Skip to main content

ตัวแทนผู้หญิง

คอลัมน์/ชุมชน

คิดออกกันไว้หรือยังว่า วันที่ 6 กุมภาฯ นี้จะเข้าคูหาไปกากบาทให้เบอร์ไหนดี ใครกันหนอจะทำหน้าที่แทนเราจริง ๆ ใครกันนะที่เข้าไปแล้วจะพิทักษ์สิทธิ์ให้กับเรา


ในยุคสมัยที่เราดูเหมือนมีความลงตัวในเรื่องของระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยในทางทฤษฎี แต่เรากลับอยู่ในภาวะที่ไม่มีตัวเลือกอยู่ดี อยู่ในช่วงที่กลัวไทยรักไทย ไม่วางใจประชาธิปัตย์ หันมาทางเลือกใหม่กลับกลายเป็นมหาชนคนหน้าเดิมที่มองไม่เห็นความดีที่จะมีเหนือกว่าสองพรรคแรก เหลียวอีกทีมีชาติไทย โอ๊ย นโยบายก็ไม่ไปถึงไหน บุคลากรรึก็ดูจะไม่มีวี่แววว่าจะมีไม้เด็ดที่จะทำงานให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

คราวนี้ก็ลองคิดตามประสาผู้หญิงว่า ในสังคมประชาธิปไตยของเรานี้ แม้ในรัฐธรรมนูญก็มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หญิงชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ในเชิงรูปธรรมแล้ว ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงอยู่มากมาย ทั้งในเชิงจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมและกฎหมาย เอาง่าย ๆ แค่ 2 เรื่อง เช่น ประเด็นข่มขืน และประเด็นมีชู้ ที่กฎหมายยังคงให้ผู้ชายข่มขืนภรรยาตนเองได้ หรือแค่เหตุแห่งการฟ้องหย่าที่ระบุว่าสามียกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายฟ้องหย่าได้ ซึ่งเป็นกฎหมายไม่ได้เอื้อความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นระหว่างหญิงชาย ก็ไม่แน่ใจนักว่าใครจะช่วยผลักดันความเท่าเทียมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้


เห็นดังนี้แล้ว เราอาจจะคิดกันง่าย ๆ ว่าถ้าเช่นนั้น ตัวแทนของผู้หญิงจึงควรจะเป็นผู้หญิงด้วยกันใช่หรือไม่ คำตอบคือ ไม่แน่เสมอไป ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ (patriarchy) มายาวนานอย่างสังคมไทยนั้น ผู้หญิงเองก็ถูกครอบงำ (dominate) ทางความคิดโดยผู้ชายไปอย่างมากมายผ่านทางจารีตและวัฒนธรรมมายาวนานเช่นกัน นานจนหลาย ๆ ครั้งก็เชื่อว่าสิ่งที่ถูกบอกมาแต่เดิมนั้นเป็นความถูกต้องก็อาจไม่สามารถที่จะเข้าใจในประเด็นการเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมระหว่างหญิงชายได


ดังตัวอย่าง ที่เรามี สว. หญิงท่านหนึ่งที่มักออกมาต่อต้านหรือตั้งชมรมยุทธการปราบเมียน้อย ตามล่าสามีนอกใจ หรือรณรงค์ให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว แต่ในขณะที่มี สว. ชายคนหนึ่งถูกกล่าวหาเรื่องไปมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี แต่ สว. คนนี้กลับยกมือลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้ไม่ดำเนินคดีกับ สว. คนนี้ในระหว่างที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่ แทนที่จะเห็นว่านี่เป็นเรื่องเสื่อมเสียและอัปยศที่สุดที่ผู้ชายที่ควรจะเป็นแบบอย่างกับสังคมเพราะมีตำแหน่งอันทรงเกียรติค้ำคออยู่ นี่ก็ชี้ให้เห็นว่าความเป็นผู้หญิง หรือผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นหญิง ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจประเด็นบทบาทหญิงชายและสนับสนุนประเด็นความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย และถ้าเราได้คนแบบนี้ไปมากอาจจะยิ่งทำให้ผู้หญิงในระดับล่างถูกกดขี่ลงไปอีกก็ได้


หลายคนอาจเฝ้ามองถึงสัดส่วนของผู้แทนราษฎร ระหว่างหญิงกับชายนั้นแตกต่างกันขนาดไหน ว่าเป็นตัวชี้วัดโอกาสของหญิง เชื่อเถอะว่า ตัวเลขสัดส่วนไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่เราจะบอกว่าประเทศไทยได้ให้ความเท่าเทียมระหว่างหญิงชายแล้ว แต่อาจจะบอกได้เพียงว่าอย่างน้อยพรรคนั้นหรือพรรคนี้เริ่มเห็นความสำคัญของผู้หญิงขึ้นบ้างแล้ว อาจมีภาพพจน์ดีในทางทฤษฎี ในทางปฏิบัตินั้นค่อยว่ากันอีกที


ดังนั้น จึงใคร่ขอเสนอแนวทางส่วนตัว (อันนี้คนอื่นอาจไม่เห็นด้วยตามนี้ก็ได้) ในการเลือกตั้งคราวนี้ว่า หากเราคิดจะพิจารณาการเลือกตัวแทนของผู้หญิงเข้าไปนั่งเป็นปากเป็นเสียงแทนเราในสภาแล้ว เราอาจจะมีข้อพิจารณาบางข้อประกอบกันดังนี้


แรกทีเดียวเราอาจอยากได้ผู้หญิงเป็นผู้แทนของเรา เพราะอย่างไรเราก็ยังเชื่อว่าผู้หญิงจะเข้าใจผู้หญิงด้วยกัน ก็ให้ดูไปเลยที่ตัวบุคคลที่เป็นผู้หญิงที่ทางพรรคได้เลือกส่งเข้าไปสมัคร ว่าเป็นคนที่จะมีสิทธิ์มีเสียงจริงหรือไม่ พรรคให้โอกาสได้ทำงานจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่ไม้ประดับให้ภาพลักษณะของพรรคดูดี และตามด้วยนโยบายเรื่องผู้หญิงของพรรคนั้น


ประการต่อมา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ส่งผู้หญิงในเขตนั้น ๆ แต่ให้ดูตัวนโยบายพรรคว่ามีพรรคไหนบ้างที่กำหนดนโยบายที่เอื้อให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย แต่เท่าที่ค้น ๆ ดูนโยบายของแต่ละพรรคก็ดูเหมือนเขียนถึงประเด็นผู้หญิงไว้อย่างกว้างมาก ๆ และบางพรรคไม่มีเลยด้วยซ้ำ


ประการสุดท้าย ให้ดูตัวผู้บริหารพรรคและสมาชิกพรรคที่แม้จะเป็นชายที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นกลุ่มที่มีหัวก้าวหน้าและมีบทบาทในพรรคมากพอที่จะช่วยผลักดันประเด็นผู้หญิงได้ รวมทั้งดูประวัติที่เป็นส่วนตัวในการปฏิบัติต่อสตรีของผู้สมัครเหล่านั้นว่ามีแนวโน้มที่จะยอมรับความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย


เมื่อนำคุณสมบัติ 2-3 ประการนี้ประกอบกัน หรือแค่มีเพียงคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ก็อาจตัดสินใจเลือกคน ๆ นั้น หรือพรรค ๆ นั้นให้มาเป็นตัวแทนของผู้หญิงได้แล้ว และหมั่นติดตามผลงานของคนเหล่านั้น


ทว่า ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องงมเข็มกันในมหาสมุทรเสียมากกว่า เพราะบางพรรคดูเหมือนนโยบายดีแต่พฤติกรรมดั้งเดิมของผู้บริหารพรรคกลับไม่น่าเชื่อถือ บางพรรคมีตัวผู้หญิงที่ดูฉลาดปราดเปรียวและพร้อมที่จะทำงานเพื่อผู้หญิงจริง ๆ แต่ก็ได้แค่เป็นตัวประกอบเพราะอยู่ในพรรคที่ผู้ชายหัวโบราณคุมอำนาจ ส่วนบางพรรคหัวหน้าพรรคอาจดูเหมือนเข้าใจในประเด็นความเท่าเทียม แต่ก็ไปกว้านเอาใครต่อใครก็ไม่รู้อย่างจับฉ่ายมากเข้าร่วมพรรคที่สำคัญก็เป็นหน้าเดิม ๆ ที่มีประวัติทั้งทางการเมืองและในส่วนตัวแล้วก็ไม่น่าจะเอื้อให้ช่วยผลักดันประเด็นผู้หญิงได้


กล่าวโดยสรุป แค่คิดจะให้ใครไปบริหารประเทศก็ยากพอแรง ครั้นคิดจะหาคนที่จะเป็นตัวแทนให้กับผู้หญิงก็ยิ่งยากเข้าไปอีก น่ากลุ้มใจใช่ไหม จะอย่างไรก็แล้วแต่ ผู้ที่มีสิทธิ์ทุกคนก็ต้องออกไปใช้สิทธิกันให้ถ้วนหน้า รักษาสิทธิ์ของเราไว้ รักใครชอบใครก็กากบาทให้เขาไป ถ้าไม่พอใจใครเลยก็กาตรงช่องที่ไม่เลือกใครก็แล้วกัน ผู้สมัครเหล่านั้นจะได้รู้ว่า เราไม่รักคุณแล้ว เลิกสมัครกันเสียที ให้น้ำดี ๆ หน้าใหม่ ๆ เข้ามาบ้าง