป็นพ่อครัวจำเป็นที่ทำอาหารไทยแบบไม่ไทยได้ค่อนข้างเก่ง คือเอาเป็นว่ากินแล้วอร่อย สะอาด และไม่ต้องห่วงเรื่องคุณภาพอาหาร "ผัดไทย" ฝีมือผู้เขียนนั้นได้ชื่อว่าอร่อยสุดๆ ทำทีไรฝรั่งแย่งกันกินจนหมดถาดขนาด 9 คูณ 13 นิ้วใน 5 นาที แต่ต้องบอกก่อนว่าของฟรีด้วย เลยยิ่งแย่ง ถ้าขายนี่ก็อาจเป็นเรื่อง  อย่างไรก็ตาม อย่าคิดว่าฝรั่งทุกคนจะชอบอาหารไทยแบบที่รัฐบาลไทยโหมกระหน่ำแผนโฆษณาชวนเชื่อในเมืองไทย หลายหนที่ฝรั่งไม่แตะอาหารไทยจานเดียวกันนี่แหละเพราะเป็นฝรั่งคนละกลุ่ม และกลุ่มที่ไม่ชอบอาหารไทยนี่มีมากกว่าคนที่ชอบอาหารไทยหลายเท่าตัว อาหารไทยนั้นเป็นที่นิยมเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสากลแต่อย่างใด  คนไทยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่จึงมักหลงผิดว่าอาหารไทยนั้นเป็นที่นิยม ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องที่หลายๆ คนควรจะพูดให้ชัดเจนด้วยเพราะถือเป็นการโฆษณาชวนเชื่ออย่างน่ารังเกียจ


 


กลับมาที่เรื่องคน กทม. ทานข้าวนอกบ้านจะดีกว่า เพราะผู้เขียนเองได้เปลี่ยนพฤติกรรมการกินไปกับเขาด้วยเพราะว่าต้องออกนอกบ้านมากกว่าอยู่บ้าน และการทำอาหารนั้นใช้เวลามาก กลายเป็นว่าการซื้อกินสะดวกกว่าซื้อมาทำกิน  แต่ปัญหาที่ตามมาคือว่าผู้ประกอบในการค้าอาหารสำเร็จรูปไม่ว่าจะอยู่ในห้างใหญ่หรือร้านเล็กๆ หลายรายไม่มีความรู้เพียงพอในโภชนาการหรือพยายามลดต้นทุนหรือรู้แล้วแต่ไม่สนใจว่าจะส่วนประกอบอาหารบางส่วนจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ


 


เรื่องที่เห็นทั่วไปคือเรื่องของการบริการทอดปลาหรือทอดอาหารให้ในห้างใหญ่ๆ  ผู้เขียนได้สำรวจแล้วปรากฏว่าสามเจ้าที่ผู้เขียนไปจ่ายตลาดใช้น้ำมันเกรดต่ำกว่าน้ำมันถั่วเหลืองมาทอดและใช้ทอดหลายครั้ง  การใช้น้ำมันเกรดต่ำมาทอดเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการบริโภคไขมันที่เป็นอันตราย ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าตอนนี้คนไทยมีโรคที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากขึ้น นอกจากนี้ผู้ผลิตน้ำมันพืชเองในไทยไม่ได้ชี้แจงว่าน้ำมันพืชของตนเหมาะกับการใช้ประกอบอาหารอะไรอย่างไร


 


ในเรื่องของการเปลี่ยนน้ำมันถี่บ่อยนั้น พบว่าใช้เกณฑ์ในเรื่องของเวลา เช่นเปลี่ยนทุกสี่ชั่วโมง  แต่ถ้าน้ำมันเปลี่ยนสีเป็นสีคล้ำมากๆ ก็จะเปลี่ยนแม้ไม่ครบชั่วโมง  เรื่องนี้ต้องบอกก่อนว่า การใช้น้ำมันทอดซ้ำนั้นต้องไม่ควรเกิน 2 ครั้ง เพราะโมเลกุลของน้ำมันจะมีการเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นสารก่อมะเร็งได้ แต่อนิจจาผู้ประกอบการไม่เคยคิดเอาใจใส่แต่อย่างใด


 


ผู้เขียนเองเมื่อรู้จึงพยายามเลี่ยงของทอดที่จำหน่ายในตลาด จริงๆ แล้วเรื่องนี้ควรมีการรณรงค์ให้ชัดเจน และมีการตักเตือนหรือลงโทษด้วยหากจำเป็น มิเช่นนั้นแล้วเรื่องแบบนี้ก็จะเกิดตลอดไป ไม่รู้จักจบ


 


ผู้เขียนเดิมเองไม่รู้เรื่องนี้มากนัก แต่ยอมรับว่าการใช้ชีวิตในสหรัฐฯ ทำให้สนใจเรื่องนี้มาก การใช้น้ำมันต่างๆในการปรุงอาหารเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้  การทอดของทั่วไปหรือผัดทั่วไปผู้เขียนใช้น้ำมันคราโนล่า การผัดผักที่ไม่ใช้ความร้อนสูงก็ใช้น้ำมันโอลีฟ ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองนั้น ไม่จำเป็นก็ไม่ใช้เพราะถือเป็นน้ำมันเกรดต่ำ น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่ว น้ำมันมะพร้าวไม่ใช้เลย ในเมืองไทยอาจใช้แค่น้ำมันถั่วเหลืองก็ถือว่าพอใช้ได้ ตอนนี้อยากให้มีคนทำน้ำมันคราโนล่าออกมาขายมากขึ้นจะได้เป็นผลดีต่อสังคม แต่ก็ดีใจว่ายังมีน้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันโอลีฟ มาวางขายบ้าง แต่ก็ราคาดุเดือดเพราะเป็นของนำเข้าทั้งนั้น


 


นอกจากนี้เรื่องของรสชาติอาหารที่ดุเดือดมากๆ หวานเป็นหวาน เค็มเป็นเค็ม อาหารจืดๆ คนไทยไม่ชอบ และคนไทยไม่ทำกิน ผู้เขียนเป็นคนที่ขึ้นชื่อว่าทานอาหารจืดสนิท  ไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ไหน ไม่เคยใส่เครื่องปรุง เค้าทำมาอย่างไรกินอย่างนั้น ขนาดนั้นยังรู้สึกเลยว่าเค็มพอแล้ว แต่เพื่อนๆ ส่วนมากก็ประโคมกันลงไป ไม่รู้เลยว่ากินน้ำตาลกินเกลือเกินพิกัดในแต่ละวัน ตับไตไส้พุงพังกันไปทีละน้อย  แถมคนที่เป็นความดันโลหิตสูงนั้นถือว่าเกลือเป็นศัตรูที่สำคัญ  แต่คนไทยก็มองข้ามทั้งที่ก็พอมีการประกาศห้ามเรื่องการกินเกลือหรือน้ำตาลมากเกินพอ


 


เรื่องนี้ผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือด้วย แต่ก็อีกนั่นแหละ อาหารอร่อยคืออาหารที่ใช้ของทำลายสุขภาพประกอบทั้งนั้น และผู้ประกอบการก็ยังคงทำอยู่เพราะต้องการขายได้ คนซื้อก็ไม่รู้และตามใจปากตามใจท้อง ทำให้เกิดผลตามมาที่กว่าจะเห็นก็สายไปเสียแล้ว เข้าทำนอง"ไม่เห็นโลง ไม่หลั่งน้ำตา"


 


เรื่องนี้มองอย่างพื้นๆ คือเรื่องความเขลาของทั้งสองฝ่าย คือผู้ประกอบการและผู้บริโภค ที่ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง กล่าวคือผู้ประกอบการคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนที่พยายามทำอย่างไรให้ขายได้มากที่สุด กำไรมากที่สุด ในขณะที่ผู้บริโภคก็ไม่ได้รักษาผลประโยชน์ของตนเอง แต่ที่น่ามองเกินกว่านั้นคือผู้บริโภคมักตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเพราะว่ากลุ่มผู้ประกอบการมักจะมีโยงใยในการกำหนดคุณภาพสินค้า ดังนั้น เรื่องนี้ก็ไปตกอยู่ในเรื่องของทุนนิยมสมัยใหม่อีก ที่ว่าคนไหนมีทรัพยากรมากกว่าก็จะได้เปรียบ และที่สำคัญในประเทศด้อยพัฒนานั้น เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หน่วยงานของรัฐซื้อได้ ตั้งแต่เรื่องแค่นี้จนถึงระดับการเลือกตั้งกำหนดนโยบายต่างๆ


 


ดังนั้น เมื่อมองมุมลึกและกว้างออกไปก็จะพบว่าในสังคมแบบนี้ คนในสังคมส่วนใหญ่จะโดนปิดบังข่าวสารต่างๆ ไม่มีโอกาสได้รับข้อมูลที่ถี่ถ้วนเพียงพอ นอกจากนี้หากมีผู้ใดคิดเปิดโปงก็มีโอกาสถูกอุ้มได้โดยง่าย คนที่จะเจริญได้ต้องเป็นพวกเดียวกับกลุ่มที่มีอำนาจเท่านั้น การตรวจสอบจึงไม่เกิดขึ้นหรือเกิดได้ก็มีการฮั้วกัน เป็นการบังหน้าเท่านั้น


 


แม้ว่าวันนี้จะมีกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความชอบธรรมมากขึ้น แต่ก็เหมือนมีอุปสรรค เพราะว่าพื้นฐานเดิมนั้นสังคมไทยไม่มีกระบวนการแบบนี้ และเมื่อพอจะมีก็มีความพยายามจากฐานอำนาจในแต่ละช่วงที่จะทำแท้งไม่ให้เกิดความล้มเหลวไม่ใช่มาจากแผนหรือหลักการ แต่มาจากการที่ผู้ครองอำนาจในแต่ละยุคไม่ได้ต้องการให้คน"ฉลาด" เลยกลายเป็นเรื่องของมรดกทางปัญญาที่ไม่มีปัญญาหลงเหลือ


 


ใครจะนึกว่าการมองประเด็น "กินข้าวนอกบ้าน" จะสะท้อนได้ถึงเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจได้ในสังคมไทยๆแบบนี้