Skip to main content

"คดีลอบสังหารพระสุพจน์" : แค่ไม่คืบหน้า...หรือล้าหลัง?

คอลัมน์/ชุมชน


 


"ถ้ารูปการณ์ยังเป็นไปเช่นนี้ ก็จงอย่าได้แปลกใจ หากต่อไปรัฐหรือคนของรัฐจะสรุปว่าพระสุพจน์ฆ่าตัวตายเอง..." ผู้เขียนกล่าวกับ "กระรอก" หรือคุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาคุณเจริญ วัดอักษร ในคราวหนึ่งของการสนทนาชนิดปรับทุกข์ หรือเล่าสู่กันฟัง จนทำให้บางคนหัวเราะขื่นๆ กับตลกร้าย ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่รู้ว่าน่าจะหัวเราะหรือร้องไห้กันแน่ ประสาผู้มีประสบการณ์ร่วม และเคยได้รับการปฏิบัติจากรัฐ ราวกับพวกเราเป็น "คนนอก" หรือ "คนอื่น" ที่ควรรับการดูแลจากรัฐชนิด "ท้ายแถว" มาแล้วแทบทุกคน


 


แน่ล่ะ ว่า "พระสุพจน์ สุวโจ" ถูกสังหารโหดด้วยของมีคม กระทั่งเกิดบาดแผลฉกรรจ์กว่า ๒๐ แผล สภาพศพและร่องรอยในที่เกิดเหตุบ่งชี้ว่าถึงแก่มรณภาพอย่างเจ็บปวดและทุกข์ทรมานยิ่ง ในลักษณะทนพิษบาดแผลไม่ไหว สูญเสียเลือดเป็นจำนวนมาก มาก...จนเกินกว่ากายสังขารจะทานทนได้


 


แต่ใครจะรู้ ว่าเมื่อผู้คนร่วมยุคร่วมสมัยกับพระภิกษุรูปนี้ล้มหายตายจาก หรือเลือนหลงกันไป ด้วยเหตุใดก็ตาม ความตระบัดสัตย์และความไม่รับผิดชอบ ตลอดจนความพยายามปัดผิดให้พ้นตัว ของเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานของรัฐ จะไม่ย่ำยีความตาย และการเข่นฆ่าที่เกิดขึ้นเมื่อ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๘ ที่เกิดขึ้นกับ "พระสุพจน์ สุวโจ" ให้กลาย "เป็นอื่น" ไปเสียในที่สุด


 


เพราะปรากฏการณ์เปลี่ยนขาวเป็นดำ เปลี่ยนดีเป็นเลว หรือตรงกันข้าม ที่กำลังเกิดขึ้น หรือเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศนี้จนแทบนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ นายปรีดี พนมยงค์ หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถร) หรือกรณีอื่นๆ ที่ร่วมยุคร่วมสมัยกว่านั้น จนดูจะเป็นเรื่องธรรมดา และสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม


 



 


ในกรณี พระสุพจน์ สุวโจ ไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง หลังพบศพ นายตำรวจระดับสารวัตรสืบสวนก็ระบุด้วยใบหน้าไร้ความรู้สึกยินดียินร้ายต่อความตายของพระรูปหนึ่ง ว่า "ไม่มีอะไรมาก แค่ชาวบ้านมาลักตัดไม้ แล้วพระปากเสียไปด่าเขาเข้า เขาเลยฟันกบาลเอาจนตาย..."


 


ตามมาด้วยการปฏิเสธชนิดปัดสวะให้พ้นตัว ของสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงคณะสงฆ์และหน่วยงานฝ่ายปกครองของรัฐในพื้นที่ ที่ดาหน้าออกมาปกป้อง "หม้อข้าว" ของตนเองจนปากคอสั่น ว่าสาเหตุที่ "พระสุพจน์" ถูกทำร้ายจนมรณภาพ เป็นเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่ แต่เนื่องจากสถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตาธรรม" ไม่ได้จดทะเบียน หรือไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของตน ตนจึงไม่รู้ไม่เห็น อีกทั้งไม่เคยทราบว่ามีพระกลุ่มนี้มาอยู่ จึงมิได้เคยให้การดูแลใดๆ


 


พร้อมๆ กันนั้นเอง ก็มีการตรวจสอบ "สถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม" อย่างขนานใหญ่ ทั้งโดยสำนักงานที่ดิน สำนักงานป่าไม้ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ของกองทัพบก และของหน่วยงานฝ่ายการข่าวอื่นๆ ตลอดจนหน่วยงานที่กล่าวถึงมาบ้างแล้ว ถึงขนาดใช้เฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินขึ้นถ่ายภาพทางอากาศก็หลายครั้ง


 


โชคดีที่พระภิกษุและฆราวาสซึ่งอาศัยอยู่ที่นั่นไม่มีใครทำอะไรผิด อีกทั้งสถานที่ก็ไม่มีสิ่งใดผิดกฏบัตรกฎหมายบ้านเมือง จึงพากันรอดตัวมาได้ ไม่เป็นเหตุให้ถูกข่มขู่คุกคามมากไปกว่านั้น


 


แต่สิ่งหนึ่งที่อดคิดไม่ได้ก็คือ ถ้าผู้ที่กระทำผิดในคดีลอบสังหารพระสุพจน์ สุวโจ ถูกตรวจสอบ หรือได้รับการปฏิบัติด้วยวิธีการเดียวกันนี้ มีหรือ "ผู้ร้าย" จะหลุดรอดเงื้อมมือกฎหมายไปได้ และลอยนวลมาถึงหนึ่งปีเข้านี่แล้ว


 



 


ที่น่าแปลกใจก็คงอยู่ที่ว่า ขณะที่สถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตาธรรม" ถูกตรวจสอบสถานที่ ตลอดจนที่มาที่ไปอย่างละเอียดยิบ สมมติฐานของพนักงานสืบสวนสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนสายงานเดียวกันของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๕ ซึ่งเป็นหน่วยบังคับบัญชาของตำรวจท้องที่ ต่างระบุไปในทางเดียวกัน ว่า "การตาย หรือการมรณภาพของพระสุพจน์" เกิดจากเหตุบันดาลโทสะของชาวบ้านที่มาลักลอบตัดไม้ แล้วถูกพระสุพจน์มาพบเข้า จนเกิดการทุ่มเถียงหรือทะเลาะวิวาท แล้วท้ายจนถึงแก่ชีวิต


 


แม้จะมีกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ออกมาทักท้วงและชี้แนะ ว่าไม่ควรทิ้งประเด็นอื่นๆ เช่น การกระทำของผู้มีอิทธิพล การแย่งชิงทรัพยากร และการข่มขู่คุกคามผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการเมืองภาคประชาชน แต่ก็มิได้รับความสนใจจาก "เจ้าหน้าที่ตำรวจ" ผู้รับผิดชอบในคดีนี้แต่อย่างใด


 


ในระหว่างที่คดีนี้ยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเองก็เดินทางไปดูที่เกิดเหตุด้วยตนเอง เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี ที่ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ในต่างกรรมต่างวาระ ความว่าจะเร่งรัดให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการให้ถึงที่สุด โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ


 


กระนั้น ในเดือนแรกนับตั้งแต่พบศพ การทำงานของผู้เกี่ยวข้องก็ยังเพ่งความสนใจไปอยู่ที่ "พระทะเลาะกับชาวบ้าน" อยู่นั่นเอง จนเป็นที่แปลกใจของหลายฝ่าย และเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ว่าคดีนี้จะเป็นดังที่ข่าวบางกระแสเล็ดลอดออกมาหรือไม่ ว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ล่าช้าและปราศจากความสมเหตุสมผล เพราะมีนักการเมืองระดับชาติในพื้นที่และคนใกล้ชิดมีส่วนรู้เห็น หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับคดีนี้อยู่ด้วย


 


ต่อเมื่อ คุณอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้ซึ่งถูกคนของรัฐกระทำให้หายตัวไปได้แถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในที่ประชุมหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๘ นั่นแหละ จึงมีการสั่งการผ่านเจ้าหน้าที่ระดับสูง มายังคณะกรรมการคดีพิเศษ ให้รับคดีการถูกทำให้สูญหายของทนายสมชาย และการลอบสังหารพระสุพจน์ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษไปอย่างฉับพลันทันที ก่อนที่นางอังคณา นีละไพจิตร จะเดินทางกลับถึงมาตุภูมิเสียด้วยซ้ำ


 


อย่างไรก็ตาม ความแปลกประหลาดของคดีนี้ก็ยังสิ้นสุด และดูเหมือนกับว่า ยังมีแง่มุมอื่นๆ ให้ผู้เกี่ยวข้องได้กระอักกระอ่วนอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตัวอย่างเช่น แม้ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับคดีลอบสังหารพระสุพจน์มาตั้งแต่กลางปี ๒๕๔๘ แล้วก็ตาม แต่กระนั้น ทั้งโยมพ่อและโยมแม่ของพระผู้ถูกสังหาร ก็เพิ่งมีโอกาสให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษเอาเมื่อปลายเดือนมีนาคม ๒๕๔๙ ที่ผ่านมานี้เอง ภายหลังจากมีการเปลี่ยนตัวคณะพนักงานสอบสวนไปแล้วหลายต่อหลายคน หรือที่น่าสนใจไปยิ่งกว่านั้น ในวันเดียวกับที่มีการสอบปากคำบิดามารดาพระสุพจน์นั่นเอง เมื่อมีการเอ่ยถึงชื่อของพรรคการเมืองในรัฐบาล กว่าที่พนักงานสอบสวนผู้พิมพ์สำนวน จะยินยอมระบุชื่อพรรคการเมืองดังกล่าวนั้นลงไปในสำนวน ก็มีการทักท้วงและหารือกันอย่างเคร่งเครียด ด้วยเหตุว่าคนพิมพ์ไม่แน่ใจว่าควรระบุตามที่พยานกล่าวถึงหรือไม่ เช่นนี้เป็นต้น


 



 


และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพยาน หรือการที่ต้องตกอยู่ในฐานะพยานนี้เอง ที่คดีลอบสังหารพระสุพจน์     สุวโจ เป็นเหตุให้ผู้เขียนได้รับทราบ และได้เรียนรู้หลายต่อหลายประการ ทั้งในส่วนของสิทธิ และหน้าที่ ตลอดจนวิธีปฏิบัติตน เมื่อตกอยู่ในฐานะพยานสำคัญ ผู้ซึ่งมีความใกล้ชิดกับผู้ตายมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี


 


เดิมที เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีมีบัญชาให้หน่วยงานระดับกรมที่เป็น "ต้นเรื่อง" คือ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งมีหน่วยงานชื่อ "สำนักงานคุ้มครองพยาน" อยู่ในสังกัดเป็นผู้รับผิดชอบ อาจเป็นด้วยขณะนั้นข่าวคราว "คดีพระสุพจน์" ยังอยู่ในความสนใจของสื่อ หรือจะเป็นเพราะมีบัญชาลงมาโดยตรงก็ตามที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความอุ่นใจอยู่ไม่น้อย เมื่อสำนักงานคุ้มครองพยานสามารถร้องขอไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สั่งการไปยังกองบังคับการปราบปราม เพื่อส่งกำลังเจ้าหน้าที่จากกองปราบฯ มาให้การอารักขาพยานได้ภายในเวลาไม่เกิน ๗ วัน หลังจากการร้องขอ


 


แต่นี่ดูเหมือนจะเป็นความอบอุ่นใจเพียงครั้งเดียว และชั่วระยะเวลาเดียวก็ว่าได้ เพราะถัดจากนั้นมาไม่นาน ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม ก็พยายามเรียกกำลังเจ้าหน้าที่กลับคืนต้นสังกัดโดยตลอด มิไยที่ประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน จะร้องขอและพยายามอธิบายถึงความจำเป็นและความเดือดร้อน ตลอดจนสิ่งบ่งชี้ถึงความไม่ปลอดภัยของพยานตามคำยืนยันของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานคุ้มครองพยานอย่างสุดความสามารถแล้วก็ตาม


 


กระทั่งในที่สุด สำนักงานคุ้มครองพยานต้องร้องขอไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผ่านเรื่องไปยังกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๕ และส่งต่อไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอฝาง จึงมีข้อเสนอมายังพยานสำคัญ ๒ คนของคดีนี้ ซึ่งเป็นเพื่อนภิกษุร่วมสถานปฏิบัติธรรมกับผู้ตาย คือผู้เขียน และพระมหาเชิดชัย   กฺวิวํโส ว่า


 


หากประสงค์จะให้มีการคุ้มครองพยาน ก็ต้องยินยอมรับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภอ.ฝาง และจะให้การอารักขาหรือคุ้มครองเฉพาะในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น


 


แม้แต่อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ก็ยังพยายามหว่านล้อมพยาน ว่าหากในพื้นที่ไม่ปลอดภัยก็ควรย้ายออกมา หรือออกมาอยู่ที่กรุงเทพมหานครเสียเป็นการชั่วคราว แทนที่จะขวนขวายให้การคุ้มครองพยานซึ่งมีสิทธิพื้นฐานในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้ตามภารกิจเดิม ซึ่งจำเป็นแก่ศาสนกิจ


 



 


ผู้ที่อ่านบทความนี้มาตั้งแต่ต้นคงจำข้อน่าสังเกต เกี่ยวกับการตั้งสมมติฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่และฝ่ายสอบสวนสืบสวนของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๕ ได้ดี ว่าแปลกแปร่งและน่าสงสัยถึงความบริสุทธิ์ใจ


 


นั่นยังไม่น่าตกใจนัก หากมีโอกาสได้ทราบว่า ก่อนหน้า พระสุพจน์ สุวโจ จะถูกลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยมทารุณ กลุ่มคนที่บุกรุกที่ดินของสถานปฏิบัติธรรมรายล่าสุด นำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายของ สภอ.ฝางนั่นเอง


 


ยิ่งไปกว่านั้น ๒-๓ วันก่อนพระสุพจน์จะถึงแก่มรณภาพ ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภอ.ฝาง นั่นแหละ ที่นั่งซ้อนรถจักรยานยนต์มากับน้องชายของนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ ซึ่งปัจจุบันถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เพื่อมาคุกคามข่มขู่ให้พระสุพจน์ยินยอมให้พวกตนเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินของสถานปฏิบัติธรรมได้ ผู้เขียนได้ยินคำบอกเล่านี้จากพระสุพจน์ผ่านทางโทรศัพท์ เมื่อเย็นวันที่ ๑๕ มิถุนายน เพียง ๒ วันก่อนการมรณภาพ ซึ่งถึงบัดนี้โดยทางคดี ยังไม่ทราบตัวผู้ฆ่าและผู้บงการแต่อย่างใด


 


หากที่ว่ามายังไม่กระจ่างเพียงพอ บางคนอาจตกใจ เมื่อทราบว่าตำรวจที่เพิ่งถูกกล่าวถึงทั้ง ๒ นายนี้ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายตำรวจระดับสารวัตร ผู้ที่กล่าวว่า "ไม่มีอะไรมาก แค่ชาวบ้านมาลักตัดไม้ แล้วพระปากเสียไปด่าเขาเข้า เขาเลยฟันกบาลเอาจนตาย..." นั่นเอง


 


ยิ่งไปกว่านั้น ในวันที่พบศพพระสุพจน์ เมื่อมีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาชันสูตร และตรวจสอบที่เกิดเหตุ ผู้เขียนก็ได้รับทราบภายหลังอย่างน่ากังขายิ่ง ว่านายตำรวจระดับสารวัตรสืบสวนคนดังกล่าว เข้ามาและอยู่ในสถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตาธรรม" ก่อนหน้าที่จะมีการแจ้งเหตุแล้ว ซึ่งเจ้าตัวแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาในเวลาต่อมา ว่าเข้าไปสืบสวนหาข่าว เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพระภิกษุในสวนเมตตาธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย


 


นี่คงเป็นเรื่องราวอันลึกลับซับซ้อน และยากยิ่งในการสืบสวนสอบสวน ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านี้ จึงมิได้รับรู้รับทราบ ว่าคนของตนมีพฤติกรรมอย่างไร และน่าสงสัย ตลอดจนไม่น่าไว้วางใจอย่างไร ในสายตาของชาวบ้าน ตลอดจนญาติและผู้เกี่ยวข้องกับพระสุพจน์ สุวโจ


 


เพราะหากเป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นจนสุดวิสัยแล้ว ในวันที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๕ เดินทางไปสอบปากคำโยมอุปัฏฐากคนหนึ่งของสถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตาธรรม" คงไหวทัน และไม่ยอมนั่งไปในรถ ซึ่งมีคนของนักการเมืองระดับชาติในพื้นที่นั้นเป็นคนขับ จนพยานเกิดความเกรงกลัว และไม่กล้าให้ปากคำในประเด็นที่โยงไปถึงผู้มีอิทธิพล "บางคน" ของท้องถิ่นนั้น


 


ในประเด็นนี้ ชาวบ้านโดยทั่วไปในเขตอำเภอฝาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จำต้องใกล้ชิด หรือเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่างทราบกันดี ว่านายตำรวจระดับสารวัตรผู้ตั้งสมมติฐานที่พิสูจน์ได้ในภายหลังว่าบิดเบือนและชี้นำคดีพระสุพจน์ไปในทางที่ตนต้องการ ได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองระดับชาติในพื้นที่มาโดยตลอด นับตั้งแต่เป็นผู้วิ่งเต้นดึงตัวนายตำรวจผู้นี้เข้ามาอยู่ในพื้นที่อำเภอฝางมาก่อนหน้านั้นแล้ว


 


ขนาดชาวบ้านทั่วไป และผู้เขียนซึ่งเป็นพระภิกษุ ยังรับรู้ในเงื่อนงำนี้ แต่เหตุใดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๕ จึงมีความพยายามอ้างกฏระเบียบและยัดเยียดให้พยานในคดีนี้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภอ.ฝาง เพื่อเข้ามาอารักขาพยานในเขตสถานปฏิบัติธรรม อันมีสภาพเป็นป่ารกชัฏห่างไกลผู้คน


 


หรือประสงค์จะให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับคนในสวนเมตตาธรรมอีก ในอนาคตอันใกล้นี้ ตามที่ระดับนโยบายบางคนต้องการอยู่ลึกๆ...


 



 


กล่าวกันว่า "ความยุติธรรมที่เนิ่นช้า ก็คือความไม่ยุติธรรมนั่นเอง"


 


ถึงบัดนี้คดีของพระสุพจน์ สุวโจ ได้เดินทางผ่านวันเวลามาแล้ว ๑ ปีเต็มๆ แต่ไม่ว่าจะโดยสาเหตุใดๆ ก็ตาม คดีสะเทือนขวัญศาสนิกชน ตลอดจนนักสิทธิมนุษยชน ทั้งในและนอกประเทศคดีนี้ ก็ยังไร้ความคืบหน้า ไม่ว่าจากฝ่ายใดๆ


 


เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า คดีนี้ได้โอนไปสู่ความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษเรียบร้อยแล้ว เป็นอันว่าพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบ


 


กรมสอบสวนคดีพิเศษแจ้งกับญาติและผู้เกี่ยวข้องว่ามิได้นิ่งดูดาย ได้ปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนทั้งทางตรงและทางลับมาอย่างต่อเนื่อง นานๆ ครั้ง ก็จะแจ้งโดยวาจา ว่ายังดูแลคดีนี้อยู่


 


หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายต่อหลายหน่วยงาน ต่างร่วมแรงร่วมใจกันอย่างกว้างขวาง ทั้งภายในและนอกประเทศ


 


องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ต่างให้ความสนใจและแสดงท่าที ตลอดจนจุดยืน ในการเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ได้ดำเนินการให้เกิดความยุติธรรม และจับกุมผู้กระทำผิด ตลอดจนจับกุมผู้บงการมาลงโทษอย่างไม่ลดละ


 


รัฐบาลเอง ทั้งโดยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ต่างชี้แจงกับสื่อ และบุคคล ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่สอบถาม ว่าดำเนินการเรื่องนี้อย่างเต็มที่แล้ว


 


.................ฯลฯ..........................


 


แต่ถึงกระนั้น คดีการลอบสังหารพระภิกษุผู้ปราศจากสมณศักดิ์ ปราศจากตำแหน่งแห่งที่ในสายการปกครองคณะสงฆ์ แต่มากไปด้วยผลงาน ทั้งด้านการเผยแผ่ธรรม การให้การอนุเคราะห์และเกื้อกูลโลก การอนุรักษ์ธรรมชาติ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการให้ความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ มาจนตลอดชีวิตรูปนี้ ก็ยังไม่ปรากฏความคืบหน้าใดๆ


 


คดีการลอบสังหาร ซึ่งถูกประทับตรามาตั้งแต่ต้น ว่า "ไม่มีอะไรมาก แค่ชาวบ้านมาลักตัดไม้ แล้วพระปากเสียไปด่าเขาเข้า เขาเลยฟันกบาลเอาจนตาย..."


 


คดีลอบสังหาร ซึ่งพยานในคดีถูกคุกคามโดยรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียเอง โดยฝ่ายผู้กระทำผิดแทบมิต้องเหนื่อยแรงรุกรานโดยตรง


 


คดีการลอบสังหาร ซึ่งชาวบ้านโดยทั่วไปทราบกันดี ว่าเกิดจากสาเหตุใด ใครเป็นผู้ฆ่า ใครเป็นผู้บงการ แต่ล้วนต้องอยู่ในภาวะน้ำท่วมปาก และปราศจากความไว้เนื้อเชื่อใจอำนาจรัฐ ว่าจะคุ้มครองพวกเขาได้


 


จึงไม่กล้าแม้แต่จะเปิดเผยข้อเท็จจริง....


 


.................ฯลฯ..........................


 


คดีการลอบสังหาร เช่นนี้อาจเกิดขึ้นอีก และเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เมื่อเหตุปัจจัยเอื้ออำนวย ท่ามกลางบรรยากาศและสถานการณ์ที่เหมาะสม ในวันคืนที่เราทั้งหลายพากันล้าหลังทางศีลธรรม จำนนต่อกระบวนการอยุติธรรม และอ่อนแอในการสร้างความถูกต้อง จนไม่เท่าทันในการรับมือ


 


มิพักจะต้องกล่าวถึงการแก้ไข หรือป้องกัน ให้มากความ...


 



 


"ถ้ารูปการณ์ยังเป็นไปเช่นนี้ ก็จงอย่าได้แปลกใจ หากต่อไปรัฐหรือคนของรัฐจะสรุปว่าพระสุพจน์ฆ่าตัวตายเอง..." ผู้เขียนกล่าวกับ "กระรอก" หรือคุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาคุณเจริญ วัดอักษร ในคราวหนึ่งของการสนทนาชนิดปรับทุกข์ หรือเล่าสู่กันฟัง จนทำให้บางคนหัวเราะขื่นๆ กับตลกร้าย ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่รู้ว่าน่าจะหัวเราะหรือร้องไห้กันแน่ ประสาผู้มีประสบการณ์ร่วม และเคยได้รับการปฏิบัติจากรัฐ ราวกับพวกเราเป็น "คนนอก" หรือ "คนอื่น" ที่ควรรับการดูแลจากรัฐชนิด "ท้ายแถว" มาแล้วแทบทุกคน