Skip to main content

เส้นที่ต้องก้าวข้าม

คอลัมน์/ชุมชน

เลิกเรียนแล้ว แต่นักเรียนกลุ่มหนึ่งยังไม่กลับบ้าน  ตกลงกันว่าเล่นสนุกสักพักก่อนจะแยกย้ายกันไป  แล้วเส้น ๑ เส้นก็ถูกขีดบนพื้นดิน นักเรียนแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม  แต่ละกลุ่มยืนอยู่คนละด้านของเส้น  ทันทีที่เกม  "ตี่จับ" เริ่มขึ้น  กลุ่มแรกก็ส่งตัวแทนข้ามเส้นไปจับเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง พร้อมกับร้อง "ตี่" อย่างต่อเนื่อง   ขณะที่คนในกลุ่มนั้นก็ต้องจับตัวคนที่ล้ำเส้นเข้ามาให้ได้  การยื้อยุดฉุดกระชากจะจบลงต่อเมื่อเสียงตี่เงียบลง  ถ้าคนร้องยังอยู่ในเขตแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เท่ากับเป็นเชลยของฝ่ายนั้น  แต่ถ้าลากคนของอีกฝ่ายหนึ่งข้ามเส้นเข้ามาในแดนของของตนได้ คนนั้นก็ตกเป็นเชลย ฝ่ายไหนกลายเป็นเชลยหมด ฝ่ายนั้นก็แพ้ไป


 


ทีแรกทุกคนก็เล่นอย่างสนุกสนานและถ้อยทีถ้อยอาศัย  แต่ยิ่งเล่นไป ก็ชักแรงขึ้น จนถึงกับทุบตีและเตะต่อยคนที่ล้ำแดนเข้ามา  มีการด่าทอกันด้วยถ้อยคำหยาบคาย    ความสนิทสนมกลมเกลียวไม่หลงเหลือให้เห็น แม้จะมีการเปลี่ยนข้างสลับฝ่ายกัน  ด้วยความหวังว่าความรุนแรงจะเพลาลง แต่ก็ไม่เป็นผล  ครั้นปะทะกันจนเหนื่อย ก็หมดแรงเล่น  ทุกคนนั่งพักด้วยอาการเหนื่อยหอบ  มองหน้ากันโดยไม่พูดคุยกันเลย แต่ พอหายเหนื่อยก็เริ่มคุยกันใหม่  มีการหยอกล้อกัน เสียงหัวเราะดังขึ้น  แล้วทุกคนก็ลุกขึ้นเดินเกาะกลุ่มกันกลับบ้าน ความสนิทสนมกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งขณะที่อาทิตย์ใกล้จะลับฟ้า


 


นี้คือเนื้อหาของหนังเรื่อง "เพียงความธรรมดาของเส้น"  ซึ่งเป็น ๑ ใน ๑๒ หนังสั้นที่ฉายในเทศกาลหนังสั้น "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์"  ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๘ พฤษภาคมที่ผ่านมา   เนื้อหาของหนังเรื่องนี้ดูเหมือนธรรมดา เพราะเป็นเรื่องของเด็ก ๘ คนที่เล่นสนุก ๆ กัน แต่ที่จริงแล้วหนังได้ชี้ให้เห็นถึงอานุภาพของ "เส้น" แม้มีเพียง ๑ เส้น  แต่ทันทีที่ขีดแบ่งนักเรียนออกเป็น ๒ กลุ่ม  เพื่อนที่คุ้นเคยกันก็กลายเป็นคนละฝ่าย  จากเดิมที่เคยกลมเกลียวก็แปรเปลี่ยนเป็นปฏิปักษ์กัน จนถึงขั้นลงมือลงไม้กัน


 


คำถามที่น่าคิดก็คือ มีแต่เด็กนักเรียนเท่านั้นหรือที่ขีดเส้นแบ่งกันเป็น ๒ ฝ่าย  ใช่หรือไม่ว่าทุกหนแห่งในโลก  เส้นได้ถูกขีดขึ้นเพื่อแบ่งคนออกเป็น ๒ ฝ่าย  และมิได้แบ่งเวลาเล่นเกมกีฬาเท่านั้น  แต่ยังแบ่งกันในชีวิตจริง  เป็นแต่ว่ามิใช่เส้นที่ขีดบนบนดิน  หากขีดขึ้นในใจของผู้คน   อาทิ เส้นแบ่งทางศาสนา เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม  การศึกษา เศรษฐกิจ  เส้นแบ่งเหล่านี้เดิมอาจมีขึ้นเพื่อบ่งบอกว่าใครเป็นใคร มีอัตลักษณ์ต่างกันอย่างไร เช่น ฉันเป็นพุทธ เธอไม่ใช่พุทธ  แต่ไม่ช้าไม่นานมันทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายขึ้นและกลายเป็นปฏิปักษ์กันในที่สุด  ใครที่อยู่ฝั่งเดียวกันก็เป็น "พวกเรา" ใครที่อยู่อีกฝั่งก็เป็น "พวกมัน" ทั้ง ๆ ที่ก่อนที่จะมีเส้นแบ่ง ทุกคนก็ล้วนเป็นเพื่อนกันทั้งนั้น หรืออาจเป็นญาติพี่น้องร่วมสายเลือดด้วยซ้ำ


 


น่าแปลกก็คือ เราชอบขีดเส้นแบ่งซอยเพื่อกันผู้คนออกไปอยู่ฝายตรงข้ามกับตัวอย่างไม่หยุดหย่อน เริ่มจากแบ่งเป็นไทยและไม่ใช่ไทย   ครั้นอยู่ในหมู่คนไทยด้วยกัน ก็แบ่งออกเป็นพุทธและไม่ใช่พุทธ  ในหมู่ชาวพุทธด้วยกัน ก็แบ่งเป็นอีสาน เหนือ ใต้  กลาง กทม.  ในหมู่คน กทม.ก็อาจแบ่งเป็นพวกทักษิณ กับพวกไม่เอาทักษิณ  หรือแบ่งเป็นประชาชน ทหาร ตำรวจ  ในหมู่ทหารด้วยกัน ก็ยังแบ่งเป็นคนละพวกหากอยู่คนละหน่วย หรือจบจากต่างสถาบัน   แม้จบจากสถาบันเดียวกัน ก็ยังแบ่งเป็นคนละพวกเพราะจบคนละรุ่น  


 


ในทำนองเดียวกัน ในหมู่คนมุสลิมด้วยกัน ก็ยังมีเส้นแบ่งระหว่างมุสลิมมลายูกับมุสลิมที่มิใช่มลายู  ในหมู่มุสลิมมลายูด้วยกัน  ก็มีเส้นแบ่งเพื่อแยกสุหนี่กับชีอะห์ออกจากกัน  เส้นแบ่งนี้จะหายไปก็ต่อเมื่อมีเส้นแบ่งอันใหม่เกิดขึ้นแทน คือเส้นแบ่งระหว่างคนมุสลิมกับคนที่มิใช่มุสลิม แต่หากเส้นแบ่งดังกล่าวหายไปเมื่อไร  เส้นแบ่งระหว่างนิกาย หรือระหว่างชาติพันธุ์ก็ถูกขีดขึ้นมาใหม่ ผลคือความเป็นพวกเดียวกันหายไป ความเป็นปฏิปักษ์เกิดขึ้นมาแทนที่


 


เส้นแบ่งนั้นไม่ได้มีมาแต่กำเนิดหรือเมื่อเกิดมีมนุษย์ขึ้นมาในโลก หากเกิดจากฝีมือของมนุษย์  เราขีดเส้นเหล่านี้ขึ้นมาเอง  แต่แล้วกลับตกอยู่ในอำนาจของเส้นเหล่านี้  นอกจากจะปล่อยให้เส้นดังกล่าวกลายเป็นกรอบจำกัดมุมมองของเราแล้ว  เรายังพากันทำร้ายกันเพราะเส้นแบ่งดังกล่าว โดยไม่เคยเฉลียวใจเลยว่าแท้จริงเราทุกคนถ้าไม่ใช่พี่น้องก็เป็นเพื่อนร่วมโลก         


 


สิ่งหนึ่งที่ท้าทายความเป็นมนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็คือ การเอาชนะเส้นแบ่งเหล่านี้ หรืออย่างน้อยก็ดูแลให้มันอยู่ในที่ทางของมัน คือทำหน้าที่บ่งบอกอัตลักษณ์ที่ต่างกันเท่านั้น แต่ไม่ถึงกับกีดกันผู้คนออกเป็นฝักฝ่ายหรือศัตรูกัน  ถึงแม้จะเป็นพุทธ มุสลิม และคริสต์ ก็ยังเป็นเพื่อนกันได้   จะทำเช่นนั้นได้เราต้องกล้าที่จะข้ามเส้นแบ่งเพื่อไปสัมผัสสัมพันธ์กับคนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง  และเปิดใจรับฟังเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง  บางทีเราจะพบว่าเขาก็ไม่ได้ต่างจากเรา  แท้จริงแล้วเขากับเรามีความเหมือนมากกว่าความต่าง  คือ รักสุข เกลียดทุกข์  มีพ่อแม่ รักครอบครัว และมีน้ำจิตน้ำใจ เช่นเดียวกับเรา


 


นี้คือประเด็นที่หนังสั้นหลายเรื่องในเทศกาล "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์"  พยายามถ่ายทอด ในเรื่อง "ฉันมิตร"   พระภิกษุกับครูสอนศาสนาได้มาพบกันโดยบังเอิญ   เหตุไม่คาดฝันทำให้ทั้ง ๒ ฝ่ายได้แสดงน้ำใจออกมาให้แก่กันและกัน ทีแรกก็ทำอย่างกระอักกระอ่วน  แต่ความเอื้ออาทรก็ได้เป็นสะพานเชื่อมทั้งสองให้เป็นมิตรกัน  รวมทั้งเรียนรู้จากกันและกัน   ฝ่ายหนึ่งได้เรียนรู้ถึงการปล่อยวาง  ขณะที่อีกฝ่ายได้รับกำลังใจจากเพื่อนต่างศาสนา  ดังนั้นจึงเกิดความเคารพในศาสนาของกันและกันมากขึ้น


 


ส่วนหนังเรื่อง "Good Morning"  พูดถึงความหมางเมินระหว่างหนุ่มชาวสวนยางกับทหาร ซึ่งคลี่คลายมาเป็นมิตรภาพ หลังจากเฝ้าดูกันด้วยความระแวงติดต่อกันหลายวัน   แม้เรื่องนี้จะจบลงด้วยคำถาม แต่ก็ชวนให้คิดต่อว่าระหว่างหน้าที่กับมิตรภาพ อะไรสำคัญกว่ากัน  และเราสามารถประสานสองอย่างเข้าด้วยกันได้หรือไม่


 


ทุกวันนี้เราเน้นความต่างของกันและกันมากเกินไป  และตอกย้ำเส้นแบ่งราวกับว่ามันคือความจริงสูงสุดหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราต้องศิโรราบ       สิ่งที่เรายังขาดอยู่ก็คือสะพานที่จะพาเราก้าวข้ามเส้นแบ่งเหล่านี้เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกันกับเพื่อนมนุษย์ โดยเคารพความแตกต่างทางอัตลักษณ์   สะพานดังกล่าวที่สำคัญก็คือสื่อมวลชนซึ่งสามารถเปิดเผยให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังอัตลักษณ์ดังกล่าว   หนังสั้น "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์" เป็นหนึ่งในบรรดาสะพานดังกล่าวที่สังคมไทยต้องการอย่างมาก  แม้หนังสั้นดังกล่าวจะไม่ได้ให้คำตอบแก่เราในทุกเรื่อง แต่ก็ช่วยตั้งคำถามที่ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนความคิดเดิม ๆ ที่ติดอยู่ในใจเรา


 


เทศกาลหนังสั้น "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์"  เป็นความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ   นิตยสาร  Bioscope  องค์กร Action Aid    โครงการจัดตั้งมูลนิธิสื่อสาธารณะ  สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย  กลุ่มสื่อเมือง นอกจากการจัดที่กรุงเทพ ฯ แล้ว  เทศกาลหนังสั้นดังกล่าวมีกำหนดจัดในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ  ขณะเดียวกันยังมีการถ่ายทอดหนังสั้นผ่านเว็บไซต์ www.filmforpeace.net วันละ ๒ เรื่อง  รวมทั้งจัดทำเป็นดีวีดีแจกแก่หน่วยงานต่าง ๆ ในโอกาสต่อไป     ความคืบหน้าสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ดังกล่าว


 


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในโพสต์ทูเดย์ พฤษภาคม ๒๕๔๙