Skip to main content

TG 03519

คอลัมน์/ชุมชน

1


ห็นคำนำหน้าว่า TG แล้วตามด้วยตัวเลข ผู้ที่เดินทางโดยใช้บริการทางเครื่องบินก็ย่อมรู้ดีว่า นี่เป็นชื่อเที่ยวบินเที่ยวใดเที่ยวหนึ่งของการบินไทย


ใช่ TG เป็นคำนำหน้าของเที่ยวบินของการบินไทย แต่ 03519 คงไม่ใช่เที่ยวบินจริง ๆ แน่ ๆ ตรวจเช็คได้ แต่เป็นชื่อสมมติให้เป็นเที่ยวบินเที่ยวหนึ่งของการบินไทย ที่จะทำให้ผู้โดยสารได้รับรู้เรื่องราวแบบครบรสในการบินไทย ใช่แล้ว นี่เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งที่บังเอิญไปพบมาแล้วอยากเล่าสู่กันฟัง


TG 03519 พิมพ์ออกมาครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2547 โดยสำนักพิมพ์ชานชาลา ผู้เล่าเรื่องโดยสามารถ เกิดผล และผู้เรียบเรียงคือ สุมิตรา จันทร์เงา ความจริงคงจะไม่มีอะไรที่จะต้องพูดถึงเที่ยวบินพิเศษ TG 03519 เลยถ้าหากว่าเมื่อตรุษจีนที่ผ่านมานี้ (9 กุมภาพันธ์) ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในการบินไทย


แต่เรื่องก็มีอยู่ว่า พนักงานการบินไทยได้ออกมารวมตัวกันประท้วงเพื่อคัดค้านการยกเลิกเส้นทางบินหลักที่เคยทำรายได้ต่อการบินไทยให้กับแอร์ เอเชีย อันจัดได้ว่าเป็นเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะรู้ ๆ กันอยู่ว่าแอร์ เอเชียเป็นของใคร และประท้วงคัดค้านวิธีการรับสมัครพนักงานแบบใหม่ รวมทั้งสอบถามเรื่องเงินเดือนว่า ทำไมถึงไม่ได้ขึ้นสักท


ก็เป็นธรรมดาเมื่อการบินไทยนั้นถูกเรียกว่าเป็น "สายการบินแห่งชาติ" (แม้ว่าปัจจุบันอาจเป็นของคนไม่กี่กลุ่ม ดูได้จากรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่) จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้คนจะวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นกับการบินไป เห็นข่าวนี้ และเห็นผู้คนที่เข้าไปอ่านข่าวทางเว็บไซต์มีข้อถกเถียง แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การบินไทยกันต่าง ๆ นานา รวมทั้งตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับการบินไทย ก็นึกขึ้นมาได้ว่าหลาย ๆ เรื่องเคยอ่านพบมาแล้วในหนังสือเล่มนี้


ตัวอย่างเช่น กรณีนโยบายการรับพนักงานที่จะรับจาก outsource หรือรับสมัครจากบริษัทจัดหางานโดยไม่มีการรับตรงโดยการบินไทย หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือทำคล้าย ๆ กับการจัดจ้างยามหรือบริษัททำความสะอาดนั่นเองโดยส่วนของการรับ outsource ของการบินไทยนี้จะมีสัญญาครั้งละ 3 ปี โดยครั้งนี้จะมีการรับพนักงานเพิ่มอีก 500 คน


ในหนังสือชื่อ TG 06519 ที่พิมพ์ออกมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (2547) ก็ได้มีพูดถึงเอาไว้แล้วว่า "การบินไทยต้องรับพนักงานเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 500 คน เพื่อรองรับเครื่องบินที่กำลังจะส่งมอบมาใหม่อีกหลายลำ แต่การรับสมัครลูกเรือรุ่นล่าสุดและรุ่นต่อ ๆ ไปจะเป็นการรื้อระบบการรับสมัครงานของการบินไทยทั้งหมด เนื่องจากฝ่ายบริหารมีนโยบายให้รับสมัครมาจากบริษัทจัดหางานอีกทอดหนึ่ง ในลักษณะ outsource จะไม่รับเองอีกต่อไป เพื่อลดปัญหาการรับฝากเด็กส่วนหนึ่ง กับลดปัญหาข้อพิพาทแรงงานอีกส่วนหนึ่ง"


นี่ก็แสดงว่าเรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันมานานสมควรแล้ว แต่น่าแปลกใจที่ทำไมถึงไม่มีใครพยายามออกมาพูดหรือคัดค้านในตอนนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้อยู่แล้วว่ามีการออกนโยบายที่กระทบกระเทือนพนักงานโดยตรง ทางสหภาพแรงงานน่าจะได้ติดตามและทวงถามกันมาตั้งนานแล้ว หรือคิดว่าคิดว่าเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นจริงเลยเฉยๆไปก่อน


2


การบินไทยซึ่งเป็นองค์กรใหญ่และดูแลสายการบินแห่งชาติ และเป็นสถานที่ทำงานในฝันของคนหลาย ๆ คน ทั้งบรรดาหนุ่มสาวที่อยากเข้ามาเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่ต้องการเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการ หรือ board เพราะใคร ๆ ก็รู้ดีว่าสวัสดิการที่นี่ดีขนาดไหน ดังนั้นการบินไทยจึงเป็นองค์กรที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า อาจคล้ายกับโฆษณาของกระทรวงสาธารณสุขที่รณรงค์ให้คนกินผักที่ว่า ผักครึ่งนึง อย่างอื่นครึ่งนึง แต่ที่การบินไทยก็อาจจะเป็นแบบ ฝากครึ่งนึง อย่างอื่นครึ่งนึง หรือเปล่า


"ในประวัติศาสตร์การคัดเลือกพนักงานต้อนรับของการบินไทยนั้น อาจกล่าวได้ว่า แทบไม่มีรุ่นใดเลยที่ปราศจากเด็กฝากจากผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจทางการทหารและการเมืองแต่ละยุค" สามารถ เกิดผล, TG 03519 หน้า 212


ด้วยเหตุว่าในหนังสือ TG 03519 ที่ดูเหมือนตั้งใจว่าจะให้เป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตและการทำงานของคน ๆ หนึ่ง คือคุณสามารถ เกิดผล ที่ใช้ชีวิตอยู่ในการบินไทยถึง 33 ปี ที่เริ่มต้นตั้งแต่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือสจ๊วต จนกระทั่งตำแหน่งสุดท้าย ผู้บริหารฝ่ายพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ทำงานจนเกษียณอายุในการบินไทย แต่ปรากฏว่าถ้าตัดเนื้อหาเรื่องส่วนตัวของคุณสามารถออกไป หนังสือเล่มนี้กลับเป็นเสมือนการเล่าเรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลัง และหลาย ๆ เรื่องก็เป็นเบื้องลึกในการบินไทย ดังนั้นหนังสือเล่มนี้อาจจัดเป็นการเผยให้เห็นอีกมุมหนึ่งของการบินไทยจากคนในเอง


เนื้อหานั้นมีตั้งแต่ที่การบินไทยเริ่มก่อตั้ง การบริหารการบินไทยภายใต้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) ตั้งแต่คนแรก ๆ ที่เป็นฝรั่งจาก SAS และจนกระทั่งมาถึงกนก อภิรดี คนปัจจุบัน รวมทั้งนโยบายของการบินไทยที่ปรับเปลี่ยนภายใต้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลชุดต่าง ๆ รวมทั้งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการทำงานของบรรดาแอร์ และ สจ๊วต หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งในองค์กรก็ยังถูกนำมาพูดถึง


อ่านไปอ่านมาพบว่า นี่ไม่ใช่หนังสือประวัติบุคคลแล้วแต่อาจเป็นหนังสืออ้างอิงได้เลย อยากรู้ว่าการบินไทยมีเครื่องบินแบบไหนบ้างอย่างละกี่ลำก็หาได้ในหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งพนักงานมีกี่คน เงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงของคนการบินไทยเท่าไรก็มีบอกเอาไว้ เราจะได้รู้ว่าที่พนักงานการบินไทยเรียกร้องขึ้นเงินเดือนนั้นชอบธรรมหรือไม่ หลายคนที่วิพากษ์วิจารณ์แบบขาดข้อมูล รับรองว่าต่อไปนี้สามารถวิจารณ์ได้อย่างเข้าใจมากขึ้นไม่ว่าจะทางบวกหรือลบ


3


อย่างไรก็ตาม นับเป็นความชอบธรรมที่พนักงานการบินไทย จะออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเองในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการยกเส้นทางการบินที่การบินไทยทำรายได้อยู่ไปให้สายการบินอื่น หรือการที่ออกมาปรับเปลี่ยนระบบการรับสมัครเจ้าหน้าที่แบบบริษัททำความสะอาด เพราะว่าในกรณีสายการบินแห่งชาติที่ตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่อาจจะเรียกว่าไม่ค่อยดีนัก ทั้งในเรื่องของรายได้ อันเนื่องมาจากมีสายการบินต้นทุนต่ำเข้ามาแย่งเส้นทางการบิน และแม้ในเรื่องบริหารที่อาจมีหลายเรื่องที่ไม่ทำให้พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลก่อนที่จะมีนโยบายใหม่ออกมาได้ รวมทั้งการบริการที่ตอนนี้ก็มีเสียงออกมาต่าง ๆ นานาว่าเริ่มแย่ลงไปทุกขณะ


หากมองการบินไทยในเรื่องของการรับสมัครพนักงานแบบแรงงานภายนอกว่าเพื่อการลดต้นทุนแล้วก็เข้าใจได้ แต่ถ้ามองในฐานะของผู้โดยสารแล้ว ความจริงคนที่ต้องการใช้บริการการบินไทยและยอมจ่ายแพงกว่านั้นเพราะต้องการบริการที่ดีกว่า การที่พนักงานต้อนรับเป็นแบบแรงงานภายนอกที่ใช้เวลากับการบินไทยเพียงแค่ 3 ปี หมดสัญญานั้นก็จะทำให้การทุ่มเทกับการบริการลดลงไปหรือไม่ และจะไม่มีจิตใจภักดีกับองค์กร (Loyalty) อีกต่อไป เพราะไม่มีความผูกพันใด ๆ ต่อกัน ตรงนี้จะควบคุมได้อย่างไร


ก็น่าแปลกใจที่ทุกครั้งที่มีการพูดถึงการปรับปรุงหรือแก้ปัญหาในการบินไทยก็กลับกลายเป็นว่า เป็นการแก้ปัญหาต้นทุนทุกครั้ง และทุก ๆ ครั้งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือผู้โดยสาร เพราะมีการลดบริการต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร แทนที่จะลดสวัสดิการของ Board หรือของผู้ทรงอิทธิพลต่าง ๆ หรือลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยอื่น ๆ


การบินไทยเคยมีจุดขายเรื่องการบริการที่ทำให้คนหันมาใช้บริการ หลาย ๆ คนยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อบริการที่ดี น่าแปลกใจว่าทำไมถึงไม่เน้นบริการที่เหนือชั้นกว่าแต่กลับลดบริการ ซึ่งหากการบริการทำได้แค่เท่ากับสายการบินต้นทุนต่ำแล้วจะนั่งการบินไทยที่แพงกว่ากันไปทำไม การปรับปรุงการบินไทยจึงกลายเป็นไปเอื้อประโยชน์ให้สายการบินอื่นหรือเปล่า


นอกจากนั้นก็หวั่นเกรงต่อไปอีกนิดหน่อยในฐานะของผู้โดยสารว่า หากการบินไทยแก้ปัญหาลดต้นทุนด้วยวิธีการจ้าง outsource แล้วในอนาคตพวกฝ่ายช่าง ฝ่ายซ่อมบำรุง (maintainer) ล่ะ ต้องจ้าง Outsource ด้วยหรือไม่ เพราะว่าจ่ายถูกกว่าแน่นอน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ให้หวาดเสียวยิ่ง ด้วยว่าใครจะรับประกันความปลอดภัยล่ะคราวนี้ เห็นทีจะต้องนั่งไปสวดมนต์ไปจนกระทั่งได้ยินคำว่า "Cabin Crew, Prepare for landing"


เฮ้อ! ถึงซะที