Skip to main content

มาตรการเลือกปฏิบัติ ตอน...ตามล่าเด็กแทงบอล

คอลัมน์/ชุมชน

ห้าทุ่มวันที่ ๙ มิถุนายนนี้  หลายคนคงตั้งหน้าตั้งตารอดูการแข่งขันฟุตบอลโลก ๒๐๐๖ ในรอบแรกของกลุ่มเอ ระหว่างทีมเยอรมันและคอสตาริกาอย่างใจจดใจจ่อ ทางฟรีทีวีทุกช่อง


 


ก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งวัน นสพ.มติชน (ฉบับวันที่ ๘ มิถุนายน) ได้นำเสนองานวิจัยโครงการชีวิตกับความเสี่ยงต่อการพนันบอลในเยาวชนของ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ หัวหน้าทีมประสานงานโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด หรือ ไชลด์ วอทช์ (Child Watch) ความว่า


 


"๑๕.๒๖ เปอร์เซ็นต์ของเด็กมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาเล่นพนันบอล และถ้าไม่มีเงินจ่าย ๕๐ เปอร์เซ็นต์ พบว่าถูกทำร้ายร่างกาย ๒๐ เปอร์เซ็นต์ถูกรีดไถเงินและขู่กรรโชกทรัพย์ และประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ต้องเข้าไปพัวพันกับการค้าประเวณี ทั้งโดนบังคับและจำใจเอาตัวเข้าแลกเพื่อจ่ายหนี้พนันบอล"


 


ข้อเสนอในการแก้ปัญหาของทีมวิจัยชุดนี้ คือ การส่งหนังสือถึงสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อขอความร่วมมือในการรณรงค์ หรือสอดส่องดูแลการนำเสนอที่มีผลต่อ "เด็ก" โดยตรง โดยอาจจะหันไปนำเสนอเพียงโปรแกรมการแข่ง หรืออะไรก็ตามที่ไม่สะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสริมการดูบอลไปสู่การแทงบอล" ?


 


ในขณะเดียวกัน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ได้เปิดศูนย์ป้องกันการปราบปรามการลักลอบเล่นพนันทายผลฟุตบอลโลก ๒๐๐๖ ขึ้น และมีมาตรการควบคุมพื้นที่สีแดง คือ สถานศึกษา ตามที่ พล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กำชับให้ดูแลการเล่นพนันในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเป็น "พิเศษ" ?


 


จากการทำงานของนักวิจัยและผู้พิทักษ์กฎหมาย สะท้อนให้เห็นว่า มุมมองในการทำงานกับเด็กไทย ทั้งเรื่อง "เพศ" หรือเรื่อง "การดูบอล" มักจะเริ่มต้นครือๆ กัน นั่นคือ เด็กจะถูกทำให้เป็น "ตัวปัญหา" แล้วตามมาด้วยมาตรการแก้ไข คือ การ "ควบคุมเด็ก" แทนการสร้างกระบวนการคิดให้เด็กเท่าทันและสามารถเอาตัวรอดจากปัญหาที่เขาต้องเผชิญได้ ไม่ว่าจะเป็นการไม่แทงบอล หรือถูกตามทวงหนี้ด้วยวิธีการต่างๆ ข้างต้น…


 


ไหนๆ ในวันที่เก้ามิถุนายนวันเดียวกันนี้ อยากบอกกับผู้ใหญ่ใจดีที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชีวิตเยาวชน ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติทั้งหลายว่า หากเราทุกคนต่างสวมเสื้อเหลืองร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกันอย่างพร้อมเพรียงแล้ว...


 


และถ้าเราทุกคนรักพ่อ รักในหลวง หวังว่าเราจะจำคำสอนของพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องของการ "ไม่เลือกปฏิบัติ" หรือ (double standard) ได้ ใจความสำคัญที่นำมาประยุกต์ใช้ในทุกเรื่องราวของชีวิตคือ การกระทำหรือพฤติกรรมใดๆ ที่ไม่ถูกต้องและส่งผลเสียหายต่อตนเองและผู้อื่นนั้น ใครก็ไม่ควรทำ ไม่ว่า "เด็ก" หรือ "ผู้ใหญ่" "นักการเมือง" หรือ "ประชาชน"


 


ดังนั้น มาตรการที่จะเข้มงวดในการแก้ไขเรื่องการเล่นพนันบอล จึงมิใช่แค่การตามล่าจับผิดเด็กแทงบอล โดยไม่เอาจริงกับการจับกุมเจ้ามือรายใหญ่แบบแบบถอนรากถอนโคน..?