Skip to main content

Spiritual Bypassing – มายาภาพจิตวิวัฒน์

คอลัมน์/ชุมชน


 


มีคำกล่าวในพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานกล่าวเตือนผู้ปฏิบัติธรรมไว้ว่า "ยิ่งเส้นทางที่เราเดินนำไปสู่ประสบการณ์ที่มีพลัง และลึกซึ้งมากเท่าไร กับดักก็ดูจะยิ่งกว้างและลึกตามไปมากเท่านั้น"


 


คำกล่าวนี้ดูจะสะท้อนความจริงในวิกฤตพุทธศาสนาที่เรากำลังเผชิญอยู่ เมื่อเราได้ยินเรื่องของพระอรหันต์ อริยสงฆ์ การตรัสรู้ โลกพระศรีอารย์ การปกป้องพระศาสนา หรือแม้แต่ "จิตวิวัฒน์" เองก็ตามที คนมากมายกลับเข้าใจสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ภายนอกตัว ซึ่งดูจะต่างจากสิ่งที่บรรพบุรุษมนุษยชาติพยายามสืบค้น แสวงหาคำตอบ นั่นคือ เส้นทางของประสบการณ์การเข้าถึงความจริงสูงสุดภายใน การรู้จักตนเอง เข้าใจหน้าที่และศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ หลอมรวม เรียนรู้และก้าวข้าม เมฆหมอกของความไม่รู้ ที่ดูจะอยู่คู่กับสังคมโลกียะมาโดยตลอด


 


เรื่องเหล่านี้จึงเป็นเสมือนดาบสองคม ที่เมื่อคนส่วนมากกลับชอบที่จะพูดถึง กลับมีน้อยคนที่จะค้นหา เรียนรู้ ปฏิบัติ และเผชิญหน้ากับชีวิต เพื่อการเรียนรู้เข้าถึงความจริงนั้นด้วยประสบการณ์ตรงของตนเอง มันกลับกลายเป็นกับดักตัวเอง จากการที่เรามัวแต่พูด ตีความถกเถียง ถึงสิ่งที่เราไม่เคยคิดที่จะเริ่มเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงตัวเอง และสัมผัสความงามตามประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของชีวิตด้านใน เรากำลังหมกมุ่นกับมายาภาพที่ล่องลอย พอกพูนทับถมเมฆหมอกแห่งความสับสนและความไม่รู้ให้หนาแน่นหนักยิ่งกว่าเก่า แนวทางที่เราเลือกใช้กับกลายเป็น Outside In เลือกที่จะเชื่อ เพิ่มพูนความสับสนและติดขัดจากเสียงภายนอกที่ตายแล้ว แทนที่จะเป็น Inside Out จากพลังแห่งการเรียนรู้และตื่นรู้อันเป็นพื้นฐานแห่งเสียงด้านในที่มีชีวิต


 


สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับในสถานการณ์ความเป็นจริงของโลกสมัยใหม่ ก็คือ เราทุกคนกำลังว่ายเวียนอยู่ในโลกแห่งข้อมูล ความเชื่อ แนวปฏิบัติ สิ่งที่บอกๆต่อกันมาจนไม่มีใครรู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ แม้แต่ในโลกแห่งธรรมะเองก็ตามที ที่ไม่มีใครสามารถบอกได้อย่างชัดเจนอีกต่อไป ว่าเราควรจะเชื่อถือใคร และเชื่อถืออะไรได้บ้าง เพราะทุกสิ่งดูจะท่วมท้นจากรอบด้าน หนังสือธรรมะเป็นหมื่นเป็นแสน วัดและศูนย์ปฏิบัติธรรมหลากหลายสำนัก ธรรมาจารย์ผู้อ้างตนเป็นอริยบุคคลผู้เข้าถึงความจริงสูงสุด กิจกรรมทางศาสนาที่ปนเปเข้ากับการแสวงหาชื่อเสียงและผลประโยชน์ทางโลก จนยากที่เราจะแยกแยะกันได้อีกต่อไป


 


ดูเหมือนว่าจิตวิญญาณความตื่นของพระพุทธองค์ กำลังถูกบิดเบือนสู่มายาภาพของความเป็นพระพุทธองค์ภายนอก ไม่มีใครอยากที่จะค้นหา เรียนรู้ "พระพุทธองค์ภายใน" หรือไม่ก็คิดว่ามันไม่มีอยู่จริงเอาเสียเลย


 


ในยุคมืดของมนุษยชาติ ที่กำลังถูกครอบงำด้วยกระแสอวิชชาอันเชี่ยวกราดทั้งไสยศาสตร์ตะวันตกและไสยศาสตร์ตะวันออก ด้วยพลังแห่งทุนนิยม วัตถุนิยมโลกาภิวัฒน์ วิทยาศาสตร์แยกส่วน อำนาจการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สื่อ หรือแม้แต่อำนาจอวิชชาในคราบของศาสนาเองก็ตามที ที่แพร่กระจายไปยังทุกซอก ทุกหลืบมุมของผืนโลก เราควรต้องตระหนักได้แล้วว่า เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าต่อการพุ่งปะทะของวัฒนธรรมโลกสมัยใหม่ได้อีกต่อไปแล้ว ยิ่งเราพยายามหนีความเป็นจริงมากเท่าไหร่ ความจริงของมนุษยชาติที่เราพยายามแสวงหาก็ดูจะวิ่งหนีเราไปมากเท่านั้น


 


แต่แล้วเมื่อเราเลือกที่จะวิ่งหนี นิพพาน จึงกลายเป็นดินแดนแสนสงบ ที่อยู่ไกลจากความเป็นจริง แยกขาดจากความทุกข์ ความสับสนในสังคม ผู้คนต่างก็วิ่งหนีปัญหาที่นับวันก็ยิ่งจะซับซ้อนขึ้น ทิ้งความกลัวให้ตกตะกอนนอนก้นอยู่ภายใน จากนั้นจึงใช้การปฏิบัติธรรมหรือการแสวงหาความวิเวก ในลักษณะของการสร้างมายาภาพของการหลุดพ้น บนฐานของความเพิกเฉยต่อโลกแห่งความเป็นจริง เสกให้นิพพาน หรืออรหัตผลปรากฏขึ้นอย่างแยกขาดจากชีวิตที่เราต่างเผชิญนั้น


 


เป็นมายาภาพของความสุข สงบ เย็น หรือ "ความสำเร็จ" ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนปัญญาการมองเห็นธรรมชาติตามที่เป็นจริงของความทุกข์ที่ซับซ้อนในโลกสมัยใหม่เลยแม้แต่น้อย


 


จอห์น เวลวูด (John Welwood) นักจิตวิทยาชาวตะวันตก ลูกศิษย์คนหนึ่งของเชอเกียม ตรุงปะ ได้เขียนถึงปรากฏการณ์การเลี่ยงเผชิญกับจริงในลักษณะที่ว่านี้ ในหนังสือ Toward a Psychology of Awakening เขาเป็นคนแรกที่ประดิษฐ์คำว่า Spiritual Bypassing เพื่อใช้อธิบายปรากฎการณ์กับดักทางจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นในสังคมของผู้ปฏิบัติธรรม หรือ ในกรณีของบ้านเราที่เป็นสังคมพุทธ ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นกับดักของคนไทยเกือบทั้งประเทศเลยก็ว่าได้


 


"ตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๗๐ เป็นต้นมา ผมเริ่มสังเกตเห็นแนวโน้มอันน่าเคลือบแคลงอย่างหนึ่งในสังคมของผู้ที่เรียกตนเองว่า "ชาวพุทธ" หรือ "ผู้มีธรรมะ" เป็นแนวโน้มของการใช้ธรรมะเพื่อการเบี่ยง หรือ เลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับปมทางอารมณ์ หรือปัญหาส่วนตัวที่เกิดขึ้นในชีวิต มันกลายเป็นความปรารถนาที่จะหาทางออกในลักษณะการ "วิ่งหนี" จากความทุกข์พื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ดูจะท่วมท้นเรา ไม่ว่าจะเป็น กรรมเก่า เหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ร่างกาย บุคลิก นิสัย อารมณ์ (รวมถึงอารมณ์ทางเพศ) จนถึง ครอบครัว สังคม และผู้คนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้กลายเป็นแรงผลักให้ผู้คนหันมาสู่ศาสนา ทำให้เกิดแนวโน้มของการพยายามถีบตัวเองให้อยู่เหนือสิ่งที่เราไม่อยากจะเผชิญในตนเองและผู้อื่น"


 


Spiritual Bypassing จึงอาจจะเปรียบได้กับ ความปรารถนาจะหาทางลัดหรือทางเบี่ยงสู่พระนิพพานในแบบที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา ความทุกข์ ความเป็นจริงที่เจ็บปวดของชีวิต หลีกหนีที่จะเผชิญต่อจิตใจของตัวเองที่ยังเต็มไปด้วยความคับแคบ ความกลัว ความหมกมุ่น ความเย่อหยิ่งหรือ ความยึดมั่นถือมั่นตามความเชื่อของตน


 


จอห์น เวลวูด ได้กล่าวถึงผลที่เกิดขึ้นว่า "คนเหล่านั้นกลับใช้ธรรมะและการปฏิบัติธรรมเป็นหนทางที่จะเสกสร้าง "ตัวตนทางจิตวิญญาณ (Spiritual Identity)" ซึ่งจริงๆแล้วมันก็คือ อัตตาที่คับแคบอันเดิม ที่พวกเขาไม่สามารถทนได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากที่จะเผชิญหน้ากับมัน Spiritual Bypassing จึงเป็นเสมือนกระบวนการบรรจุหีบห่อใหม่ให้กับตัวตนเก่า ดูน่ามองขึ้น"


 


เราจึงเห็นคนจำนวนมากหรือแม้แต่เกจิอาจารย์หลายๆท่าน กำลังใช้ธรรมะ หรือการปฏิบัติธรรม เพื่อการปกป้องอะไรบางอย่าง ที่ไม่สามารถถูกเปิดเผย หรือตั้งคำถามได้ เป็นตัวตนทางจิตวิญญาณ "พระอรหันต์?" ที่ไม่มีใครสามารถท้าทาย หรือ วิพากษ์วิจารณ์ได้


 


"For example, those who need to see themselves as special will often emphasize the specialness of their spiritual insight and practice, or their special relation to their teacher, to shore up a sense of self-importance." (Welwood, p.12)


 


วิกฤตพุทธศาสนาในบ้านเราดูจะสามารถเข้ากันได้ดีกับคำอธิบายในเรื่องนี้ของจอห์น เวลวูด เมื่อคนจำนวนมากกำลังสับสนวิถีพุทธ ให้กลายเป็นเป้าหมายสูงสุด แทนที่จะเป็นกระบวนการ หรือ วิถีปฏิบัติที่ง่ายงามในการเผชิญความจริงในชีวิตประจำวัน เมื่อเรากำลังทำให้ "ความจริง" ตัดขาดจาก "ชีวิตจริง" เราก็กำลังหยิบยื่นการเข้าถึงความจริง ให้กับคนหยิบมือหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นผู้ครอบครองความจริงไปโดยอัตโนมัติ และคงเป็นเรื่องน่าเศร้ายิ่งนัก หากเรากำลังแสวงหา "ผู้ปลดปล่อย" "ผู้นำ" "ฮีโร่" หรือ "พระอรหันต์" ในฐานะเป็นสิ่งภายนอก ที่จะมาช่วยเรา โดยที่เราชาวพุทธทำได้เพียงแบมือขอ หรือ เชื่อศรัทธาอย่างงมงาย โดยไม่รู้จักที่จะยืนบนลำแข้งแห่งความ "ตื่นรู้" ที่มีอยู่ในตัวเราเอง เรากำลังยอมจำนนที่จะหยิบยื่นศักยภาพของความตื่น "พุทธสภาวะ" ที่เป็นธรรมชาติ "ธรรมดา" ของพื้นฐานชีวิตด้านใน ไปเลี้ยงดูตัวตนทางจิตวิญญาณของคนเพียงหยิบมือที่กำลังโฆษณาตัวเองเป็นผู้ปกป้องพระศาสนา ด้วยความหลับใหลอย่างไม่รู้ตัว