Skip to main content

เมื่อมือถือจะมีปลอกคอ (จากแนวคิดคนบ้านนอก)

คอลัมน์/ชุมชน

พูดถึงปลอกคอผู้อ่านคงต้องคิดถึงสัตว์เลี้ยงน่ารักๆ ใช่ไหมล่ะ และคงแปลความหมายว่ามีเจ้าของ แต่ผู้เขียนไม่ได้สื่อความหมายอย่างนั้น


 


ปลอกคอของผู้เขียนหมายถึงการบังคับให้เดินไปตามทางที่มีผู้กำหนด อย่างเช่นเรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้  หากจะบอกว่าเป็นเรื่องบังเอิญก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะการที่ผู้เขียนได้เข้าไปร่วมประชุมในเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ "ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ" ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เมื่อวันที่ 23  พฤษภาคม  2549    โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค  โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอชื่อเข้าไป  ในตอนแรก ผู้เขียนก็ไม่ค่อยอยากไปร่วมเท่าไร แต่เมื่อถึงวันจริงๆ คนชอบข้อมูลอย่างเราก็อดไม่ได้  แม้จะต้องเสียค่ารถค่าเรือเองก็ยังไป  


 


เมื่อได้เข้าไปในงานแล้ว มีความรู้สึกเหมือนเราหลงเข้าไปในเวทีของผู้ให้บริการฝ่ายเดียว  เพราะหันซ้ายก็ทรู หันขวาก็เอไอเอส ดีแทค อยู่ล้อมหน้าหลัง และมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทอื่นๆ อีกทั่วฟ้าเมืองไทยเต็มพรึบไปหมด ทั้งห้องประชุมแทบไม่มีที่ว่าง  ที่แปลกที่สุดคือแทบไม่เห็นผู้ใช้บริการเข้าไปในเวทีนี้เลย (งง..ไม่รู้เขารับฟังความคิดเห็นของใคร) ทั้งที่หัวข้อเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น  ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีหน้าที่ฟัง ๆ ๆ และฟังอย่างเดียว จะพูดจะถามก็แสนยากลำบาก เพราะในเวทีมีกฎมีเกณฑ์ค่อนข้างมาก  คนที่จะแสดงความคิดเห็นได้ต้องเป็นผู้ที่ส่งร่างแก้ไขที่ กทช. ส่งไปให้และส่งร่างแก้ไขนั้นกลับมาเป็นตัวอักษรแล้ว ถึงจะมีสิทธิลุกขึ้นอภิปรายได้ และในจำนวนนั้น 100%  เป็นบริษัทผู้ประกอบการทั้งสิ้น เพราะแม้แต่ สคบ. หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ไม่มีสิทธิพูดเพราะไม่ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.กลับไปที่ กทช.  ส่วนชาวบ้านอย่างเราๆ  ซึ่งไม่เคยมีโอกาสเห็นแม้แต่เงาของร่าง พ.ร.บ.นี้ จึงยิ่งไม่มีสิทธิเสนออะไร


 


ดังนั้น ผู้เขียนทำได้อย่างเดียวคือรับฟัง  บริษัทแรกที่ขึ้นมาพูดและอ่านข้อเสนอแก้ไขร่างคือบริษัท กสท. (การสื่อสารแห่งประเทศไทย)  บริษัทที่เคยเป็นสมบัติชาติ แต่ปัจจุบันถูกจับใส่ปีกใส่หาง ให้มีคำว่าบริษัทจำกัด (มหาชน) มีจุดประสงค์องค์กรที่เปลี่ยนไปไกลมากเลย "เงินนำหน้าปัญญาไม่พูดถึง" (ผู้เขียนคงไม่สามารถบรรยายได้หมดว่าเขาขอแก้อะไรบ้าง  คงต้องคัดเฉพาะที่สำคัญๆ มาเล่าสู่กันฟัง) ข้อที่ กสท.ขอแก้ไข ผู้เขียนฟังแล้วสะท้อนใจมากคือ  กสท.ขอเสนอแก้คำว่า "ทำสัญญาอย่างเป็นธรรม" ออกจากร่าง พ.ร.บ. เพราะไม่มีความจำเป็นที่ต้องใส่คำนี้ลงไปในร่าง พ.ร.บ.  ฟังแล้วก็คิดตามว่านี่มันมีความหมายว่าต้องการทำสัญญาเอาเปรียบผู้บริโภคเหมือนเดิมใช่หรือไม่  ผู้เขียนคิดคนเดียว คงไม่ใช่ข้อสรุปฝากให้ผู้อ่านช่วยคิดต่อด้วย


 


บริษัทอื่นๆ ก็ไม่แตกต่าง  ทุกบริษัทลุกขึ้นมาอภิปรายขอแก้ไข และตัดในส่วนของข้อบังคับ (ปลอกคอ) ที่กำหนดให้การขายบัตรเติมเงิน  ไม่ให้มีกำหนดเวลามาบังคับผู้ใช้บริการเพราะถือว่าเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคชำระเงินล่วงหน้าสิ้นสุดแล้วถือว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะใช้หรือไม่ใช้ก็ย่อมเป็นสิทธิ  ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ทุกบริษัทคัดค้านโดยให้เหตุผลคล้ายกันว่าการเปิดเสรีผู้ซื้อบัตรเติมเงินโดยไม่กำหนดระยะเวลาหมดอายุของบัตร เป็นการตัดช่องทางการแข่งขัน และสิ้นเปลืองทรัพยากร (หมายเลข) ของบริษัท การทำเอกสารทางบัญชีจะเกิดความยากลำบาก ฯลฯ  หลากหลายเหตุผลที่นำมาเอ่ยอ้าง


 


ผู้เขียนฟังจนเอียนทนไม่ไหวเลยลุกขึ้นยกมือขอพูดบ้าง  ไม่ต้องแปลกใจเพราะทั้งห้องประชุมแตกตื่น (กับความไม่มีมารยาทของผู้เขียน) เพราะผู้เขียนไม่ได้ยกมืออย่างเดียวแต่ตะโกนขออนุญาตแสดงความคิดเห็นด้วยในฐานะผู้ใช้บริการ  ที่ กทช. ต้องรับฟังความคิดเห็นมากกว่าบริษัทที่ให้บริการ โดยให้เหตุผลว่ารอไม่ไหว บ้านอยู่ไกล ขอพูดก่อน  กทช. โดย รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม ผู้ดำเนินรายการอนุญาต ให้แสดงความคิดเห็นได้  


 


ผู้เขียนแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ของ กทช. ที่ร่างมาเพราะมีข้อความที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้บริการค่อนข้างมาก เพราะเดิมผู้ให้บริการจะทำอย่างไรก็ตัดสินใจกันเอง จะกำหนด จะออกระเบียบอย่างไรก็ได้โดยไม่มีผู้ควบคุม แต่วันนี้ กทช. กำลังร่างปลอกคอบังคับให้ผู้ประกอบการต้องเดินไปในทิศทางที่ กทช.กำหนด  ทำให้ดิ้นกันสุดฤทธิ์ที่จะทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเนื้อหาเอื้อต่อตนเองให้มากที่สุด  ผู้เขียนยกกรณีตัวอย่างให้ที่ประชุมฟัง 3 กรณี กรณีแรก บัตรเติมเงิน ยกตัวอย่างชาวประมงในหมู่บ้านของผู้เขียนที่ออกทะเลตอนกลางคืน และต้องการจะสื่อสารกับทางบ้านเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินกลางทะเล จึงซื้อโทรศัพท์แบบเติมเงินเพื่อให้สะดวกต่อการสื่อสาร ปัญหามันอยู่ที่เวลากลางคืน เขาอยู่กับเครื่องยนต์ที่เสียงดังมากตลอดเวลา โทรศัพท์จึงใช้เฉพาะยามมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้นคุยเล่นไม่ได้  เมื่อเข้าฝั่งมาก็นอนทั้งวันเพราะง่วงมาทั้งคืน  โทรศัพท์แทบไม่ได้ใช้ เวลาจะใช้ก็ใช้ไม่ได้เพราะเวลาหมด แม้เงินจะยังอยู่เต็มก็ตาม เมื่อเวลาหมดก็ต้องซื้อบัตรเติมใหม่เพราะเสียดายเงินที่อยู่ในเครื่อง เติมไปเติมมามีเงินอยู่ในเครื่องเกือบ 3,000 บาท เดือดร้อนต้องให้ชาวบ้านมาช่วยกันใช้โทรศัพท์ของตนเอง เพราะให้เพื่อนบ้านโทรยังดีกว่าให้บริษัทยึดเงินไปดื้อๆ เห็นไหมว่านี่คือความเดือดร้อนและความสิ้นเปลืองของชาวบ้านที่ถูกบังคับด้วยระยะเวลาที่ไม่เป็นธรรม (รวยจนล้นจากการเอาเปรียบแล้วยังไม่รู้จักพอ)


 


กรณีที่สอง เรื่องโหลดเพลง จริงๆ ผู้เขียนค่อนข้างโบราณ ไม่รู้หรอกว่าเขาโหลดกันอย่างไร รู้แต่ว่าโทรไปหาใครเขาก็มีเพลงเพราะๆ ให้ฟังทั้งนั้น เราก็อยากมีบ้างก็โทรเข้าไปที่ศูนย์ ขอโหลดเพลง (เสียเงินค่าโทรนะแม้จะโทรขอใช้บริการ) เจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องเสียเงินค่าสมัครและค่าบริการรายเดือนหากคุณต้องการใช้บริการ เราก็ยอมเพราะอยากมีเพลงเวลามีคนโทรหา  ปัญหาคือเพลงที่เราต้องการคือเพลงชาติไทย  ซึ่งในระบบไม่มีบริการ เจ้าหน้าที่แจ้งให้เลือกเพลงอื่น แต่เราไม่เอา จึงสมัครทิ้งไว้และให้เจ้าหน้าที่หาเพลงชาติให้เรา เรื่องล่วงเลยไปเกือบเดือน  จนมีเพื่อนโทรมาและถามว่า ได้ค่าโฆษณาบริษัทเท่าไร ผู้เขียนถึงได้รู้ว่าบริษัทเอาเพลงโฆษณามาใส่เครื่องเรา 


 


ผู้เขียนโทรกลับไปหาและขอให้เอาเพลงโฆษณานั้นออกจากเครื่องเพราะมันเป็นการละเมิดกันชัดๆ เราใช้บริการคุณ คุณก็เก็บเงินเรา แล้วยังมาใช้เราโฆษณาสินค้าให้คุณอีก  เจ้าหน้าที่แจ้งว่าสาเหตุเพราะเราไม่ยอมเลือกเพลงอื่น เขาจึงจำเป็นต้องเอาเพลงโฆษณาของบริษัทใส่ให้ (ทั้งที่เก็บเงินเราเนี่ยนะ เฮ้อ...) ผู้เขียนไม่ยอมและให้ถอดเพลงออกจากเครื่องเจ้าหน้าที่ก็อิดออด ในที่สุดผู้เขียนต้องโทรไปแจ้ง สคบ. บริษัทถึงยอมถอดเพลงโฆษณาออกจากเครื่องเรา เห็นไหมบริษัทมีแต่ได้กับได้ โทรไปขอใช้บริการก็เสียเงิน โทรไปยกเลิกก็เสียเงิน แล้วยังต้องเสียค่าโทรไป สคบ.อีก (ยังไม่รวมค่าเสียเวลา)


 


กรณีที่สาม กลยุทธการขาย  บริษัทต่างๆ จะมีเซลล์ออกไปขายสินค้าตามต่างจังหวัดโดยเฉพาะบัตรเติมเงินขายซิมการ์ด มีการเดินขายตามที่ชุมนุมชน แม้แต่เข้าถึงบ้านก็มี  โดยการขายซิมการ์ดจะใช้กลยุทธซื้อ1 แถม 1 ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ชอบของแถม ก็ซื้อไว้ใช้ 1 เบอร์ ใส่ลิ้นชักไว้ 1 เบอร์ แต่ละเดือนที่เสียเงินก็ด่าลูกทุกเดือนว่าแอบมาใช้โทรศัพท์แต่ละเดือนเสียเงินเป็นพันๆ ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยได้โทร แต่ชาวบ้านก็เป็นชาวบ้านซื่อและไม่ระแวง  ความมาแตกว่าถูกหลอกก็ต่อเมื่อโทรศัพท์ที่ใช้อยู่หายไป จึงไปแจ้งยกเลิกเบอร์ที่ใช้และตัดสินใจไม่ใช่โทรศัพท์เพราะมันเปลืองเงิน  เมื่อปิดแล้วก็คิดว่าหมดปัญหา แต่ที่ไหนได้มันมีบิลมาเก็บเงินอีกเกือบพันทั้งๆ ที่ตอนไปปิดเบอร์ก็จ่ายหมดแล้วไม่มีติดค้าง จึงสอบถามไปทางบริษัทได้คำตอบว่า ซิมการ์ดที่อยู่ในลิ้นชักแม้ไม่ใช้ก็ต้องเสียเงินเพราะมันเป็นแพคเกจแบบเหมาจ่ายรายเดือน ใช้ไม่ใช้ก็ต้องจ่ายทุกเดือน  ชาวบ้านถึงได้ถึงบางอ้อว่า "มันหลอกกู"


 


สิ่งที่เขียนมาเป็นข้อเท็จจริงที่มีตัวตนยืนยันได้ (พูดเสร็จก็กลับบ้านทันทีไม่รอฟังคำตอบ) ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้มันเกิดขึ้นกับทุกที่คล้าย ๆ กัน ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบมาตลอดโดยที่ไม่มี หน่วยงานของรัฐมาช่วยเหลือให้ความเป็นธรรม วันนี้มี กทช. ซึ่งมีหน้าที่เป็นเจ้าภาพมาดูแล แม้จะยังเป๋ไปเป๋มาเหมือนหมาง่วงนอน แต่ก็ยังร่าง พ.ร.บ.ที่น่าชื่นชมออกมาแล้ว  แม้เวทีรับฟังความคิดเห็น จะยังไม่ได้เปิดให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็น  ซึ่งเราก็ยังหวังว่าก่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ กทช.เองก็ต้องฟังเสียงชาวบ้านบ้าง แม้จะเลือนลาง  แต่เราก็ไม่มีความหวังจากที่อื่น และก็คงต้องหวังว่า กทช.จะฝ่าฟันสร้างปลอกคอให้ผู้ให้บริการ ต้องบริการที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคจริง ๆสักวันหนึ่ง