Skip to main content

วิชาความรัก

คอลัมน์/ชุมชน


 


นานมาแล้วเคยนั่งดูโทรทัศน์รายการหนึ่ง เขาให้นักศึกษาส่งข้อความมาบอกว่า อยากให้ครูสอนวิชาอะไรบ้างในโรงเรียน จำได้ว่ามีคำตอบชื่อรายวิชาความรักที่มีเนื้อหาน่าสนใจหลายเรื่อง เช่น วิธีรับมือกับการอกหัก การหาแฟน วิธีบอกเลิก และการสับหลีกกิ๊ก เป็นต้น


 


คำตอบของเด็กทำให้ตัวเองเกิด "คำถาม" ขึ้นว่า ถ้าเราเป็นครู เราจะสอนอะไร และสอนอย่างไร เพราะ"มนุษย์ไม่เหมือนกัน" และจากประสบการณ์ที่เคยรักและเคยถูกรัก ทำให้เรียนรู้ว่า ความต้องการต่อการตอบสนองจากคนรักของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน?


 


คำตอบเรื่องการสอนวิชาความรักเริ่มมีทิศทาง เมื่อได้ฟังอาจารย์จอน อึ้งภากรณ์ รักษาการวุฒิสภา กทม. ปาฐกถาเรื่อง "ความรักบนฐานของความหลากหลายทางเพศ" ในการประชุมครบรอบ ๓ ปีของสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


อาจารย์จอนพูดออกตัวว่า "ผมไม่ค่อยเชี่ยวชาญในเรื่องความรัก จึงหาข้อมูลจากการค้นหาความหมายจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งน่าสนใจว่า ความรักในเชิงวิทยาศาสตร์นั้น ได้บอกไว้ว่า ผู้ชายจะเลือกคู่ที่มีหน้าตาเหมือนกับแม่ และผู้หญิงจะเลือกคู่ที่มีหน้าตาเหมือนกับพ่อ หรือ ผู้หญิงจะเลือกคู่จากกลิ่นที่มีภูมิคุ้มกันคนละแบบเดียวกับเรา?"


 


จากข้อมูลความรักในเชิงวิทยาศาสตร์ จึงทำให้รักษาการวุฒิสภาท่านนี้เกิดความรู้สึกคับข้องใจว่า ทำไมความรักจึงถูกกำหนดไว้แล้วดั่งชะตากรรม เราไม่มีอิสระที่จะเลือกเลยหรือ


 


ดังนั้น อาจารย์จอนจึงได้เสนอนิยามความรักและข้อปฏิบัติระหว่างคนรักไว้อย่างน่าสนใจว่า "ความรัก คือ ความรู้สึกที่อยากอยู่กับคนๆ หนึ่ง (หรือมากกว่าคนหนึ่ง) และมีความสุขมากที่ได้อยู่กับคน แต่จะต้องเป็นความรักที่สร้างสรรค์ ให้ความสุขและให้พลังชีวิต ทำให้ชีวิตมีความหมาย โดยมีความเคารพสิทธิและความเท่าเทียม ไม่เอารัดเอาเปรียบกันของคนสองคน (หรือทุกคน) ดังนี้


 


หนึ่ง เป็นความรักที่เต็มใจพร้อมใจกันทั้ง ๒ คน หรือทุกคน


สอง เป็นความรักที่เท่าเทียมกันไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่า


สาม หวงแหนทะนุถนอมกันปราศจากการใช้ความรุนแรงทั้งกายและใจ


สี่ มีความไว้วางใจ เชื่อใจและโปร่งใสตรงไปตรงมา


ห้า จะต้องไม่มีความเป็นเจ้าของ


หก การมีเพศสัมพันธ์ต้องมีความพร้อมทางวุฒิภาวะ


เจ็ด หากมีการแยกทางต้องมีความรับผิดชอบต่อบุตรร่วมกัน หรือรักษาน้ำใจกัน"


 


อาจารย์จอนทิ้งท้ายไว้ว่า "ความรักควรอยู่นอกกรอบบรรทัดฐานของสังคม ไม่ว่าใครหรือเพศไหน ควรจะได้รับสิทธิที่จะได้รักกันอย่างเปิดเผยและได้รับการยอมรับจากสังคม สังคมไม่ควรเข้าไปยุ่งกับความรักของบุคคล ยกเว้นเมื่อเกิดกรณีที่คู่รักนั้นถูกละเมิดสิทธิ หรือใช้ความรุนแรงต่อกัน"


 


 


ขณะที่ฟังอาจารย์จอนพูด ได้ลองนึกเทียบเคียงกับความรักที่ผ่านมาของตัวเองว่า คู่ของเรา ตรงตามข้อปฏิบัติซักกี่ข้อ ซึ่งพบว่า ไม่เท่ากันซักคน กับบางคนได้ ๔ ข้อ บางคนได้ ๕ ข้อ แต่ไม่มีคนไหนเลยที่เราจะสามารถทำได้ทุกข้อ?


 


จึงคิดว่า ความรักคือทักษะอย่างหนึ่งเหมือนๆ กับเรื่องอื่นๆ เช่น การหัดขี่จักรยาน หัดพูด หรือ หัดเขียน จึงต้องผ่านการฝึกฝน ทดลองทำบ่อยๆ แม้ว่าจะเป็นการลองผิดลองถูก ซึ่งอาจทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่นั่นจะยิ่งทำให้ผู้ลงมือทำเกิดความเชี่ยวชาญ หรือมีทักษะในการจัดการเรื่องความรักมากขึ้น โดยที่คำนึงถึงการเคารพสิทธิระหว่างกันและกัน ...สิทธิในเนื้อตัวร่างกายและสิทธิในการตัดสินใจที่จะออกแบบความรักและความสัมพันธ์...