Skip to main content

มรดกของท่านพุทธทาสภิกขุ

คอลัมน์/ชุมชน

ด้วยวุฒิการศึกษาเพียงชั้นม.๓  นักธรรมเอก และเปรียญธรรม ๓ ประโยค พระมหาเงื่อม อินทปัญโญ ภิกษุหนุ่มวัย ๒๖ ปี ได้ริเริ่มทำสิ่งซึ่งต่อมาได้กลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของพุทธศาสนาในประเทศไทย  ในทางรูปธรรมสิ่งนั้นได้แก่สวนโมกขพลาราม  ในทางนามธรรมสิ่งนั้นคือพุทธศาสนาอย่างใหม่ที่สมสมัย แต่มีพื้นฐานมาจากการปฏิบัติอย่างสมัยพุทธกาล


 


พระมหาเงื่อม อินทปัญโญ หรือที่โลกรู้จักในนามพุทธทาสภิกขุ  เป็นบุคคลสำคัญที่สุดผู้หนึ่งซึ่งได้นำพุทธศาสนาไทยออกมาสัมพันธ์เชื่อมโยงกับโลกสมัยใหม่ได้อย่างมีพลัง    และสามารถนำปัญญาชนที่ได้รับการศึกษาอย่างใหม่กลับไปหารากเหง้าทางภูมิปัญญาอันมีพระบรมศาสดาเป็นแรงบันดาลใจ   แม้ท่านจะมีการศึกษาตามระบบไม่มากนัก แต่ก็รู้ลึกในศาสตร์สมัยใหม่ไม่ว่าวิทยาศาสตร์หรือปรัชญา จนไม่เพียงเห็นจุดอ่อนของศาสตร์เหล่านั้น หากยังสามารถนำศาสตร์เหล่านั้นมาใช้อธิบายพุทธศาสนาได้อย่างจับใจปัญญาชน  ในอีกด้านหนึ่งแม้ท่านมิใช่เปรียญเอก (แถมยังสอบตกประโยค ๔ ด้วยซ้ำ) แต่ก็เชี่ยวชาญเจนจัดในพระไตรปิฎก และรู้ซึ้งถึงคัมภีร์อรรถกถา  จนสามารถเข้าถึงแก่นพุทธศาสน์  และนำมาอธิบายให้คนร่วมสมัยได้อย่างถึงใจชนิดที่กระเทือนไปถึง "ตัวกู ของกู" อีกทั้งยังสามารถวิพากษ์สังคมร่วมสมัยและเสริมเติมศาสตร์สมัยใหม่ให้มีความลุ่มลึกมากขึ้น


 


ไม่เพียงศาสตร์สมัยใหม่และภูมิปัญญาอย่างเก่าเท่านั้น ที่ท่านพุทธทาสนำมาเชื่อมโยงกันได้อย่างมีความหมาย  หากท่านยังเป็นสะพานเชื่อมสิ่งที่ดูเหมือนอยู่คนละฝั่งฟาก ให้มาเสริมเติมกัน   ปริยัติและปฏิบัติ ซึ่งถูกแยกจากกันมาช้านานตามอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบลังกา จนแบ่งเป็นคันถธุระและวิปัสสนาธุระ   แต่ที่สวนโมกขพลารามนั้น ปริยัติได้ประสานเป็นหนึ่งเดียวปฏิบัติ   ในขณะที่ใช้ชีวิตอย่างพระป่า  เจริญสมาธิภาวนาท่ามกลางธรรมชาติ  รวมทั้งอยู่อย่างเรียบง่าย คือ "ฉันข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฏิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง"  พระเณรที่นั่นก็ศึกษาปริยัติธรรม ด้วยการค้นคว้าจากพระไตรปิฎก และฟังคำบรรยายจากท่านพุทธทาสภิกขุไปด้วย   


 


ในทำนองเดียวกัน เมื่อท่านและน้องชายคือนายธรรมทาส พานิช ออกหนังสือ พุทธสาสนา  สิ่งที่ต้องมีควบคู่กันโดยตลอดคือ ภาคพระไตรปิฎก(แปล) และภาคปฏิบัติธรรม  จะว่าไปแล้วท่านพุทธทาสภิกขุ ก็เป็นผลผลิตของการศึกษาปริยัติอย่างจริงจังและการปฏิบัติอย่างเข้มข้น  ในขณะที่ท่านหลีกเร้นปฏิบัติในป่า ก็ศึกษาพระไตรปิฎกอย่างเอาจริงเอาจัง จนสามารถเขียน ตามรอยพระอรหันต์ ออกมาในปีแรกที่ตั้งสวนโมกข์  และไม่กี่ปีต่อมาก็ตามมาด้วย พุทธประวัติจากพระโอษฐ์  และอริยสัจจากพระโอษฐ์ 


 


ในด้านปริยัติธรรมนั้น  ท่านพุทธทาสภิกขุไม่ได้จำกัดการศึกษาแต่ในแวดวงของเถรวาทเท่านั้น หากยังขยายพรมแดนแห่งความรู้ของท่านไปยังแวดวงมหายานด้วย   โดยเฉพาะนิกายเซน  จนสามารถนำเอาคำสอนของเซนมาเป็นสื่อเพื่อนำผู้คนให้เข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา  นอกจากท่านจะลงมือแปล สูตรของเว่ยหล่าง และคำสอนของฮวงโป เองแล้ว ยังเอานิทานเซนและสำนวนเซนมาใช้เพื่อกระตุ้นคนให้ฉุกคิด  เช่น "จิตว่างมีได้ในกายวุ่น" หรือ "แม่น้ำคด น้ำไม่คด" หรือ"ฝนอิฐเป็นกระจกเงา"  และที่แพร่หลายคือนิทานเด็กตามหาวัว   ไม่เพียงเท่านั้นคำสอนฝ่ายวัชรยาน ท่านก็นำมาเผยแพร่ด้วย  ที่รู้จักกันดีคือ ภาพยักษ์แสดงปฏิจจสมุปบาท  กล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเชื่อมพุทธศาสนาแบบเถรวาทและมหายานให้เข้ามาใกล้กันมากขึ้น


 


ในอีกด้านหนึ่ง ท่านพุทธทาสภิกขุได้ขยายพรมแดนแห่งการปฏิบัติธรรมไปยังชีวิตประจำวัน จนเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานด้วย ในทัศนะของท่าน การปฏิบัติธรรมมิได้หมายถึงการหลีกเร้นเก็บตัวอยู่คนเดียวในป่า หรือนั่งหลับตาในห้องเท่านั้น  หากเรายังสามารถปฏิบัติธรรมได้จากการทำงาน  ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเน้นว่า "การทำงานคือการปฏิบัติธรรม"  ในขณะที่คนทั่วไปทำงานเพื่อหวังความสำเร็จหรือมุ่งให้เสร็จไว ๆ  ท่านกลับสอนให้ทำงานอย่างมีสติ   อยู่กับปัจจุบัน และไม่ยึดติดกับความสำเร็จ  ท่านเคยเปรียบกิเลสเหมือนกับเสือ  ส่วนการทำงานเหมือนกับการแหย่เสือ   ยิ่งเสือถูกแหย่ เราก็ยิ่งรู้จักฤทธิ์ของมัน และเห็นจุดอ่อนของมัน ทำให้สามารถปราบมันได้ด้วย  ถ้าไม่ทำงาน เราก็ไม่รู้จักเสือ ดังนั้นจึงไม่รู้วิธีปราบและเอาชนะมันได้


 


เมื่อการทำงานกับการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน   "โลก" กับ "ธรรม" ก็มิได้แยกจากกันอีกต่อไป  ชาวพุทธทั่วไปนั้นมักเห็นว่า "โลก" เป็นเรื่องของคฤหัสถ์  ส่วน "ธรรม" เป็นเรื่องของพระ  ใครที่เป็นคฤหัสถ์ ก็หวังความสำเร็จทางโลก   ส่วนพระก็ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์   แต่ท่านพุทธทาสภิกขุเห็นว่า แม้แต่คฤหัสถ์ ก็ควรให้ความสำคัญกับการปฏิบัติธรรมหรือบำเพ็ญทางจิตด้วย เพราะชีวิตทางโลกนั้นเต็มไปด้วยความเร่าร้อนและวุ่นวาย  หากไม่รู้จักฝึกจิตให้สงบเย็น ก็จะเต็มไปด้วยความทุกข์   ด้วยเหตุนี้ในขณะที่ท่านชักชวนพระในสวนโมกข์ให้ออกจากกุฏิมาทำงานแบกหามและก่อสร้างอยู่เนือง ๆ นั้น  ท่านก็พยายามแนะนำคฤหัสถ์ให้รู้จักทำงานด้วย "จิตว่าง"  คือว่างจากกิเลสและความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน  ดังท่านได้ย้ำว่า "จะนอน จะกิน จะทำงาน จะทำอะไรก็ได้ด้วยจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น ด้วย "ตัวกู-ของกู" แล้วก็ (จะ) ไม่มีความทุกข์    ในระดับบุคคล ฉันใด ในระดับสังคม ก็ฉันนั้น   จึงไม่แปลกที่ท่านจะเรียกร้องให้ การเมือง เศรษฐกิจ และการพัฒนา มีธรรมะเป็นพื้นฐาน  ธรรมะกับการเมืองเป็นงานบรรยายของท่านอีกชิ้นหนึ่งที่ย้ำว่า "โลก" กับ "ธรรม" ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน


 


มองให้ลึกลงไป  เมื่อ "โลก" กับ "ธรรม" เป็นหนึ่งเดียวกัน   สิ่งที่เรียกว่า "โลกิยธรรม" กับ "โลกุตตรธรรม" ก็ไม่แยกจากกันอีกต่อไป  การมีชีวิตอยู่ในโลก กับการอยู่เหนือโลก สามารถดำเนินควบคู่กันไปได้   คฤหัสถ์สามารถดำเนินชีวิตอย่างคนปกติ แต่ใจนั้นเป็นอิสระจากความทุกข์ ไม่เป็นทาสของโลกธรรม หรือสยบมัวเมาในวัตถุ  แม้จะประสบความพลัดพรากสูญเสีย จิตใจก็ไม่หวั่นไหว เพราะรู้เท่าทันในธรรมดาโลก  สภาวะเช่นนั้นคือความสงบเย็นที่เรียกว่านิพพานนั่นเอง ท่านเคยกล่าวว่า "ฆราวาสธรรม มิใช่สำหรับให้ฆราวาสได้จมอยู่ในโลก หากแต่สำหรับให้ฆราวาสนั้น ได้อาศัยยกตัวเองขึ้นมาเสียจากปลักของฆราวาส พ้นทุกข์ เป็นโลกุตร เป็นนิพพานในที่สุด"


 


กล่าวอีกนัยหนึ่ง  เราทั้งหลายสามารถเข้าถึงนิพพานได้ในชีวิตนี้ มิต้องรอถึงชาติหน้า   เป็นเวลาช้านานที่นิพพานถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลโพ้น  ส่วนโลกุตตรธรรมเป็นเรื่องของคนที่ต้องสละโลก  แต่ท่านพุทธทาสภิกขุได้นำโลกุตตรธรรมและนิพพานกลับคืนสู่โลกนี้และชีวิตนี้  จริงอยู่โลกนี้ชีวิตนี้เต็มไปด้วยความเร่าร้อนและเปลวกิเลส  แต่ใช่หรือไม่ว่า "ความดับของไฟ หาพบได้ที่ไฟ ความดับของทุกข์ หาพบได้ที่ความทุกข์  นิพพาน (จึง) หาพบได้ที่วัฏสงสาร" 


 


ท่านพุทธทาสภิกขุได้ทำให้เราตระหนักว่า วัฏสงสารกับนิพพานนั้นหาได้แยกจากกันไม่ เพราะในวัฏสงสารมีนิพพานที่รอการค้นพบจากเรา ไม่ว่า "นิพพานชั่วขณะ" หรือนิพพานที่เป็นความหลุดพ้นสิ้นเชิงก็ตาม


 


ในโลกที่นิยมแบ่งสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นขั้ว  ท่านพุทธทาสภิกขุได้ประสานขั้วเหล่านั้นให้ประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ผลพวงอย่างหนึ่งที่ตามมาก็คือ การที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ค้นพบว่า "พุทธะ"นั้นหาได้อยู่นอกตัวไม่ หากอยู่กลางใจนี้เอง  ถึงที่สุดแล้วท่านได้นำเรากลับมารู้จัก "พุทธะ"ภายใน ซึ่งสามารถทำให้เราทุกคนเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หรือ "พุทโธ"ได้ สมกับที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า "อริยโลกุตตรธรรมเป็นทรัพย์ประจำตัวของมนุษย์ทุกคน"


 


ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นปราชญ์ที่มิเพียงฟื้นฟูพุทธศาสนาไทยให้กลับมามีความรุ่มรวย ลุ่มลึก และมีความหมายกับสังคมร่วมสมัยเท่านั้น  หากยังทำให้ความเป็นมนุษย์ของเรากลับฟื้นคืนเต็มขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในโลกที่มองมนุษย์เป็นเพียงสัตว์เศรษฐกิจที่เห็นแก่ตัว หรือเป็นแค่เครื่องจักรมีชีวิตที่กำหนดโดยยีน  การเข้าถึงศักยภาพของตนเองอย่างลึกซึ้งเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการกอบกู้ความเป็นมนุษย์ของเราคืนมาจากการปล้นสะดมของโลกวัตถุนิยม


 


ในวาระ ๑๐๐ ปีแห่งชาตกาลของท่านพุทธทาสภิกขุ  มีหลายสิ่งที่น่าจดจำเกี่ยวกับท่านผู้เป็นปราชญ์ระดับโลก แต่สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือ คำสอนของท่านที่บอกให้เรารู้ว่า เราคือใคร และมีศักยภาพเพียงใดบ้าง


 


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน พฤษภาคม ๒๕๔๙