Skip to main content

เรืองธรรมจากท่าน ว.วชิรเมธี เรืองใจจากครูจูหลิง

คอลัมน์/ชุมชน


 


พระมหาวุฒิชัย  วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) เป็นพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่เผยแผ่ธรรมะ ด้วยภาษาและ ศิลปะที่คนสมัยใหม่รับได้ง่าย สำนักพิมพ์อัมรินทร์ได้จัดพิมพ์หนังสือธรรมะ ของท่านแล้ว ไม่น้อยกว่า ๑๐ เล่ม เรื่องที่โดดเด่นจนทำเป็นละครทีวีทางช่อง ๓ คือ ธรรมะติดปีก เรื่องอื่นๆได้แก่ ธรรมะ หลับสบาย ธรรมะดับร้อน ธรรมะบันดาล ธรรมะเกร็ดแก้ว  เป็นต้น ทำให้คนรุ่นใหม่และวัยรุ่น หันมาสนใจอ่านหนังสือธรรมะ ที่จัดทำรูปเล่มอย่างประณีตสวยงาม ดูสบายตา สบายใจ ชวนอ่าน


 


ตำบลบ้านครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย คือบ้านเกิดของท่าน ว.วชิรเมธี ท่านบวชเณรที่วัดครึ่งใต้ ตั้งแต่จบประถม ๖ แล้วบวชเป็นพระภิกษุจนถึงปัจจุบัน ท่านอายุ ๓๓ ปี ชีวิตของท่านจึงอยู่ในโลกแห่งธรรมะอันบริสุทธิ์ ไม่เกลือกกลั้วกับโลกิยะดั่งปุถุชนทั่วไป


 


ท่าน ว.วชิรเมธี เคยเป็นพระเลขานุการของท่านเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย คือ พระราช สิทธินายก ผู้เป็นพระสงฆ์สุปฏิปันโน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อยู่ ๖ ปี ก่อนที่ท่านจะมาอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรที่กรุงเทพ ฯ จนถึงปัจจุบัน ท่านศึกษาปริยัติธรรมจนได้  เปรียญ ๙ ประโยค เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ รวมทั้งยังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจาก มสธ.  และปริญญาโททางด้านพุทธศาสนา จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย  พร้อมกับได้ฝึกฝนการปฏิบัติควบคู่กับ ปริยัติตลอดมา


 


ดิฉันมีบุญที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมจากท่าน แม้เพียง ๔ – ๕ ครั้งที่พบ แต่ทุกครั้งก็ปิติ อิ่มเอิบ กับวัตรปฏิบัติที่เปี่ยมด้วยเมตตาและภูมิธรรมของท่าน


 


กุฏิของท่านที่วัดเบญจมบพิตร มีหนังสือธรรมะเรียงรายอยู่มากมาย แสดงถึงความมุ่งมั่น ใส่ใจในการศึกษาของท่าน น้องเริงฤทธิ์ ธิชาญ หลานชายผู้ที่ท่านฝึกฝน ให้เป็นเลขาประจำตัว ก็เป็นผู้มีสัมมาคารวะ อ่อนน้อม เอื้อเฟื้อต่อสานุศิษย์ ผู้มาสนทนาธรรมกับท่าน ว.วชิรเมธี อย่างดี


 


วันเสาร์ที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๙ เป็นวันดีวันหนึ่งในชีวิต ท่าน ว.วชิรเมธี น้องเริงฤทธิ์ และดิฉันได้ไปเยี่ยมครูจูหลิง พ่อสูนกับแม่คำมี ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ โดยนายแพทย์อนันต์และแพทย์หญิงรัชนี บุญโสภณ ได้กรุณาประสานงานให้คุณแก๊ส ศุภวรรณ ชนะสงคราม และคุณนพพร  ละออพิพัฒน์ นำรถมารับที่สนามบินหาดใหญ่


 


ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้กรุณาจัดเจ้าหน้าที่มาต้อนรับด้วยอัธยาศัยที่ดี คุณพ่อ คุณแม่ น้าอินถา กับน้าสะใภ้ คุณอา กับอาสะใภ้ และญาติของครูจูหลิง อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ท่าน ว. บอกว่ามาแทนท่านเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และคณะสงฆ์เชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นเกิด ของครูจูหลิง


 



 


หน้าห้อง ไอ ซี ยู มีพระบรมฉายาลักษณ์ กระเช้าดอกไม้พระราชทาน พุ่มไม้ที่ประกอบ ด้วยกระดาษรูปหัวใจหลากสี นกพับ พร้อมคำอวยพร รูปและกระเช้าดอกไม้ เรียงรายอยู่มากมาย แสดงถึงพลังใจของชาวไทยทุกสารทิศ นักบวชและศาสนิกชนของทุกศาสนาที่พากันมาทำพิธีกรรม ส่งความเมตตา พลังแห่งศรัทธามายังครูจูหลิง อย่างเป็นประวัติการณ์ คุณพ่อ คุณแม่ และญาติ ๆ ของครูจูหลิง ได้รับพรอันเป็นมงคล ต่อการสร้างขวัญกำลังใจ   ได้รับหนังสือ "พระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู" (ความกตัญญูของ พระเจ้าอยู่หัวต่อพระราชชนนี)  บทสวดมนต์โพชฌงค์ปริตร เพื่อบำบัดความเจ็บป่วย สู่ความมี สุขภาพใจ และกายที่ดี รวมทั้งได้รับการผูกข้อมือสู่ขวัญ จากท่าน ว. โดยทั่วหน้า แม่เฒ่าผู้มา เยี่ยมไข้ห้องข้างๆก็มาขอให้ท่าน ว. ผูกข้อมือด้วยความ ศรัทธา


 


โรงพยาบาล มอ. ได้ให้โอกาสพิเศษแด่ท่าน ว. และดิฉันเข้าไปเยี่ยมครูจูหลิงในห้อง ไอ ซี ยู ท่าน ว. ได้เจริญสมาธิ ภาวนา เพื่อส่งบุญแก่ครู และมอบด้ายสายสิญจน์ ให้ดิฉันผูกข้อมือ แก่ครูแทนท่าน


 


ใบหน้าของครูจูหลิงดูผุดผ่องสดใส ริมฝีปากแดงระเรื่อเหมือนคนนอนหลับ แต่มีเข็มกับ สายยาต่างๆระโยงระยาง แสดงถึงความพยายามทางการแพทย์อย่างเต็มที่ที่จะเยียวยา ให้ครู จูหลิงคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว


 


คุณวัลลภ   พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เป็น ตัวแทนรัฐมนตรี นำเช็คจำนวนสองแสนบาท มามอบให้คุณพ่อ คุณแม่ สมกับเป็นกระทรวง ที่ดูแลสวัสดิการสังคม


 


แม่คำมีกับพ่อสูนเล่าให้ดิฉันฟังว่าครูจูหลิงรักศิลปะ รักการเรียนมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่เป็น แค่ชาวนากับช่างทอผ้า พยายามหาเงินส่งเสียลูก แม้กระทั่งขายเกวียนไป ราคา ๗๐๐ บาท ซึ่งเมื่อครูจูหลิงรู้ภายหลังก็บ่นเสียดาย เพราะเป็นของเก่าที่หาไม่ได้อีกแล้ว


 


ครูจูหลิงสนใจธรรมะ รักต้นไม้ ดอกไม้ รักสัตว์ ชอบของเก่าที่เป็นวัฒนธรรมไทย แม่บอกว่า บ้านพักที่ครูอยู่ปลูกดอกกล้วยไม้และต้นไม้ต่างๆไว้เต็มไปหมด และเลี้ยงหมาไว้ หลายตัว งานทอผ้าของพ่อกับแม่ ครูจูหลิงก็สนใจถ่ายภาพเก็บไว้ แต่ยังไม่ได้ฝึกทอผ้า


 


เสร็จจากภารกิจโรงพยาบาลแล้ว คุณแก๊ส และคุณแทน ได้พาท่าน ว.ไปที่อำเภอจะนะ ดูวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เลี้ยงนกเขาชวา มาเป็นร้อย ๆ ปี มีรายได้จากการขายนกเขาให้ชาวมาเลย์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ปีละนับพันล้าน ซึ่งถือว่านกเขาเป็นนกศักดิ์สิทธิ์ สำหรับชาวอำเภอจะนะ นกเขาสร้างงานสร้างรายได้เป็นวงจรต่อเนื่อง การทำกรงนก ผ้าคลุมกรง เสาตั้งกรง อาหารนก ฯลฯ


 


การดูแลนก ฟังเสียงนก แยกคุณภาพเสียงนก นำมาซึ่งสมาธิ ความสันติสุขของผู้เลี้ยงนก ครอบครัว   และชุมชน   ท่าน ว.ชี้ว่า   นี่คือความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันตามหลักอิทัปปัจจยตา (สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน)


 


ท่าน ว.ได้ไปเห็นว่า โรงแยกแก๊สผุดขึ้นแล้ว ท่ามกลางการคัดค้านให้รัฐระงับโครงการ ตั้งแต่ ๕ ปีที่แล้วของวุฒิสภา นักวิชาการ ชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อทบทวนสัญญาที่ทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ ทบทวนว่าปริมาณก๊าซมหาศาล จะนำมาสู่การทำนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งสวนทางกับความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการวิถีชีวิตที่สงบสุข ด้วยการเลี้ยงนกเขา ทำประมงพื้นบ้าน ทำการเกษตรรายย่อย


 


เกษตรกรรายที่ท่าน ว.ได้ไปเยี่ยมรอบ ๆ  บ้านมีพันธุ์พืชที่หลากหลาย ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก พึ่งตนเองได้ ครอบครัวอบอุ่น มั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง มีพริก ถั่วพู มะม่วงหิมพานต์ มะม่วงพวง ฯลฯ


 


ที่ดินที่เจ้าของยกให้เป็นสมบัติของศาสนา ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในพื้นที่โรงแยกก๊าซ พื้นที่ ป่าพรุอันทรงคุณค่า เป็นที่หาอยู่หากิน เป็นแหล่งน้ำเข้านา เป็นที่เรียนรู้ธรรมชาติของเด็ก ๆ ถูกถมหลายแห่ง เพื่อทำถนนเข้าโรงแยกก๊าซ ป่าสันทรายชายหาด ซึ่งเป็นระบบนิเวศพิเศษ เชื่อมระหว่างทะเลกับแผ่นดิน มีจำนวน ๗๒๐ ไร่ มีเหลือแห่งเดียว จะถูกผนวกอยู่ในแนวท่อส่งก๊าซ พันธุ์ไม้หายาก เช่น เอื้องม้าวิ่งจะสูญไป


 


พันธุ์สัตว์น้ำซึ่งเป็นแหล่งอาชีพเลี้ยงครอบครัวของชาวประมงพื้นบ้าน จะถูกระบบน้ำ หล่อเย็นของโรงแยกก๊าซที่ดูดน้ำทะเลเข้ามาหล่อเย็น แล้วปล่อยออกไป ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเล ร้อนขึ้น ไข่ ตัวอ่อน และสัตว์น้ำจะถูกรบกวน ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม


 


ลานหอยเสียบที่ชาวบ้านใช้เป็นฐานในการประชุมปรึกษาหารือ ศึกษาตัวสัญญาที่รัฐบาลไทยทำกับมาเลเซีย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายกชวน ข้อมูลของโครงการโรงแยกก๊าซ ท่อก๊าซไทย - มาเลเซีย ข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต สังคม ลานหอยเสียบเปรียบเสมือน มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ท่าน ว.วชิรเมธี ได้มาสัมผัส ได้ฟังการประชุมของชาวบ้าน ที่จะวางแผนยุทธศาสตร์การต่อสู้ด้วยสันติวิธีต่อไป


 



 


เรืองแสงธรรมที่ท่าน ว.วชิรเมธีได้ให้แก่พี่น้องทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ ที่ลานหอยเสียบ คือ "ขอให้กำลังใจในการทำสิ่ง ถูกต้อง ดีงาม การต่อสู้กับอำนาจ ต้องสู้ด้วย ปัญญา ด้วยความรู้ เพราะมนุษย์ทุกคนมีปัญญาที่เท่าเทียมกันได้ พลังปัญญานำมาซึ่งพลังที่ยิ่งใหญ่ ที่จะทะลุทะลวง อำนาจได้


 


เครื่องมือสำคัญในการเรียกร้องความเป็นธรรม ก็คือ  ชาวบ้านต้องรู้กฎหมาย ถ้าไม่เท่า ทันกฎหมาย มันจะหมายกด เราจะรู้ว่าบางคนที่มากดหัวเรา ไม่มีอำนาจจริง เราถูกหลอกว่า เราไม่มีอำนาจ จึงต้องสร้างความรู้ สร้างปัญญาที่จะเอาชนะอำนาจได้


 


ชาวบ้านทุกคนจะต้องพูดเป็นเสียงเดียวกัน จึงจะมีพลัง ถ้าชาวบ้านชนะ ทุกคนใน ประเทศจะได้ประโยชน์ถ้าขึ้นต้น ถูกต้อง ตอนจบก็ถูกต้อง แต่ถ้าขึ้นต้นคด ตอนจบก็จะคดวันยังค่ำ"


 


วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๙ ท่าน ว.วชิรเมธี ได้เมตตามาแสดงธรรมก่อนพิธีเปิดงาน นิทรรศการผลงานทางศิลปะของครูจูหลิง ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ โดยเจ้าภาพได้ฉายภาพวีดีทัศน์ การลงพื้นที่ไปเยี่ยมครูจูหลิงของท่าน ว.ให้ผู้มาร่วมงานได้ชมด้วย


 


ท่านองคมนตรี ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้กรุณาเป็นประธานเปิดงาน ซึ่งศิลปิน ระดับชาติ คือคุณถวัลย์ ดัชนี คุณเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ คุณจักรพันธุ์ โปษยกฤต และศิลปินอีกหลายท่าน ได้กรุณามอบภาพเกียรติยศของท่านมาแสดง เพื่อเป็นพลังให้ครูจูหลิงด้วย


 


น้าหงา สุรชัย จันทิมาธร ได้เดินดูภาพของครูจูหลิงกับดิฉัน น้าหงาบอกว่างานจิตรกรรม ฝาผนังของครูจู หลิงในอุโบสถวัดคงคาวดี (วัดปากบางภูมิ) จังหวัดสงขลา โดดเด่น งดงาม และมีพลังมาก


 


       


 


อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินผู้มีจิตใจเพื่อแผ่นดิน ได้เขียนในสูจิบัตรงาน นิทรรศการศิลปะ "เรืองใจจากครูจูหลิง" (ตั้งชื่องานโดยกวีซีไรท์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) ดังนี้


 


 "ครูศิลปินผู้ทรนง"


ครูจูหลิงน้องทำดีที่สุดแล้ว ชีวิตน้องมีค่ามาก น้องคือตัวแทนของครูศิลปะผู้ทรนง ผู้หวังพัฒนาเด็กโดยไม่เลือกสถานที่ แม้ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย น้องก็ยังเต็มใจ เพื่ออุดม การณ์ อันบริสุทธิ์


ชาวเชียงรายทุกคนต่างชื่นชมน้อง ศิลปินเชียงราย ครูศิลป์เชียงรายยกย่องในความ กล้าหาญอันยิ่งใหญ่ของน้อง


 


ทุกคนฝากกำลังใจมากับอ้ายในวันเปิดงานแสดงผลงานของน้องอย่างสมเกียรติในครั้งนี้ แม้ว่าน้องจะไม่สามารถมาร่วมงานได้


 


อ้ายหวังว่าหากน้องรู้ว่าน้องได้มีโอกาสแสดงผลงานร่วมกับศิลปินใหญ่ๆของชาติ และในสถานที่อันทรงเกียรติแห่งนี้ น้องคงจะภูมิใจมาก


 


นี่คือการร่วมให้กำลังใจแก่น้องจากทุกๆคน ทุกๆฝ่ายในแวดวงศิลปะ ที่หวังว่าน้องจูหลิง จะกลับมาเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ กลับมาเขียนรูปที่น้องจูหลิงรักอีกครั้ง


 


บทกวีที่พี่เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ เขียนให้ครูจูหลิงอย่างจับใจ คือ


                        เปลวเทียนที่ปลายทวน                   ยังทานลมอันโถมแรง


            มือใดจักสำแดง                                        เข้าปัดทวนเพื่อป้องเทียน


                        เรืองเรืองแม้รางราง                       ยังวอดว้างอยู่วนเวียน


            เห็นใจเมื่อจวนเจียน                                   จะขาดใจเสียจริงจริง


                        หยุดร้ายที่รุนแรง                          ที่ทารุณครูจูหลิง


            ป้องเทียนเถิดอย่าทิ้ง                                 ถึงริบหรี่แต่เรืองไร


                        แสงเทียนจงส่องทาง                     ให้กระจ่างทุกดวงใจ


            ดับอธรรมที่อำไท                                      จงดับเถื่อนอย่าดับเทียน


 


ท่าน ว.วชิรเมธี ได้เมตตาให้เรืองแสงธรรมว่า


"กรณีการทำร้ายครูจูหลิง ได้จุดประกาย ให้คนไทยทั้งชาติ เห็นคุณค่าของครู ของศิลปะ และของความเสียสละอุทิศตนเพื่อเด็ก ความ กตัญญูต่อแผ่นดิน ต่อพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงทศพิธราชธรรม อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่สื่อมวลชน นำเสนอข่าวของครูจูหลิงทุกวันอย่างต่อเนื่อง และทุกคนมีส่วนร่วมทุกวิถีทาง ที่จะภาวนาให้เกิด ปาฏิหารย์เพื่อชีวิตของครูจูหลิง


 


การตั้งมูลนิธิครูจูหลิง เพื่อสืบทอดเจตนารมย์อันยิ่งใหญ่ของครูจูหลิงตัวเล็กๆ การสร้าง ภาพยนตร์ชีวประวัติของเธอ เพื่อเผยแพร่ต่อชาวไทยและชาวโลก การสร้างสารคดี สื่อประเภท ต่างๆ ที่จะทำให้ครูจูหลิงเป็นเรืองใจของเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ในแผ่นดิน ได้ใช้ชีวิตอย่างมี คุณค่า สมกับที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ในบวรพุทธศาสนา  เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรช่วยกันคิด  เพื่อให้ครูจูหลิง   เป็นเรืองใจของมนุษยชาติชั่วกาลนาน"