Skip to main content

สวนของนักเขียน 3 : นักเขียนหนุ่มกับใบทำมัง

คอลัมน์/ชุมชน

คนปลูกต้นไม้กับคนกินใบไม้ เป็นวิถีชีวิตที่เอื้อต่อกัน คล้ายๆ กับคนต้องอยู่คู่กับป่าหรือป่ามีไว้สำหรับคน ดังนั้น การอนุรักษ์เพื่อเก็บไว้เพียงอย่างเดียว เป็นการอนุรักษ์ที่สวนทางกับความเป็นจริง


 


นักอนุรักษ์แบบนี้มีในเมืองไทย ยังไม่นับหน่วยงานราชการ ที่คิดว่า หน่วยงานของรัฐเท่านั้นรักป่าและควรจะเป็นผู้ดูแลป่า เห็นคนอยู่ในป่าก็ต้องคิดว่าเขาจะต้องทำลาย ความจริงแล้วมีชุมชนหลายแห่งที่เขาดูแลรักษาป่าอย่างดี กินอยู่กับป่าอย่างมีความสุข เอื้อต่อกัน  นี่เป็นเรื่องที่เพื่อน ๆ คนทำงานเกี่ยวกับป่าเล่าขานให้ฟัง


           


"คนกินใบไม้" ฉันเรียกตัวเองว่าคนกินใบไม้  เมื่อฉันมาพบกับนักเขียนที่เป็นนักตกแต่งป่า ฉันกินใบไม้มานานแล้ว มีใบไม้มากมายในประเทศนี้ที่กินได้


 


ฉันเกิดในครอบครัวของคนกินใบไม้โดยแท้ เราเป็นชาวสวน มีสวนมะพร้าว สวนยางพารา และสวนผลไม้ มีใบไม้มากมายให้เก็บกินได้ ทั้งที่กินสด ๆ และเอามาต้มแกงกิน ฉันชอบเก็บใบไม้ที่กินได้มาตั้งแต่เด็ก


 


ใบไม้ที่ฉันชอบมากๆ คือใบลำเพ็งหรือยอดลำเพ็ง มีมากมายในสวนยางพาราที่เป็นป่ารก ไม่ใช่สวนยางที่ถากถางจนเกลี้ยง หรือสวนยางที่ส่งเสริมการปลูกแบบพืชเชิงเดี่ยวในเวลานี้ ส่วนยางแบบนั้นไม่มีอะไรกินเลย สวนยางเมื่อก่อนรกๆ มีผักกินมากมาย ไม่มีอะไรกินก็ไปสวน เก็บผักมากิน ลำเพ็งยอดอ่อนๆ  เอามาแกงเลียงที่เขาเรียกว่า แกงเลียงเคยเกลือ ไม่ต้องใส่อะไร น้ำสะอาด กะปิ เกลือ ต้มน้ำเดือดใส่ผักลงไป เพียงแค่นี้ก็ได้รสกลมกล่อม ความหวานจากยอดลำเพ็งเพียงพอแล้ว 


 


เมื่อครั้งมาอยู่เมืองเหนือใหม่ ๆ ฉันดีใจเหลือเกินเมื่อพบว่าที่นี่มีผักกูด และทุกครั้งที่ฉันไปตลาดและมีผักกูดขาย ฉันจะรีบซื้อทันที 


 


ครั้งหนึ่งฉันไปพักในชนบทที่มีภูเขาล้อมรอบ เรียกที่นั่นว่า เมืองแจ่ม หรือแม่แจ่ม เย็นวันหนึ่งฉันพบหญิงสาวหอบผักกูดมาด้วยสองมือ ฉันรีบเดินเข้าไปหาถามว่าได้มาอย่างไร เห็นผักกูดทำให้ฉันรู้สึกว่าบ้านใต้ที่ฉันจากมา แม้ว่าการกินผักกูดทางใต้กับทางเหนือนำมาปรุงไม่เหมือนกัน ที่นี่เขาแกงแบบน้ำใสใส่พริกนิดหน่อย หรือไม่ก็ผัดกับน้ำมัน แต่ที่บ้านใต้เราจะต้มกะทิและกินกับน้ำพริกกะปิ


 


การต้มกะทิผักกูดให้อร่อย ต้องปรุงรสด้วยกะปิอย่างดีกับเกลือเล็กน้อย  น้ำปลาไม่ต้องจะทำให้มีกลิ่นคาว น้ำตาลไม่ต้องใส่ รสหวานจากผักสด ๆ มีอยู่แล้ว เมื่อสุกดีแล้วราดด้วยหัวกะทิ นอกจากกินกับน้ำพริกแล้ว กินกับขนมจีนก็อร่อย  หรือจะเอาผักกูดต้มรวมกับผักต่างๆ ก็ได้  เรียกว่าต้มสมรมเป็นที่นิยมกินกับขนมจีนน้ำยาป่า


 


ใบไม้ที่เก็บกินได้เลยโดยไม่ต้องต้มแกงก็มีหลายอย่าง เป็นผักเหนาะหรือผักแกล้มนั่นแหละ ตั้งแต่ยอดหมุย ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดพาโหม และอีกสารพัดยอด เด็ก ๆ บ้านป่าทางภาคใต้รู้จักการกินใบไม้ และรู้ว่าใบอะไรกินได้บ้าง ใช้วิธีสัมผัส ใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือขยี้เบาๆ เพื่อให้แน่ใจว่า ใช่แน่ เพราะบางอย่างลักษณะใบคล้ายกันมากแต่ไม่ใช่อย่างเดียวกัน หากดมก็จะพบกลิ่นของมันต่างกัน แต่นักกิน


ระดับฉันเพียงใช้มือสัมผัสใบและขยี้เบา ๆ ก็เพียงพอ


 


ยอดหมุยจะมีกลิ่นพิเศษ ๆ บอกไม่ถูกว่าคล้ายกลิ่นอะไร มันคงไม่คล้ายอะไรเลยเป็นกลิ่นเฉพาะของยอด หมุยเอง


 


น้อยคนนักที่จะชอบยอดหมุย ไม่ชอบกลิ่นของมัน ก็เป็นธรรมดา กลิ่นบางอย่างเรา็ไม่ชอบ มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนใต้แท้ ๆ แต่ไม่ชอบกลิ่นกะปิ ไม่กินน้ำพริกกะปิ  หลังจากจบมัธยมต้นแล้วไปเรียนคหกรรม ฉันรู้ภายหลังว่า เธอเลือกเรียนคหกรรมจริงแต่เลือกเรียนอาหารยุโรป เดี๋ยวนี้ทำงานร้านอาหารยุโรปแห่งหนึ่งในเมืองหลวง เพื่อนคนนี้เขาไม่ชอบกินผักกินหญ้าตั้งแต่ไหนแต่ไร เธอชอบกินแต่ของแห้ง ๆ และตัวก็จะผอมแห้ง  


 


เมื่อวัยเยาว์


มีป้าแดง--แม่ค้าขายข้าวแกง


แกงของแกมีแต่ผัก แกงมะละกอกับกุ้งแกก็จะสับมะละกอเป็นเส้นฝอย แกงยอดขี้เหล็กก็เหมือนกันทั้งยอดทั้งดอกขี้เหล็กเปื่อยขุ่นข้น แกแกงกับปลาย่าง มองไม่เห็นเมื่อถามหา แกว่ามันฝังอยู่ข้างใน ฝังอยู่ตรงไหนกัน แกล้งเอาช้อนเขี่ยหาดูก็ไม่พบ


 


เมื่อบอกแกว่า ไม่พบเลยป้า


แกกลับพูดว่า "ผักหญ้าใบไม้กินเข้าไปเถอะ รู้จักกินผักกินหญ้าบ้างมันเป็นของดี กินเป็นกับก็ได้ กินเป็นยาก็ดี"


 


เมื่อโตขึ้นพบว่าจริงของแก กินเป็นกับกินเป็นยาจริง ๆ มีผักมากมายที่กินเป็นกับกินเป็นยา เคี้ยวเข้าไปเถอะ ไม่ว่าจะเป็นตะไคร้ ใบโหระพา กะเพรา หากรู้จักกินเป็นยาตามแต่จะหาผักได้ โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนได้น้อย


 


เล่าเรื่องผักหญ้าบ้านตัวเองเสียนาน กลับมาที่บ้านนักตกแต่งป่า


ใช่แล้ว…


ฉันกำลังเล่าเรื่องนักตกแต่งป่า ไม่ใช่เล่าเรื่องของตัวเอง...


 


เริ่มตรงที่ใบไม้กินได้ ใบไม้ที่ว่านี้ ชื่อว่า"ใบทำมัง" ที่บ้านนักเขียนใหญ่ในหุบเขา  นักเขียนใหญ่แต่ทันทีที่ตามด้วยคำว่า ในหุบเขา นักเขียนใหญ่ก็เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น เพราะป่าเขายิ่งใหญ่เหลือเกิน


 


คนก็ไม่ต่างจากมดตัวหนึ่งที่ไต่ไปมาอยู่บนใบไม้  ผู้เป็นนักตกแต่งป่าที่ฉันกำลังเขียนถึง  หน้าเรือนงามมีต้นทำมัง สูงกว่าหัว  เป็นเรื่องพิเศษแน่นอน  บนภูเขาสูงทางภาคเหนือ มีต้นทำมัง ที่ให้ใบเก็บกินได้แล้ว ทั้งที่ถิ่นเดิมของมันอยู่ปักษ์ใต้


                                                 


ฉันมาที่นี่ครั้งแรก เมื่อต้นปีในปี 2542 หลังจากที่ตัดสินใจย้ายจากบ้านใต้มาปักหลังอยู่เมืองเหนือ ไม่ใช่เป็นแค่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติแต่เป็นความรู้สึกจริงๆ ว่า เราควรจะไปไหว้ท่าน เพื่อเป็นสิริมงคล ก่อนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่อย่างจริงจัง  เพราะหากเทียบคนในวงการวรรณกรรมซึ่งมีอยู่เพียงน้อยนิด ท่านก็ถือได้ว่าเป็นคนแห่งศรัทธา  


 


ก่อนหน้านี้ได้ยินเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับบ้านน่าอยู่ในหุบเขาของนักเขียน   วันนั้นวันแรกที่เดินทางมา มีนักคิด นักเขียน นักอ่าน ไปด้วยกันหลายคน  อาหารถูกเตรียมไว้พร้อม มื้อเย็นเป็นขนมจีนน้ำยาป่า และวันนั้นหลายคนได้ทดลองกินใบทำมังกับขนมจีน บางคนว่ารสดี แปลก บางคนทำหน้าเหมือนกินยาขม ไม่ชินกับกลิ่นของมัน


 


ตอนหนึ่งของบทสนทนาชานเรือนใกล้แอ่งน้ำ มีโขดหิน มีสายน้ำเล็ก ๆ ไหลลงมาพอให้ได้ยินเสียงเบา ๆ มีใครสักคนถามว่า ต้นไม้มากมายใครปลูกหรือ ?


"ปลูกเอง...เราเป็นนักตกแต่งป่า"


"นักตกแต่งป่า" ใครบางคนทวนคำเบา ๆ 


"เรามีความฝันที่จะมีบ้านอยู่ในป่า"


ฉันหันไปมองโดยรอบเพื่อดูป่าที่เขาบอกว่าเขาตกแต่ง แต่มันมืดแล้ว ไว้ค่อยมาใหม่ ฉันคิดตั้งแต่เจ้าของบ้านยังไม่ทันชวน


"นั่งมองต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนโขดหินมันไม่เหมือนกันสักวัน" ท่านว่า


           


ฉันได้เริ่มต้นคุยกับนักเขียนใหญ่ ด้วยความรู้สึกปลอดโปร่ง สบายใจ อย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะรู้สึกได้ การคุยกับนักคิดนักเขียนและผู้รู้บางคน  ในบางครั้งก็เหนื่อย บางครั้งก็น่าเบื่อ โดยเฉพาะการคุยกันครั้งแรก ซึ่งอาจจะต้องพบกับความอึดอัด แต่การพบปะพูดคุยกับนักเขียนใหญ่ครั้งนี้ โชคดีที่มีใบไม้ จึงได้เริ่มต้นจากใบทำมัง เมื่อเริ่มต้นจากใบทำมังจึงรู้สึกอบอุ่นขึ้น และใบอะไรต่อใบอะไรอีกหลายอย่างที่กินได้


 


เรื่องของใบไม้ที่บ้านฉันมีมากมาย ที่ท่านยังไม่รู้จัก ฉันคิดว่าเมื่อกลับไปบ้านใต้จะเอาต้นหมุยมาปลูกที่นี่  เขายินดีแต่บอกว่าอยากได้มะม่วงหิมพานต์ด้วยเพื่อเอายอดอ่อนกิน


 


หากไม่ใช่คนท้องถิ่นทางปักษ์ใต้น้อยคนที่จะรู้ว่ายอดมะม่วงหิมพานต์กินได้และกินเป็น คนส่วนใหญ่ก็จะรู้จักแต่เม็ดของมันนำมาทำอาหาร ที่เป็นที่นิยมก็คือไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ นับว่าท่านมีความรู้เรื่องยอดผักยอดหญ้าดีที่เดียว


 


ท่านเล่าว่า "ทำมัง" ต้นนี้เป็นของนักเขียนหนุ่มจากภาคใต้ ส่งมาให้ เขาฝากมากับนักเขียนอีกท่านหนึ่งนักเขียนหนุ่มท่านนี้ฉันรู้จักดี ไม่ใช่เพียงฉันหรอกใคร ๆ ก็รู้จัก เพราะเขาเป็นนักเขียนหนุ่มที่โด่งดัง ไม่ใช่เพราะได้รับรางวัลซีไรต์ เขามีชื่อมาก่อนที่จะได้รับรางวัล เพราะงานเขียนที่มีคุณภาพ  เขาชื่อ กนกพงศ์ สงสมพันธ์


 


ฉันไม่แปลกใจเลยที่เขาส่งต้นไม้มาให้นักเขียนใหญ่ถึงหุบเขาโป่งแยง เขาคงเอามาจากพัทลุงหรือไม่ก็นครศรีธรรมราช  ที่ว่าไม่แปลกใจเพราะเขามีความเป็นคนท้องถิ่นสูง เรื่องราวที่เขาเขียนในรูปของเรื่องสั้นก็เป็นเรื่องท้องถิ่นส่วนใหญ่ และรู้มาก่อนหน้านี้ว่า นักเขียนหนุ่มผู้นี้เคยเอาพันธุ์ไม้จากภาคใต้ขึ้นรถไฟมาให้นักเขียนใหญ่อีกคนที่รังสิต เพื่อนเล่าว่าชวนกับแบกพันธุ์ไม้จากสถานีรถไฟระยะทางเป็นกิโล และยังนำมาให้เพื่อนนักเขียนอีกหลายคนแล้ว 


 


โอกาสดี ๆ ฉันจะไปเยี่ยมบ้านคนที่ชอบเอาต้นไม้มาฝากผู้อื่น เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า เขาอาศัยอยู่ในป่าเหมือนกัน มีน้ำตก มีภูเขาอยู่ทางภาคใต้ ไปดูต้นไม้ใบหญ้าที่บ้านนักเขียนหนุ่ม เจ้าของเรื่องสั้นชุด แผ่นดินอื่น


           


ใบทำมังที่มีกลิ่นเหมือนแมงดา ใช้แทนแมงดาได้เลย ใบอ่อนใบแก่ก็ใช้ได้ เอามาหั่นฝอย ๆ ตำลงไปในน้ำพริกทำน้ำพริกแมงดา หรือจะกินเป็นผักแกล้มก็ได้


 


ปรุงรสพวกยำต่าง ๆ โดยหั่นฝอยเช่นปรุงรสยำปลากระป๋อง ยำไก่ หรือใส่ต้มยำแทนฝักชีฝรั่งก็ได้รสชาติไปอีกแบบและเป็นรสชาติที่ดีด้วย รายการเหล่านี้ผู้เพื่อนร่วมทางชีวิต (หนุ่มเมืองเหนือแท้ๆ) เป็นคนคิดขึ้นมา


 


เพราะเราได้ใบทำมังมากมายตั้งแต่วันแรกที่ไปบ้านท่าน ใส่ตู้เย็นเอาไว้บ้าง ตากแห้งไว้บ้าง และหลังจากนั้น ทุกครั้งที่ไปเราขึ้นไป ก็ได้ใบทำมังกลับลงมา ดังนั้นต้องหาวิธีปรุง ต่อไปเราอาจจะบรรจุลงในเมนูอาหารสำหรับเพื่อนฝูงที่มาบ้านเรา มีน้ำพริกทำมัง ยำทำมังกับปลากระป๋อง ต้มยำไก่เมืองใบทำมัง (ที่เมืองเหนือเขาเรียกไก่บ้านว่า ไก่เมือง)


 


ต่อไปก็อาจจะได้เป็นอาหารมีระดับ อยู่ในร้านอาหาร จัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ น้ำพริกทำมัง แกล้มผักสด หากทำได้ก็เท่ากับว่า ฉันได้เป็นผู้ทำงานเผยแพร่วัฒนธรรมการกินการอยู่ของคนในท้องถิ่น


 


ฉันจะเขียนลงไปท้ายเมนูด้วยว่า "ทำมัง ถิ่น-ปักษ์ใต้ ชื่อไม้ต้นชนิด Litsea petiolata Hook.f. ในวงศ์ Lauraceae ใบและเนื้อไม้มีกลิ่นคล้ายแมงดา"