Skip to main content

เทศกาลเต็ต

คอลัมน์/ชุมชน

1


กระแสร้อน ๆ จากการเลือกตั้งยังไม่ซาลงไป แต่ตอนนี้ผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีเชื้อสายจีนก็คงกำลังเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนกันอยู่ เข้าใจว่าปีนี้ราคาข้าวของเครื่องเซ่นคงจะแพงขึ้นเป็นพิเศษ เพราะบรรดาเป็ด ไก่ที่ต้องใช้ไหว้เจ้านั้นถูกฆ่าตายไปเยอะ อันเนื่องมาจากไข้หวัดนกอย่างที่รู้ ๆ กัน


วันตรุษจีนปีนี้ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ คนไทยส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับเทศกาลนี้กันดีเพราะในประเทศไทยนั้นเรามีคนไทยเชื้อสายจีนอยู่มากมาย และเราอาจเลยเถิดไปรู้จักและสวมรอยร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลวาเลนไทน์ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลที่กำลังจะก้าวมาถึงในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ที่เวียดนามเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับเราอีกประเทศหนึ่งในช่วงนี้เทศกาลที่เขากำลังเฉลิมฉลองกันอยู่เรียกว่า เต็ต


วันนี้ต้องขอพักเรื่องร้อน ๆ ทางการเมืองกันสักหน่อย มารู้จักกับเทศกาลเต็ตของเวียดนามกันดีกว่า เทศกาลเต็ต เป็นเทศกาลที่สำคัญมากที่สุดของชาวเวียดนาม วันเต็ต ที่คนไทยบางคนอาจจะคุ้นหูในคำว่า "ตรุษญวน" คือวันปีใหม่เวียดนาม ซึ่งต้องนับตามจันทรคติแบบเดียวกับจีน ดังนั้น วันที่ถูกกำหนดให้มีพิธีกรรมต่าง ๆ เช่นวันจ่าย วันไหว้ หรือ วัน ตรุษก็เป็นวันเดียวกัน มีตำนานความเป็นมาคล้าย ๆ กับตรุษจีน


ตามตำนานเล่าว่า 1 สัปดาห์ก่อนถึงวันเต็ต เทพเจ้าประจำครัว (God of Kitchen) แบบเดียวกับที่จีนมี แต่ที่เวียดนามเรียกว่า เต๋าก่วน (Tao Quan) ซึ่งเป็นเทพที่ถูกส่งมาให้ดูแลความเป็นอยู่ของโลกมนุษย์ก็จะกลับขึ้นไปรายงานสถานการณ์บนโลกมนุษย์ว่าปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง มีความอุดมสมบูรณ์แค่ไหน โดยไปรายงานให้กับเทพเจ้าสูงสุด ชื่อ องเจ่ย (Ong Troi- อาจเป็นองค์เดียวกับเง็กเซียนของจีน)


ในขณะเดียวกัน ฝ่ายชาวบ้านจะเอารองเท้าและรองเท้าเก่า ๆ มาเผาไปพร้อม ๆ กับเงินกระดาษหรือแบบเดียวกับที่เราเรียกว่าเงินกงเต็ก และจดหมายที่ส่งไปขอพรให้โชคดีในปีใหม่ไปกับเทพเจ้าประจำครัว หรือเต๋าก่วน แล้วก็จะปล่อยปลาคาร์ฟลงน้ำเพื่อให้กลายเป็นมังกรซึ่งนำสาส์นไปยังเทพแห่งสวรรค์ เชื่อว่า เทพเต๋าก่วนนั้นมีพาหนะประจำตัวคือปลาที่กลายเป็นมังกร และขี่ปลานี้กลับขึ้นสววรค์


มีเรื่องเล่าให้ฟังกันอีกว่า ถ้าสังเกตจะเห็นเต๋าก่วน หรือเทพประจำครัวใส่เสื้อคลุมยาวแต่ใส่กางเกงขาสั้น อันนี้ก็เนื่องมาจากว่า เต๋าก่วนเป็นเทพที่ดูแลเรื่องการทำกินหมายถึงอยู่ในครัว เพราะฉะนั้นเพื่อความสะดวกก็เลยใส่กางเกงขาสั้น และความจริงแล้วหากใส่ชุดเต็มต้องใส่กางเกงขายาว แต่ตอนที่เทพสูงสุดหรืออาเจ่ยบอกให้ลงมาดูแลโลกมนุษย์นั้นรีบมาก เลยลืมใส่กางเกงอีกตัวหนึ่งลงมา และที่ส่งมาแล้วให้อยู่ในครัวนั้น เพราะเชื่อว่าครัวเป็นที่สำคัญที่สุดในบ้าน คือจะมีกินหรือไม่มีกินก็ดูได้จากครัว


ตามตำนานเวียดนามนั้น เทพประจำครัวจะเป็นผู้ส่งสาส์นไปยังสวรรค์ให้หัวหน้าเทพทั้งหลายพิจารณาโชคลาภให้แก่คนในบ้านนั้น ๆ จึงเชื่อกันว่า หากเซ่นดี ๆ ก็จะได้รับโชคดี หาไม่แล้วเจ้าประจำครัวนั้นอาจไม่พอใจ ไม่ไปรายงาน และขอพรจากหัวหน้าเทพแห่งสวรรค์ก็จะทำให้โชคไม่ดีไป เครื่องเซ่นนี้ถือเป็นใบเบิกทางไปสู่สวรรค์ และนี่ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมต้องมีการเซ่นของให้แก่เทพ และเป็นนำมาใช้ปฏิบัติต่อ ๆ กันมา


ถึงสมัยปัจจุบัน พิธีกรรมดังกล่าวก็ยังมีอยู่ และอาจเป็นด้วยธรรมเนียมปฏิบัติแบบนี้เองที่เราก็อาจจะติดธรรมเนียมเครื่องเซ่น และไปเบิกทางมาใช้กันแม้จะไม่ใช่กับเทพก็ตาม หาดูได้ที่เมืองไทย หรือหลายประเทศในเอเชียของเราเรื่องเซ่นเพื่อเปิดทางยังมีให้เห็นกันโดยทั่วไป (หรือว่าคนที่ได้รับเครื่องเซ่นเหล่านั้นกลายเป็นเทพกันไปแล้วกระมัง) เรียกได้ว่าการเรียกร้องใบเบิกทางนี้มีตั้งแต่เจ้าลงมาถึงมนุษย์


2


พูดถึงเทศกาลเต็ตกันต่อ ก่อนหน้าวันเต็ต 1 วันเป็นวันจ่าย เขาจะจับจ่ายใช้สอยซื้อข้าวซื้อของ ในอดีตนั้นตามธรรมเนียมจะซื้อเสื้อใหม่ และหมวกใหม่ และถ้าใครมีหนี้ก็จะรีบใช้หนี้ให้หมด เพื่อจะได้เริ่มปีใหม่ที่ดี ขนมสำคัญที่เตรียมไว้และยังคงขายดิบขายดีสำหรับเทศกาลนี้ คือ บั๋นจึ๋งหรือบ๊ะจ่าง และหย่อคือหมูยอ (ที่เวียดนามเขาจะเป็นแบบท่อนใหญ่มาก ๆ) และทุกคนก็จะมาอยู่ที่บ้านกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา


มีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่งที่พึงรู้ก็คือ ในช่วงวันเต็ตหรือวันปีใหม่นั้น อย่าเผลอไปบ้านใครแบบที่เขาไม่ได้เชิญหรือไม่ได้แจ้งล่วงหน้านะ เพราะว่าเขาถือกันมากในเรื่องนี้


ในช่วง 3 วันของเทศกาลเต็ตนั้น วันแรกเป็นวันสำหรับเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่นับถือ และคนที่ไปถึงบ้านของแต่ละคนเป็นคนแรก เขาก็เลือกเช่นกันว่าจะเป็นใครมาเยี่ยม เพราะถือว่าเป็นแสดงฐานะของทั้งปี หากมีคนจนที่แต่งตัวซอมซ่อมาที่บ้านเป็นคนแรก เจ้าของบ้านจะไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับว่าปีนี้ตัวเองจะแย่ไปทั้งปี

ดังนั้น สำหรับชาวเวียดนามในยุคหลัง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่า คนที่จะมาเยี่ยมนั้นเป็นมงคลแน่นอน เขาก็จะดูปีเกิดของคนว่าเกิดปีที่ถูกกับปีนั้นหรือไม่ แล้วฐานะของคน ๆ นั้นเป็นอย่างไร แล้วเชิญคน ๆ นั้นมาที่บ้านเสียตั้งแต่หลังเที่ยงคืน เรียกได้ว่าพอเริ่มวันใหม่ปั๊บคนนี้ก็มาเยี่ยมปุ๊บ เป็นศิริมงคลอย่างยิ่ง (เพราะเชิญเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว) และหลังจากนั้นใคร ๆ ก็สามารถเข้าไปได้แล้ว


วันที่สอง จะเป็นการไปเยี่ยมเพื่อน ๆ และครอบครัวของภรรยา และวันสุดท้ายก็ไปเยี่ยมครูบาอาจารย์ ซึ่งเทศกาลเต็ตนั้นสำคัญที่สุดอยู่แค่ 3 วันนี้เท่านั้น ที่เหลือก็เป็นการเฉลิมฉลองเอาเอง เมื่อก่อนนี้เมืองเงียบไปเลยประมาณ 2-3 อาทิตย์ หรือ 1 เดือน ปัจจุบันนี้ก็อย่างน้อย 1 อาทิตย์ที่เราไม่สามารถติดต่องานกับคนเวียดนามได้


ในช่วงเต็ตนี้ก็มีการห้ามทำหลายอย่าง ซึ่งเป็นความเชื่อเดียวกับจีนนั่นแหละเช่น ห้ามกวาดบ้าน เพราะว่าจะเป็นการกวาดโชคออกไปด้วย ห้ามยืมเงิน เพราะว่าจะทำให้จนไปทั้งปี ห้ามขอน้ำ ขอไฟจากคนอื่นจะทำให้โชคร้าย และห้ามพูดคำหยาบ ต้องพูดจากันด้วยคำพูดที่ดี ๆ เพราะเท่านั้น


อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเพียงตำนาน ทุกวันนี้ แม้เต็ตยังคงจะมีความหมายต่อชาวเวียดนามอยู่ แต่พฤติกรรมและวิถีปฏิบัติของผู้คนก็ได้เปลี่ยนไปมาก เพราะสิ่งเกิดขึ้นช่วงก่อนวันเต็ต ถ้ามีโอกาสไปเห็น ผู้คนจะไม่ได้เพียงการซื้อรองเท้า และหมวกใหม่เท่านั้น แต่เรื่องกลับยุ่งยากมากขึ้น เพราะผู้คนแห่กับไปซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ไม้สอยใหม่เข้าบ้าน ทาสีบ้านใหม่ ด้วยความเชื่อที่ว่าความสดใหม่จะนำมาซึ่งสิ่งดี ๆ ในชีวิต การซื้อสินค้าจำเป็นอย่างพวกของสดของแห้งทั้งหลายก็ต้องซื้อเข้ามาตุนไว้จำนวนมาก ทั้งนี้เพราะบรรดาร้านรวงต่างจะหยุดกิจการเป็นเวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ หรือบางทีก็อาจจะนานกว่านั้น


ดังนั้น ราคาสินค้าจึงสูงขึ้นอย่างผิดปรกติ แต่ผู้คนก็รับได้โดยเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นราคาเต็ต อันที่จริงการขึ้นราคาของตามอุปสงค์และอุปมานนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดปรกติแต่อย่างใด เพราะในประเทศไทยเองก่อนหน้าเทศกาลตรุษจีน 1 สัปดาห์ บรรดาของสดและผลไม้ทั้งหลายก็จะแพงขึ้นประมาณ 1-3 เท่า พอหลังจากช่วงตรุษจีนผ่านไปราคาก็จะลดลงมาอยู่ในราคาปกติ


ที่น่าประหลาดใจที่การขึ้นราคาสินค้านี้สินค้าในช่วงเต็ตของเวียดนามนี้ ไม่ได้เป็นเพียงพวกของกินของสด อย่างเช่นผัก ผลไม้ หรืออาหารเท่านั้น แต่โทรทัศน์ วิทยุ สเตริโอ เฟอร์นิเจอร์ หรืออื่น ๆ อาจจะเรียกได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ราคาค่าขัดรองเท้า ค่ารถสามล้อ หรือค่าเติมลมยางรถจักรยาน ก็แห่กันขึ้นราคาไปได้ด้วย และการขึ้นราคานั้น ก็เป็นราคาที่เรียกได้ว่าเป็นขึ้นราคาตามชอบใจของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลาย ที่สามารถขึ้นได้ตั้งแต่ 1-10 เท่าเป็นอย่างน้อย และอันนี้ก็เป็นเรื่องหนักใจของรัฐบาลอยู่ทุกปีที่ไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าได้เลย และที่สำคัญมันจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่ทุกคนเลยต้องทำใจยอมรับหากซื้อข้าวของในช่วงนี้ว่านี่คือราคาเต็ต ต่อมาหลังจากนั้นทุกอย่างก็เข้าสู่ภาวะปกติ


3


ดังนั้น ในช่วงเทศกาลตรุษจีนในบ้านเรา หากมีบางคนเตรียมตัวไปเที่ยววันหยุด ถ้าไม่ได้มีญาติที่ต้องไปเยี่ยมเยียนอยู่ที่นั่นแล้ว เลือกเวียดนามไว้เที่ยวในช่วงอื่นน่าจะได้รับความประทับใจจากเวียดนามได้มากกว่าเป็นไหน ๆ เพราะอาจจะต้องไปพบกับสินค้าราคาแพงหรืออยู่กันอย่างเหงา ๆ เพราะร้านรวงเขาไม่ค่อยเปิดกัน


อันที่จริงคนไทยน่าจะได้เรียนรู้ รู้จัก และผูกสัมพันธ์เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามเราให้มากกว่านี้ ค่าที่เวียดนามกับประเทศไทยกับเวียดนามนั้นมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่คล้าย ๆ กัน ดูได้ตั้งแต่ขนาดจำนวนประชากร 80 ล้านกับ 60 ล้าน ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ส่งอาหารทะเลออก และถูกตัดจีเอสพีจากกลุ่มสหภาพยุโรปพร้อม ๆ กัน เวลาที่ใช้ เวลาเดียวกัน วิถีสังคมที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน และต้องไม่ลืมว่า ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ เวียดนามเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่ระดมทุนจากในประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งที่เศรษฐกิจของเวียดนามอาจจะต่ำกว่า บรูไน สิงค์โปร มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งไทย


ดังนั้น อาจมีภาษาพูดที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็คงจะไม่ยากที่จะทำความรู้จัก เข้าใจ และคบหาเป็นมิตรที่ดีต่อกัน และคงไม่ยากที่จะร่วมมือกันในโครงการต่าง ๆ น่าเสียดายที่เราได้ถูกมิตรประเทศจากแดนไกลแยกคนเอเชียให้แยกออกจากกัน โดยการนำลัทธิการปกครองที่ต่างกันเข้ามาครอบ จึงทำให้เราขาดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและขาดการเรียนรู้ต่อกัน รวมทั้งสร้างกระแสให้มีความชิงชังกันด้วยซ้ำ


ถึงเวลานี้ เราควรจะหันมาคิดใหม่ ทำใหม่ หันมาใส่ใจกับเพื่อนบ้านให้มากขึ้น น่าจะดีไม่น้อย


Chuc Mung Num Moi อ่านว่า จุ๊ค มึ่ง นัม เม่ย
สวัสดีปีใหม่เวียดนามค่ะ