Skip to main content

นโยบาย 30 บาทล้มเหลว!!! จริงหรือลวง

คอลัมน์/ชุมชน

นโยบาย 30 บาทเป็นจำเลยอีกแล้ว เมื่อมีอาจารย์ด้านการบริหารจัดการท่านหนึ่งออกมาฟันธงว่า[1] ดีในหลักการ แต่ดำเนินการเร็วไปหน่อยเลยทำให้พวกหมอ พวกพยาบาล ช็อค ช็อค และช็อค  ปรับตัวไม่ทัน


 


จากนโยบายนี้ทำให้คนไข้ล้นโรงพยาบาล จำนวนหมอในชนบทก็มีน้อย ไม่พอกับจำนวนประชากรแล้วยังพากันทยอยลาออกเรื่อยๆ ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ก็กลายเป็นแบบธุรกิจไม่ใช่ระบบพึ่งพากันอีกต่อไป ทำให้หมอไม่มีแรงจูงใจจะทำงานต่อในระบบราชการ งานหนัก เงินน้อย ไม่ก้าวหน้า จมปลักดักดานในชนบท ดังนั้น การมีนโยบายเมกกะโปรเจคในการผลิตหมอ เพื่ออุดรูรั่วไม่ให้ไหลออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนนั้นไม่สามารถจะทำได้ ผลิตมาเท่าไรก็ไหลออกหมด เพราะวัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนไป การรักษาพยาบาลเปลี่ยนเป็นการให้บริการและรับบริการ เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางการเงิน อุดมการณ์ของอาชีพจึงลดน้อยถอยลง หมอจึงเลือกทำงานในโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ซึ่งมีรายได้มากกว่าหลายเท่าตัว และมุ่งหวังว่าจะยิ่งมีรายได้มากขึ้น มีความชำนาญเพิ่มขึ้น จากการให้บริการคนต่างชาติเพราะนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (เมดิคอลฮับ) ของรัฐบาลไทย


 


ดิฉันเห็นด้วยกับการวิเคราะห์สถานการณ์  และเห็นด้วยที่รัฐจะเร่งผลิตหมอให้มากขึ้นเพื่ออุดรูรั่ว ด้วยการให้หมอที่ผลิตขึ้นนี้ต้องไปทำงานในชนบทเพื่อใช้ทุนเป็นเวลา 6 ปี การให้หมอต้องทำงานในชนบทนานมากขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่หลังจาก 6 ปีไปก็คงมีการลาออก โยกย้าย ไปเรียนต่อ หรืออื่นๆ  รวมทั้งหมอจบใหม่หลายคนก็พร้อมจะจ่ายคืนเงินทุนให้รัฐเป็นเงินก้อนโตได้ แม้จะบอกว่าให้ใช้คืนกี่เท่าก็ตาม เพราะมีปัญญาหามาให้ได้ อาจจะครอบครัวมีเงิน หรือโรงพยาบาลเอกชนให้ยืมก่อนทำงานผ่อนใช้ทีหลัง หรือกู้เงิน หรืออื่นๆ เพราะความเป็นอาชีพหมอก็มีเครดิตมากอยู่แล้ว


 


โครงการเมกกะโปรเจคผลิตหมอ ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ แต่กลยุทธ์ต้องสอดรับกับความเป็นจริงของชนบทไทยด้วย ขอย้ำสำหรับชนบทไทย การคัดกรองและผลิตหมอสำหรับชนบทไทยต้องให้คนในชนบทมีส่วนร่วมในการคัดกรองด้วย ให้ อบต.เป็นกลไกในการคัดกรองผู้เรียน การติดตามสนับสนุนทั้งทุน ทั้งกำลังใจ และการสืบทอดอุดมการณ์ของอาชีพหมอ ในนามของพ่อแม่พี่น้องในชนบทที่รอคอยหมอใหม่ที่เป็นลูกหลานของพวกเขา หมอใหม่ที่พร้อมจะสืบทอดอุดมการณ์แบบพออยู่ พอกิน หรืออีกชื่อหนึ่งว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเป็นปรัชญาที่เข้าใจง่ายแต่ทำยากในกระแสระบบทุนนิยม การบริโภคนิยม ความสะดวกสบาย ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม 


 


อุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้นคือมักไม่มีเด็กจากชนบทที่เรียนเก่งพอจะสอบเรียนหมอได้ ไม่สามารถสู้ลูกคนมีฐานะในเมืองที่มีโอกาสเรียนกับครูเก่งๆ โรงเรียนดีๆ ดังๆ ได้เรียนพิเศษ กวดวิชา ติวแล้วติวอีก นักเรียนหมอจากชนบท ลูกชาวนา ที่สอบเอ็นทรานส์ได้คณะแพทย์จึงมีน้อยมาก เมื่อออกมาทำงานแล้วยิ่งเหลือน้อยไปอีก ดังนั้นจะทำอย่างไร


 


เสนอว่าต้องทำสองวิธีประกอบกันคือ 1) หลักสูตรแพทย์ต้องผ่อนปรนการคัดเลือก ไม่ใช่เอาแต่คนเรียนเก่งอย่างเดียวแต่ต้องมีวิสัยทัศน์ต่ออุดมการณ์ของอาชีพและการอุดช่องโหว่ในชนบท ต้องส่งหมอออกไปฝึกงานในชนบทตั้งแต่ปีแรกๆ ของการเรียน ให้เกิดความคุ้นเคยและเข้าใจสภาพปัญหาของโรคภัยในชนบท 


 


2) ให้ชุมชนเป็นคนคัดกรองผู้จะเข้าเรียนหมอ เสริมความตั้งใจ แรงสนับสนุนจากครอบครัวและชุมชน โดยต้องให้ทุนเรียนตั้งแต่มัธยมต้น มัธยมปลาย ให้มีโอกาสได้ฝึกฝนความรู้ความสามารถเพิ่มเติมในช่วงปิดเทอม การทดแทนค่าใช้จ่ายที่ครอบครัวสูญเสียไปเมื่อขาดแรงงานช่วยเหลือของเด็กคนนี้ เช่น การต้องไปช่วยหารายได้ให้ครอบครัวในช่วงปิดเทอม หรือช่วงวันหยุด  นอกจากนี้ต้องร่วมกันหลาย อบต. ในการพัฒนากลุ่มผู้รับทุนเหล่านี้ให้มีจิตสำนึกของความพออยู่ พอกิน และพอใจในชีวิต การมีหลักธรรมในการดำรงชีวิตอย่างธรรมชาติในแต่ละวัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้บวชภาคฤดูร้อนอย่างเดียว แต่ในรูปแบบการทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคมต่างๆ ก็เป็นกระบวนการขัดเกลาตัวตนของคนได้เช่นกัน


 


นโยบาย 30 บาทที่ใช้ในการหาเสียง กลายมาเป็นนโยบายระดับชาติเรื่องหลักประกันสุขภาพ แม้จะมีภาวะช็อคของคนทำงาน แต่ก็ส่งผลให้ไพร่ฟ้าประชาชนที่ทุกข์ยากได้รับบริการสาธารณสุขกันอย่างทั่วหน้า ไม่ต้องเป็นภาระของใครมาแบกรับอีกต่อไป เพราะนี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกรัฐในโลกนี้มีพันธกิจต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับประชาชนพลเมืองของตน ในโอกาสฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของในหลวง ที่เน้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทุกคนต้องร่วมพิสูจน์ว่าทำได้จริง ไม่ว่าจะเป็นหมอที่ทำงานหนักขึ้นเพราะคนไข้มากขึ้น หรือหมอที่ลาออกไปอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนแล้ว หรือโรงเรียนแพทย์ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเด็กรุ่นใหม่ที่จะได้เข้าในโครงการเมกกะโปรเจคในการผลิตหมอในอนาคต


 


การวางแผนนโยบายรัฐด้านการเป็นเมดิคอลฮับนั้น เป็นแผนเพื่อจะให้พรรคพวกที่ทำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้ประโยชน์เท่านั้น แม้ว่านโยบายนี้จะสู้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ได้หรือไม่ยังไม่รู้เลย แต่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้แน่ๆ ถามว่าอย่างประเทศไทยจำเป็นต้องให้บริการสาธารณสุขเป็นธุรกิจเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ หรือควรเป็นธุรกิจแบบท้องถิ่น แบบพอเพียง เอากำไรแบบพอดีๆ อะไรคือพอเพียง  ต้องช่วยกันหาคำตอบต่อไป






[1] การบริหารจัดการรัฐ รัฐกิจ : "แพทย์ไทย" กับรูรั่วใหญ่ทางกลยุทธ์ ,ธงชัย สันติวงษ์  คณะพาณิชยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


http://www.bangkokbiznews.com/2006/06/13/w017_111292.php?news_id=111292