Skip to main content

บนเส้นทางพิทักษ์สิทธิเด็ก : "ศูนย์เพื่อน้องหญิง" (๑)

คอลัมน์/ชุมชน

นานมากแล้วครับที่ไม่ได้กลับบ้านที่เชียงราย แต่พอกลับบ้านทีไรก็ต้องเข้ามาแวะเยี่ยมเยียน "ศูนย์เพื่อน้องหญิง" เพราะที่นี้เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของผม และเป็น "พื้นที่" ที่ทำให้ผมได้สัมผัส "บรรยากาศ" ของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้านด้านสิทธิเด็ก


 


ก่อนจะถึงบ้านเพียงห้าร้อยเมตร ก็จะผ่านศูนย์เพื่อน้องหญิงที่อยู่ด้านซ้าย  ในศูนย์จะมีบ้านอยู่ ๑ หลัง มีห้องสมุดชุมชน เวทีสำหรับจัดกิจกรรม และอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพหลายอย่าง เช่น โต๊ะเย็บผ้า ห้องเสริมสวย เป็นต้น


 


เมื่อกลับมาถึงบ้าน ผมก็รีบจัดแจงเก็บกระเป๋าไว้ในห้อง และเปิดโทรทัศน์เพื่อติดตามข่าวสารบ้านเมือง ดูข่าวแรกผ่านไปก็เป็นเรื่องการเมือง ดูไปเรื่อยๆ ก็มีข่าวที่เด็กถูกข่มขืน และพอเปลี่ยนช่องใหม่ก็มีข่าวในทำนองเดียวกันนี้ปรากฏขึ้นอีก –ผมดูแล้วก็นึกถึงชุมชนที่เกิดเหตุการณ์นั้นว่าที่เด็กถูกกระทำแบบนั้น สภาพครอบครัวเด็ก หรือชุมชนแวดล้อมมีสภาพเป็นอย่างไร จะเหมือนกับชุมชนที่ผมอยู่มากน้อยเพียงใด


 


ต่อมาก็คิดไปว่า หากในชุมชนที่เกิดเหตุการณ์การข่มขืนเด็ก การทารุณกรรมหรือแม้แต่การล่วงละเมิดสิทธิเด็กด้วยการกระทำต่างๆ นั้น มีการทำงานของคนในชุมชนเหมือนๆ ที่องค์กรด้านสิทธิเด็กต่างๆ ทำ หรือ เหมือนๆ กับที่ "ศูนย์เพื่อน้องหญิง" ทำอยู่ก็น่าจะดีไม่น้อย  ปัญหาเหล่านี้จะได้ลดลงและผู้คนช่วยกันเฝ้าระวังและตระหนักถึงสิทธิเด็กมากยิ่งขึ้น


 


ดังนั้น เราน่าจะมาทำความรู้จัก "ศูนย์เพื่อน้องหญิง" กันสักหน่อย  จะได้รู้ว่าก่อนที่จะมาถึงวันนี้ การเดินทางบนถนนแห่งการพิทักษ์สิทธิเด็กของศูนย์เพื่อน้องหญิงเป็นอย่างไร


 


จุดเริ่มต้นของการเดินทาง


 


ตำบลแม่อ้อ เป็นตำบลเล็กแห่งหนึ่งของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีระยะห่างจากตัวอำเภอ ๑๘ กิโลเมตรและห่างจากตัวจังหวัด ๓๕ กิโลเมตร ปัจจุบันมีหมู่บ้านในตำบลจำนวน ๒๐ หมู่บ้าน มีโรงเรียนระดับประถมศึกษา ๙ แห่ง โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ๑ แห่ง


 


ย้อนไปเมื่อ ปี พ.. ๒๕๓๘ หรือเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา แม่อ้อมีความแตกต่างไปจากสภาพในปัจจุบันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งถนน หนทาง การคมนาคม ไปจนถึงสัญญาณโทรศัพท์มือถือ  ตำบลแม่อ้อ เมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมานั้นยังไม่ค่อยมีความเจริญก้าวหน้าเหมือนในปัจจุบัน มีผู้คนเดินทางออกนอกตำบลไปทำงานต่างจังหวัด  บ้างก็ทำงานต่างประเทศ ซึ่งส่วนมากจะเป็นชายและหญิงในวัยทำงาน


 


การเดินทางไปทำงานต่างถิ่นของผู้คนทำให้สภาพชุมชนมีเพียงผู้สูงอายุและเด็กเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน สมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนมัธยมศึกษาระดับตำบล เด็กที่เรียนจบชั้นประถมศึกษา ๖ ก็ต้องเดินทางไปเรียนอีกตำบลหนึ่ง หรือไปเรียนในโรงเรียนประจำอำเภอ แต่สิ่งที่เกิดในตอนนั้นคือ หากเด็กคนไหนเรียนจบ ป. ๖ ส่วนมากจะไม่ได้เรียนต่อ แต่ถูกส่งไปทำงานต่างถิ่น ด้วยวัยที่ยังไม่มีความรู้ทันสังคมสักเท่าใดนัก


 


สิ่งที่ตามมาเมื่อเด็กต้องออกไปทำงานในต่างถิ่นแล้ว ส่วนหนึ่งที่เด็กต้องถูกส่งไปทำงานนั้นคือ "การขายบริการทางเพศ" ซึ่งตอนนั้นมีเด็กจำนวนมากที่ถูกครอบครัวขายให้กับนายหน้าเพื่อไปขายบริการทางเพศ บางคนถูกส่งไปต่างประเทศ บางคนถูกส่งเข้ากรุงเทพฯ และนอกจากยังพบว่าเด็กถูกกระทำชำเราและทารุณกรรมทางเพศมากขึ้น


 


แม้ว่าปัญหาการขายบริการทางเพศ หรือ "ตกเขียว" และการทารุณกรรมเด็ก นั้นจะมีมากขึ้นเท่าใด แต่ก็มีความพยายามขององค์กรภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเด็กและผู้หญิงที่มีการลงพื้นที่ จัดกิจกรรม รณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องการขายบริการทางเพศ และเรื่องสิทธิแก่คนในชุมชน และงานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ "การสร้างอาสาสมัครเพื่อเด็กและเยาวชน" เพื่อจะเป็นอาสาสมัครที่คอยช่วยเหลือ และให้ความรู้แก่คนในชุมชน


 


ในการสร้างอาสาสมัครเพื่อเด็กและเยาวชนนี้ จัดโดย มูลนิธิผู้หญิง ร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน (สมัยนั้น) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดกระบวนการฝึกอบรมพัฒนาอาสาสมัคร ซึ่งกระบวนการในการสร้างอาสาสมัครในการทำงานคุ้มครองและป้องกันเด็กที่ถูกทารุณกรรมทางเพศนั้น ได้มีการประกาศรับสมัครคนที่สนใจมาเข้าร่วมอบรมโดยจะจัดในระดับอำเภอ ซึ่งอำเภอพานนั้นมีหลายตำบล จึงมีการประชาสัมพันธ์ไปยังหมู่บ้านต่างๆ ในแต่ละตำบลให้คนที่สนใจสมัครเป็นอาสาสมัคร


 


"ปี ๒๕๓๘ ได้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อรับสมัครอาสาสมัครเพื่อชุมชนขึ้น จึงสนใจเพราะเริ่มอยากทำอะไรเพื่อชุมชนมากขึ้น" เสียงสนทนาของ นาฏนารี หลวงมอย หรือ พี่ลอยด์ หนึ่งในผู้ที่สนใจเข้าร่วมสมัครเป็นอาสาสมัคร ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาสมัคร พี่ลอยด์ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลที่สถานีอนามัยประจำตำบลและเป็นผู้ดูแลเด็กในชั้นอนุบาล รวมทั้งยังรับจ้างทำงานทั่วไป พี่ลอยด์เล่าว่า ตอนนั้นไม่รู้จักเรื่องสิทธิเด็ก ไม่เคยได้ยินข่าวสารความรู้ด้านนี้ บางครั้งเวลาที่เด็กร้องไห้ งอแงก็อยากตี และย้ำว่าตอนนั้นไม่สนใจอะไรมาก ทำแต่งานอย่างเดียว


 


ดูเหมือนว่าการทำงานไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทำให้สนใจเรื่องที่เกิดกับเด็กเลย พี่ลอยด์เล่าเสริมต่อ "ช่วงนั้นเริ่มมีสถานการณ์การค้าประเวณี เห็นชาวบ้านทุกข์ไม่มีการช่วยเหลือ เราก็คิดว่างานที่ทำอยู่ไม่ค่อยได้ช่วยชาวบ้านเท่าไหร่ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สนใจและเข้ามาสมัครเป็นอาสาสมัครเพราะอยากช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง"


 


แต่อย่างไรก็ตาม หากจะสมัครเป็นอาสาสมัครคนเดียวก็ดูจะลำบากอยู่ ตอนนั้นพี่ลอยด์ จึงชวนเพื่อนรุ่นน้องอีกคนหนึ่งคือ นุจเรจ ทะรินทร์  หรือ พี่หล้า ซึ่งเป็นรุ่นน้องที่รู้จักกันมานานเข้าร่วมสมัครด้วยกัน


 


"ตอนนั้นก็รู้จักพี่ลอยด์และก็คิดว่าอยากจะทำอะไรเพื่อชุมชนด้วย" คำอธิบายถึงที่มาที่ไปของพี่หล้าต่อ การร่วมกับพี่ลอยด์เพื่อจะเป็นอาสาสมัครเพื่อชุมชน


 


เมื่อพี่ลอยด์ กับ พี่หล้า ได้เข้าร่วมอบรมเป็นอาสาสมัครเพื่อชุมชนแล้ว ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมเพื่อชุมชนตามแผนของโครงการและเมื่อภายหลังจากการทำกิจกรรมตามโครงการอาสาสมัครเพื่อเด็กและเยาวชนเสร็จสิ้น ทั้งสองก็เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องทำอะไรสักอย่างขึ้นมาให้กับชุมชน


 


"หลังอบรมเป็นอสม.ก็เห็นว่า ไม่มีใครมาช่วยชาวบ้าน ช่วยคนที่เดือดร้อนจึงเกิดความคิดที่จะรวมกลุ่มเยาวชนในชุมชนขึ้น เพื่อให้เด็กมีที่พบปะ มาทำกิจกรรม เรียนรู้ข่าวสารต่างๆ"


 


พี่ลอยด์ บอกถึงเหตุผลและแรงจูงใจที่ทำให้การอบรมที่ตั้งใจนั้นได้เสียเปล่าประโยชน์ไปเปล่าๆ


 


นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง แหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนในเรื่องสิทธิเด็กและผู้หญิง แหล่งทำกิจกรรมของเยาวชนในชุมชนที่จะใช่มาพบปะ พูดคุยกัน


 


จึงเป็นที่มาของสถานที่แห่งนี้  ที่ทุกคนเรียกว่า "ศูนย์เพื่อน้องหญิง"และเป็นที่มาของบทเพลงที่พวกเราแต่งขึ้นมา, เพลงที่ว่า……


 


"มีคนสองคน


ทำงานเพื่อเยาวชน


สละเวลาของตน


สร้างคนสร้างศูนย์ขึ้นมาพัฒนาสังคม


มีเยาวชนในตำบลมาร่วมพัฒนา


สร้างความเป็นธรรมขึ้นมา


ก็เพราะว่าสิทธิของเรา


มีเยาวชนในตำบลมาร่วมพัฒนา


จนกลายเป็นศูนย์ขึ้นมา


และทุกคนเขาก็เรียกกันว่า


....ศูนย์เพื่อน้องหญิง"


 


 


ขออภัยอย่างยิ่งที่หารูปประกอบไม่เจอ แต่หากอยากเห็นกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์เพื่อน้องหญิง
ก็สามารถติดต่อ ได้ที่ ๐๕๓ - ๖๗๑๑๔๕ ได้ครับ


 


(โปรดติดตามตอนต่อไป)