Skip to main content

กับดักของคนฉลาด

คอลัมน์/ชุมชน

ในโลกไซเบอร์ที่มีการสื่อสารผ่านทางอินเตอร์เน็ตนั้น หลาย ๆ ครั้งที่เราคิดไม่ออกบอกไม่ถูก หมายถึงว่าต้องการรู้ข้อมูลหรือเรื่องราวบางเรื่องแต่ไม่แน่ใจว่าจะถามใครหรือจะหาคำตอบนั้นจากที่ไหนดี เราก็พบว่าในนี้ก็มีคำตอบที่เราต้องการอยู่ และหลาย ๆ ครั้งอีกเช่นกันที่เราได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ทั้งมีสาระและไร้สาระ ทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งโดยรู้ที่มาที่ไปและโดยไม่รู้ที่มาที่ไป ทั้งแบบตรวจสอบได้และตรวจสอบไม่ได้ เพราะบางครั้งก็เป็นจดหมายส่งต่อ ๆ กันมาเป็นหางว่าวยาวเหยียดจนแทบไม่รู้เลยว่าที่มาที่แท้จริงมาจากไหน


เมื่อไม่กี่วันมานี้เองก็เช่นกันได้มีจดหมายอิเล็คทรอนิคส์ (e-mail) ที่ส่งต่อ (forward) กันมาเรื่อย ๆ เข้ามาในตู้จดหมาย โดยใช้หัวเรื่องว่าบทความน่าอ่าน และพอเปิดไฟล์ออกมาดูก็พบว่าเป็นคล้าย ๆ บทความ เข้าใจว่าเป็นการแปลมาอย่างคร่าว ๆ จากภาษาอังกฤษว่า กับดักของคนเก่ง (Intelligence Trap) และบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่งานเขียนของ Edward Buono เขียนไว้ใน หนังสือชื่อ Thinking Course


ได้อ่านสิ่งที่เขาหยิบยกมานี้ก็รู้สึกสนใจ แต่ไม่แน่ใจว่า คนที่เขาพูดถึงนั้นเป็นใครกันแน่ น่าเชื่อถือหรือเปล่า ก็ดังที่ว่าไว้นั่นแหละในโลกของไซเบอร์ การสืบค้นเรื่องราวต่าง ๆ ก็ไม่น่าจะยากเย็นอะไร ไปค้นดูก็พบว่า จริง ๆ หัวเรื่องแบบนี้อยู่จริง เขียนโดย เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Edward De Bono) อยู่ในส่วนหนึ่งของหนังสือชื่อ De Bono's Thinking Course และเรื่องที่เขาพูดเอาไว้ก็น่าสนใจจริง ๆ และคงต้องขออนุญาตนำมาขยายความต่อ แต่ขอเปลี่ยนคำว่าเก่งเป็นฉลาดแทน


เดอ โบ โน ได้เปรียบเทียบเอาไว้ว่า ความฉลาดที่มีมาโดยกำเนิดนั้น ถ้าเทียบกับรถก็เป็นเสมือนกำลังแรงม้าของรถยนต์ (power of the engine) ที่เป็นกำลังในการขับเคลื่อน แต่จะอย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของรถยนต์คันนั้น ๆ ก็ไม่ได้ขึ้นกับแรงม้าเพียงอย่างเดียว แต่กลับขึ้นอยู่กับความสามารถหรือทักษะในการขับขี่รถยนต์ (Driving Skill) ของแต่ละบุคคล ซึ่งเขาได้เปรียบเทียบความสามารถหรือทักษะในการขับรถไว้กับความสามารถหรือทักษะในการคิด (Thinking skill) ความหมายที่แท้จริงที่เขาหมายถึง ณ ที่นี้ก็คือ เมื่อคุณมีความฉลาดแล้ว คุณยังจำเป็นที่จะต้องมีความสามารถในการคิด อันจะนำมาซึ่งการทำงานที่ประสบความสำเร็จหรือประสิทธิภาพที่ดีของผลงาน


ทั้งนี้เขาได้ให้ข้อสรุปไว้สองประการคือ ประการแรก ถ้าหากว่าเรามีรถยนต์ที่มีแรงม้าที่ดีอยู่แล้ว เราต้องพัฒนาความสามารถในการขับขี่ของเราให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับรถที่มีแรงม้าแรง ๆ หากผู้ขับขี่ขาดทักษะในการขับรถนั้นจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

เปรียบเทียบไปก็ไม่แตกต่างกับคนที่เกิดมาพร้อมกับมันสมองอันชาญฉลาด แต่ขาดทักษะในการคิด เขาอาจจะไม่สามารถมีโอกาสได้ใช้ความฉลาดของเขาได้อย่างเต็มที่

ประการต่อมา หากว่าเราบังเอิญมีรถยนต์ที่มีแรงม้าต่ำ เราจะทำอย่างไร เหมือนกันกับความสามารถทางมันสมอง (IQ) ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุกรรมมากกว่าอย่างอื่น เดอ โบโน เสนอว่าในกรณีนี้ การพัฒนาทักษะทางความคิด (Thinking Skill) มีความจำเป็นอย่างมาก
เขาระบุเอาไว้ด้วยว่าคนฉลาด (Intelligent People) ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะมีทักษะในการคิด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้เรื่องความคิดเพราะเรื่องความฉลาดกับความคิด (Thinking) นั้นเป็นคนละเรื่องกัน

เดอ โบ โน สรุปจากประสบการณ์การทำงานอันยาวนานและการวิจัยของเขาว่า คนที่คิดว่าตนฉลาดนั้น มักจะมีมุมมองของตนเองในการมองเรื่องราวต่าง ๆ และใช้ความฉลาดในการอธิบายมุมมองของตนเอง ยิ่งคน ๆ นั้นฉลาดมากเท่าไร เขาก็ยิ่งอธิบายมันได้ดีมากขึ้นเท่านั้น และนั่นหมายความว่าคน ๆ นี้จะยิ่งเข้าใจผิด ๆ ว่า ไม่มีใครคิดหรือตัดสินใจได้ดีกว่าตนเอง และหากนานเข้า เขาก็จะเริ่มไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องสอบถามหาความคิดเห็นของคนอื่น ๆ (ก็ในเมื่อคิดเอาเองว่าตนเองคิดได้ดีที่สุดอยู่แล้ว แล้วทำไมต้องพยายามหาความคิดเห็นที่ต่างออกไปเล่า)

ที่มากไปกว่านั้น คนที่คิดว่าตนเองเก่งกว่าคนอื่น ๆ นั้น ก็จะพยายามหาวิธีที่เขาจะสามารถใช้ความฉลาดของตนเองให้ได้มากที่สุด ดังนั้น เขาจะพยายามเสาะแสวงหาวิธีการที่เร็วที่สุดเข้าสู่ความต้องการของตนเอง (ที่คิดว่าถูกต้อง) โดยการบอกว่าคนอื่น ๆ คิดผิดหรือหาวิธีการพิสูจน์ว่าคนอื่น ๆ คิดผิด เพื่อจะให้คนอื่น ๆ รอบตัวเห็นด้วยกับวิธีคิดของตนเองภายในระยะเวลาอันสั้น

ที่อันตรายก็คือ หากคนฉลาด (Intelligent people) ของเรายังไม่รู้ตัวว่าเขาหรือเธอติดกับดักความฉลาดของตัวเองเสียแล้ว มันก็ยากยิ่งนักที่จะออกมาจากกับดักได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับกลางหรือสูง เขาจะสร้างความลำบากใจให้เพื่อนร่วมงาน เนื่องจากว่า เอาแต่ความคิดตัวเองเป็นใหญ่ จะทำการใดก็อาจจะสำเร็จได้ยาก เพราะคนอื่นรอบตัวก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความคิดเห็น และก็คงอยากได้โอกาสได้แสดงออกถึงความคิดของตนเองเช่นเดียวกัน

นอกเหนือไปจากนี้ ลูกน้องของคนที่ติดกับดักแบบนี้ก็จะรู้สึกว่ามีเจ้านายที่เผด็จการ ลูกน้องของเขาอาจเริ่มต้นด้วยการพยายามจะแสดงความคิดเห็น แต่กาลเวลาผ่านไป เขาย่อมเรียนรู้ว่าพูดไปไร้ประโยชน์ เจ้านายไม่ชอบให้คิด ก็จะเริ่มหยุดคิดทีละน้อยจนสุดท้ายก็พาลไม่คิดเสียเลย ลูกน้องบางคนอาจจะถึงกับลาออก และที่สำคัญเราจะหาคนที่จะพยายามบอกเขาหรือเธอให้เข้าใจถึงกับดักที่เขาติดอยู่ก็ดูว่าจะยากยิ่ง


ฟังเรื่องนี้แล้วหากจะพาลคิดถึงใครบางคนก็แล้วแต่ใจท่าน เพื่อให้แน่ใจว่านี่เป็นเรื่องของทฤษฏีจริง ๆ เป็นตำราที่เขียนไว้เพื่อการฝึกอบรมและสอนกระบวนและวิธีคิด เป็นเรื่องที่เขียนมานานพอสมควรแล้ว และคนเขียนหนังสือเล่มนี้ก็เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ (ที่สำคัญก็คือเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับประเทศไทยของเรา)

ขอบอกรายละเอียดย่อ ๆ ของเขาสักเล็กน้อยว่า Edward de Bono นั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดเชิงสร้างสรรค์ และผู้นำในการสอนเรื่องการคิด เป็นอาจารย์พิเศษที่ได้รับเชิญให้สอนตามมหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งเช่น อ็อกซ์ฟอร์ด ลอนดอน แคมบริดจ์ และ ฮาร์วาร์ด ได้รับเชิญไปสอนตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใน 52 ประเทศ และได้รับเชิญให้ไปพูดตามที่ประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง เขาเป็นคนคิดทฤษฎี lateral thinking (คิดนอกกรอบ) ขึ้น และสำหรับคนไทยหลายคนอาจจะรู้จักเขาดีจากหนังสือเรื่อง การคิดแบบหมวก 6 ใบ (six thinking Hats) ที่ปัจจุบันหลายบริษัทก็เริ่มมีการอบรมเรื่องนี้กันมากขึ้น

ได้แต่หวังว่าใครบางคนที่ใกล้ ๆ ตัวเราจะหลุดจากกับดักแห่งความฉลาดของตัวเองในเร็ววัน เพื่อว่าจะได้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และความสงบสุขจะเกิดขึ้นได้ในที่สุด