Skip to main content

ปัญหา 2+2 =? ในทัศนะของนักคณิตศาสตร์ วิศวกร และนักกฎหมาย

คอลัมน์/ชุมชน


ช่วงนี้สังคมไทยเรากำลังวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตีความกฎหมายของผู้ทำหน้าที่ด้านกฎหมายกันมาก จะเรียกว่ามากที่สุดเท่าที่ผมเคยรับทราบมาก็ว่าได้ ทั้งนี้ก็เพราะประเทศเรากำลังประสบวิกฤติทางการเมืองอย่างรุนแรงจากระบอบทักิณ ดังที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว



เรื่องที่ผมจะนำมาเล่าต่อไปนี้ ผมได้อ่านมาจากคำนำในหนังสือวิชาการด้านสมุทรศาสตร์เมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว ผู้แต่งเป็นรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ผมจำชื่อไม่ได้ทั้งผู้แต่งและชื่อหนังสือ แต่จำเรื่องที่ผู้แต่งเล่าได้อย่างแม่นจำ และบอกด้วยว่าเรื่องที่เล่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเสียด้วย เรื่องราวเป็นดังนี้ครับ



ในช่วงพักดื่มกาแฟของบ่ายวันหนึ่ง เพื่อนร่วมงานของรองศาสตราจารย์ท่านนี้ได้ถกเถียงกันในเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในสังคมบัณฑิต คือ

"สองบวกสองเท่ากับเท่าไร? "



คนหนึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ อีกคนเป็นวิศวกร


นักคณิตศาสตร์ซึ่งร่ำเรียนมาทางทฤษฎีที่เน้นตำราเป็นสำคัญตอบทันทีว่า

"เท่ากับสี่ซิ ไม่เห็นน่าถามเลย"


ผู้ร่วมสนทนาซึ่งเป็นวิศวกรได้แย้งว่า

"ในชีวิตการทำงานจริงของผมแล้ว ผมไม่เคยเจอว่าสองบวกสองเท่ากับสี่ เช่น เมื่อผมตั้งใจจะตัดเหล็ก 2 ท่อน โดยให้แต่ละท่อนยาวเท่ากันคือท่อนละ 2 เมตร ปรากฏว่า เมื่อตัดเสร็จแต่ละท่อนก็ยาวไม่เท่ากัน และความยาวก็ไม่ใช่ 2 เมตร เมื่อนำมาต่อกันก็ไม่เคยยาวเท่ากับสี่เมตรเลย"


ในตอนท้ายวิศวกรผู้คร่ำหวอดอยู่กับการทำงานจริงก็ฟันธงว่า

"สองบวกสองไม่เท่ากับสี่ มีแต่ประมาณสองบวกประมาณสองจะ ได้ประมาณสี่" (ท่านผู้อ่านที่ยังเถียงอยู่ในใจ ลองนำกระดาษมาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสัก ๒ รูปดูซิครับ แต่ต้องตัดรูปละครั้ง แล้วนำมาเทียบกันดู ว่ามันเท่ากันจริงไหม โดยใช้มือลูบดูก็ได้)


เมื่อนักวิชาการทั้งสองต่างก็ไม่มีใครยอมใคร ต่างก็อ้างหลักวิชาของตนเอง แต่อาจจะแถมเรื่องศักดิ์ศรีเข้าไปด้วยหรือไม่ ผมมิอาจทราบได้



ในขณะที่บรรยากาศเริ่มตึงเครียดขึ้น บังเอิญนักวิชาการอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นนักกฎหมายก็เข้ามาร่วมวงพอดี

คล้ายๆกับ "เจ้านกแสงตะวันบินผ่านมา" ในเพลงกระต่ายกับเต่าของวงคาราวาน นั่นแหละครับ


นักวิชาการสองท่านแรกก็โยนคำถามให้กับนักกฎหมายทันที จะเพื่อค้นหาความเห็นที่ถูกต้องหรือเพื่อหาพวกก็ไม่ทราบได้ นักกฎหมายผู้นี้ตอบด้วยท่าทีนอบน้อมว่า

"ท่านทั้งสองครับ ท่านอยากจะให้มันเป็นเท่าไหร่ มันก็เป็นเท่านั้นแหละครับ"


เรื่องราวที่ผมอ่านมาทั้งหมดมีแค่นี้ครับ ต่อไปนี้เป็นความเห็นของผมซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ แต่ก็เป็นนักคณิตศาสตร์ประยุกต์ ประยุกต์ไปทางวิศวกรรมศาสตร์เล็กน้อย ดังนั้นผมคิดว่าผมเข้าใจดีว่าทำไมทัศนะของนักวิชาการสองท่านจึงแตกต่างกัน



แต่ที่ผมไม่เข้าใจ คือทัศนะของนักกฎหมายครับ ผมเองไม่มีพื้นฐานด้านนี้เอาเลย ถ้าผมกล่าวอะไรผิดพลาดไป ต้องขออภัยและขอผู้รู้กรุณาช่วยชี้แนะด้วยครับ



ในประเด็นการยุบสภาแล้วต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน ๖๐ วัน แต่ถ้าสภาอยู่ครบวาระจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน ๔๕ วัน ขณะนี้นักกฎหมายระดับบิ๊กในบ้านเราก็ยังคงเห็นต่างกันอยู่



ผมเองก็ยังงงๆอยู่ ถ้าเกิดฝ่ายที่รับผิดชอบจัดการเลือกตั้งภายใน ๑๕ วัน ตามตรรกศาสตร์ในตัวหนังสือแล้ว

(ซึ่งนักคณิตศาสตร์อย่างผมถนัดอยู่นะ) ผมก็ว่าทำได้นะ


ในประเด็นให้ผู้สมัครเวียนเทียนสมัครได้หลายรอบ ทางกกต

.ก็บอกว่า "กฎหมายไม่ได้ห้าม"

ด้วยความอยากรู้ ผมก็ไปเปิดกฎหมายเลือกตั้งดู ก็พบว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามจริงๆ



ผมก็มานั่งคิดว่า ถ้าอย่างนั้นในการเลือกตั้งคราวหน้า คนเดียวสมัครสองเขตได้ไหม ถ้าได้ทั้งสองเขตค่อยมาสละสิทธิ์เสียสักเขต เพราะกฎหมายก็ไม่ได้ห้าม กฎหมายห้ามแต่ว่า ในเขตเดียว พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครสองคนไม่ได้เท่านั้น



เอาแล้วซิ ชักจะยุ่งกันใหญ่ถ้ามีใครหัวหมออย่างที่ผมคิด



อย่างที่เล่ามาแล้ว ตอนแรกผมไม่เข้าใจ

"นักกฎหมายเจ้านกแสงตะวัน" เลยที่ว่า "ท่านทั้งสองครับ ท่านอยากจะให้มันเป็นเท่าไหร่ มันก็เป็นเท่านั้นแหละครับ"


มาวันนี้ผมเริ่มเข้าใจแล้วครับการตีความกฎหมายจะตีตามตัวหนังสืออย่างเดียวไม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย ใช่ไหมครับ



ขอบคุณ กกต

. ชุดนี้ ที่ทำให้นักคณิตศาสตร์(ผู้ซื่อบื้อ)อย่างผม ได้เห็นความจริงชัดเจนมากขึ้น