Skip to main content

๑๐๐ ปีชาตกาล กับ "ปณิธาน" ที่ต้องสานต่อ

คอลัมน์/ชุมชน


 


หากท่านอาจารย์พุทธทาสยังมีชีวิตและสมบูรณ์พร้อมด้วยปกติภาวะมาถึงปัจจุบัน ก็น่าสนใจและน่าสงสัยอยู่ไม่น้อย ว่าท่านจะมีท่าทีเช่นไร กับวาระแห่งชาตกาลครบ ๑๐๐ ปี และการถูกยกย่องให้เป็น "บุคคลสำคัญของโลก" จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization - UNESCO) ในพุทธศักราช ๒๕๔๙ นี้ ที่ส่งผลให้ใครต่อใครได้ระลึกถึงหรือหันมาให้ความสนใจต่อ "พุทธทาสภิกขุ" เป็นการใหญ่ขึ้นมาอีกคราวหนึ่ง


 


ด้วยวิธีคิดและมุมมอง ตลอดจนความเป็น "พุทธทาส" ของท่าน คงช่วยให้เราทั้งหลาย ได้รับประโยชน์ที่ควรมีควรได้ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน สังคม หรือในฐานะมนุษยชาติ ตลอดจนฐานะของเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย และมีโอกาสได้ร่วมยุคร่วมสมัยกับ "ทาสพระพุทธเจ้า" เช่นท่าน


 


ยิ่งไปกว่านั้น เราทั้งหลายน่าจะได้รับรู้รับฟังจนกระจ่างใจ ว่า "ควรทำ" หรือ "ไม่ควรทำ" เช่นใด ใน "ศตมวาร" อันทุกฝ่ายกำลังให้ความสนใจ "เป็นพิเศษ" อยู่ในขณะนี้


 


เพราะสืบย้อนไปไม่นานสักเท่าใดนัก ครั้งครบรอบ ๘๐ ปีชาตกาล และมีบางคนบางฝ่ายได้ร่วมกันจัดกิจกรรมหลากหลายลักษณะขึ้น ในอารามที่ท่านพำนัก ณ วัดธารน้ำไหล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็มีเรื่องเล่าขานกันอยู่สืบมา ในบรรดาผู้ใกล้ชิด ว่าโดยตัวของท่านเอง หรือด้วยความเป็นท่าน นั้นใช่จะยินดี หรืออนุโมทนากับ "อะไรต่อมิอะไร" ที่จัดขึ้น หรือจัดให้ ในวันนั้น หรือในระยะของงานนั้น ไปเสียทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสิ่งที่เนื่องอยู่ด้วยรูปแบบ และ/หรือ วิธีการ ตลอดจนพิธีกรรมเอิกเกริก ซึ่งดูจะกลบทับเนื้อหาและสาระที่ควรมีไปเสีย


 


บางท่านเล่าว่า เพราะความมีมารยาท ความเกรงใจ และการเคารพในความแตกต่าง หรือยอมรับในวิถีปฏิบัติ "ตามถนัด" ของผู้อื่น (ที่ไม่ถึงกับนอกลู่นอกทางนัก) จึงทำให้ท่านมิได้ปฏิเสธสิ่งใดในวันนั้นให้โจ่งแจ้งจนมากความ


 


ด้วยเหตุดังกล่าว ในวาระที่ชาตกาลของท่านครบรอบ ๑๐๐ ปี ทั้งยังมีองค์กรโลกบาล ตลอดจนรัฐและเอกชนร่วมกันประกาศและยกย่อง ในด้านหนึ่ง จึงเป็นที่น่าเสียใจ และน่าเสียดายยิ่ง ที่เราทั้งหลาย ขาดโอกาสการได้รับรู้รับฟังจากคำของท่านเองโดยตรง ว่าในกาละและเทศะเช่นนี้ มีอะไรพึงกระทำ มีอะไรให้ฝึกให้ลอง ให้ปฏิบัติ เพื่อร่วมเป็น "พุทธทาส" หรือ "ทาสแห่งพุทธะ" กับท่านได้บ้าง


 


เพราะหากท่านยังอยู่ นอกเหนือจากข้อคิดข้อธรรม ตามวาระ - ตามกาล แล้ว คงมี "วาทะ" หรือ "ความคิด - ความเห็น" ที่จะ กระตุกใจ - กระตุ้นจิตสำนึก ตลอดจนการตระหนักรู้ และลดความลังเลสงสัย ในความ ควร - ไม่ควร หรือ ใช่ - ไม่ใช่ ไปจนกระทั่งถึงความ "น่าจะเป็นอย่างไร" ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น หรือสิ่งที่เราทั้งหลายได้ร่วมกันกระทำ จนเป็นที่กระจ่างแจ้งแก่ใจไปเลยทีเดียว


 


อย่างน้อย ก็อาจช่วยให้ก้าวพ้นกรอบคิด คำพูด และการกระทำ ของการ "เฉลิมฉลอง - การยกย่อง" ชนิด "ภาษาคน" อันซ้ำซาก และมักผูกติดอยู่กับความหลงด้านใดด้านหนึ่ง ไปสู่ความเป็น "ภาษาธรรม" อันครอบคลุมและกว้างขวาง หรือได้อยู่กับร่องกับรอย ใน "ทำนองคลองธรรม" ขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็น่าจะดีกว่าที่เห็นและเป็นอยู่เพียงด้านเดียว มิใช่หรือ...


 



 


ที่ว่ามาข้างต้นเป็นเพียงข้อสังเกตหรือมุมมองของผู้เขียนเพียงลำพัง ซึ่งเอาเข้าจริงก็อาจจะไม่สอดคล้องกับแนวทางของท่านอาจารย์พุทธทาสเลยก็เป็นได้ เพราะในความเป็น "พุทธทาส" และ "พุทธทาสภิกขุ" ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการศึกษาและฝึกฝนเคี่ยวกรำ ตลอดจนทดสอบทดลองมามากต่อมากนั้น หลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวกับท่าน หรือสิ่งที่ท่านเกี่ยวข้อง ก็มีหลากแง่มุม และมีไม่น้อย ที่เป็นเรื่อง "เฉพาะตน" โดยวิธีการ หรือวิถีปฏิบัตินั้นๆ ท่านไม่แนะนำให้ผู้อื่น "ตีความ", "เลียนแบบ" หรือ "เอาอย่าง" ในลักษณะ "เถรส่องบาตร" โดยปราศจากความเข้าใจ ไม่รู้ที่มาที่ไป หรือไม่ถ่องแท้ ดังที่ท่านบันทึกเป็นลายมือ หรือกล่าวกับผู้ใกล้ชิด ว่าบางเรื่องหรือหลายๆ เรื่องนั้น "คุณจะพูด หรือทำอย่างผม หรือจะรอให้ผมแนะนำไปเสียทุกอย่างไม่ได้ดอก..." ซึ่งมิใช่จะหมายจำเพาะว่าท่านมีคุณวิเศษเหนือผู้อื่น แต่เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยเฉพาะตน หรือตามฐานะและสถานภาพ อันเป็นที่ยอมรับด้วยความเชื่อถือและศรัทธาเฉพาะบุคคลเป็นด้านหลัก ภายใต้กรอบของธรรมและวินัย ตลอดจนขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงาม


 


นี่จึงไม่ง่ายนักที่ใคร หรือกลุ่มองค์กรใดเพียงลำพัง จะสรุปหรือตีความ ว่าสิ่งใด "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" ในความเป็น "พุทธทาส" หรือ "พุทธทาสภิกขุ" ชนิดชี้ให้เห็นเป็นดำเป็นขาว ตามอัตโนมติของตน


 


ยิ่งการจะประกาศหรือแสดงท่าทีความเป็น "เจ้าของ" หรือเป็น "ผู้ตัดสิน" ในสิ่งที่เกี่ยวข้อง หรือเนื่องอยู่กับความเป็น "พุทธทาสภิกขุ" ด้วยแล้ว ถ้าไม่ระมัดระวังให้จงหนัก ดีไม่ดี ก็จะกลายเป็นอุปสรรค หรือถึงกับเป็นการสร้างภูเขาเพื่อทำลาย "วิถีพุทธทาส" เอาเสียง่ายๆ เลยทีเดียว


 


แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะกล่าวในแง่ของการยกย่องหรือเฉลิมฉลองด้วยการ "ปฏิบัติบูชา" โดยคติทางพุทธศาสนาแล้ว ก็ถือว่าการร่วมกันระลึกถึง และยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือ หรือปฏิบัติดังที่ท่านชี้แนะ ตลอดจนกระทำเป็นแบบอย่างเอาไว้ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในความรู้ความสามารถ ในภูมิรู้ภูมิธรรม ก็เป็น "มงคลสูงสุด" ประการหนึ่ง ของผู้ปฏิบัติ อันตั้งจิตไว้ด้วยกุศลเจตนา


 


ดังนั้น ในเบื้องต้น เมื่อทุกฝ่ายตั้งใจจะบูชา จะเฉลิมฉลองต่อวโรกาสนี้ตามศรัทธาความสามารถ และปราศจากอกุศลจิตแล้ว บุญย่อมเกิดแก่ผู้ประกอบกิจอันเป็นกุศลนั้นในตัวของเขาและเธอ หรือในการกระทำของผู้นั้นเอง แต่จะมากจะน้อยหรือขาดเกินไปบ้าง ก็ถือได้ว่าอยู่ในปกติวิสัยของปุถุชน ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของอินทรีย์ คือ สติ-ปัญญา และกำลังกายกำลังจิต ตลอดจนกำลังอื่นๆ ทั้งหลายประดามี--นั่นเองเป็นที่ตั้ง ส่วนที่จะเติบโต งอกงาม และยั่งยืนเพียงใดหรือไม่ ในท่ามกลางและบั้นปลาย ก็ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย ตามกฎแห่งอิทัปปัจจยตาเป็นบาทฐานสำคัญ


 


เข้าใจและยอมรับได้ก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่ถูกความหวังหรือความคาดหวังอันตั้งอยู่บนความอยาก "ขบกัด" ให้ต้องขุ่นข้องหมองใจโดยไม่จำเป็น


 


แต่ในส่วนของการสืบสาน, สืบต่อ หรือสืบทอดความเป็น "พุทธทาส" หรือ "ปณิธานแห่งพุทธทาสภิกขุ" ย่อมจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ "รู้รอบรู้ทั่ว" อย่างเป็นกิจลักษณะ อย่างมีปรโตโฆษะและโยนิโสมนสิการ ยิ่งไปกว่าจะกระทำเพื่อสนองตัณหาและอุปาทานส่วนตน หรือพวกพ้อง


 


ซึ่งมักจะขาดความรอบคอบรัดกุม และปราศจากความยั่งยืน ชนิดที่ว่าไปไม่ถึงไหน และมักจะเสียหายมากกว่าสำเร็จประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นระดับใดๆ ก็ตาม


 



 


ท่านอาจารย์พุทธทาสเอง เป็นผู้ริเริ่มหลายสิ่งหลายอย่างไว้ในพุทธศาสนาสยาม ทั้งฝ่ายเถรวาท และในบรรดาผู้สนใจนิกายอื่น เช่น มหายาน วัชรยาน หรือแม้แต่ในฝ่ายเซ็น อย่างยากจะพรรณาได้ครบถ้วน ในเนื้อที่และเวลาอันจำกัด


 


ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมการฟื้นฟู หรือการกลับมาหาคุณค่าเดิม ตลอดจนการตีความใหม่ ในหลากรูปแบบหลาย แง่มุม - วิธีการ ซึ่งบางสิ่งบางด้านก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นที่ยอมรับทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะในแวดวงพุทธศาสนา หรือคติความเชื่ออื่นๆ ตลอดจนผู้รู้ในแขนงวิชาการด้านต่างๆ


 


แต่ในขณะเดียวกัน ในบางเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นข้อคิดข้อสังเกต หรือผลงานการค้นคว้าของท่าน นับแต่ในอดีตมาจนปัจจุบัน ที่ถึงจะแพร่หลาย แต่ผลงานเหล่านั้นจำนวนไม่น้อย ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับนับถือ หรือแม้แต่นำไปทดลองปฏิบัติ มิพักจะต้องกล่าวถึงการขยายผล หรือศึกษาวิเคราะห์เพื่อสรุปบทเรียนและองค์ความรู้อย่างจริงจัง


 


นับตั้งแต่ที่ท่านริเริ่ม "บันทึกธรรม" ด้วยแถบเสียง ทั้งการบรรยายโดยตัวท่านเอง และการร่วมสนทนาธรรมกับบุคคลสำคัญและบุคคลทั่วไป ที่มีขึ้นบ่อยครั้ง และเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ความยาวหลายพันชั่วโมง แม้ว่าจะมีการปรับปรุงคุณภาพเสียงไปบ้างแล้ว ก็ยังไม่ได้รับการจัดหมวดหมู่หรือจำแนกเนื้อหาสาระโดยวิธีการที่เหมาะสมสักเท่าใดนัก เช่นเดียวกับหนังสือธรรมะจำนวนมหาศาล ทั้งที่ท่านมีโอกาสได้ชำระความถูกต้องโดยตนเอง สอบทานโดยคณะทำงานที่ท่านเลือกสรรขึ้น และที่ถอดความตามแถบเสียงหรือวิดีทัศน์ เพื่อตีพิมพ์เป็นการเฉพาะกิจ หรือในวาระสำคัญต่างๆ ตลอดจนที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์และองค์กร ตลอดจนสถาบัน หรือกระทั่งที่มีการพิมพ์ซ้ำ ทั้งในรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ ก็ยังแทบจะมิได้ดำเนินการใดๆ ให้แยกแยะ จัดลำดับ - หมวดหมู่ อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของฐานข้อมูล หรือดัชนีสำหรับการสืบค้น หรือการค้นคว้า ที่สามารถรับรู้ได้ในวงกว้าง กระทั่งว่าจะสามารถศึกษาผลงานของท่านได้จากที่ใดบ้าง จึงจะครบถ้วนและครอบคลุม ตามประเด็นที่สนใจ ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก


 


ยังในส่วนของชีวิตและกระบวนการเรียนรู้ และองค์ความรู้ที่เนื่องอยู่กับความเป็น "พุทธทาส" ของท่าน ซึ่งหากสามารถทำความเข้าใจไปถึงระดับ เหตุ-ปัจจัย และองค์ประกอบให้ครบถ้วนแล้ว ก็อาจหนุนเสริมให้เกิด "พุทธทาส - ทาสพระพุทธ" เพิ่มขึ้น หรือได้อาศัยแนวทางของท่าน ในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้มีฉันทะ หรือประสงค์จะก้าวหน้าในทางธรรม ตามที่ท่านชี้แนะและก้าวนำไว้


 


แต่ถึงบัดนี้ นอกจากความสนใจเฉพาะกลุ่ม หรือจำเพาะบุคคล ซึ่งทำได้เพียงบางด้านหรือบางประเด็น ในภาพรวม ก็ยังไม่ปรากฏการดำเนินการใดๆ เป็นรูปธรรมเช่นเดียวกัน


 


นอกจากนั้น แม้การที่ท่านอาจารย์พุทธทาสก่อตั้งชุมชนของผู้ใฝ่ธรรม อันมีทั้ง อุบาสก-อุบาสิกา และพระภิกษุ สามเณร แม่ชี ในนามของ "สวนโมกขพลาราม" จนสืบต่อยั่งยืนมาถึงปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่เสมอ ว่าท่านส่งเสริมความเป็นสังฆะ หรือความเป็นชุมชนอย่างพุทธหรือไม่ และยังไม่เป็นที่ยุติในบรรดาผู้สนใจการสร้างสรรค์ "ชุมชนทางเลือก" อยู่อีกเป็นจำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกับการที่ท่านเคยจัดหลักสูตรในการอบรมสามเณร การอบรมพระธรรมฑูต หรือการอบรมตุลาการ ตลอดจนอบรมบุคคลากรในองค์กรต่างๆ และบุคคลทั่วไป ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ หรือการจัดทำแนวทางในการเผยแผ่ธรรมะ ที่มีขึ้นอย่างเป็นระบบและมีจำนวนมาก ทั้งหลักสูตร สื่อการเผยแผ่ และกระบวนการปฏิบัติ ตลอดจนทดลองปฏิบัติการจริงให้เห็น แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการฟื้นฟู หรือศึกษาเพื่อพิจารณานำไปใช้งานจริง แม้ว่าขณะที่ท่านทำให้ดูจะได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย และเพิ่งหยุดไปภายหลังจากที่พรรษากาลของท่านมากขึ้น จนไม่สามารถดำเนินการได้เองโดยสะดวกดังเดิม ในระยะหลังนี้เอง


 


หรือในส่วนของศาสนสถาน ทั้งที่เป็นธรรมชาติและสิ่งปลูกสร้าง เช่น อุโบสถวัดธารน้ำไหล(สวนโมกขพลาราม) บนเขาพุทธทอง ซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และมีขอบเขตพัทธสีมาอันร่มรื่น เป็นธรรมชาติ ประกอบได้วยลานทรายและร่มเงาไม้ใหญ่แทนหลังคา โดยไม่มีการก่อสร้างให้แปลกแยกจากธรรมชาติ เช่นเดียวกับลานหินโค้ง ซึ่งอยู่บริเวณตีนเขาลูกเดียวกับที่ตั้งพระอุโบสถ อันพระภิกษุสามเณร แม่ชี อุบาสก-อุบาสิกา ใช้สวดมนตร์ทำวัตรทุกเช้าเย็น ก็เป็นลานทรายและแท่นหิน ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างน้อยและไม่รบกวนสรรพชีวิตใดๆ


 


ทั้งอุโบสถและลานหินโค้ง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของสถานที่อันเรียบง่ายในอารามอันร่มรื่นนามว่า "สวนโมกขพลาราม" ก็แทบมิได้รับความสนใจหรือใส่ใจ ทั้งจากภาครัฐและคณะสงฆ์ในกระแสหลัก ที่จืบทอดหรือเผยแพร่แบบอย่างนี้ออกไปสู่ระดับกว้าง หากปล่อยให้ศาสนสถานของพระพุทธศาสนาสยาม ทั้งในยามที่ท่านอาจารย์พุทธทาสมีชีวิตอยู่ และเมื่อท่านจากไปแล้ว ติดยึดอยู่กับรูปแบบสิ่งปลูกสร้างเป็นสถาปัตยกรรมใหญ่โตและราคาสูง ซึ่งส่วนใหญ่สูงส่งเพียงราคา หากไร้สุนทรียภาพ และปราศจากความงามอันเป็นไปเพื่อส่งเสริมความสงบสงัด อันมีคุณแก่การยกระดับจิตวิญญาณของผู้ทรงธรรม


 


การที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพยายามชี้แนะ ว่าจะเข้าใจธรรมะของพระพุทธองค์ได้ ต้องพร้อมจะเข้าใจและใช้ชีวิตอย่างที่พระองค์ทรงปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่าง หรือบัญญัติไว้เป็นธรรมวินัยแทนพระองค์ อันมีหลักใหญ่ใจความเนื่องอยู่ด้วยธรรมชาติ ที่ว่า...ธรรมะคือธรรมชาติ คือกฏของธรรมชาติ คือการปฏิบัติตามกฏของธรรมชาติ และคือการได้รับผลจากการปฏิบัตินั้นๆ จึงแทบมิได้รับความสนใจ ที่จะน้อมนำมาปฏิบัติจริง จากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่อย่างใด


 


มิหนำซ้ำ เมื่อมีพระหนุ่มเณรน้อยบางรายเกิดศรัทธา จะนำแนวทางดังกล่าวมาปฏิบัติ นอกจากจะไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากรัฐและคณะสงฆ์แล้ว ยังถูกปฏิเสธ หรือถูกตั้งข้อสังเกต ตลอดจนพยายามจับผิด หรือจับตามองอย่างไม่ไว้ใจ จากผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมายเสียด้วยซ้ำ ดังกรณี "สวนเมตตาธรรม" ซึ่งเป็นอารามและร่มเงาในทางธรรมของกลุ่มพุทธทาสศึกษา ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ก็ไม่พ้นไปจากการเพ่งเล็งโดยกลไกของใครต่อใคร เช่นที่กล่าวมาแล้ว


 


การประกาศที่จะสืบสาน "ปณิธานพุทธทาส" หรือการ "สืบทอดมรดกธรรม" จึงมีงาน หรือมีภาระที่จะต้องปฏิบัติจัดแจงกระทำอีกเป็นจำนวนมาก และดูจะมากมายไปกว่าการจัดพิมพ์หนังสือ หรือจัด กิจกรรม - พิธีกรรม และ/หรือ การประกาศการยกย่องเพียงชั่วระยะอยู่มากมายนัก


 


นี่ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ และน่าจะเกินกว่ากำลังของใคร หรือกลุ่มองค์กรใดจะปฏิบัติเอง หรือมามัวพะว้าพะวงหลงคอย "แสดงความเป็นเจ้าของพุทธทาสภิกขุ" หรือกระทั่งจะแสดงว่าตนและพวกตนเท่านั้นที่ "รู้จักและเข้าใจ" หรือ "มีหน้าที่สืบทอดมรดก" ไว้ได้เพียงฝ่ายเดียวเสียแล้ว


หาไม่ เราทั้งหลาย (ที่ไม่เข้าใจ เข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ควรเข้าใจ ฯลฯ) นี่เอง ที่จะกลายเป็น "ภูเขาแห่งวิถีพุทธทาส" ไปโดยรู้และไม่รู้ตัว


 



 


กล่าวในส่วนของการบูชา ที่หมายถึง การให้ด้วยความนับถือ หรือแสดงความเคารพเทิดทูน คือ อามิสบูชา และปฏิบัติบูชา นั้น พุทธศาสนาถือว่าปฏิบัติบูชา หรือ การประพฤติตามธรรมคำสั่งสอนของท่าน, บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติกระทำสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงรับรองและสรรเสริญ ดังข้อความในพระไตรปิฎก ที่ว่า


 


ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์


ไม้สาละทั้งคู่ เผล็จดอกบานสพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของ


ตถาคตเพื่อบูชา แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอก


มณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้จุณแห่ง


จันทน์อันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ จุณแห่งจันทน์เหล่านั้น ร่วงหล่น


โปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่าก็ประโคมอยู่ใน


อากาศ เพื่อบูชาตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต


ดูกรอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม


ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก


หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ  ปฏิบัติตาม


ธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอด


เพราะเหตุนั้นแหละอานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติ


ธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ดังนี้ ฯ


(พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๐  บรรทัดที่ ๓๒๕๘ - ๓๒๗๗.  หน้าที่  ๑๓๓ - ๑๓๔. ข้อที่ ๑๒๙)


 


กระนั้นก็ตาม ยังพบเสมอว่าชาวพุทธจำนวนไม่น้อย ที่ยังรู้สึกหรือคาดเดาเอาโดยอัตโนมัติว่า การบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอามิส ด้วยการเซ่นสรวงบำบวงศักการะ เป็นเรื่องอันพึงปฏิบัติ หรือมิอาจละเว้นได้อยู่นั่นเอง ประสาอะไรกับการบนบานศาลกล่าว และทำคืนโดยวัตถุ หรือดนตรีการละเล่นฟ้อนรำฝ่ายอกุศล อันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ที่กระทำต่อพุทธปฏิมา ราวกับการเซ่นผี หรือบำบวงเทพเทวดาในลัทธินิกายอื่น ดังที่กระทำกันจนคุ้นชิน และคนส่วนใหญ่แทบไม่เห็นผิดแปลกไปเสียแล้ว


 


ในวาระอันพิเศษยิ่ง ของชาตกาลครบรอบ ๑๐๐ ปี ของท่านอาจารย์พุทธทาสใน "ศตมวาร" นี้ หากผู้เกี่ยวข้องไม่สำเหนียกให้จงดี แม้วันนี้หรือวันใด การเซ่นสรวง "ตัวตนของพุทธทาส" ก็อาจเกิดขึ้นได้กับการบูชา "เพื่อรำลึกถึงท่านอาจารย์พุทธทาส" เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปลือกกระพี้ของพิธีกรรมและการละเล่น ที่ไม่เป็นไปเพื่อความบันเทิงธรรม


 


หรือจะว่าไปแล้ว แม้แต่ความหมกมุ่นยึดติดในความเป็น "พุทธทาสภิกขุ" ที่ประกอบไปด้วย อัตตา - อัตตนียา ของบุคคลและกลุ่ม ด้วยถือเอาว่าท่านเป็น "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" อันมิอาจท้าทายหรือวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจน "ตีความ" ใดๆ ได้ ดังที่ควรจะมี หรือควรจะเป็น ซึ่งถึงที่สุด ก็ไม่มีอะไรมากไปเสียกว่า การลดค่า และกระทำให้องค์คุณของท่าน ต้องตกอยู่ในวิถีแห่งสามานย์ กลายสภาพจากผู้ทรงคุณูปการเป็น "รูปเคารพ" ไปในที่สุดนั่นเอง


 


และถ้าเราทั้งหลายได้กระทำ หรือละเว้นไม่กระทำ จนส่งผลให้ท่านอาจารย์พุทธทาสอยู่ในฐานะเพียง "เจว็ด" ไปเสียแล้ว ก็ป่วยการที่จะกล่าวถึงการสืบทอดมรดกธรรม หรือการส่งเสริมและสืบสานปณิธานของท่าน ไม่ว่าจะประการใดๆ ก็ตาม มิใช่หรือ?


 


ตลอดชีวิตในทางธรรมของ "พุทธทาสภิกขุ" ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ปฏิบัติหน้าที่ "ทาสพระพุทธเจ้า" ตามที่ท่านรู้และเข้าใจอย่างถึงที่สุด ด้วยสติ ปัญญา และความสามารถทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว


 


ถ้อยคำที่ว่า "พุทธทาสจะอยู่ไปไม่มีตาย" จะเป็นจริงได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับการพูด คิด และกระทำ ของผู้เกี่ยวข้องทั้งปวงในชั้นหลังนี่เอง อย่างมิอาจปฏิเสธหรือกล่าวโทษใครได้เลย นับแต่วินาทีที่ท่านอาจารย์ละสังขารจากพวกเราไป


 


นี่ขนาดยังมิได้กล่าวถึงปณิธาน ๓ ประการอันเป็น "แนวทางสำคัญ" ที่ท่านชี้แนะเอาไว้ เราทั้งหลายก็มีโจทย์สำคัญให้ต้องขบคิดกันอย่างมากมายเสียแล้ว...


 


จะสนองคุณหรือปฏิบัติบูชาครูบาอาจารย์กันสักที อย่ามัวพิรี้พิไร คอยยึดมั่นถือมั่น และโทษผู้อื่น หรือ คอยแต่ยื่นโยนภาระ - ทอดธุระ ต่อกันและกันอยู่เลย...