Skip to main content

ขึ้นรถ ลงเรือ ไปเหนือ ล่องใต้

คอลัมน์/ชุมชน

ในชีวิตประจำวันของคนเรามีสิ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน การสื่อสาร การเดินทางไปมาหาสู่กัน การกินอยู่ บ้านเรือนที่อาศัย สิ่งบันเทิงเริงรมย์  เพื่อให้ชีวิตสะดวกสบายตามสมควร


 


โดยทั่วไป  คนเราก็ไม่ค่อยได้คิดว่าสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่นั้นได้เอื้ออำนวยให้คนทุกคนแล้วหรือยัง โดยเฉพาะคนที่มีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น คนที่ตัวเตี้ย ตัวสูง อ้วน ผอม หรือบกพร่องในการได้ยิน มองเห็น การเคลื่อนไหว การสื่อสาร เนื่องจากการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หลายครั้งไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้


 


กรณีตัวอย่าง รถเมล์ในบ้านเราโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ดิฉันมีโอกาสได้ใช้มากกว่าที่อื่นๆ มีประสบการณ์เฉียดตายหลายครั้งในการใช้รถเมล์ ครั้งหนึ่งเกือบพลัดตกรถเมล์อันเนื่องมาจากต้องเดินไปยืนรอที่ประตูก่อนถึงป้าย ไม่งั้นคนขับจะโมโหมากที่กว่าจะกดกริ่ง กว่าจะเดินลง ครั้งนั้นป้ายที่จะลงคือป้ายแรกหลังจากเลี้ยว จึงเดินไปเกาะพนักที่นั่งติดประตู แต่รถวิ่งเร็วมากเข้าโค้งเพื่อเลี้ยวด้วยความเร็วสูง จึงเหวี่ยงให้ดิฉันห้อยตกลงไปที่ประตู หากไม่อดทนเหนี่ยวรั้งพนักที่เกาะไว้  คงต้องหลุดหล่นตกลงไปถูกล้อหลังรถเมล์คันนั้นทับตาย มีโอกาสเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์แน่นอน ครั้งนั้นดิฉันตกใจแทบตาย ใจสั่นไม่หายแม้ลงมายืนตรงป้ายแล้ว


 


เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมดิฉันไม่กดกริ่งตรงที่นั่งก่อนแล้วรอให้รถเลี้ยวเรียบร้อย  แล้วค่อยๆ เกาะราวเดินมาลงตรงประตู ดิฉันทบทวนดูพบว่า ดิฉันไม่อาจกดกริ่งตรงที่นั่งได้ เพราะแม้จะลุกขึ้นยืนเขย่งเก็งกอยอย่างไรก็กดกริ่งไม่ถึง เพราะรถเมล์ดันติดกริ่งไว้บนหลังคารถ หลังคารถจริงๆ แม้คนตัวสูงมาตรฐานไทยๆ ก็ยังลำบากในการกด แล้วคนตัวเตี้ยอย่างดิฉันย่อมหมดสิทธิ์  จึงต้องอาศัยเดินไปกดตรงเหนือประตูทางลง เพราะลดระดับความสูงลงมาจากหลังคา  หรือบางคันจะมีติดอยู่ด้านข้างตรงหน้าต่าง ก็จะต้องเอื้อมผ่านคนที่นั่งอยู่หรือยืนเกาะราวบังไว้เต็มกรณีรถแน่นมากๆ ดิฉันคิดว่านี่คือความไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับคน แค่เรื่องง่ายๆ คือ กริ่งรถเมล์ 


 


ดิฉันได้มีโอกาสได้นั่งรถเมล์ของต่างประเทศบ้าง เห็นความแตกต่างชัดเจน กริ่งจะอยู่ที่ต้นเสาในรถ  ทุกเสาอยู่ในระดับที่เด็ก คนเตี้ย คนสูง คนแก่ คนท้อง กดได้สบายๆ รวมทั้งผู้พิการต่างๆ ด้วย  ราวสำหรับเกาะก็ออกแบบให้มีหลายระดับ ต่างจากบ้านเราราวอยู่สูงบนหลังคารถเท่านั้น


 


นี่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่สังคมไม่ได้เอาใจใส่ต่อกัน ทั้งนี้หากสังเกตบันไดขึ้นรถเมล์  รถไฟ  ยิ่งไม่เคยคำนึงถึงความสะดวกของเด็ก คนแก่ และผู้พิการเลย บันไดลอยสูงอยู่เหนือพื้นมากคนแข็งแรงเท่านั้นจะก้าวขึ้นอย่างสะดวก ไม่มีการออกแบบบันไดขึ้นที่เลื่อนปรับระดับได้เมื่อจอด  หรือออกแบบชานชาลาสำหรับคนเหล่านี้ที่จะเทียบท่าบันไดขึ้นรถได้พอดี คนไทยต้องอดทนและตะเกียกตะกายช่วยตัวเอง  ไม่ต้องพูดถึงผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็นซึ่งจะต้องเดินทางไปมาลำบากอย่างยิ่ง จนกลายเป็นวัฒนธรรมของครอบครัวที่มีผู้พิการเหล่านี้ว่าไม่พาเขาออกมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เพราะยุ่งยากลำบาก จนกลายเป็นว่าคนเหล่านี้ถูกลิดรอนสิทธิที่จะดำรงชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้  ทั้งที่ผู้พิการมีสิทธิได้ดำรงชีวิตอย่างเช่นปกติทั่วไปหากสังคมจะจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้เขา สังคมไทยละเลยสิ่งเหล่านี้มาตลอด


 


ผู้มีหน้าที่บริหารจัดการก็ไม่ใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองท้องถิ่นหรือระดับชาติ แม้ว่าจะมีการออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับคนพิการและคนชรา พ.ศ. ๒๕๔๘ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ๑ ก.ย. ๒๕๔๘ ระบุชัดเจนในเรื่องการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ เช่น ทางลาด ลิฟท์ ป้ายนำทางที่เอื้อทั้งต่อผู้พิการทางการมองเห็น การได้ยิน สำหรับอาคารสร้างใหม่และอาคารที่มีการปรับปรุงขึ้นใหม่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการปฏิบัติอย่างแท้จริง


 


ตัวอย่างชัดเจนที่กลุ่มผู้พิการได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการที่ควบคุมดูแลการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เกี่ยวกับการออกแบบที่เป็นอันตรายต่อคนชรา เด็ก ผู้พิการ เช่น พื้นที่มีความลื่นสูง ห้องน้ำที่ไม่สะดวกเหมาะสม ประตูปิดเปิดที่ไม่เอื้อต่อผู้พิการต่างๆ เป็นต้น นี่เฉพาะในบริเวณอาคารสนามบิน ยังไม่รวมอาคารบริวารอื่นๆ ที่ไม่คำนึงถึงการขึ้นลงรถโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟ  สนามบินซึ่งเป็นสถานที่ด่านแรกที่คนหลายชาติได้เจอเป็นด่านแรกในการเข้าออกประเทศไทย   ควรจัดทำเป็นตัวอย่างที่สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทุกคน


 


รวมถึงการที่กรุงเทพมหานคร จะจัดซื้อรถเมล์ใหม่อีกตั้ง 2,000 คัน อยากรู้ว่าท่านผู้ว่าราชการ กทม. ได้คำนึงถึงเรื่องการอำนวยความสะดวกให้คนใช้รถเมล์มากน้อยเพียงใด ขอให้เห็นใจคนที่ไม่ได้รับความสะดวกต่างๆ ด้วย กริ่งควรติดตั้งในระดับที่คนเข้าถึงสะดวก ขอร้องเถอะอย่าติดไว้บนหลังคารถเลย จัดทำบันไดอัตโนมัติยกขึ้นลงได้สำหรับคนแก่ คนพิการด้วย รวมถึงราวสำหรับเกาะก็ให้มีหลายระดับ เห็นใจคนตัวเตี้ย คนแก่ และเด็กด้วย ทางเท้าก็ควรเป็นทางเท้าไม่ใช่ทางสำหรับขุดหลุมปลูกต้นไม้ วางแผงขายของ ขุดหลุมวางท่อประปา ท่อสายไฟ มีฝาปิดที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่ราบพอให้คนแก่ คนพิการเดินได้สะดวก


 


เพื่อให้ครอบครัวไม่กังวลที่จะให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตตามสิทธิเหมือนคนอื่นๆ เขาบ้าง  ทุกคนสามารถเดินทางไปเหนือล่องใต้ได้สะดวก ผู้มีอำนาจหน้าที่ทั้งหลายควรให้ความสำคัญกับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน จึงจะแสดงให้เห็นว่ามีวิสัยทัศน์ในการสร้างความเท่าเทียมให้ทุกคนในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและปกติสุข


 


 


.........................................................