Skip to main content

รักคนละกรอบกับเรื่อง Cultural Sensitivity

คอลัมน์/ชุมชน

วันเสาร์ที่ 10  มิถุนายน 2549 ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปงานครบรอบ 3 ปี สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย[1]  ที่ดำเนินการเกี่ยวกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ พูดง่ายคือคนที่ไม่ใช่รักต่างเพศนั่นเอง มีอาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์เป็นนายกสมาคม สมาคมนี้ดำเนินการมาครบสามปี จึงได้มีการจัดงานครบรอบการทำงานดังกล่าว แต่เป็นงานที่ไม่ใช่รื่นเริงหากเป็นงานที่มีความเป็นวิชาการเข้ามา ทั้งนี้เป็นไปได้ก็เพราะได้รับความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ อีกหลายแห่งเช่น คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาค ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์การแฟมิลี่ เฮลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย (FHI) และ กองทุนสนับสนุนและปกป้องสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ


 


ผู้เขียนเป็นผู้ดำเนินการกลุ่มย่อยเกี่ยวกับสุขภาวะของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งกรอบที่ผู้จัดให้มานั้นกว้างสุดๆ แบบที่เรียกว่าพูดได้เป็นอาทิตย์ๆ แล้วมาสรุป บังเอิญที่ดร.วีระสิทธ์ สิทธิไตร ผู้ดำเนินการในท้ายสุดของการนำเสนอมาร่วมการถกเถียงในกลุ่มด้วย เลยถือเป็นโชคดีของผู้เขียนที่ไม่ต้องหลุดโลกมากนัก เพราะในที่สุดเราเจาะลงที่ปัญหาหลักๆ ในชายรักชายเรื่องว่าจะเข้าถึงและได้รับการบริการทางสาธารณสุขอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาในเรื่องโรคทางเพศสัมพันธ์  มีผู้เข้าร่วมกลุ่มที่หลากหลายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ผู้เขียนได้เรียนรู้ไปด้วย เสียดายแค่ว่าเวลาน้อยไปนิดเท่านั้น ท้ายสุดผู้ที่นำเสนอหัวข้อนี้ต่อที่ประชุมคือ คุณลาวัลย์  สาโรวาท จากองค์การหมอไร้พรมแดน ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีมาก อธิบายได้เป็นฉากๆ  ส่วนกลุ่มอื่นๆ ก็ทำหน้าที่ได้ดีไม่แพ้กัน


 


จากนั้น อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ รักษาการวุฒิสมาชิก กรุงเทพมหานคร และคนสำคัญของ "ประชาไท" ก็ได้มาพูดถึงเรื่อง "ความรักบนฐานของความหลากหลายทางเพศ" ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่ได้จดรายละเอียดไว้ เพราะมีคนมาบอกว่าเดี๋ยวจะมีบันทึกพวกนี้เก็บเป็นฐานข้อมูล วันนี้ผู้เขียนก็ได้บทพูดนั้นมาจากอีเมล์ของอาจารย์จอนเอง และเชื่อว่า "ประชาไท" คงจะนำมาลงในไม่ช้านี้ (นับจากวันทำต้นฉบับนี้)


 


ต่อมา ก็มีการอภิปรายในหัวข้อใหญ่ "ความหลากหลายทางเพศ คือ ความหลากหลายทางความรู้"  มีวิทยากรคือ  ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, ดร.สันต์ สุวัจฉราภินันท์, คุณมารุต สาโรวาท และ ดำเนินรายการโดย ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล  นับว่าเป็นไฮไลท์ของงานช่วงบ่ายก่อนจบ ส่วนหนึ่งของการอภิปรายโดย ดร. ชลิดาภรณ์  ได้มีการนำเสนอแล้วที่ "ประชาไท"[2] ส่วนท่านอื่นๆ นั้นขอไม่กล่าวถึง แต่ที่ชอบมากคือที่ท่านผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า "สื่อนี่แหละเป็นตัวการสำคัญในการสร้างวัฒนธรรม" เรื่องนี้ในบรรดานักวิชาการทางการสื่อสารนั้นรู้กันดี แต่แปลกที่ว่าคนทำสื่อเองไม่อยากพูดถึงแล้วก็ไม่สำเหนียก ยิ่งพวกละเม็งละครนี่ตัวดี พวกอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ให้ฟังนี่ก็หนัก พูดอะไรแต่ละอันไม่ค่อยคิดและตอกย้ำกรอบเดิมๆ  พวกที่เข้าใจหน่อยก็ไม่มีปัญหา พวกที่ไม่เข้าใจนี่พูดแต่ละคำออกมาเกี่ยวกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ น่าจะใช้คำว่า "สำราก" มากกว่า  ถ้าเป็นไปได้น่าจะมีเวิร์คชอปสอนคนทำสื่อ มากกว่าแจกรางวัลคนทำสื่อที่ทำเรื่องแบบนี้


 


ภาพรวมของงานนั้น ผู้เขียนอยากสรุปว่าเป็นเรื่องของการจัดกรอบความคิดของคนเสียใหม่ ที่จะนำไปสู่เรื่องการปฏิบัติจริง ถ้ามองแบบจิตวิทยาสังคมแล้วคือ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสามระดับ นั่นคือ 1. ระบบแนวคิดและความเชื่อ (beliefs and worldviews)  2. ระดับพฤติกรรม (behavior)  3. ระดับอารมณ์ (affection) ซึ่งก็คงต้องทำกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันนั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไร ทำได้เท่าไรก็เท่านั้น ในสายตาของพวกนักปฏิบัติหลายท่านที่ต้องการผลเลิศอาจทำได้ยาก ตัวอย่างเช่น การรณรงค์เรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอดส์นั้น เคยทำได้ดีในช่วงหนึ่ง แต่ขาดการต่อเนื่องและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของประชากร จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่สูงขึ้นกลับมาอีก ในปัจจุบัน นับว่าเป็นบทเรียนที่ดี แต่เรื่องนี้เห็นแล้วก็อดปากคันไม่ได้ว่าเหมือนเรื่อง "ไฟไหม้ฟาง" ที่พอหมดวาระและได้รางวัลแล้วก็จบกันไป ทำไม่ต่อเนื่องอย่างจริงจังและดูแคลนปัญหาว่าจบแค่นี้ มันจึงเกิดขึ้น นักปฏิบัติหลายคนเป็นแบบนี้และชอบมองอะไรเป็นรูปธรรมมากไป นักปฏิบัติหลายคนที่พอสำเร็จหน่อยเตือนไม่ได้ อีโก้หนักๆ เป็นแถว (ไว้มีโอกาส จะเขียนเรื่องทัศนคติแบบ "can do" ที่นักปฏิบัติหลายคนชอบมีชอบใช้ ซึ่งทำลายสังคมมากกว่าสร้างสังคม มันเป็นอย่างไร)


 


ผู้เขียนให้ความสนใจที่สุดในระดับเรื่องระบบแนวคิดและความเชื่อ ซึ่งอันนี้เป็นต้นเรื่อง หากเราไม่สามารถเริ่มที่จุดนี้ได้ อีกสองระดับจะไม่เกิด หรือเกิดก็ไม่เกิดแบบถาวร ไม่ยั่งยืน  เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือชนกลุ่มน้อย/บุคคลชายขอบด้านเพศนี้ คือเรื่อง Cultural sensitivity ถอดความเป็นไทยๆ ว่า ความรู้เท่าทันในความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละคน และสามารถปรับตนเองให้ปฏิบัติได้ถูกต้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน 


 


วัฒนธรรมในที่นี้ไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรม "ชาติ" ที่เรามองแคบๆ แต่รวมถึงเรื่องของเพศสภาพ เพศวิถี อายุ ทุพพลภาพ ศาสนาและความเชื่อ ชาติพันธุ์ และอื่นๆ ซึ่งจุดนี้แหละที่ ดร.ชลิดาภรณ์ ได้พยายามจะกล่าวไว้เพราะการที่สังคมกระแสหลักพยายามจะทำให้ทุกคนเหมือน หรือ social conformity ถือเป็นเรื่องตรงข้ามกับ ความหลากหลาย Diversity และความเป็นพหุวัฒนธรรม Multiculturalism หรือ พหุสังคม Pluralism เพราะคนที่อยู่ในกระแสหลักจะสนุกกับการได้เปรียบและขี้เกียจมองอะไรที่ต่างออกไป เพราะถ้ายอมปรับแล้วตนเองจะต้องสูญเสีย "สิทธิพิเศษ" เช่น ลัทธิชายเป็นใหญ่ย่อมต้องกดความเป็นหญิง มิเช่นนั้น ความเชื่อชายเป็นใหญ่ก็จะหมดไป ชายต้องไปทำงานบ้าน ได้ค่าแรงต่ำ ซึ่งอันนี้ชายทั่วไปทนไม่ได้ เพราะตนเองโดนตีกรอบมาแต่อ้อนแต่ออกว่ากูนี่เก่งกว่าดีกว่า ดังนั้น ชายในกระแสหลักจึงทนไม่ได้เมื่อได้ยินคำว่า "สิทธิสตรี"


 


ฉันใดก็ฉันนั้น ความเป็นรักต่างเพศที่ได้ "สิทธิพิเศษ" มาตลอดจึงทนไม่ได้ถ้ามีคนตั้งคำถามความชอบธรรมเรื่องสิทธิพิเศษดังกล่าว ที่จะมีชีวิตคู่แบบนั้นบ้าง (ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องมี แต่ถ้าจะมีก็ไม่แปลก) เลยทะเลาะกันเพราะชาวรักต่างเพศบอกว่า "ไม่ได้หรอก ทั้งที่ก็เป็นมนุษย์เหมือนกันนี่แหละ แต่เธอไม่เหมือนฉัน ต้องเป็นแบบฉัน เธอจึงมีสิทธิ"  อันนี้ ดร.ชลิดาภรณ์ พูดง่ายๆ ว่า "เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง" แต่กรรรมมันยิ่งซ้ำซ้อนชัดเจนตรงที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ดันไปเชื่อว่ารักของตนนั้นผิด เพราะไปหยิบเอากรอบของความรักที่กำหนดโดยรักต่างเพศมาใช้  ทั้งๆ ที่ไอ้รูปแบบตรงนั้นเองก็มีปัญหาแม้ในกลุ่มรักต่างเพศเองก็เถอะ เลยยิ่งซับซ้อนและซ้ำซ้อน ดังนั้น ไอ้เรื่องรักรันทด แล้วตามด้วยความตายจึงเกิดขึ้นบ่อยๆ ให้คนอดสูมากขึ้นไป ดังนั้น เมื่ออีพวกอ่านหนังสือพิมพ์บนทีวีมาแต้มแต่งต่ออีก คนฟังที่เป็น "ฟาย" มาฟังคนอ่านที่เป็น "ฟาย"  เหตุการณ์ก็ยิ่งเละตุ้มเป๊ะ


 


ดังนั้น เรื่องของ "ความรักบนฐานของความหลากหลายทางเพศ" ที่อาจารย์จอนได้พูดไว้และจะถูกนำเสนอนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ความรักของคนหลากหลายทางเพศเท่านั้น  แต่เป็นมิติใหม่ของการมองความสัมพันธ์ที่ชิดใกล้ Intimate Relationship ซึ่งมีความหมายมากกว่าความรักแบบโรแมนติก เรื่องนี้น่าเป็นเรื่องที่กระทรวงวัฒนธรรมฯ และกระทรวงศึกษาฯ นำไปพิจารณาและมาสอนให้เข้าใจ เพื่อให้เห็นถึงความหลากหลายที่แท้จริง


 


อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของรัฐ แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยเองที่มีหน้าที่เป็น change agent ในสังคมเองก็เถอะ ไม่มีวันยอมรับได้ในเรื่องแบบนี้ การเป็นคนที่เปิดเผยในเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีของบุคลากรถือเป็นเรื่องต้องห้าม และใช้เป็นอาวุธประหัตประหารกันเองในองค์กร คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะทำให้คนตรงนี้คิดได้ในระดับความคิดและความเชื่อ มิเช่นนั้นแล้ว เรื่องเอดส์ที่กลับมาใหม่คงไม่เกิดขึ้น นักปฏิบัติพวกที่คิดเอาแค่รูปธรรมและมีคติว่า "แคนดู" ตลอดก็ควรหันมาคิดให้ชัดเจนกว่านี้ด้วย  


 


นี่คือ "แบ๊คทูเดอะฟิวเจอร์ ภาคสอง" เพราะเมืองนอกเค้าผ่านเรื่องนี้ไปตั้งแต่ยุคซิกส์ตี้หรือกว่า 40 ปีมาแล้ว ในเรื่องของคำว่า Cultural sensitivity ผู้เขียนจึงถือเป็นเรื่องมาเล่าแบบ "ขำขำ" ได้อีกเรื่องหนึ่ง