Skip to main content

ไทยๆ ลาวๆ แล้วเราก็ไม่เข้าใจกัน (เสียที)

คอลัมน์/ชุมชน


 


วันนี้ คงไม่สายเกินไป ที่จะเขียนถึง "หมากเตะโลกตะลึง" ที่ทำเอาสองชาติที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมสายต้องกินแหนงแคลงใจอีกครั้ง


 


ความจริง ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่กระแส "ดาวินชี่โค้ด" มาแรงแซงโค้งภาพยนตร์เรื่องอื่นเนื่องจากมีเนื้อหาส่วนหนึ่งไป "พาดพิง" ความเชื่อทางศาสนาคริสต์จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ผมก็แอบคาดการณ์ไว้แล้วว่า สักประเดี๋ยวจะต้องมีภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่จะเข้าข่ายโดนแบน


 


เพราะช่วงต้นเดือนนั้นเอง ขณะที่การจราจรเมืองฟ้าอมรติดขัดตามปรกติ สายตาผมก็ออกจากรถไปเจอเข้ากับผ้าใบที่ติดหน้าร้านค้าริมทางอย่างจัง


 


บนผ้าใบเหล่านั้นมีประโยคสั้นๆ ได้ใจความว่า "18 พฤษภาคม ลาวกำลังจะไปบอลโลก"


 


ความคิดแวบแรกที่เข้ามาในหัวคือ นี่มุขตลกคาเฟ่หรือไม่  และถ้านี่คือภาพยนตร์ ผมอดคิดไปถึงญาติที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไม่ได้ว่าพวกเขาจะไม่ตลกกับมุขนี้แน่นอน ยิ่งเมื่อทราบเนื้อหาภาพยนตร์ว่า "หมากเตะโลกตะลึง" นั้นไปประกอบด้วยฉากตลกไม่ออกหลายรายการก็ยิ่งรู้สึกเป็นกังวล เช่น ฉากที่นักเตะลาวไปนั่งในตู้แช่เย็นเพื่อปรับสภาพร่างกายให้เข้ากับอากาศเมืองหนาว หรือฉากที่พวกเขาต้องย้อมผมและขนรักแร้เป็นสีทองให้ดูเป็น "อินเตอร์เนชั่นแนล" …มีแม้กระทั่งฉากที่เอา "สัตว์สี่เท้า" มาวิ่งไล่นักเตะลาวเพื่อเพิ่มสปีดฝีเท้า


 


แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะในเวลาต่อมา เริ่มมีคนออกมาทักท้วงหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะสื่อไทยที่เป็นห่วงความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน จนในที่สุดก็เกิดการประท้วงจากทางการลาวจนพี่ไทยต้องระงับการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อรักษาสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศเอาไว้


 


อย่างที่ทราบกันว่า เรื่องดังกล่าวยุติลงด้วยดี ไม่ถึงกับเกิดเหตุการณ์รุนแรงขั้นเผาสถานทูตเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา


 


ยุติลงไปพร้อมกับบทเรียนราคาแพง 60 ล้านบาทของผู้สร้าง "หมากเตะโลกตะลึง"  


 


แต่จะมีสักกี่คนมองเห็นว่า นี่คืออีกหนึ่งการกระทำ ที่ทิ้งรอยแผลถลอกเอาไว้บนความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวอีกครั้งหนึ่ง


 


เพิ่มจากริ้วรอยเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว…


 


1


 


มกราคม 2549 , เวียงจันทน์


 


ค่ำวันปลายเดือน ผมนอนเอกเขนกอยู่ในโรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งในเวียงจำปาหลวง กดรีโมตเปิดทีวีด้วยความอยากรู้ว่าคนลาวดูอะไรบ้างช่วงหัวค่ำ แต่เมื่อภาพขึ้นมาบนหน้าจอ


 


ความรู้สึกของผมเวลานั้นบอกว่าเราไม่ได้อยู่ "ไกลบ้าน" เลย


 


สรยุทธ สุทัศนะจินดา กับกนก  รัตน์วงศ์สกุล ยังออกมาคุยข่าวทางช่อง 9 ให้ดูได้แบบภาพและเสียงชัดแจ๋วเหมือนกับนั่งอยู่ในกรุงเทพมหานครยังไงยังงั้น


 


เท่านี้ ก็รู้แล้วว่า คนลาวดูทีวีไทยได้ทุกช่องโดยเฉพาะช่องหลักๆ แบบไม่ต้องติดจานดาวเทียมให้ยุ่งยากและดูเหมือนทีวีไทยมีเนื้อหาถูกใจคนลาวจนได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะละคร  ต่อมาลองดูทีวีลาวบ้าง ผมก็พบว่าสถานีโทรทัศน์ลาวทั้งสองช่องที่พยายามหาจนเจอนั้น ส่วนมากมักมีข่าวประเภทเปิดสะพาน เปิดตึก ขณะที่อีกช่องก็มีการนำภาพยนตร์จีนมาเปิดวนไปวนมา  ไม่ต้องเดาผลตอบรับ ว่าคนลาวชอบเนื้อหารายการของสถานีทีวีฝั่งไหนมากกว่า


 


ดึกวันนั้น ข้อสันนิษฐานก็ได้รับการยืนยัน เพราะเมื่อผมออกย่ำราตรีดูบรรยากาศยามดึกของเวียงจันทน์ ก็พบว่าช่อง 3 และ 7  ของไทยถือเป็นช่องประจำของคนลาว


 


นาทีนั้น…ผมจึงไม่รู้สึกว่าดูทีวีเวียงจันทน์ ดูทีวีที่หนองคาย หรือดูทีวีที่กรุงเทพฯ ต่างกัน


 


แน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้ อิทธิพลทีวีไทยที่ส่งสัญญาณข้ามแม่น้ำโขงถึงเวียงจันทน์และหลายเมืองของลาวย่อมส่งผลมหาศาลต่อผู้คนที่นั่น โดยเฉพาะมิติทางวัฒนธรรม


 


หลายคนคงเคยได้ยินข่าวว่าทางการลาวขอความร่วมมือสถานบันเทิงในประเทศให้เปิดเพลงต่างชาติไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ คงไม่ต้องบอกกระมัง ว่าเพลงต่างชาติหมายถึงเพลงชาติไหน


 


แง่หนึ่ง นี่แสดงถึงกลไกเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมของลาวที่คิดคำนึงถึงคนรุ่นใหม่ว่าอาจไหลไปตามกระแสวัฒนธรรมต่างชาติจนลืมรากเหง้าตนเอง


 


แง่หนึ่ง สิ่งนี้บอกเราว่า อิทธิพลจากสื่อสารมวลชนไทยมีมากขนาดไหนในประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันเพียงแม่น้ำโขงขวางกั้น


 


ทีวีไทยนำเสนออะไร คนลาวก็ย่อมได้รับรู้ ได้ดู ดุจเดียวกับคนไทยที่อยู่ในกรุงเทพฯ


 


เมื่อเราเกิดพลาดพลั้งดูถูกเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะมาจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือจงใจก็ตาม การคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่มีทางกระจายข้ามพรมแดน จึงเป็นการคาดเดาที่ผิดถนัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิตอลที่โลกของเราเป็นเหมือนหมู่บ้านเล็กๆ ที่ข่าวสารสามารถส่งไปได้ทุกหนทุกแห่ง


 


กรณีขัดแย้งกับลาวไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เกิดมาหลายครั้งแล้ว นับตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนที่มีข่าวว่าดาราไทยคนหนึ่งดูถูกแม่หญิงลาว กรณีภาพยนตร์เรื่องท้าวสุรนารีที่ต้องชะงักการสร้างไปเพราะเกิดความขัดแย้งในกรณีเรื่องของเจ้าอนุวงศ์จนถึงกรณี "นิตยสาร Spicy"  และล่าสุด "หมากเตะโลกตะลึง"


 


เห็นได้ชัด ว่าวงการบันเทิงไทยก็ไม่เคยนำบทเรียนเหล่านี้มาเรียนรู้แล้วถกเถียงกันอย่างจริงจังเสียที


 


หลายคนอาจตั้งคำถามต่อกรณีล่าสุดว่า เพื่อนบ้านของเราเป็นอะไร ทำไมเรื่องแค่นี้จึงจริงจังขนาดนี้ เพราะในแง่คนไทยแล้ว นี่มันก็แค่มุขตลกเบาสมองที่คุ้นเคยกันมานาน  แต่เชื่อหรือไม่ ความรู้สึกเช่นนี้แหละที่ก่อปัญหาระหว่างเรากับเพื่อนบ้านโดยรอบเสมอมา…


 


คนไทยอาจไม่รู้ตัวว่าความรู้สึกดูถูกเพื่อนบ้านเกิดขึ้นอยู่ตลอดในชีวิตประจำวัน แน่นอนมันฝังลึกในสมองของพวกเราตั้งแต่เด็ก เชื่อว่าหลายคนเคยล้อเพื่อนเวลาทำอะไรเชยๆ ไม่ทันยุคว่า "ลาว" หรือ "เสี่ยว" ในวัยเด็ก บางคนโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังใช้คำนี้ล้อเพื่อนโดยไม่ได้รู้สึกอะไรมากมาย


 


ผมเองยอมรับว่า เป็นคนหนึ่งที่เคยล้อเพื่อนเช่นนั้น….


 


แต่คำล้อนี้ สามารถสืบย้อนไปถึงสิ่งที่อาจจะเป็น "ต้นตอ" ปัญหาซึ่งซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์ฉบับชาตินิยมที่สอนอยู่ในโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศขณะนี้เลยทีเดียว


 


2


 


ประวัติศาสตร์ไทยฉบับที่คุณครูในปัจจุบันใช้พร่ำสอนเด็กๆ บอกว่า ลาวเคยรวมอยู่ในพระราชอาณาเขตไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา และเป็นเช่นนั้นตลอดมาจนกระทั่งฝรั่งเศสแย่งชิงไปเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 (รู้จักกันดีในกรณี ร..112 ที่ฝรั่งเศสเอาเรือรบปิดปากอ่าวไทยและบีบบังคับให้สยามยกดินแดนที่เป็นประเทศลาว และส่วนหนึ่งของเขมรให้)


 


เป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่รับรู้และเชื่อถืออย่างไร้ข้อกังขามาจนถึงทุกวันนี้ ผ่านเครื่องมือกล่อมเกลาชั้นดีคือแบบเรียนชั้นมัธยม ที่บางเล่มถึงกับวาดภาพพระราชอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นไว้อย่างชัดเจนว่า อาณาเขตประเทศไทยนั้นมีลาวรวมอยู่ด้วยก่อนฝรั่งจะมาแย่งไป


 


คนไทยทราบว่าวีรกรรมท้าวสุรนารีคราว "กบฏเจ้าอนุวงศ์" ยิ่งใหญ่เพียงไรที่สามารถปราบกบฎลาวได้  แต่ประวัติศาสตร์ลาวเขาเขียนถึงกรณีเหล่านี้ว่าอย่างไรเล่า ผมลองคัดกรณีพระเจ้าอนุวงศ์และสถานการณ์เกี่ยวเนื่องในประวัติศาสตร์ฉบับของลาวที่มหาสิลา วีระวงส์ เรียบเรียงไว้มาเสนอดังนี้


 


"แผ่นดินลาวที่แตกแยกกันออกเป็น 3 เจ้า หรือ 3 อาณาจักรนั้น ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของไทยพร้อมกันในปี พ..2322 (ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช-ผู้เขียน) ด้วยความแตกแยกไม่สามัคคีกัน ด้วยความอิจฉาริษยา บังเบียดเคียดแค้นจองเวรกัน ดังกล่าวมาแล้ว แต่นั้นมาอาณาจักรทั้ง 3 ต้องเสียส่วยดอกไม้เงินดอกไม้ทองให้แก่ไทยสยาม โดยที่เจ้าแผ่นดินไทยสยามยังคงให้มีกษัตริย์ปกครองแผ่นดินของลาวอยู่…


 


"สมเด็จพระเจ้าศิริบุญสาร กษัตริย์เอกราชแห่งนครเวียงจันทน์องค์สุดท้ายได้เสียเมืองให้แก่ประเทศไทย..พระองค์มีราชโอรสและธิดาที่ปรากฏนามอยู่ 5 องค์คือ เจ้านันทเสน 1 เจ้าอินทวงศ์ 1 เจ้าอนุวงศ์ 1 เจ้าพรหมวงศ์ 1 และนางแก้วยอดฟ้า 1 ตอนที่กองทัพไทยเข้าตีเอาเวียงจันทน์ได้นั้น พระเจ้าศิริบุญสารได้พาเอาเจ้าอินทวงศ์และเจ้าพรหมวงศ์ลงเรือหลบหนีไปอยู่เมืองคำเกิด แม่ทัพไทยได้คุมเอาเจ้านันทเสนและเจ้าอนุวงศ์กับนางแก้วยอดฟ้า พร้อมด้วยพระแก้ว พระบาง ลงไปกรุงธนบุรี"


 


แสดงว่าคนลาว หรืออย่างน้อยก็ชนชั้นปกครองลาวสมัยนั้น มิได้คิดว่าตนเองขึ้นอยู่กับไทยหรือเป็นส่วนหนึ่งของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาดังที่เราเข้าใจกัน แต่เพิ่งมา "เสียเอกราช" ในยุคกรุงธนบุรี มหาสิลายังได้เปิดมุมมองใหม่ให้นักเรียนประวัติศาสตร์อย่างผมทราบอีกด้วยว่า


 


"ปี พ..2322 เจ้านันทเสน (กษัตริย์ลาวที่ไทยส่งขึ้นไปครองเวียงจันทน์) ได้ฟ้องต่อไทยว่าเจ้าอนุรทธะ เจ้านครหลวงพระบางไปสมคบกับพม่าและนครเชียงรุ่งเป็นกบฏต่อไทย จึงขออนุญาตยกทัพไปตีนครหลวงพระบาง พระเจ้าแผ่นดินไทยก็อนุญาต เพราะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เห็นพวกลาวทำลายกันเอง…ในปีเดียวกันนั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยเกณฑ์เอาราษฎรหัวเมืองลาวหลายหมื่นคนลงไปขุดคลองในกรุงเทพฯ พวกราษฎรที่ถูกเกณฑ์ไปนั้นได้รับการทารุณข่มเหงแสนสาหัส และได้ล้มตายลงด้วยอหิวาตกโรคเกือบหมด.."


 


เรื่องไทยข่มเหงลาวนั้นมีปรากฎเป็นระยะในหน้าประวัติศาสตร์ของลาวช่วงนี้ไปจนถึงรัชกาลพระเจ้าอนุวงศ์ที่ประวัติศาสตร์ลาวบันทึกไว้ว่า "เป็นกษัตริย์ผู้สามารถและเข้มแข็งในการสงคราม พระองค์เคยยกกองทัพไปช่วยไทยรบพม่าแต่ครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นอุปราชอยู่สองครั้ง"


 


นอกจากนี้ยังกล่าวว่าทรงจัดแจงบ้านเมืองให้รุ่งเรือง สร้างวัดวาอาราม จนถึงปี ๒๓๕๒ "เจ้ากบฎ" ในสายตาคนไทยพระองค์นี้ก็ทำความดีความชอบจนรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรง "สั่งให้เจ้าพระยาจักรีเขียนจดหมายฝากความรักแพงมาหา"


 


แล้วทำไมเมื่อรักแพงกัน เจ้าอนุวงศ์จึงยกทัพเข้าโจมตีไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 จนเกิดวีรกรรมท้าวสุรนารีขึ้น ประวัติศาสตร์ลาวระบุสาเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ต่างจากแบบเรียนไทยดังนี้ "การที่พระองค์ (เจ้าอนุวงศ์) ทำการกู้อิสรภาพคราวนั้น พระองค์คิดแต่เพียงจะกู้อิสรภาพฟื้นฟูประเทศให้กลับคืนเป็นเอกราชเท่านั้น มิได้คิดจะรบเอาประเทศไทย หรือรบรากับประเทศไทย เพื่อแก้แค้นแทนพระราชบิดา ดังนั้นพระองค์จึงสั่งให้เจ้าราชวงศ์ยกกองทัพลงไปกวาดต้อนเอาครอบครัวคนลาวที่ไทยกวาดไปไว้เมืองสระบุรีคืนมาเวียงจันทน์ ส่วนพระองค์ก็ลงไปกวาดเอาครอบครัวเมืองโคราช"


 


ในที่สุด กองทัพไทยจากกรุงเทพฯ ก็ได้ยกติดตามทัพเจ้าอนุวงศ์ไปจนจับตัวได้ ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยระบุว่า เจ้าอนุวงศ์ถูกนำมาแห่ประจานรอบเมืองและใส่กรงนำไปตั้งไว้กลางสนามหลวงจนเสียชีวิต


 


ครานี้เองที่พฤติการณ์กองทัพไทยไม่ต่างอะไรกับพม่าที่ทำกับอยุธยาในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่ประวัติศาสตร์ลาวฉบับนี้ให้ภาพไว้อย่างชัดแจ้งว่ากองทัพไทยทำการ


 


"รื้อทำลายกำแพงเมือง ตัดต้นไม้ลงให้หมดไม่ผิดกับการทำไร่ แล้วเอาไฟเผา พระพุทธรูปหลายร้อยหลายพันองค์ถูกไฟเผาจนละลายกองระเนนระนาดอยู่ตามวัดต่างๆ วัดในนครเวียงจันทน์เหลือเพียงวัดเดียวที่ไม่ถูกไฟไหม้ คือวัดศรีสะเกษ การที่พระเจ้าแผ่นดินไทยสั่งให้ทำลายเวียงจันทน์ให้สิ้นซาก ก็เพื่อมิให้เวียงจันทน์กลับคืนเป็นเมืองได้อีก แล้วให้ล้มเลิกอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์เสีย มิให้มีเมืองและเจ้าครองเมืองอีกต่อไป ราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์จึงสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ นครเวียงจันทน์ที่อุดมสมบูรณ์สวยงามจึงเป็นเมืองร้าง…"


 


นี่คือชุดความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่คนลาวรับรู้ ในขณะที่คนไทยก็รับรู้ประวัติศาสตร์อีกชุดหนึ่งที่ต่างกับคนลาวอย่างสิ้นเชิง


 


นี่ยังไม่นับประวัติศาสตร์ช่วงสงครามเย็นที่ไทยให้อเมริกาใช้ฐานทัพในภาคอีสานส่งเครื่องบินรบไปทิ้งระเบิดใส่เพื่อนบ้านในอินโดจีน และในขณะที่เพื่อนบ้านย่อยยับจากสงครามนั้นเอง ไทยก็ถือโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจก้าวล้ำนำหน้าไปอีกหลายสิบปี จนสงครามในประเทศเพื่อนบ้านสงบ เราหันกลับไปมองก็พบว่าเขา "ล้าหลัง" เหลือเกินเมื่อเอามาตรฐานของเราไปวัด โดยลืมมองเรื่องอื่นๆ


 


เหล่านี้คงพอจะเป็นคำตอบได้บ้างว่า ทำไมประเด็นการสร้างภาพยนตร์ของไทยจึงส่งผลกระทบกับเพื่อนบ้านอย่างลาวเหลือเกินในโลกยุคดิจิตอลที่ข่าวสารข้อมูลไหลไปถึงกันได้ง่ายดาย


 


เป็นคำตอบได้ว่า ทำไมคนลาวบางคนถึงรู้สึกว่าไทยข่มเหงเขาตลอดมา ทำไมคนไทยบางคนถึงรู้สึกว่าเราเหนือกว่าลาวอยู่ตลอดเวลา


 


3


 


แล้วเราจะทำอย่างไรกัน…


 


ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญอุษาคเนย์เคยเสนอทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้นานแล้วว่าควรใช้ที่ประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของอาเซียนปรับปรุงหลักสูตรประวัติศาสตร์ระหว่างกันเสียใหม่ ไม่ใช่รักชาติ คลั่งชาติตนเองแล้วหยามหมิ่นชาติอื่น ยิ่งเพื่อนบ้านรั้วติดกันยิ่งต้องเคารพกัน


 


ธีรภาพ โลหิตกุล เคยให้ข้อมูลผมว่า ฝรั่งเศสกับเยอรมนีซึ่งมีปัญหาทางประวัติศาสตร์คล้ายๆ กันนี้ได้ทำการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนประวัติศาสตร์ร่วมกันมานานแล้ว จนสามารถทำให้คนรุ่นใหม่ของเขาไม่มีความรู้สึกบาดหมางต่อกัน


 


ซึ่งนั่นหมายถึง "สันติภาพ" ยั่งยืนในอนาคต  ที่ทั้งสองประเทศต้องอยู่ร่วมกันในฐานะรัฐประชาชาติสมัยใหม่นั่นเอง


 


เอกสารอ้างอิง


-          สิลา วีระวงศ์ เรียบเรียง สมหมาย เปรมจิตต์ แปลเป็นภาษาไทย , ประวัติศาสตร์ลาว , ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน), พิมพ์ครั้งที่ 2 .

ธีรภาพ โลหิตกุล. คลื่นอุษาคเนย์ (กรุงเทพฯ สถาบันวิถีทรรศน์) 2547.