Skip to main content

สื่อสะท้อนสังคม

คอลัมน์/ชุมชน

1


ยังคงไม่สิ้นสุดกับประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องสึนามิ สำหรับส่วนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หลังจากที่สื่อต่าง ๆ นั้นได้รับการติฉินกันไปพอสมควรถึงการไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้เท่าที่ควร ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญประเด็นใหญ่ที่สื่อต่างชาตินั้นให้ความสำคัญไปก่อนแล้ว และสื่อไทยก็กลับตัวทันที่มาทำการเกาะติด และกลับมาแข่งขันกันจนเรียกได้ว่าเก็บทุกเม็ด จนกลายเป็นว่าแยกแยะไม่ออกว่าเรื่องไหนควรเป็นประเด็นหลัก เรื่องไหนควรเป็นประเด็นรองกันไป และหลาย ๆ เรื่องก็ถูกโหมให้กลายเป็นฮือฮา หรือ talk of the town โดยไม่ได้เกิดประโยชน์โภชผลใด ๆ กับใครเลย


เมื่อไม่กี่วันมานี้ คงได้ยินข่าวกันมาบ้างพอสมควรกับเรื่องยอดบริจาคเงินที่ภราดร ศรีชาพันธ์ โดยตัวเลขอยู่ที่ 1 หมื่นบาท และถูกประชาชนโหมกระหน่ำมาตั้งข้อกล่าวหาภราดร ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เห็นว่าไม่เหมาะสมบ้าง หรือขี้ตืดเกินไปหน่อย อันเป็นเหตุให้มีการขุดคุ้ยหาเรื่องแย่ ๆ ของภราดรมาวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไปอีก จนตอนนี้ภราดรต้องออกมาประกาศจะบริจาคเพิ่ม


ถ้าเป็นแค่ประชาชนเขา "เมาท์" กันเองก็คงไม่เป็นไร แต่สื่อโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุดกลับพากันเอาประโยชน์จากเรื่องนี้ต่อไปอีก นอกเหนือจากการนำเสนอข่าวไปก็ยังนำเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นให้ประชาชนแสดงความเห็นว่ายอดบริจาคนั้นเหมาะสมหรือไม่ โดยให้ส่งเอสเอ็มเอสมาคุย (อย่าลืมว่าเอสเอ็มเอสแต่ละครั้งนั้น ทางรายการและบริษัทโทรศัพท์ได้เงินไปเต็ม ๆ นะ แต่ส่วนแบ่งคนละเท่าไรก็ว่ากันไป)


ประเด็นที่อยากจะพูดถึงในประการแรกก็อยู่ที่ว่า ใครบริจาคเท่าไร ทำไมต้องเป็นข่าว นอกจากนั้นทำไมการบริจาคเงินน้อยจะต้องถูกกดดันจากสังคม และประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าทำไมต้องนำเรื่องของคนหนึ่งคนมาให้ความสำคัญขนาดนี้ ทำไม่ไม่นำเสนอแบบเรียบ ๆ เหมือนคนอื่น ๆ แน่นอนคำตอบเพราะว่าเขาเป็นคนของประชาชน แต่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยก็เป็นคนของประชาชน แต่ก็ไม่ได้มีการให้ความสำคัญเท่านี้ แต่เพราะคนนี้เคยเป็นที่หนึ่งในใจคน การทำข่าวให้เป็นด้านลบย่อมขายได้


แล้วที่สำคัญคือคนไทยเราเคยภูมิใจกันนักหนากับเรื่องความมีน้ำใจของคนไทย ความนี้น้ำใจมาวัดกันเป็นตัวเงินได้หรือ มันมีความเหมาะสมด้วยหรือว่าใครจะบริจาคเท่าไร คนบริจาคต้องคิดเองว่าเท่าไรถึงจะเหมาะสมสำหรับตัวเขา และการนำเสนอข่าวที่ทำให้มีการตัดสินคน ๆ หนึ่งว่า คนดีต้องบริจาคเยอะ ๆ ส่วนคนที่บริจาคน้อยกลายเป็นคนไม่ดีไปนั้น ชอบธรรมแล้วหรือ



2


อยากให้ลองดูตัวอย่างของการนำเสนอข่าวในสองกรณี สถานการณ์ค้าบริการทางเพศในเยอรมันบอกว่าจะหักเงินค่าผ่านประตูไว้ทุก 5 ยูโร เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิว่าคน ๆ นี้มีน้ำใจ หมายความว่าเจ้าของสถานบริการนี้เป็นคนดีจริง ๆ ใช่หรือไม่ที่เขาอุตสาห์คิดถึงคนที่ประสบภัย แต่เรื่องการเอาประโยชน์ หรือการทำมาหากินบนร่างกายของผู้หญิงนั้นลบกันไปได้หรือไม่


ที่กล่าวมานี้ก็ไม่เคยคิดจะไม่ได้เข้าข้างภราดรเลยนะ แต่อยากให้ลองเปรียบเทียบว่า ระหว่างภราดรที่ต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจ สูญเสียชีวิตร่าเริงในวัยเด็ก แล้วกลายเป็นคนมีเงินมากแต่บริจาคน้อยในสายตาของสื่อ กับเจ้าของสถานบริการทางเพศที่หักเงินจากผู้มาให้บริการมาช่วยเหลือนี้ ใครเป็นคนดีกว่ากัน


ในประเด็นของภราดรนั้นจะไปตัดสินไม่ได้ว่าขี้งก หรือขี้ตืดหากให้มองลึกลงไปถึงประเด็นสังคมก็ได้ ทำไมภราดรซึ่งปัจจุบันทำรายได้มากมาย หรืออย่างน้อยก็มากกว่าแทมมี่นักเทนนิสด้วยกันที่บริจาคมากกว่าก็ต้องถามว่าภราดรกับแทมมี่เกิดและเติบโตมาในครอบครัวและในสังคมเช่นไร ภราดรอาจต้องสู้ชีวิตมากกว่า อาจยังไม่รู้สึกมั่นคงกับสถานะตัวเองก็เป็นได้ หรือภราดรเคยได้รับอะไรง่าย ๆ ก่อนที่เขาจะดังหรือไม่ ดังนั้น จึงเป็นความชอบธรรมที่ภราดรจะคิดว่าการช่วยเหลือขนาดนี้เป็นเรื่องเหมาะสมสำหรับเขา


อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็น เรื่องที่แอ๊ด คาราบาว ออกมาแต่เพลงสึนามิ แล้วใช้คำว่า ซูนามิ รวมทั้งเนื้อหาที่บอกว่าท้องฟ้ามืดมิด ทั้ง ๆ ที่ก่อนเกิดคลื่นท้องฟ้าแจ่มใส มีพิธีกรชื่อดังรายการประเภทคุยข่าว ยังอุตส่าห์ไปตั้งคำถามว่า "จะแก้เนื้อหาหรือไม่ เพราะว่าอันนี้อาจเป็นบันทึกประวัติศาสตร์เพราะทางผู้ใหญ่เขาติงมา เกรงว่าเด็กรุ่นหลังจะเข้าใจผิด"


นี่ก็อีกเช่นกัน ทำไมผู้สื่อข่าวต้องไปให้ความสำคัญกับแอ๊ด คาราบาวคนเดียว ทั้ง ๆ ที่มีคนเขาแต่เพลงกันมากมาย ที่สำคัญจะู หรือจะสึ หรือจะึนั้น มันเป็นภาษาญี่ปุ่น เราไม่มีตัวสะกดที่จะออกเสียงให้เหมือนหรอกจะคิดมากกันไปไย เอาให้รู้ว่าคลื่นยักษ์ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ใช้คำนี้ไว้ในวงเล็บกรณีที่ต้องเขียนเพื่อจะได้เข้าใจตรงกันว่าเป็นคลื่นยักษ์ชนิดไหน


ส่วนที่ว่าเนื้อหาผิดนั้น มีเพลงกี่เพลงในบ้านเราที่มีเนื้อหาถูกต้อง แล้วบอกว่านี่จะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่ง เกรงเด็กรุ่นหลังจะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั้นก็ดูเหมือนว่าจะไปกันใหญ่แล้ว ก็มีด้วยหรือที่ใช้เพลงเป็นข้อมูลอ้างอิง อยากได้ข้อมูลที่ถูกต้องก็ค้นเอาจากตำรา ถ้าคนต้องเชื่อข้อมูลตามเพลงก็แปลว่าการศึกษาบ้านเรามีปัญหาแล้ว ก็รู้ ๆ อยู่ เขียนเพลงก็คล้ายเขียนเรื่องสั้นหรือนิยายนั่นแหละมีทั้งจริงและจินตนาการ ไม่ใช่การเขียนหลักสูตร หรือตำรา แน่นอนว่าเพลงอาจหยิบยกมาจากเหตุการณ์จริง แต่ข้อมูลนั้นก็ต้องตรวจสอบซึ่งคนทำเพลงนั้นไม่ใช่นักวิชาการคงจะตรวจสอบไม่ได้มาก


นอกจากนั้นแอ๊ด คาราบาว ก็เป็นเพียงคนที่มีพรสวรรค์คนหนึ่งที่สามารถหยิบยกเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาร้อยเป็นเรื่องราวได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นผลประโยชน์ทางอาชีพของเขา เพราะเขาย่อมรู้ดีว่าการได้ออกก่อนย่อมส่งผลดีทางการตลาด เหมือนผู้สื่อข่าว ๆ ทั่ว ๆไปนั่นแหละ ได้ข่าวก่อนก็ได้เปรียบคู่แข่ง และรู้สึกดีว่าไม่ตกข่าว ซึ่งการที่สื่อมาให้ความสำคัญกับเพลงของแอ๊ด คาราบาวนั้นเอาเข้าจริงก็เท่ากับหลงกลเขาแล้วละ ก็อยู่ดี ๆ ไปโปรโมตเทปให้เขาทำไม


3


สองตัวอย่างที่ยกมาให้มานี้ อยากจะชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้สื่อนั้นได้ทำหน้าที่อย่างเข้าใจหรืออย่างเท่าทันสถานการณ์หรือไม่ และความสำคัญของข่าวอยู่ที่ไหน


ว่ากันว่า สื่อนั้นต้องทำหน้าที่อยู่ 3 อย่างหลัก คือ หนึ่งนำเสนอความเป็นไปของสังคม มีสิ่งใดเกิดขึ้นก็นำเสนอแต่สิ่งที่นำมาเสนอนั้นก็ควรจะมีการเลือกสรรว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมหรือไม่ หรือเป็นการสะท้อนความเป็นไปในสังคม หรือเรียกกันว่าเป็นกระจก สองเป็นตะเกียงส่องนำทางหรือการนำปัญญามาสู่สังคม ชี้ให้เห็นเพื่อเป็นแนวให้สังคมว่าจะเดินไปในทางไหน และสามเป็นสื่อกลาง อาจจะระหว่างประชาชนต่อประชาชน หรือประชาชนกับรัฐ หรือเป็นทางหนึ่งในการทำให้คนได้รับรู้เรื่องราวของกันและกัน


ในสองเหตุการณ์ดังกล่าวที่สื่อให้ความสำคัญเพราะเชื่อว่าจะขายได้ เพราะจะเป็นที่สนใจของประชาชนก็แปลว่าสื่อได้ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นแล้วว่า สังคมเรานั้นชอบเรื่องที่เป็นแค่เรื่องนินทาธรรมดาทั่วไป แต่ไม่ได้สนใจเรื่องที่เรียกว่าข่าวสาร และในเรื่องของสึนามินั้น สื่อก็ยังทำหน้าที่สื่อกลางแล้วด้วย แต่ว่าเท่าที่เห็นมาถึงตอนนี้ก็เรียกได้ว่ามีสื่อน้อยมากที่จะทำหน้าที่เป็นตะเกียงส่องนำทางให้กับสังคม


น่าแปลกใจอยู่ที่ว่า เดิมทีสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะช่วยเหลือประเทศที่ประสบภัยเลย ต่อมาก็ประกาศให้ 2 ล้านเหรียญ แล้วก็ 35 ล้านเหรียญ อาจทนเสียงกระหน่ำโจมตีไม่ไหวก็เพิ่มเป็น 350 ล้านเหรียญ แต่ขอแลกกับการใช้สนามบินอู่ตะเภาในการลำเลียงความช่วยเหลือ และใช้กองทัพเข้ามาในภูมิภาคแทนที่จะเป็นหน่วยบรรเทาทุกข์


เรื่องนี้ทำไม่ไม่เป็นที่สงสัยของผู้สื่อข่าว ทำไมไม่ติดตามว่า ที่สุดแล้วสหรัฐฯ จะออกจากพื้นที่หรือไม่ นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะส่งผลกระทบถึงความเป็นความตายของประเทศ หมายถึงเรื่องเสถียรภาพ ความมั่นคง และอำนาจอธิปไตยของชาติ แต่ดูเหมือนจะยังไม่มีสื่อไหนหาญกล้าหลุดกรอบออกมาคิดออกมาคุย หรือขอคำมั่นกับทางรัฐบาลว่า สหรัฐฯ จะถอนออกไปทันทีที่ภารกิจแล้วเสร็จ


ก็คงได้แต่หวังว่า สักวันหนึ่งสื่อไทยทำงานได้มากกว่าเป็นกระจกเท่านั้น