Skip to main content

เก่อญอโพ (จบ)

คอลัมน์/ชุมชน


 


เราอยู่ท่ามกลางความมืดของคืนจนล่วงเลยครึ่งคืนแล้ว 


แต่มันรู้สึกเหมือนหัวค่ำพึ่งผ่านได้ไม่นาน


บรรยากาศและเรื่องราวชวนเราให้อยู่กับมัน


อย่างลืมตัวเหมือนตกอยู่ในภวังค์


 


เราต่างรู้ว่าเดี๋ยวรุ่งเช้า แสงแห่งกลางวันจะกลับมาที่เดิม


สิ่งที่เราต่างไม่รู้ คือ แสงสว่างแห่งชีวิตของชนเผ่าของเราจะมาถึงเมื่อใด?


และเราต้องจมอยู่ท่ามกลางความมืดมิดเช่นนี้นานอีกเท่าไหร่?


  


แม้ผู้ประสานงานจะให้เรากลับไปพักผ่อนหลับนอนตามอัธยาศัย แต่การพูดคุยแลกเปลี่ยนยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนเสียงไก่ตัวผู้ขันเตือนบอกเวลาใกล้สาง  ทุกคนจึงแยกย้ายสู่ที่นอน


 


ผมฝ่าความมืดของคืน พาร่างตัวเองซุกเข้าไปข้างในถุงนอน 


ในหัวมีแต่เรื่องชนเผ่า! แผ่นดิน! ชาติ! สันติภาพ! เสรีภาพ! และสงคราม!


 


รุ่งเช้า พาตี่เดเนียล ต้องกลับศูนย์ฯ  เตรียมตัวเดินทางไปประเทศที่สามเป้าหมายคืออเมริกา


พี่น้องเยาวชนปวาเก่อญอจากพม่า ต้องเดินทางไปเปิดรับประสบการณ์และความรู้จากพื้นที่อื่นในประเทศไทยต่อ 


ผมต้องเดินทางกลับเชียงใหม่  ที่ซึ่งผมจากมาเพื่อไปเผชิญกับความจริงในโลกของผม


 


"ต่าบลื๊อ แล้วเจอกัน" พาตี่เดเนียลเข้ามาพูดกับผมพร้อมจับมือผม


"แล้วเจอกัน ขอให้โชคดีในประเทศที่สาม" ผมกล่าวลาเขา


 


ก่อนกลับเชียงใหม่  ผมมีโอกาสได้นั่งคุยกับผู้ประสานงานในเรื่องที่ยังค้างคาใจอยู่หลายประเด็น


"ทำไมกองทัพ KNU ถึงไม่สามารถขยายพื้นที่ฐานที่มั่นเพิ่มขึ้น  และไม่สามารถรักษาฐานที่มั่นเดิมไว้ได้"  ผมถามผู้ประสานงาน  เขานิ่งไปสักครู่ ก่อนเอ่ยออกมาเหมือนสายน้ำของความขัดแย้งหลั่งไหล...


 


 "ความจริงมันเกิดจากหลายสาเหตุนะ  ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดของผู้นำในกองทัพเอง  ข้อจำกัดที่เป็นแค่กองทัพปฏิวัติการติดต่อซื้ออาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงทำได้ยาก  การตามไม่ทันเล่ห์เพลทุบายของรัฐบาลทหารพม่า  ความขัดแย้งกันเองของคนในชนเผ่า"


 


"ความเห็นส่วนตัวของผม ความคิดเห็นส่วนตัวนะ ผมเห็นสิ่งที่ว่าเป็นจุดสำคัญที่ไม่สามารถกู้ชาติได้  คือ  ยุทธศาสตร์การรบคนปวาเก่อญอช่วงหลังๆนั้นไม่ค่อยรุก  มีแต่คอยรับมากกว่า"


 


"ยุคแรกๆของการปฏิวัตินั้น กองทัพ KNU สามารถยึดพื้นที่ได้มากว่าครึ่งหนึ่งของประเทศพม่า ตอนนั้นสมัยนั้นกองทัพมีงบประมาณและกำลังพลเพียงพอที่จะบุกโจมตีกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลได้ทุกเมื่อ สามารถพูดได้ว่ากองกำลัง KNU สมัยนั้นแข็งแกร่งกว่ากองทัพของทางการด้วยซ้ำไป"


 


"แต่กองทัพยึดนโยบาย หากเขาบุกมา เราก็ต้านเขาไว้  หากเขายิงมาเรายิงไป  เขาไม่มาเราก็อยู่ของเราอย่างสงบ"


 


"...เมื่อมีการบุกมาหลายๆ ครั้งเข้า  เขาก็รู้จุดอ่อนและวิธีแก้จุดแข็งมากขึ้น   ก็แตกสักวันหนึ่ง   แล้วก็แตกอย่างที่เป็นอยู่ ค่ายแล้วค่ายเล่า  ล่าสุดก็คอมูรากับมาเนอเปลอนี่ไง..."  


 


เขาพูดจบพร้อมกับยิ้มที่จืดจาง  สีหน้าแสดงความเสียใจบวกเสียดายปนผิดหวัง


 


เช้าวันนั้น เราได้ออกเดินทางจากจุดเดียวกัน  แต่รถที่เรานั่งพาชีวิตเราไปสู่ปลายทางต่างที่กัน  เราจากกันโดยไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าชาตินี้จะได้เจอกันอีกหรือไม่?


 


ผมนั่งรถบรรทุกคนเส้นทางกรุงเทพ- เชียงใหม่ 


ในรถบรรทุกทั้งคนอีสาน  คนใต้  คนเหนือ เสียงพูดคุยตอบโต้ทางโทรศัพท์ตามภาษาถิ่น ชวนให้นึกถึงภาษาตนเอง  ซึ่งในหัวขณะนี้ยังครุ่นคิดเรื่องชนเผ่า! แผ่นดิน! ชาติ! สันติภาพ!เสรีภาพ! และสงคราม!


 


ดวงอาทิตย์อยู่ประจำตำแหน่งทางตะวันตก  แสงอ่อนยามเย็นส่องทะลุกระจกรถ  มองย้อนแสงป้ายจราจรบอกทางแยกแม่สอด   


..แม่สอดที่มีศูนย์ผู้อพยพ  แม่สอดที่มีคนปวาเก่อญออพยพมาลี้ภัยจำนวนมาก


 


นึกถึงคำพูดของเพื่อนร่วมชนเผ่า ผู้ซึ่งใช้นามแฝง คนโพล่ง ว่า "คนกะเหรี่ยงไม่ได้เกิดมาเพื่อทำสงคราม  แต่คนกะเหรี่ยงตกเป็นเหยื่อของสงครามมาโดยตลอด"


 


ใช่! เราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำสงคราม  หากเขาบุกมา เราก็ต้านเขาไว้  หากเขายิงมาเรายิงไป  เขาไม่มาเราก็อยู่ของเราอย่างสงบ   รบเพื่อเสรีภาพ??  รบเพื่ออิสรภาพ??  รบเพื่อเกิดศานติ??และสุข??


 


งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา... 


แม้รถชีวิตที่เรานั่งจะพาเราไปสู่ปลายทางต่างที่กัน 


แต่เราหวังที่จะสู่จุดหมายเดียวกัน   


หวังที่งานเลี้ยงแห่งสงครามและการเข่นฆ่าจะจบลง


ในไม่ช้า