Skip to main content

ความร่วมใจของมิตรประเทศ

คอลัมน์/ชุมชน

เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเข้าถล่มบางส่วนของเอเชียและอัฟริกาตะวันออกในวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา
มีผู้เสียชีวิตกว่า 150,000 คนในคราวเดียวกัน นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่แห่งมวลมนุษยชาติที่ส่งผล
ให้ผู้คนจากทุกประเทศมิอาจนิ่งนอนใจ ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือกันได้ทั้งในระดับบุคคล เอกชน ประเทศต่อประเทศ
และผ่านองค์การสหประชาชาติ แต่เรียกได้ว่าเป็นทั้งเรื่องของน้ำใจ และหน้าที่ของความร่วมมือที่หลั่งไหลเข้าช่วยเหลือกับ
ประเทศที่ประสบภัยพิบัติในครั้งนี้


ทั้งนี้ ประเทศที่ได้รับความเสียหายสูงสุดอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย และไทย
โดยในนี้มี 4 ใน 10 ของประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว รายงานของศูนย์เตือนภัยนานาชาติ
(SOS International)


อินโดนีเซียนั้นเป็นประเทศที่เสียหายมากที่สุด คือมีคนที่เสียชีวิตไปถึงกว่า 113,000 คน และยังมีที่สูญ
หายไปอีกกว่า 10,000 คน และมีคนที่ต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นถึง 500,000 คน รองลงมาคือประเทศไทย
ที่มีคนเสียชีวิต 5,300 คน (ครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ)และสูญหายอีกกว่า 4,000 คน พม่าแม้มีรายงาน
คนตายจำนวนเพียง 90 คน ทว่ายังมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนถึง 30,000 คน
มาเลเซียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในบรรดา 4 ประเทศโดยมีรายงานผู้เสียชีวิตเพียง
68 คน
ซึ่งยังไม่แน่นักว่าตัวเลขผู้เสียหายที่ยังไม่ได้ร ายงานนั้นจะเป็นเท่าใด


กระนั้นเป็นที่น่าแปลกใจว่า ในขณะที่กำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์หลั่งไหลกันมาจากนานาประเทศ และองค์กรต่าง ๆ
ทั่วโลก แต่กลับไม่เห็นว่าอาเซียนจะได้มีการกระทำใด ๆ หรือออกมาแสดงเจตจำนงใดในการที่จะช่วยเหลือ
อันแสดงถึงจุดยืนที่ จะร่วมมือและช่วยเหลือกันและกันเลยอย่างทันที ต่างกับประเทศยุโรปซึ่งอยู่ห่างไกล


ทั้ง ๆ ที่ในการก่อตั้งอาเซียน หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2510 นั้น
มีหลักการว่าที่ประกาศไว้ในปฏิญญาอาเซียนว่า"สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้แทน
ของความประสงค์ร่วมกันของประชาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะรวมตัวกันเพื่อ
มิตรภาพและความร่วมมือ โดยมีความพยายามและความเสียสละร่วมกันเพื่อความมั่นคงให้แก่ประชาชน
และสันติภาพ อิสรภาพ ความมั่งคั่งแก่คนรุ่นหลัง"


อาเซียนอาจอ้างความเป็นประเทศยากจนที่ทำให้ไม่สามารถกระทำการใด ๆ เพื่อช่วยเหลือแก่มิตรประเทศในกลุ่มได้
ทว่า เรื่องนั้นอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าความรู้สึกร่วม เพราะในที่สุดก็ได้แสดงกันออกมาให้เห็นว่า กลุ่มอาเซียนนั้นไม่ได้
มีความรู้สึกใด ๆ ร่วมกัน หรือเรียกว่า "ไม่มีอาเซียนสปิริต" ให้เห็นในยามที่มิตรประเทศประสบเคราะห์กรรม


ความสัมพันธ์ของประเทศในกลุ่มอาเซียนยังคงเป็นลักษณะของประเทศที่ต่างคนต่างอยู่เสียมากกว่า ดังเราจะเห็น
ทั้งจากสถานการณ์อื่น ๆ ด้วยถึงการไม่มีการมีจุดยืนร่วมใด ๆ ในการรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วย อาทิ การรับมือกับการ
ก่อการร้าย หรือการสร้างสันติภาพในอาเซียน ที่ต่างคนต่างมีจุดยืนของตัวเอง และยังยืนอยู่บนความไม่ไว้วางใจกัน แม้ว่าจะมีข้อตกลงในการสร้างความไว้วางใจระหว่างกันและกัน (Confidence Building Measure) ดังนั้น ประเทศในกลุ่มอาเซียนจึงตกอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การช่วงชิงเอเชียกัน
เป็นประเทศ ๆ โดยไม่สามารถใช้กรอบอาเซียนมาปกป้องซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะจากมหาอำนาจอย่าง
อเมริกา หรือจีน หรือแม้กระทั่งกลุ่มก่อการร้ายสากล เพราะต่างคนก็ต่างคิดจะเอาตัวรอด


ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นแม้จะมีความพยายามในการตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนแต่ทุกประเทศก็ล้วนตั้งเงื่อนไขที่จะยกเว้น
หรือละเว้นการลดภาษี หรือตั้งเงื่อนไขหลายๆ ด้านทดแทนกำแพงภาษีเพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบและเรื่องการค้าเสรี
ก็ไม่เป็นจริงในกลุ่มอาเซียน อีกทั้งแต่ละประเทศก็กลับเดินหน้าตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) แบบทวิภาคีกับประเทศอื่น ๆ โดยไม่ได้สนใจถึงความเสียเปรียบอันจะเกิดขึ้นกับมิตรประเทศในอาเซียนด้วยกัน ตัวอย่างเช่น แม้ว่าจะมีการตั้ง
เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน แต่ก็จะยังมีเขตการค้าเสรีไทย-จีน หรือเขตการค้าเสรี สิงคโปร์-อเมริกา หรืออื่น ๆ เป็นต้น


จนถึงวันนี้เหตุการณ์คลื่นยักษ์ที่เกิดขึ้นในเอเชียนั้นก็ยิ่งย้ำชัดถึงความไม่มีความรู้สึกร่วมกัน ดังตัวอย่างทางกัมพูชาที่อดีตกษัตริย์สีหนุก็ออกมาแสดงความดีใจที่ประเทศไม่ประสบภัยพิบัติ อันเนื่องจากพระองค์ได้ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้แก่ประเทศก่อนหน้านี้ ตามด้วยนายกรัฐมนตรีสมเด็จฮุน เซ็น ออกมาแสดงความน้อยใจที่ชาวโลกให้ความสนใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยมากกว่าการช่วยเหลือ
กัมพูชาในยุคที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกแบบต่างคนต่างอยู่


ขณะที่สิงคโปร์และบรูไนที่อาจจัดได้ว่าเป็นประเทศร่ำรวยก็ไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ใด ๆ ออกมาอย่างทันท่วงทีที่จะให้
ความช่วยเหลือตั้งแต่ต้น ทั้ง ๆ ที่อินโดนีเซียประเทศเพื่อนบ้านมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสนคน มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 5 แสนคน ในขณะที่กลุ่มประเทศจากยุโรปได้รวมตัวกันอย่างทันทีทันใด ส่วนไทยกับมาเลเซียที่เป็นประเทศประสบภัย
(แม้ว่ามาเลเซียจะน้อยกว่า) ต่างก็แย่งชิงกันเล่นบทผู้แสดงนำของภูมิภาค โดยต่างก็จะเป็นศูนย์เตือนภัย แม้จะไปประชุมผู้นำอาเซียนและประเทศผู้ประสบเรื่องสึนามิกันมาแล้ว แต่ทั้งไทยทั้งมาเลเซียต่างก็ประกาศตัวที่จะเป็นศูนย์เตือนภัยของภูมิภาคโดยไม่ได้มีการตกลงกัน


เห็นได้ว่าการรวมตัวกันของอาเซียนนั้นไม่ได้มีความหมายที่แท้จริง ผู้คนในระดับประชาชนต่อประชาชนเองก็ไม่รู้จักกันมากนัก ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของกันและกัน ดังที่ได้เห็นอยู่บ่อยครั้งว่า คนในประเทศต่าง ๆ นั้นจะมีความรู้สึกและเข้าใจต่อกับแบบผิด ๆ ส่วนในระดับรัฐบาลนั้นก็ไม่ได้มีความจริงใจหรือรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นได้ว่า อาเซียนนั้นจริง ๆ แล้วคงหมดความจำเป็นไปตั้งแต่หมดยุคสงครามเย็นแล้ว