Skip to main content

พอเพียง เพียงพอ เมื่อพอใจ

คอลัมน์/ชุมชน

ค่อยๆ ผ่านพ้นไปกับพระราชพิธีฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี แต่บรรยากาศนี้จะคงอยู่ไปอีกอย่างน้อย 1 ปีในรูปสีเหลืองของเสื้อยืดที่จะละลานตากันทุกวันตลอดปีนี้  คนขายเสื้อยืดรวยไปแล้ว ส่วนคนใส่ไม่รู้ว่าจะซึมซับเอาปรัชญาความเชื่อเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ที่พระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปมากน้อยเพียงใด เพราะแค่ซื้อเสื้อยืดตัวละ 250 ถึง 500 บาทก็นับว่าเป็นการใช้จ่ายที่สูงมากพอควร โดยเฉพาะกับคนที่รายได้จำกัด หากต้องซื้อหลายตัวเพราะหน่วยงานบังคับให้ใส่ทุกวันก็คงจะแย่เหมือนกัน


 


อย่างไรก็ตาม เป็นการซื้อด้วยความเต็มใจ ชื่นชมยินดี  ปลาบปลื้มใจ ก็ช่วยให้มีความชุ่มชื่นในหัวใจพสกนิกร ในท่ามกลางบรรยากาศของภาคการเมืองการปกครองที่อึมครึม ไม่มีทางออก คาราคาซังกันอยู่อย่างนี้ ไม่มีใครถอยให้ใคร คณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่อาจทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งได้ เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ดูได้จากการที่เมื่อร้องขอให้ศาลมาร่วมทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ดังนั้น ไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อไร จะมีรัฐสภาครบถ้วนเมื่อไร และการดำเนินการเพื่อปฏิรูปการเมืองจะเริ่มต้นได้อย่างไร เป็นคำถามคาใจเราทุกคนที่อาจนำพาความไม่สบายใจให้ครอบงำชีวิตเราอยู่อย่างนี้


 


ดังนั้น วิกฤติควรเป็นโอกาสในการใช้ช่วงเวลานี้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการทบทวนตรวจสอบสภาพชีวิตและสภาพสังคมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็น่าจะเป็นสิ่งที่พสกนิกรไทยได้ตระหนักร่วมกัน  สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดพิมพ์เอกสารเล่มเล็กๆ ออกเผยแพร่สรุปแนวคิดเรื่องนี้ไว้ ไม่รู้ว่าได้แจกจ่ายกันออกไปกว้างขวางเพียงใด จึงใคร่ขอคัดลอกข้อความมานำเสนอสักเล็กน้อย ดังนี้  


 


"เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอก และภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต  และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี"   ดูเพิ่มเติมที่  http://sufficiencyeconomy.org 


 


สิ่งสำคัญคือความเข้าใจและยอมรับที่จะพอใจในชีวิต ในสังคม ในสภาวะแวดล้อม ในวัฒนธรรม ที่พอเพียง มีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ในท่ามกลางโลกแห่งการเร่งเร้าให้ผู้คนบริโภคทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า การดิ้นรนขวนขวายเพื่อสะสมทรัพย์ให้มั่งมีมากมาย โดยไม่คำนึงว่าได้เบียดบังทรัพยากรอื่นๆ ในโลกนี้ ที่มนุษย์ทุกคนต้องใช้ร่วมกัน ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีโอกาสมีอำนาจเท่านั้นที่จะครอบครอง การมีคนรวยมากๆ มีนักธุรกิจส่งออกที่รวยมากๆ  ขณะเดียวกันมีคนจนข้นแค้นไม่มีข้าวกิน ไม่มีทีดินทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย เหล่านี้ไม่ใช่เป็นการบริหารทรัพยากรอย่างพอเพียง และสายกลาง การเร่งรัดการส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่เกษตรกรไม่มีเงินพอจ่ายค่าเล่าเรียนลูก จ่ายค่ารักษาพยาบาล และไม่มีสวัสดิการใดๆ ยามแก่ชรา เช่นกันกับแรงงานในระบบอุตสาหกรรมที่เป็นแรงงานค่าแรงต่ำ มีรายได้ต่อวันเพียงพอประทังชีวิต หรือการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อแรงงานของภาคอุตสาหกรรมด้วยการไม่จ้างแรงงานประจำ แต่ใช้วิธีจ้างเหมาให้แรงงานนอกระบบทำงานป้อนโรงงาน โดยไม่ต้องรับผิดชอบสวัสดิการทางสังคมใดๆ ให้คนเหล่านี้เลย ยิ่งเป็นการเอาเปรียบกัน อย่างนี้จะถือว่าเป็นการดำเนินธุรกิจแบบพอเพียง แบบสายกลางได้อย่างไร


 


ประกอบกับการที่ประชาชนแต่ละคนต่างก็ไม่อาจสร้างภูมิคุ้มกันตนเองจากสิ่งเย้ายวนทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้บริโภคสิ่งที่ล้นเกินความจำเป็น การใช้เครื่องนุ่มห่มแบบฟุ่มเฟือย การใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบเกินความจำเป็น การบริโภคอาหารที่ไม่จำเป็นและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  เด็กๆ ถูกกระตุ้นให้บริโภคขนมที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการผ่านการดูรายการทีวีที่ไม่มีการควบคุมการโฆษณาใดๆ  การกระตุ้นการบริโภคถือเป็นปรัชญาแบบทุนนิยมที่มุ่งให้เกิดการใช้จ่ายอย่างเต็มที่ เพื่อให้คนได้มีความสุขกับวัตถุที่ไขว่คว้าหามาในครอบครอง การผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ จึงยังเติบโต เหล่านี้คือความอ่อนแอที่สังคมไทยต้องขยับปรับตัวให้มุ่งสู่การดำรงชีวิตอย่างมีเศรษฐกิจพอเพียง ดังพระราชดำรัสและปณิธานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน และส่งเสริมให้ดำเนินการ


 


เพื่อให้ความปลาบปลื้มปิติของปวงชนชาวไทยเกิดมรรคผลคุ้มค่ายั่งยืน คงต้องหันกลับมาดูชีวิตส่วนตัวของเราแต่ละคนว่า พอเพียง เพียงพอ และพอใจเพียงใด จากนั้นร่วมกันถักทอพลังแห่งความพอเพียงให้ขับเคลื่อนสังคมไทยต่อไป