Skip to main content

ภัยจากธรรมชาติหรือภัยจากน้ำมือมนุษย์?

คอลัมน์/ชุมชน

ผมขอแสดงความเสียใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยใน 5 จังหวัดทางภาคเหนือตอนล่างของเมืองไทย และขอแสดงความเสียใจกับความสูญเสียที่เมืองยอกยากาตาร์ในอินโดฯ เนื่องจากแผ่นดินไหวเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา


 


นับว่าเป็นความสะเทือนใจอย่างยิ่ง และก็รู้สึกว่าภัยจากธรรมชาติทำนองนี้จะมีถี่มากขึ้นในช่วงหลังๆ เมื่อก่อน ผมรู้สึกว่าเหตุการณ์อุทกภัยเป็นเรื่องไกลตัวมาก ยิ่งมีการอธิบายเรื่อง "ลานีญ่า" ที่จะไปเชื่อมโยง เป็นสาเหตุทำให้เกิดความแปรปรวนของภูมิอากาศแล้วนั้น  จำได้ว่า เคยได้ยินเรื่องนี้ครั้งแรกตอนมัธยมปลายประมาณปี 2542 


 


ตอนเรียนก็ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองเพื่อจะใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย  แต่เรื่องภาวะโลกร้อนนั้นได้ยินมานานแล้ว ก็รู้สึกว่าเราจะทำอะไรได้บ้างนะ ตัวเราคนเดียวจะทำอะไรได้ ในเมื่อวิถีที่เราเคยชินก็เป็นเรื่อง "ไม่เป็นไรหรอก" หรือ "ไม่ใช่เรื่องของเรา" อยู่เรื่อยมา


 


เหตุการณ์แผ่นดินไหว อาจจะบอกได้ว่าเป็นเรื่องของการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่ามันก็เกิดขึ้นได้ทุกๆ เมื่อ แม้เทคโนโลยีปัจจุบันจะก้าวหน้าพอที่จะลดความรุนแรงหรือลดอันตรายอันจะเกิดขึ้นได้บ้าง แต่ก็มีใช้จำกัดแค่ในบางประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้น


 


แต่อุทกภัยนั้น ในความรู้สึกของผม เหตุลำดับต้นๆ เลยผมว่ามันเป็นภัยที่เกิดขึ้นเพราะน้ำมือของมนุษย์เรานี่แหละ  ผมว่าทุกวันนี้เราใช้ทรัพยากรกันอย่างเมามัน ใช้กันแบบไม่ทันได้คิด แม้จะมีสื่อหลายกระแสรวมทั้งการรณรงค์หลายรูปแบบให้เราใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและประหยัดที่สุด


 


แต่ท้ายที่สุดแล้วก็มีคนเพียงจำนวนน้อยนิดที่สามารถคิดและทำได้ แต่โดยคนส่วนใหญ่แล้วผมว่าเค้าก็ยังมองเห็นว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว หรืออาจจะมีหลายเหตุผลใดๆ มากกว่านี้


 


ภาวะโลกร้อน สาเหตุคงไม่ใช่เพราะพระอาทิตย์เขยิบใกล้เรามากขึ้นหรอกนะครับ (อันนี้ต้องถามผู้รู้) แต่ถ้าคิดอีกมุมหนึ่ง แบบเป็นเหตุเป็นผล ก็คงเป็นเพราะน้ำมือของมนุษย์เรานี่แหละครับ


 


จริงอยู่ที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอด 45 ปีที่ผ่านมา จะมีส่วนที่ทำให้คนบางคนคิดถึงคนอื่นน้อยลง กอบโกยกันมากขึ้น หรือแม้จนกระทั่งปัจจุบัน ที่รัฐบาลพยายามชูนโยบายเศรษฐกิจด้วยการแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน ซึ่งถ้าคำว่า "ทรัพย์สิน"ในที่นี้หมายถึงทรัพยากรที่เราใช้กิน ใช้ดำรงอยู่ของชีวิตนี้แล้วก็คงต้องบอกว่า ทุนที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเพราะนโยบายระดับชาตินั้นก็เป็น "ทุนชีวิต" ด้วยเช่นกัน


 


ถ้าจะพูดให้สุดโต่งก็ต้องแลกกันว่าเราจะเอาทุนหรือเราจะเอาชีวิต!


 


ท้ายที่สุดแล้ววิถีที่เราจะใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดนั้นคงต้องคิดเอาจากเรื่องใกล้ตัวก่อนเป็นอันดับต้นๆ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ในที่นี้อาจหมายถึง การใช้สิ่งๆ นั้นให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด และต้องคำนึงถึงคนรุ่นต่อๆ ไปด้วย


 


ดังนั้น ถ้าจะเริ่มจากวิธีคิด เราอาจจะเริ่มด้วยการคิดว่าอะไรที่ใช้แล้วย่อมต้องมีวันหมด ดังนั้นถ้าไม่อยากให้หมดก็ต้องหามาทดแทน และสิ่งที่ทดแทนต้องไม่ใช่สิ่งที่สะสมและย้อนกลับมาทำร้ายเราในอนาคตอีกด้วย จริงๆแล้ว ผมว่ามันก็ซับซ้อนดีแต่ว่าเอาเข้าจริงๆเราก็ต้องคิดกับมันอย่างเอาจริงเอาจังด้วยเช่นกัน


 


อย่างไรก็ตาม ที่บอกว่าต้องเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวที่เราจะทำได้ ในเรื่องอุทกภัย ที่หลายคนกำลังคิดวิธีการแก้ปัญหาอยู่ ถ้าคิดว่าระบบเตือนภัยน้ำป่านั้นจะใช้ได้ผลจริงๆ และคุ้มทุนจริงๆ ก็ทำไปเลยครับ แต่ต้องไม่ลืมที่จะแก้ที่รากเหง้าของปัญหาด้วย


 


ผมหมายถึงว่า ก็ต้องทำให้ประชาชนรู้ด้วยว่า เค้าเองจะต้องใช้ทรัพยากรกันอย่างไร ร่วมมือกันไม่ให้เกิดภาวะโลกร้อน  (ประชาชนในที่นี้ผมหมายถึงทุกคนนะครับไม่ใช่แค่ชาวบ้าน ผมต้องการรวมทุกคน นั่นก็หมายความว่ารวมถึงนักการเมืองด้วย)


 


ส่วนผมเองนั้น สิ่งที่ผมคิดว่าจะทำนั้น (เอาเท่าที่คิดได้ตอนนี้ก่อนนะคับ) คือ ลดการใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลง  ปฏิเสธการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากโฟมโดยการไม่สนับสนุนทุกรูปแบบ กระดาษหรืออะไรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็ใช้ให้คุ้มที่สุด (อันนี้ทำอยู่แล้วบ้าง) คิดถึงการใช้ผลิตภัณฑ์จากผลิตจากธรรมชาติให้มากที่สุด และต้องรู้เท่าทัน แม้บางครั้งต้องจ่ายแพงกว่านิดหน่อยก็ยอม อีกอันหนึ่ง ที่คิดว่าจะยาก คือ ต้องไม่ท้อ, ล้าหรือหมดกำลังใจกับการเปลี่ยนพฤติกรรมเราเช่นนี้ แม้จะยังไม่มีใครทำเป็นเพื่อนเราก็ตาม


 


ช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้นอกจากสื่อจะประโคมข่าวเรื่องการสูญเสียแล้วน่าจะใช้โอกาสนี้ประโคมข่าวให้คนตื่นตัวได้ด้วยเช่นกัน


 


ผมเศร้าจริงๆ ครับ เห็นการสูญเสียเยอะๆไม่ว่าครั้งใดก็อดคิดถึงคำของท่านอาจารย์ป๋วย ที่จารึกไว้ในหนังสือเรื่อง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ไม่ได้ว่า "เมื่อผมจะตายก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ อย่างบ้าๆ คือ ตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ"


 


ผมว่าคำกล่าวนี้ ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว และคิดว่าคงไม่ต้องตีความกันเพิ่มอีกนะคับ ว่าใครบ้างจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย


 


แต่อย่างไรก็อย่าลืมว่า เมื่อก่อนมนุษย์พึงพาธรรมชาติและใช้ทรัพยากรอย่างไม่หยุดยั้ง เหตุการณ์ภัยทางธรรมชาติที่เราพบเจอกันนี้ อาจเป็นสัญญาณบอกว่า ธรรมชาติกำลังตามไล่ล่าเราอยู่ แต่ก็อาจจะยังไม่สายหากเราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองเสียวันนี้ เหมือนคำกล่าวที่ว่า "หากเราจะเยียวยาโลก เราก็ต้องเยียวยาตัวเราไปด้วย"