Skip to main content

ใครว่าหนูโง่?

"ตายแล้ว นี่เธอเอาสมองมาจากบ้านด้วยรึเปล่า เลขง่ายๆ แค่นี้เธอยังทำผิดอีกนะ ขนาดเด็กอนุบาลยังทำได้เล้ย  เฮ้อ! เธอนี่โง่จริงๆ"


 


น้ำเสียงแดกดันของครูประจำชั้น ป.3 วิชาคณิตศาสตร์ยังคงดังก้องวนเวียนอยู่ในหัวสมองของเธอผู้ถูกกล่าวถึงคนนั้น เด็กน้อยวัย 8 ขวบเศษก้มหน้านิ่ง เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง ฝนกำลังตกพรำๆเข้ากับบรรยากาศภายในจิตใจของเด็กน้อย


 


เธอผู้นั้นไม่รู้หรอกว่าผู้เป็นครูพูดออกไปด้วยอารมณ์โกรธที่คั่งค้างมาจากไหน (หรือว่าจะอยู่ในช่วงวัยทองอารมณ์เลยแปรปรวนได้ง่าย) แต่ตอนนั้นเธอไม่กล้าแม้แต่จะมองสบตาครูด้วยซ้ำ เธอรู้จักอารมณ์ของครูดี พอๆ กับที่ครูรู้จักเธอ เธอจึงได้แต่นั่งนิ่ง ส่วนครูก็ได้เล่นบทเป็นนักบ่นๆ บ่นๆๆๆ สุดท้ายเวลาที่ผ่านไปก็จะช่วยคลายให้อารมณ์ที่พลุ่งพล่านของครูสงบลงเอง


 


เธอนึกสงสัย มีลูกศิษย์ตั้งหลายคน ทำไมเธอถึงเป็นผู้โชคดีอยู่บ่อยๆ กันน๊า  และครูก็จ้องจะเอาเป็นเอาตายกับเธอหนักหนา


 


"ทำเลขแค่นี้ไม่ได้ อย่าไปคิดทำอย่างอื่นเล้ย" ครูเหน็บด้วยน้ำเสียงกระแทกใจ


 


บ่อยครั้งที่เธอมักจะเป็นต้นเหตุแห่งบรรยากาศอันตึงเครียด และบูดเน่าของครู นักเรียนที่ทำให้ครูอารมณ์ดีได้ง่ายๆ จึงมักจะเป็นกลุ่มที่เรียนเก่ง พวกที่ช่างพูดช่างเจรจา ถามได้ตอบได้ (เปรียบเหมือนตัวอับดุล ที่เวลามีแสดงกล ช่างรู้ไปโม๊ดทุกอย่าง) ส่วนเธอก็เป็นเหมือนตัวตลกให้เพื่อนๆ และครูได้หยอกเย้าเวลาทำอะไรผิดๆ ถูกๆ อย่างดีก็ทำให้เพื่อนๆ หัวเราะเฮฮาเวลาครูเรียกออกมาหน้าชั้น


 


เมื่อกลับไปที่บ้าน เธอก็มักจะถูกต่อว่าจากย่าของเธอซึ่งเป็นผู้คอยดูแลเธอ  ยามเมื่อเธออยู่ที่ห้องเช่าเล็กๆ ในระหว่างที่พ่อของเธอออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วยแม่ใหม่ 1 คน และน้องสาวที่เกิดจากแม่ใหม่อีก 1 คน ด้วยข้อหาที่พบเป็นประจำว่าทำไมมึงไม่ตั้งใจเรียน ทำไมมึงโง่แบบนี้ เอ๊ะ เอาอีกแล้ว การบ้านมีไม่ยอมทำ โตขึ้นมึงจะทำมาหาแ..ก อะไรได้


 


ก็ไม่ใช่ทุกครั้งเสมอไปที่เธอจะเจอกับคำเหล่านี้ แต่ก็บ่อยจนพอที่จะทำให้เธอชินชาและปรับตัวได้...


 


--------------------------------           


 




เด็กที่ผู้เขียนทำกิจกรรมด้วย


 



ผู้ใหญ่ ครู ผู้ปกครอง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ควรจะให้สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้อยู่ในภาวะที่ไร้แรงกดดัน สนุกสนานและมีความสุข เพราะความรัก ความห่วงใย ความเข้าใจ จะส่งผลดีต่อการทำงานของสมองของเด็ก เพราะในกรณีที่เด็กขาดความรัก ความอบอุ่น มีประสบการณ์เลวร้าย(มากๆ บ่อยๆ) การทำงานของสมองจะผิดปกติ (Malfunction)


 


การทำให้มีคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่ได้เรียนรู้ คือ การเอาแรงดันทั้งหมดออกจากสิ่งแวดล้อมที่กำลังเรียนรู้อยู่ เช่น การเกรี้ยวกราด การสร้างความอึดอัด การกำหนดการบ้านที่มากมาย การบังคับให้เด็กเรียนหลังเลิกเรียน การทำให้เด็กขายหน้า อาย เสียดสี ถากถาง การขาดอุปกรณ์การเรียนการสอน การขู่เข็ญ การเข้มงวดเกินไป การดุด่า การบ่นพร่ำเพรื่อไม่มีเหตุผล (ซึ่งส่วนใหญ่กำลังเป็นอยู่ในโรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศไทย – ที่มาของข้อมูล : ไม่น่าเชื่อถือซักกะติ๊ดเลย เพราะผู้เขียนเอาความรู้สึกตนเองมาเป็นมาตรวัด)


 


การส่งเสริมและผลักดันให้เด็กและเยาวชน ได้ทำกิจกรรมที่ท้าทายความคิด(Challenging) ในรูปแบบต่างๆ กัน จะสามารถส่งผลกระตุ้นให้สมองเจริญเติบโตได้ดี* (*Brain base learning) มากกว่ากลุ่มที่ไม่คิดได้ทำกิจกรรม และไม่ค่อยได้รับการยอมรับ จากที่กล่าวมาข้างต้น













 



กลุ่มเยาวชนรักดี                                           กลุ่มเยาวชนเกสรลำพู


 



-----------------------------------


 


แน่นอนที่ซู๊ดครับ ไอ้การเรียนเพียงอย่างเดียวเนี่ยไม่ได้ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าเดิมมากหรอก แต่ต้องมีประสบการณ์ การให้โจทย์ความคิดท้าทายสมอง เช่น การแก้ปัญหาด้วยตนเอง การวางแผน การทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับคนอื่น การละเล่นหรือกิจกรรมตามวัย


 


แต่ก็อย่างว่าแหละ เด็กไทยส่วนหนึ่งมีการเรียนรู้แบบรับความรู้ในห้องเรียนไปเรื่อยๆ มาเรียงๆ ไม่ค่อยได้ถูกกระตุ้นให้มีความคิดที่ท้าทายซักเท่าไหร่ ก็เลยเป็นอย่างที่รู้ๆ กันอยู่ หลายๆ ส่วนก็พยายามช่วยกันกระตุ้น และส่งเสริมกระบวนการในด้านการเรียนการสอน ซึ่งจะเห็นผลดีได้มากขึ้นหากคุณครูทุกท่านร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงบวกต่อเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น ทำตัวเป็นคุณครูน้ำเต็มแก้วให้น้อยลง และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกับลูกศิษย์


 


-----------------------------------


 


เธอกลับมาบ้าน ด้วยจิตใจที่เหน็ดเหนื่อย อยากเล่นกับเพื่อน อยากไปปั่นจักรยานรอบหมู่บ้านกับแก๊งค์จักรยานอายุอานามรุ่นราวคราวเดียวกันแถวบ้าน แต่คงไม่ไหวแล้วละ ย่าเธอคงรอบ่นเรื่องการบ้านเธออยู่ที่บ้านแน่นอนเลย เฮ้อ เธอไม่อยากทำการบ้าน เธอไม่อยากเรียนเลย เธอชอบร้องเพลง เธอชอบปั่นจักรยาน เธออยากวาดภาพ


 


 



ภาพบันทึกการระดมสมองของน้องๆ กลุ่มรัก


 


 


มีคำถามบางอย่างเกิดขึ้นกับเธอ


"ทำไมเราถึงมีชีวิตที่ด้อยกว่าคนอื่นนักนะ?"


"พรุ่งนี้ต้องทำการบ้านส่งครู  แล้วฉันจะเขียนอะไรส่งดี?"


 


การบ้านข้อนั้นมีอยู่ว่า


"โตขึ้น เธอฝันอยากจะเป็นอะไร?"


 


การบ้านข้อนี้สำหรับเด็กบางคนมันง่ายแสนจะง่าย


แต่กับบางคนเช่นเธอมันช่างดูหม่นๆ เสียเหลือเกิน


ผมได้แต่ลุ้นว่าเธอจะตอบมันได้ในเย็นนี้


ก่อนที่ความฝันของเธอจะจางหายไปก่อนเข้านอน


 


 


หมายเหตุ :


 


เธอคนนั้น ผู้เขียนทำกิจกรรมกับเธออย่างต่อเนื่องประมาณ 1 ปี เหตุการณ์ข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอและเพื่อนในชั้นเรียน ในช่วงแรกๆ ที่ทำกิจกรรมด้วยกัน


 


บทความหน้าจะพยายามนำเสนอกิจกรรมทางเลือกให้ทั้งคุณครูและผู้ที่สนใจได้ลองนำไปใช้             


 


บทความเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องสิทธิเด็กอย่างไร? ผู้ตอบถูก 5 ท่านแรก ผู้เขียนมีของรางวัลมอบให้ครับ