Skip to main content

เขียนถึง – รับน้อง

คอลัมน์/ชุมชน

ไม่รู้ว่าผมจะพูดถึงเรื่องการรับน้องรู้เรื่องหรือเปล่านะครับ แต่จากที่มีผู้อ่านได้แสดงความคิดเห็นให้เขียนเรื่องการรับน้อง จึงเป็นเหตุแห่งที่มา ที่ทำให้ผมต้องเขียนถึงการรับน้อง


 


ก่อนอื่นต้องบอกก่อนสองสามอย่าง อย่างแรก ขอขอบคุณคุณผู้อ่านทุกท่าน ที่ได้ติดตาม "หนุ่มสาวสมัยนี้"  มาโดยตลอด ทั้งประจำและนาน ๆ ครั้ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขของผู้อ่านจะมีจำนวนไม่มาก แต่การที่เราได้เขียน ได้กล่าวถึงความคิด หรือเรื่องราวต่างๆ ออกมา เพียงแค่คนหนึ่งคนอ่าน ก็ถือว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราได้ที่สุด และการได้ทำหน้าที่นี้ ก็ทำด้วยความเต็มที่และเต็มใจ


 


อย่างที่สอง สำหรับเรื่องการรับน้อง ต้องบอกว่าผมไม่ค่อยมีประสบการณ์โดยตรงกับ "กระบวนการ" นี้เท่าไหร่ เพราะตั้งแต่เรียนจบ ม.๖ ก็ไม่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยปิด เหมือนกับเพื่อนคนอื่น แต่กลับเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเปิด เพื่อทำงานที่ตัวเองรักเป็นหลัก ดังนั้นความคุ้นเคยกับ "บรรยากาศ" การรับน้อง จึงอาจจะถ่ายทอดออกมาไม่ถึงอารมณ์นั้นได้ หากทำได้เพียงฟังจากคำบอกเล่าของเพื่อนๆ ที่เคยผ่านการรับน้องมา และจากการเคยเห็นแบบผ่านๆ


 


อย่างที่สาม ความคิดของผมเรื่องการรับน้องนั้นไม่ได้จะวิเคราะห์ไปไกลให้เห็นถึง "ระบบโซตัส" หรือ "ทุนนิยม" หรือ "ระบบชนชั้น" เพราะเรื่องระบบต่างๆ นี้ผมก็ไม่ค่อยรู้สักเท่าไหร่ ว่ามีความหมายว่าอย่างไร ซึ่งคงจะไม่เหมือนดังที่มีคนเคยแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไปแล้ว ในต่างกรรมต่างวาระที่ผ่านมา


 


ด้วยสองสามข้อที่ผมได้ชี้แจงให้ทราบในเบื้องต้นนี้ จึงเหมาะกับการที่ท่านจะได้เห็นแค่ "ทัศนะ" และ "ความรู้สึก" ของผมเท่านั้น ซึ่งจะไม่ได้ชี้ให้เห็น "ทฤษฎี" อะไรมากเท่าใด ดังนั้น การที่ผมจะเขียนถึงเรื่องการรับน้อง ก็คงจะเขียนได้ในฐานะของผู้สังเกตการณ์และนำมาปะติดปะต่อกับบรรยากาศสังคมที่เป็นอยู่


 



 


หากพูดถึงเรื่องการ "รับน้อง" ส่วนมากแล้ว คนจะนึกถึงการรับน้องในระบบอุดมศึกษา เนื่องเพราะการรับน้องในระดับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านการเรียนของนักเรียนสู่การเป็นนิสิต นักศึกษาอย่างเต็มตัว และมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ต่างมุ่งหวังที่จะได้เข้าเรียนในระบบมหาวิทยาลัย การรับน้องในระดับอุดมศึกษา จึงเป็นระดับที่ "สายตา" ของมวลชนจับตามองเป็นอย่างมาก


 


ที่ว่า การรับน้องในระดับอุดมศึกษาเป็นเพียงระดับหนึ่งนั้น เพราะสำหรับผมการรับน้อง มีหลายรูปแบบ หลายระดับ หาใช่แค่ในระดับอุดมศึกษาอย่างเดียว กล่าวคือ ในระดับชั้นอนุบาลก็มี ในระดับประถมศึกษาก็มี ในระดับมัธยมศึกษาก็มี  หรือแม้แต่การเข้าค่ายทำกิจกรรมต่างๆ ก็มีการรับน้อง การที่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งจะเข้ากลุ่มแก๊ง ก็มีการรับน้องด้วยเช่นกัน มากกว่านั้นในบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ก็มีการรับน้องที่เข้ามาทำงานใหม่ด้วยเหมือนกัน


 


ดังนั้น จะเห็นว่าการรับน้องนั้นมีหลายระดับ และแต่ละระดับก็มีรูปแบบ มีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นการที่เราจะเอ่ยถึงเรื่องรับน้องก็ควรมองให้กว้าง ให้เห็นความหลากหลายกว่าที่เราคิดว่ามีแค่ในระดับอุดมศึกษาเพียงอย่างเดียว


 


ในความคิดของผม การรับน้อง น่าจะมีเป้าหมายเพื่อการเตรียมความพร้อมของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาใช้ชีวิตในที่ๆ มีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาอยู่ก่อนแล้ว นั้นคือ "คนมาก่อน" ก็ให้การต้อนรับ "คนมาทีหลัง" เพื่อให้ "คนมาทีหลัง" ได้รู้จัก ได้เข้าใจสภาพแวดล้อมที่จะต้องเผชิญในวันข้างหน้า โดยมีกิจกรรมต่างๆ ที่สำเร็จรูปในการรับน้อง และอาจมีความแตกต่างกันออกไป ตามบริบทหรือสภาพแวดล้อมแต่ละที่ ที่ต้องดูความเหมาะสมอย่างสอดคล้องกับวิถีของคนในพื้นที่นั้นๆ


 


การรับน้องในมหาวิทยาลัย ก็เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งที่จะเตรียมตัว เตรียมคนให้เกิดความรู้สึกร่วม ได้ร่วมสุข ร่วมลำบากด้วยกัน ทั้งอาจจะผ่านเกมที่สนุก ผ่านกระบวนการที่สร้างสรรค์ ไร้ความรุนแรงและการดูถูกทางเพศ คละเคล้ากันไป ภายใต้ขอบเขตที่ไม่เกินเลย ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป จึงน่าจะเหมาะที่ทำให้ "คนมาทีหลัง" ได้ปรับสภาพของตัวเองต่อการใช้ชีวิตของตนต่อสังคมใหม่ๆ ในวันข้างหน้า (แต่อย่างไรก็ตามภาพการรับน้องที่เราได้เห็นผ่านสื่อกลับตรงกันข้าม)


 


ดังนั้นหาก "คนมาก่อน" เห็นว่าเมื่อตอนที่ตัวเองยังเป็นน้องใหม่ แล้วโดนรุ่นพี่กลั่นแกล้ง สารพัดมากมายแล้วรู้สึกว่าไม่ชอบหรือเป็นการละเมิดกันเกินไปนั้น แทนที่จะปรับเปลี่ยนในรุ่นของตัวเองเมื่อต้องเป็นรุ่นพี่ แต่กลับถ่ายทอดกิจกรรมที่ตนได้รับเมื่อครั้งเป็นรุ่นน้อง ให้กับรุ่นน้องรุ่นใหม่ที่ถัดจากตนไปอีก และก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เป็นรุ่นๆ หาก "คนมาทีหลัง" ที่ผลัดรุ่นเป็นรุ่นพี่ไม่เปลี่ยนแปลง การรับน้องแบบเดิมๆ ก็จะมีต่อไป


 


อย่างไรก็ดี ที่พูดถึง "คนมาก่อน" และ "คนมาทีหลัง" ก็นึกถึง ผู้ใหญ่กับเด็ก ที่คล้ายกับว่า เวลาที่ผู้ใหญ่สมัยนี้มองเด็กเป็นปัญหา แต่ไม่ได้มองว่าเมื่อตอนที่ตัวเองเป็นเด็กสมัยนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ผู้ใหญ่สมัยนี้ตอนที่เป็นเป็นเด็กสมัยนั้น ได้รับการสั่งสอนมาอย่างไร สมัยนี้ก็สอนเด็กแบบนั้นๆ ทั้งๆ ที่สภาพแวดล้อมหรือสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก


 


 


"คนมาก่อน" ซึ่งหมายถึงผู้ใหญ่ ก็มีชุดความคิดแท่งๆ สำเร็จรูป ที่คอยบอกและสั่งสอนกับเด็กต่างๆ เช่น เด็กต้องเป็นคนดี มีระเบียบวินัย ไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ไม่ติดเพื่อน ไม่ติดแฟชั่น ต้องเรียนให้จบ เรียนสูงๆ ไม่ควรหลงไปตามวัฒนธรรมตะวันตก ไม่ควรตั้งแก๊งซิ่ง และอื่นๆ อีกมากมายที่ผู้ใหญ่สอนสั่งเรา


 


คำสอนของ "คนมาก่อน" ทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริงหรือไม่?  คำสอนเหล่านั้นช่วยให้เด็กได้คิด และตัดสิใจหรือไม่? คำสอนเหล่านั้นได้ทำให้เด็กรู้จักแยกแยะหรือไม่? คำสอนเหล่านั้นได้ทำให้เด็กรับผิดชอบกับชีวิตตัวเองมากน้อยเพียงใด? หรือคำสอนเหล่านั้นเป็นเพียงคำพูดที่ "คนมาก่อน" อยากให้ "คนมาทีหลัง" ได้ซึมซับและถ่ายทอดออกไปสู่คนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาทดแทนคนรุ่นเดิมเท่านั้น?


 


ตราบใดที่ "คนมาก่อน" อันหมายถึง ผู้ใหญ่สมัยนี้wม่ได้ยอมรับวิถีทางเพศ หรือความแตกต่างของวัยรุ่นในยุคนี้  คำสอนอะไรก็ตามก็ไม่ได้ช่วยทำให้เด็กได้จัดการกับชีวิตของตัวเองมากขึ้น มิหนำซ้ำ เด็กคนนั้นก็อาจจะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจเด็กอีกคนหนึ่ง ยามที่เขาโตขึ้น ดังนั้นการรับน้องของ "คนมาก่อน" จึงควรเป็นกระบวนการที่ให้ "คนมาทีหลัง" ได้คิด ได้รับผิดชอบ ได้แยกแยะ และจัดการกับชีวิตของตัวเองได้


 


ขณะเดียวกัน แม้ว่า "การรับน้อง" ในมหาวิทยาลัย จะเป็นการรับน้องในสังคมเล็ก แต่ภาพสะท้อนก็สามารถทำให้เห็นถึง สังคมใหญ่ที่มีการรับน้องอยู่อย่างต่อเนื่อง และไม่มีวันจบสิ้น การรับน้องไม่มีถูกผิด สำหรับผมหากไม่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนและไม่มีความรุนแรง ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้ว


 


ผมจำได้ว่าตอนที่เดินผ่าน แล้วเห็นนักศึกษากลุ่มหนึ่ง กำลัง "ว้าก" นั้น ในใจก็ได้แต่คิดว่า "ตลกจัง" ซึ่งนั้นคือภาพที่คนภายนอกอย่างผมมอง แต่คนข้างในที่ทำแบบนั้นย่อมเห็นว่าจะทำให้เกิดผลอย่างหนึ่งขึ้น ดังนั้น ตัวผมก็ต้องเคารพกติกาของสังคมเล็กๆ อย่างสังคมมหาวิทยาลัย มองถึงความจำเป็นของกิจกรรมต่างๆ  เพราะผมก็เป็นเพียงแค่คนที่มองแบบผ่านๆ คนหนึ่ง ที่ไม่เคยผ่านการรับน้องแบบมหาวิทยาลัย


 


แต่ขอย้ำอีกครั้งว่า การรับน้องในมหาวิทยาลัย จะเป็นสิ่งที่ดีมากหากกระบวนการในการรับน้องนั้น สามารถทำให้นักศึกษาคนหนึ่ง เป็นคนที่เคารพสิทธิของคนอื่นๆ ไม่ก่อความรุนแรง ไม่บ่มเพาะการเอาเปรียบ และสามารถแบ่งปันและเห็นใจผู้อื่น รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม เพราะเมื่อชีวิตของนักศึกษาคนหนึ่งที่ตลอดหลายปีที่อยู่ในมหาวิทยาลัยสิ้นสุดลง เขาก็ต้องเดินออกไปสู่สังคมที่ใหญ่กว่าที่เป็นอยู่


 


สังคมใหญ่กว่า ที่ว่านี้ "คนมาก่อน" ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใดนัก