Skip to main content

ความทรงจำของน้าหงา สุรชัย จันทิมาธร "คิดถึงนายผี...อัศนี พลจันทร"

คอลัมน์/ชุมชน


 


เย็นวันหนึ่ง, ผมพบเจอความทรงจำของ "น้าหงา" สุรชัย  จันทิมาธร


วางซ้อนบนกองหนังสือในร้านหนังสือเก่า หน้าทางเข้าห้างบิ๊กซี เชียงใหม่


 


เป็นความทรงจำเก่าแก่ที่ซุกซ่อนอยู่ใน "ถนนหนังสือ"


หนังสือที่ผมเข้าใจว่าหายากและน่าสะสมเก็บไว้อย่างยิ่ง


 


ผมลูบปกที่เปื้อนฝุ่นหนาเตอะ สีซีดเหลือง ตัวหนังสือเล็ก ๆ บอกโปรยว่า ถนนหนังสือ  ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๔  ตุลาคม ๒๕๒๘  ราคา ๑๘ บาท แต่ ณ ห้วงเวลานี้ ปี ๒๕๔๙  ผมซื้อในราคา ๒๐ บาท


           


และเมื่อพลิกดูงานเขียนของน้าหงา ที่ชื่อ "คิดถึงนายผี...อัศนี  พลจันทร" พร้อมภาพลายเส้นประกอบ ยิ่งทำให้ผมตัดสินใจซื้อเก็บไว้ทันใด ถือว่าคุ้มเกินคุ้ม...


           


เป็นงานบันทึกของน้าหงา เมื่อครั้งพบเจอและอยู่ร่วมกับ "นายผี" อัศนี พลจันทร ในเขตป่าทางตอนเหนือของลาว ในครั้งนั้น นานมาแล้ว...


           


ผมขออนุญาตนำมาลงเพื่อให้มิ่งมิตรได้หวนระลึกถึงเขา สุรชัย จันทิมาธร ในฐานะศิลปินรางวัล "ศรีบูรพา" คนล่าสุด และเพื่อรำลึกถึง "นายผี" อัศนี พลจันทร ปราชญ์ผู้รอบรู้ นักปฏิวัติผู้อาวุโส และเจ้าของงานเพลง "เดือนเพ็ญ" อันลือลั่นและคงทน...


           


นี่คือ บทรำพึงถึงความหลังของ สุรชัย จันทิมาธร ถึง นายผี...อัศนี พลจันทร


 


.........................................


...ชื่อเสียงของเขาหอมกรุ่นอยู่ในความรู้สึกของเรา เป็นคนลึกลับมาแต่ไหนแต่ไร  แล้ววันหนึ่งเราก็ได้พบเขา  ในบริเวณที่ราบเล็ก ๆ  ในเขตภูเขาสลับซับซ้อนทางตอนเหนือของลาว  เรารู้แต่ว่ามันคืออาณาบริเวณที่เรียกกันว่า ว่าแขวงหลวงน้ำทา  ที่นี่เป็นแนวหลังที่ห่างไกลแนวหน้ามากโข  พลพรรคคอมมิวนิสต์มีทั้งเด็กเล็กตลอดจนถึงพ่อบ้านแม่เรือนและคนแก่


           


มันคล้ายกับเป็นที่พักฟื้นสภาพของนักปฏิวัติจากทั่วทุกสารทิศ  มีโรงพยาบาล  มีโรงเรียนทั้งเด็กและผู้ใหญ่  มีสำนักทฤษฎี, สำนักแนวร่วม และหน่วยศิลปะของกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย  เราบุกเบิกสร้างสำนักงานกันที่นี่ด้วยลำแข้ง ด้วยมือ  ด้วยบ่าด้วยแรงของเราเอง  พลพรรคทั้งหมดประมาณ ๕๐ คนมาจากต่าง ๆ ที่  แต่ส่วนมากจะรู้จักกันมาก่อน


           


ตลอดเวลาสามเดือนที่สร้างโรงเรือนต่าง ๆ ตัดไม้ไผ่เป็นหลาย ๆ คันรถ  ตัดเสาบ้านจากภูเขาแล้วปล่อยซุงให้ลื่นไหลลงลำห้วย  ไพหญ้า  แปลงฝา  ขื่อคา  ด้วยการคำนวณของตัวเอง  ทุกวันคือการทำงานเหล่านี้


           


แล้วในบ่ายวันหนึ่งของการพักผ่อน  เขาก็ปรากฏตัวไล่ ๆ กับ อุดม  สีสุวรรณ  ในระดับสหายนำเช่นผู้เฒ่าทั้งหลาย  ความรู้สึกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ  เหมือนได้เคยรู้จักกันมาหลายสิบปี  เขารู้จักการทำงานของเราค่อนข้างดี  เขากระตือรือร้นที่จะทำความรู้จักกับคนรุ่นเยาว์ด้วยท่าทีกันเองและอบอุ่น  มีการพูดคุยกว้าง ๆ เกี่ยวกับทัศนะทางด้วยความสวยงามของศิลปะ  และไม่ได้ข้อสรุปอะไรมาก  นั่นเป็นข้อดีที่เขาบอกว่า  ผมก็ยังต้องเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นอีกมาก  เพราะเหตุนี้ท่าทีของเขาต่อปัญหาค่อนข้างจะมีช่องว่างให้ได้คิดออกไปในแง่มุมที่แตกต่างกัน


           


เมื่อมีหัวข้อปัญหา  ผมจำได้ว่าเขาพูดว่าอย่างนี้ "นั่นนะซี พวกคุณลองคิดดูซิว่ามันจะเป็นอย่างไร  ผมอยากฟังทัศนะของพวกคุณ"


           


ผมทำโครงการของตัวเองอยู่เรื่องหนึ่ง  ต้องค้นคว้าจากปากคำ  ความทรงจำของพลพรรครุ่นเฒ่า  ต้องรู้ต้องเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วนั่นแหละ  ก็เลยมีความสนิทสนมกัน  บางทีได้นั่งคุยกันในบ้านพักจวบจนตี ๓ ตี ๔ ท่ามกลางกองไฟและกาแฟอุ่น ๆ มีกองหนังสือ รู้สึกว่าจะมีพิมพ์ดีดด้วย  บ้านของ สหายไฟหรือนายผี...อัศนี  พลจันทร  เป็นเรื่องไม้ไผ่หลังเล็ก ๆ มีห้องนอน แล้วก็ห้องรับแขก ทำครัวเสร็จ  มีกองไฟประจำบ้านและมีทหารพิทักษ์คนหนึ่ง  เป็นสหายชนชาติลาวโซ่งหรือส่วยแถบนครพนม  สหายไฟอยู่กับสหายลม  สหายลมเป็นภรรยาวัย ๕๐ เศษ  คนเขาเรียกแกว่า "ป้าลม  สนใจการเขียนบทกวีเชิงฉันทลักษณ์  มีถ้อยสำนวนคล้าย ๆ นายผี  ความคิดความอ่านอยู่ในลักษณะของศิลปินทำงานเป็นคนลึกลับคนหนึ่งไม่แพ้สามี"


           


ผมรู้สึกว่าเขาเป็นคนรอบรู้ศิลปะวิทยาการระดับนำอีกคนหนึ่ง  มีความรู้ถึง ๗ ภาษา  แต่ผมจำไม่ได้ว่ามีภาษาอะไรบ้าง  อ่านวรรณคดีระดับโลกมาหลายต่อหลายเล่มเกวียน  เวลาพูดคุยจะสามารถยกข้อความหรือความคิดของประวิติศาสตร์หรือวรรณคดีต่าง ๆ ประกอบ  ส่วนมากจะเป็นของรัสเซียและแถบยุโรปกลาง


           


ผู้รอบรู้ทางศิลปะวรรณคดีที่สำคัญคนหนึ่งของเมืองไทยเมื่อมานั่งประจำสำนักทฤษฎี  ค้นคว้าหนังสือทฤษฎีว่าด้วยการปฏวัติก็ดูจะมีจุดอ่อนตรงอารมณ์ความรู้สึกยังไม่สัมพันธ์กับงานที่ตัวเองทำ  จึงมีความขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจการนำการชี้นำความคิดทางการเมือง  สหายไฟมักถูกสหายนำทางด้านทฤษฎีตำหนิวิจารณ์  ฉายาของเขาอย่างหนึ่งที่ชาวนักปฏิวัติบางคนมอบให้ก็คือ ศักดินาปฏิวัติ


           


เขาไม่ค่อยยี่หระมากนัก  การงานของเขาตอนหลังรู้สึกโดดเดี่ยว  จนต้องผันตัวเองให้อยู่สงบในกระท่อมหลังหนึ่งห่างไกลจากสำนัก  แต่อยู่ใกล้ชิดกับอุดม  สีสุวรรณ ในแถบเส้นชายแดนทางภาคเหนือของจังหวัดน่าน  ผมพบเขาได้เสมอบ่อย ๆ เท่าที่คิดถึงและอยากพบ  เป็นที่รู้จักกันระดับหนึ่งว่าเรามีสัมพันธ์กัน  และปัญหาหนัก ๆ  ของผม  เขาก็ทราบเกือบจนหมด  จึงกลายเป็นที่ปรับทุกข์ผูกมิตรระหว่างคนสองวัย 


           


เรื่องส่วนมากที่คุยกันก็คือเรื่องศิลปะ  ไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือทฤษฎีเท่าไหร่นัก  ตอนหลังต่างคนต่างมีภาระหน้าที่  เพราะจังหวัดน่านเริ่มศึกหนักรับการล้อมปราบครั้งใหญ่ของรัฐบาล  มันยืดเยื้อและลำบากจนถึงกาลอวสานของเขตฐานที่มั่นประมาณ ๓-๔ เขต


           


ผมไปอยู่แนวหน้า  เขาก็อยู่แถบชายแดนประสาคนเฒ่า  และที่สนามรบก่อนจะเกิดศึกใหญ่  ผมได้พบญาติพี่น้องซึ่งเป็นสายทางเขา  เพลง "คิดถึงบ้าน"  ถูกร้องให้ผมฟังโดยหมอตุ๋ย...สหายหญิงผิวคล้ำคนภาคกลางแถบราชบุรี  ซึ่งเป็นญาติของเขา...และบอกว่าเป็นเพลงที่นายผีแต่งขึ้นตั้งแต่พลัดบ้านพลัดเมืองไปอยู่ที่กรุงปักกิ่ง  เป็นเวลาเกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว


           


ผมเคยนำบทกวีของป้าลมส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือวรรณกรรมเพื่อชีวิต  ซึ่งตอนหลังย้ายตัวเองด้วยทางเท้าไปอยู่แถบผาจิ, ผาช้าง  เชียงราย  ผมต้องตั้งนามปากกาให้ป้าลมด้วย ก็เลยตั้งว่า "ฟองจันทร์  ทะเลหญ้า"  เมื่อตีพิมพ์  คนก็มาถามผมว่า นามปากกาใหม่ของนายผีหรือเปล่า  แต่ก็ผมก็ไม่ได้บอกใคร  เพราะป้าลมขอร้องไว้


           


ต่อมา  ได้อ่านบทกวีที่ตีพิมพ์ใน วรรณกรรมเพื่อชีวิต  อันมีโต้โผคือ เสถียร  จันทิมาธร  ใช้นามปากกาว่า  กินนร  เพลินไพร คารมคมคายจนต้องถามหา บทกวีมีลักษณะสดร้อนดังที่ผมขอลอกจากความทรงจำดังนี้     ( บทกวีบทนี้ใช้ชื่อว่า "คนล่าสัตว์" ถ้าผิดพลาดขออภัย)


           


อายุหกสิบห้า                   ไม่มีอาการ์จะสะพาย


            มีแลก็แต่คาร์ไบ               ถึงปืนไม่ร้ายแต่ว่าใจยังจำ


            จับปืนขี่เมี่ยง                    มองเมียงมือคลำ


            เลื่อนลูกขึ้นลำ                  ปัง..คะมำลงมา


            เลือดทะลักชักแหลก         แลกกับเลือด ตุลา...คม...คม


            ห้าขวบหย็อยอยู่หน้า          หกสิบห้าเหย่า ๆ ตามหลัง


            ทางภูดูยาวเหยียดหยัด       ต้องมีสมรรถพลัง


            สองขาพาไป                    จะปะอะไรก็ช่าง


            ปู่ล้มหลานยัง                   เสียงปืนยังก้องพนา


            พนม..ปัง..ปัง                   ก้องพนา


           


เมื่อพบกันในระยะสุดท้าย  เขาสัพยอกผมว่า  ถ้าแน่จริงก็ลองทำชิ้นนี้เป็นเพลงซิ...ผมมานั่งคิดแบบปลดปล่อยตามสบายประมาณ    อาทิตย์  ผมก็นำเพลงนี้ไปแสดงที่สำนักทฤษฎี  มีผู้เคร่งครัดผู้หนึ่งมาห้ามไม่ให้ผมร้องเพลงนี้ในเชิงเผยแพร่ในวงกว้าง  เพราะเขาวิเคราะห์ว่า  เขียนขึ้นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว  โดยเฉพาะตรงบรรทัดที่ว่า  ปู่ล้ม...หลานยัง  คล้าย ๆ กับว่าผู้เฒ่าล้มเหลวในทางด้านอำนาจทางการเมือง  แต่ก็สั่งลูกหลานอันเป็นสายญาติให้สู้ทางความคิดต่อไป


           


มันเป็นเรื่องที่ผมรู้สึกขำ  เพราะไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น  ผมก็เลยร้องต่อมาเรื่อย ๆ  ให้คนกลุ่มเล็ก ๆ ฟัง  แต่ก็ไม่คิดว่าจะนำออกมาเผยแพร่ทางอากาศแต่อย่างใด  เพราะถึงอย่างไรถ้ามันมีปัญหาขนาดนี้ก็ไม่จำเป็นต้องอัดบันทึกเสียง  อย่างไรก็ไม่ผ่านเซ็นเซ่อร์แน่ ๆ  ขนาดเพลงที่เขาเขียนและหลาย ๆ คนก็ชอบคือเพลง  "คิดถึงบ้าน" ยังถูกมองว่าเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่เป็นผลดีต่อการปฏิวัติ


           


ผมได้พบเขาไม่กี่ครั้งก็จริง  แต่ก็รู้สึกว่ามีเรื่องน่าสนใจกับตัวเขาพอสมควร  ตอนหลังมีเพียงจดหมายติดต่อ  เขาเขียนถึงผมประมาณ ๔-๕  ฉบับ  แต่ละฉบับยาวขนาด ๒-๓ หน้า  สะท้อนความห่วงใยและเป็นทัศนะเกี่ยวกับการทำงานศิลปะ  อ่านแล้วต้องหนีบเก็บไว้  ไม่เคยทิ้ง...เพราะรู้สึกว่ามันมีคุณค่าทางด้านวรรณกรรมอยู่ด้วย  เสียดายที่ทุกอย่างได้สูญหายไปกับสงคราม  ผมไม่เหลืออะไรกลับมาเลย  แม้แต่กีตาร์ก็ยังต้องทิ้ง


           


เห็นอยู่ประการหนึ่งในตัวเขา  นอกจากความเป็นผู้รอบรู้อะไรหลาย ๆ  ด้านแล้ว  เขายังเป็นคนหัวแข็งดื้อรั้น  จากปากคำที่เขาเล่าให้ฟังตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่ม..จนแก่ชรา  สิ่งใดที่สู้ก็คือสู้จนหัวชนฝา  มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาได้ถูกเชิญให้ออกไปร้องเพลงฉ่อยในงานฉลองสำนัก  เป็นภาพเดียวที่ได้เห็นเขาร้องและก็รำ  ผมจำได้ว่ามันคือเพลง...เจ้านกกาเหว่าไข่ไว้ให้แม่กาฟัก...เป็นภาพที่สะท้อนได้อีกภาพหนึ่ง  ยืนยันว่าเขาเป็นศิลปินที่ดีคนหนึ่ง


           


ผมยอมรับเป็นพิเศษ  และบอกทุกคนให้รู้จักในแง่นี้ด้วย  ยังมีเรื่องอีกมากมายเกี่ยวกับเขา  มันเป็นความทรงจำที่เหมือนฝัน  คล้าย ๆ ว่าจะไม่ใช่เรื่องจริง  ผมเชื่อแน่ว่าเขายังอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งที่ประเทศลาว  เขาอยู่ที่ไหนก็ได้  มีกองหนังสือ  มีกระดาษ  มีกาแฟและมีอาหารเก็บพอเหมาะสม  เวลาที่เขานั่งทำงานอยู่เงียบ ๆ  โดยเฉพาะงานที่รักและถนัดนั้นดูดีเป็นที่สุด