Skip to main content

"แบ๊คทูเดอะฟิวเจอร์"

คอลัมน์/ชุมชน

วันนี้ครบรอบ 3 อาทิตย์ที่กลับมาอยู่ไทย นี่ขนาดนับวันกันเลยทีเดียว นึกแล้วก็ขำเพราะนั่นหมายถึงว่ายังติดนิสัยแบบอเมริกันและยังปรับตัวในแบบไทยๆ ไม่ดีนัก  แต่ถือว่าเป็นเรื่องในทางบวกมากกว่าเพราะถือว่าเป็นการเรียนรู้ สิ่งที่ต่างจากที่เป็นมาในชีวิต หากเป็นสมัยก่อนคงฟาดหัวฟาดหางมากกว่านี้ ตอนนี้เบาลงแยะ แต่ก็อดมี "วีน" เล็กๆ ได้บ้าง แต่การวีนนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขจุดบกพร่อง ไม่ใช่ต้องการทำลายแต่อย่างใด


 


พบว่าการทำงานในระบบไทยๆ นั้นช้ามากกว่าที่คิด ไม่ได้ว่าแบบไทยๆ เลว แต่เป็นเพราะว่าสังคมนี้ชินกับการทำไปเรื่อยๆ เพราะว่ามีเงื่อนไขอย่างอื่นมากำหนด นั่นคือ ระบบช่วงชั้นในสังคมที่ชัดเจนและไหลเข้าไปในทุกระบบย่อยในสังคม ทำให้เกิดการรวมศูนย์อย่างเลี่ยงไม่ได้  ผู้เขียนพบว่าหลายๆ อย่างไม่สามารถจบได้ในขั้นตอนเดียว การลงนามขั้นสุดท้ายไปตกอยู่กับผู้บริหาร ทั้งที่บางอย่างระดับเจ้าหน้าที่ทั่วไปก็น่าจะรับผิดชอบได้ แต่กลายเป็นว่าต้องไปที่หัวหน้างานเพราะระดับเจ้าหน้าที่ทั่วไปไม่ต้องการที่จะรับผิดชอบด้วยสาเหตุต่างๆ ซึ่งก็ว่ากันไม่ได้ เพราะว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีขีดจำกัดทั้งในเชิงสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ 


 


เมื่อผู้เขียนจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องระบบแบบไทยๆ ก็บังเอิญว่าพอดีมีคนมาตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า "อะไรเป็นปัญหาในการบริหารบุคคลในสังคมไทย"  คนถามคือผู้เชี่ยวชาญในการบริหารบุคคลอเมริกัน คนนี้คือพ่อของอาจารย์ฝรั่งสาวที่สอนที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ทั้งตัวพ่อและตัวลูกมาเที่ยวเมืองไทยในฐานะทางผ่านก่อนไปอินเดีย และจะมาแวะอีกทีในขากลับก่อนถึงบ้านที่สหรัฐฯ ผู้เขียนจึงได้พบสองพ่อลูกนี้ใน กทม. พร้อมด้วยเพื่อนคนไทยที่เคยสอนที่เดียวกันและสนิทกับฝรั่งสาวคนนี้  เพื่อนคนไทยคนนี้ทำงานที่เมืองไทยมากว่า 4 ปีแล้ว แต่ผู้เขียนไม่สนิทกับกลุ่มนี้ เพราะวิถีชีวิตต่างกัน มีรสนิยมต่างกันแต่คบกันได้


 


ผู้เขียนได้บอกไปว่า ทรัพยากรมนุษย์ในสังคมไทยยังขาดประสิทธิภาพ (efficiency) ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างทางวัฒนธรรมและสังคม และบอกไปอีกว่านี่เป็นการมองแบบตะวันตกมองไทย เพราะไปเปรียบในกรอบแบบอเมริกัน คนอเมริกันมี efficiency มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกัน เพราะโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมตรงนั้นบังคับและเอื้อให้เป็น ซึ่งประเด็นสำคัญคือคำว่า Protestant Work Ethics[1] อันเป็นตัวขับสำคัญในการสร้างสังคมทุนนิยมตะวันตก แต่ในเมืองไทยนั้นไม่มีตรงนี้ การเป็นทุนนิยมจึงมาจากเรื่องอื่นด้วย และก็เป็น "ทุนนิยมแบบไทยๆ" ที่มีเรื่องอื่นมาเป็นตัวขับ ไม่ใช่เรื่อง Work Ethics แบบตะวันตก


 


ขอถอดความง่ายๆ สำหรับ Work Ethics ก็คือการดำเนินชีวิตที่เน้นเรื่อง thrift ความประหยัด, discipline การมีวินัย, hard work การทำงานหนักและทรหด, และ individualism ความเป็นปัจเจกบุคคล จะเห็นได้ว่าในลักษณะ 4 ประการที่กล่าวมานั้น ชาติอุตสาหกรรมมักจะมี ส่วนความเป็นปัจเจกบุคคลนั้น ชาติอุตสาหกรรมในเอเชียอาจไม่มี แต่ก็ยังคงมีลักษณะสามอย่างแรก ส่วนในสังคมไทยไม่มีเลยทั้งสี่อย่าง เพราะคนไทยไม่มีความประหยัดรู้จักออม มีเท่าไรก็ใช้หมด เรื่องวินัย เรามีคติประจำชาติคือ "ทำอะไรได้ตามใจคือไทยแท้" ดังนั้น การตามใจตนเอง กับการมีวินัยเป็นเรื่องที่ไปกันไม่ได้ หากมีวินัยมากๆ พาลจะเครียดได้ง่าย คนไทยไม่ชอบเครียด แต่ชอบสนุก ดังนั้น ไม่ต้องพูดเลยว่าการทำงานหนักและทรหดจึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง คนที่ทำงานหนักคือพวกมีกรรม  การรวยเพราะทำงานหนักคือคนมีกรรม แม้จะรวยก็เถอะ การอยู่ได้สบายๆ ไม่ต้องรวยถือว่าน่านิยม ยิ่งถ้าไม่ต้องทำอะไรแล้วรวยได้นี่ ถือเป็นเรื่องพึงปรารถนา ไม่งั้น "หวย" ไม่ว่าบนดินใต้ดินจึงเป็นเรื่องที่อยู่คู่ชีวิตไทยได้ไม่สิ้นสุด


 


แต่ถ้ามองให้ยุติธรรมจริงๆ แล้วนั้น ชนชั้นปกครองต่างหากที่เห็นแก่ตัวเพราะว่าต้องการที่จะให้ผู้อยู่ใต้ปกครองคิดไม่เป็น และช่วยตนเองไม่ได้ เพื่อให้การปกครองเป็นไปด้วยความสะดวกไม่มีใครมาท้วงติงและตั้งข้อสงสัย ผิดหลักการเรื่องการตรวจสอบและมีสมดุลยภาพ (Check and Balance) อีกทั้งเป็นการปิดกั้นการปกครองแบบมีส่วนร่วมโดยสิ้นเชิง ชนชั้นปกครองจึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะกดผู้ใต้ปกครองเพื่อการดำรงอยู่ของตนเอง จนในที่สุดก็พบว่าได้เลยเถิดเกินไป และเมื่อมีอิทธิพลจากภายนอกเข้ามาท้าทายอำนาจผู้ปกครองท้องถิ่น จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาไม่ได้ การถ่ายอำนาจเกิดขึ้น แต่ผู้ที่อยู่ใต้ปกครองก็อยู่ตรงนั้นแหละ โงหัวไม่ค่อยขึ้น แต่กลายเป็นเครื่องมือของแต่ละฝ่ายที่จะครองอำนาจ ขึ้นอยู่กับจะเลือกใครเป็น "เจ้า-นาย" แค่นั้นเอง เพราะโดนกดขี่จนคิดเป็นไทแก่ตนเองไม่เป็น


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ ไฉนเลยชนชั้นที่ถูกปกครองจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ แค่คิดเพื่อวันนี้ก็คิดไม่ได้แล้ว เมื่อเกิดเหตุหนักๆ และวิกฤติก็มืดแปดด้าน ปัญญาไม่เกิด หรือพอจะเกิดก็ไปติดที่ว่าไม่มีอำนาจในมือ หากชนชั้นปกครองในช่วงนั้นไม่โง่จนเกินไปก็แก้ปัญหาได้ แต่เมื่อแก้ไม่ได้ก็มีการสูญเสียต่างๆ คนที่สูญเสียที่สุดก็ไม่ใช่ใคร นอกจากชนชั้นที่ถูกปกครองอีกนั่นแหละ  เรื่องนี้ถ้ามองให้ดีมันเกิดขึ้นทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในส่วนที่เรียกว่าคาบสมุทรอินโดจีนนี่แหละ


 


เมื่อมาถึงยุคร่วมสมัยในวันนี้ สังคมที่ไม่ได้มีการบ่มเพาะเรื่อง วัฒนธรรมการทำงานแบบที่ฝรั่งเค้าเป็นกัน จึงเป็นข้อเสียเปรียบอย่างช่วยไม่ได้ แถมยังไม่มีวัฒนธรรมแบบ "ขงจื้อ" อย่างแรงๆ ที่พวก จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เค้ามี สังคมไทยตรงนี้จึงทำงานแบบไปเรื่อยๆ ขอไปที ระบบราชการที่นำมาจากตะวันตกกว่าร้อยปีก็เลยกลายสภาพแบบไทย ไม่ได้แข็งขันแบบฝรั่ง  รวมทั้งระบบอื่นๆ ด้วยที่เข้ามาก็กลายพันธุ์ เช่น ระบบการศึกษาที่เอาเข้ามาแค่ร้อยกว่าปี ก็โดนเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทไทยๆ จนไม่เหลือไปเหมือนกัน จึงเหมือนเอาแต่เปลือกมา ไม่ได้มองว่าปรัชญาเบื้องลึกแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร  แบบผักชีโรยหน้า ให้ดูเก๋เท่านั้น


 


วันนี้เมื่อโลกาภิวัตน์เข้ามาอย่างรุนแรง ต่อเนื่อง และมีการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลันในโลกาภิวัตน์เองเสมอๆ สังคมไทยก็พยายามหมุนตาม จนไม่ได้มองว่า หมุนอย่างไรจะถูก เอาเป็นว่าแค่หมุนตามก็แทบไม่ทัน จะมาหยุดคิดคงไม่ดีแน่ จริงๆ แล้วต้องวิ่งไปคิดไปน่าจะดีกว่า หยุดได้ก็น่าหยุดบ้าง จะได้คิดได้ทั่วถ้วน


 


ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่ยิ่งอีกหนึ่งเรื่องสำหรับสังคมไทย ที่จะต้องต่อสู้ในโลกใบใหญ่ใบนี้ ดังนั้น ชนชั้นปกครองต้องใจกว้างพอที่จะยอมรับความผิดพลาดของตนเอง และต้องทำงานหนักในการแก้ไขปรับปรุงศักยภาพของคนอื่นๆ ในสังคม ไม่ใช่มาสนุกกับการได้เปรียบในสังคมของตนเอง แล้วคิดว่าใครจะเป็นไรก็ช่าง แม้วันนี้การลุกฮือเพื่อการเปลี่ยนแปลงแบบสมัยก่อนอาจไม่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากมีปัจจัยต่างๆมาเกื้อหนุนประจวบเหมาะกัน  


 


ตอนนี้ผู้เขียนรู้สึกเหมือนกับเป็น "มาร์ตี้"  ในหนังฝรั่งเรื่อง "แบ๊คทูเดอะฟิวเจอร์"  ทั้งที่ในเมืองไทยมีรถราหรูหราเกลื่อนเมือง ไม่แพ้เมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ มีตึกรามบ้านช่องสูงใหญ่หนาแน่น แต่เรื่องระบบความคิดนั้นยังน่าสงสัยอยู่ ซึ่งนั่นแหละก็น่าจะมาจากการที่ระบบสังคมวัฒนธรรมไม่เอื้อดังที่กล่าวมาแล้ว


 


ดังนั้น คงได้มี "แบ๊คทูเดอะฟิวเจอร์" อีกหลายตอนเลยทีเดียว