Skip to main content

คนไม่รักดิน คือคนไม่รักชีวิต ไม่รักอนาคต

คอลัมน์/ชุมชน

เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี  นิตยสารกินรี ของสายการบินไทย สายการบินประจำชาติไทย ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาท "๓๖ แผนที่ชีวิตพ่อ" มาลงตีพิมพ์ เพื่อเป็นคติสอนใจในการดำรงชีวิตให้อยู่ดีและมีสุข ทั้งหมดล้วนเป็นมงคลแก่ชีวิต หากได้น้อมนำมาปฏิบัติแก่ตน ตัวอย่างเช่น


 


๑.ขอบคุณข้าวทุกเม็ด น้ำทุกหยด  อาหารทุกจานอย่างจริงใจ


๒.อย่าสวดมนต์เพื่อขอสิ่งใด นอกจากปัญญาและความกล้าหาญ


๓.เพื่อนใหม่คือของขวัญที่ให้กับตัวเอง ส่วนเพื่อนเก่าหรือมิตรคืออัญมณีที่นับวันจะเพิ่มคุณค่า


...


๒๐.คนที่ไม่รักดิน คือคนที่ไม่รักชีวิต ไม่รักอนาคต


 


ดิฉันเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าคนไทยรู้จักธรรมชาติ เคารพธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติน้อยลง เราอยู่อย่างเป็นสังคมบริโภค เชิงพาณิชย์มากกว่าเดิม จึงทำลายธรรมชาติ ทำลายวิถีชีวิตอันสงบสุข ทำลายครอบครัว และทำลายตนเองโดยไม่รู้ตัว เพราะอิทธิพลของ "เงิน"  อิทธิพลของกิเลส ความโลภ ความหลง ความยึดติด ในความเป็น "ตัวกู ของกู" บังตา บังใจ ให้เกิดความมืดบอดทางปัญญา


 


เดือนมหามงคลนี้ คนไทยใส่เสื้อสีเหลืองกันทั้งประเทศ ทุกถนนหนทางดูสว่างไสว ดิฉันหวังว่าคนไทยทุกคน ผู้ทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการ จะใช้โอกาสมหามงคลในการนำแสงสว่าง คือ ปัญญา คืนสู่สังคมไทย โดยเฉพาะการนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง นำโครงการในพระราชดำริกว่าพันโครงการ เรื่องการอนุรักษ์ดิน อนุรักษ์ป่า อนุรักษ์น้ำ มาปฏิบัติกันทั้งประเทศ เพื่อให้ความสันติสุข ความมั่นคงยั่งยืน กลับคืนมาสู่สังคม ดังพระปณิธานของสมเด็จพ่อที่ชาวไทยทุกคนเทิดทูน


 


เรื่องใกล้ตัวที่สุดคืออาหารที่ผลิตจากดิน น้ำ ป่า สภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์ อุดมสมบูรณ์ ดิฉันสังเกตว่าปีนี้เกษตรกรใช้สารเคมีกันมาก กระจายไปถึงบนดอย แปลงนาที่รอการปล่อยน้ำ ให้ควายไถ (เฉพาะบนดอยบางแห่ง) หรือรถไถ ส่วนใหญ่เห็นหญ้าแห้งเป็นสีเหลืองคล้ำ แสดงถึงการถูกพ่นด้วยสารเคมี ทั้ง ๆ ที่ทุ่งนาก็จะถูกน้ำหล่อให้หญ้าเน่า เพื่อไถพลิกอยู่แล้ว ไม่ควรใช้ยาฆ่าหญ้าให้สิ้นเปลือง ทำลายดิน และชีวิตอื่น ๆ ในดินเลย


 


แม่เฒ่าอาข่าวัย ๗๐ กว่าปี ที่หมู่บ้านต้นน้ำแม่จัน  แบกของเต็มก๋วย (ตะกร้าสาน) ดิฉันถามว่าแบกอะไรไป แกให้เปิดดู พบว่าในกระสอบคือปุ๋ยเคมีเม็ด  จะเอาไปใส่ในไร่ข้าวโพด "เพราะดินไม่ดี จึงต้องใส่ปุ๋ย" 


 


อะไรเป็นเหตุให้เกษตรกรไม่เคารพ ไม่รักดิน ซึ่งพระเจ้าอยู่หัว ทรงชี้ว่า "คนไม่รักดิน คือคนไม่รักชีวิต ไม่รักอนาคต" เป็นคำถามใหญ่ที่เราทุกคน ซึ่งเป็นผู้กินข้าว กินน้ำ กินอาหาร กับหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องช่วยกันตอบ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย


 


ลองไปเยี่ยม บ้านนาหลังคาแดง ของอาจารย์แปลก เดชะบุญ ที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ฟังแนวคิดและการปฏิบัติของอาจารย์แปลก แล้วจะได้ทางออกที่ทำให้ชาวไทยรักดิน รักธรรมชาติ รักเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์มากขึ้น


 


                       


                                                อาจารย์แปลก  เดชะบุญ


 


ชื่อของอาจารย์แปลก  เดชะบุญ เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มผู้รักเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดเชียงรายและภาคเหนือ โดยได้ทำสวนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เป็น "แหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่วิถีวัฒนธรรมล้านนา สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ดินแดนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" อันเป็นวิสัยทัศน์ของ "บ้านนาหลังคาแดง" หมู่บ้านสันนายาว ตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ที่อาจารย์แปลกได้ทุ่มเทด้วยหัวใจ


 


เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้ไปศึกษาเรียนรู้แนวคิดและผลงานของอาจารย์แปลกมาหลายครั้งแล้ว จึงได้เชิญอาจารย์เป็นกรรมการของมูลนิธิ ฯ เพื่อจะได้ช่วยส่งเสริมให้ "วิถีชีวิตพอเพียง อยู่พอดี กินพอดี บนพื้นที่สูง" ได้เกิดขึ้นจริง ดังความคาดหวังของอาจารย์แปลก "มุ่งให้มีมิตรสหายเครือข่ายร่วมอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อสานต่อ ขยายผล เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของครอบครัวและชุมชน"


 


                        


                                                           ม่านบาหลี


 


สองครั้งที่ดิฉันได้ไปเยี่ยมสวนของอาจารย์แปลก เมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๙ ดิฉันประทับใจอย่างยิ่ง ที่อาจารย์ได้ใช้ความเป็นนักวิชาการ (อดีตข้าราชการครูของวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีเชียงราย) กับความสนใจธรรมะ ความรักธรรมชาติ รักวิถีชีวิต ภูมิปัญญาล้านนา รวบรวมพันธุ์พืชที่หลากหลายมากกว่า ๓๐๐ ชนิด นำมาปลูกรวมกันในพื้นที่ ๑๒ ไร่ ให้เกิดความสมดุลอย่างลงตัว

 


 


                       


                                                 ดอกไม้ที่ปลูกล่อแมลง


 


ด้านหน้าของสวนมีป้ายแสดงวิสัยทัศน์อยู่หน้าสระใหญ่ที่เลี้ยงปลานานาชนิด ถัดมาเป็นโรงเลี้ยงม้า วัว ควาย อย่างละ ๑ – ๒ ตัว มีพืชที่ปลูกเพื่อล่อแมลงมาช่วยผสมเกสร คือม่านบาหลีที่กำลังออกดอกดก ผึ้งและแมลงอื่น ๆ กำลังบินมาตอมดอก


 


อาจารย์แปลกอธิบายว่าในสวนนี้ปลูกพืชให้ช่วยกัน เช่นใต้ต้นชมพู่กับกระท้อน ซึ่งปกติจะมีหนอนเจาะเข้าไปวางไข่ตั้งแต่เป็นดอก ก็ปลูกดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมล่อแมลงมาตอมเกสร  ลูกชมพู่ กับกระท้อนจึงเติบโตได้อย่างเต็มที่ บางแปลงก็ปลูกพืชสมุนไพรที่มีกลิ่นแรง เช่น กะเพรา แมงลัก ตะไคร้หอม เพื่อไล่แมลงที่เป็นศัตรูพืช ปลูกต้นไม้ที่นกชอบกิน เช่น ตะขบ เพื่อดึงนกมาช่วยกินแมลงด้วย


 


ผักที่ชาวเหนือนิยมกิน เช่น ผักปู่ย่า ผักเซียงดา ผักหวานบ้าน ชะอม ตำลึง ผักฮาก หน่อไม้ชนิดต่าง ๆ ถั่วพื้นเมือง มะเขือยาว มะเขือแจ้ บวบ ฟัก น้ำเต้า ฟักทอง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพด ข้าวเหนียว พริก ต้าง ฯลฯ ที่สวนปลูกไว้ได้กินทุกฤดูกาล ตลอดทั้งปี เป็นการกินอาหารที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ


 


พืชหัวที่ให้คาร์โบไฮเดรตได้ดีไม่แพ้ข้าวและธัญญพืช อาจารย์แปลกก็รวบรวมพันธุ์นำมาทดลอง โดยคิดไปถึงอนาคตว่า หากมีโรคระบาดหรือเกิดสงครามอาวุธชีวภาพ พันธุ์ข้าวถูกทำลาย พืชหัว เช่น เผือก  มัน ที่มีมากในท้องถิ่น และในป่า จะช่วยเลี้ยงชีวิตมนุษย์ ทำให้ไม่ขาดแคลนอาหาร


 


                      


                                                        หมูป่า


 


สัตว์ที่เลี้ยงไว้ ช่วยเปลี่ยนเศษพืชผักเป็นปุ๋ย เช่น หมูป่าที่กำลังมีลูกเล็ก ๆ น่ารัก ตัวลายเหมือนลูกแตงไทย หมูป่าช่วยกินซังข้าวโพด เศษพืช เศษอาหารทุกอย่าง แล้วถ่ายออกมาบนแกลบที่ปูในคอก ราดด้วยน้ำจุลินทรีย์ นำมาใส่ในบ่อ พลิกกลับให้ถูกแดดจนแห้ง เป็นปุ๋ยชั้นดีที่ไม่ต้องซื้อหา


 


ปุ๋ยหมักปุ๋ยชีวภาพจากมูลสัตว์และเศษพืชผัก ผลไม้ เป็นปัจจัยให้พืชทุกชนิดเจริญงอกงามจนขยายพันธุ์ แบ่งปันให้ผู้ที่มาศึกษาดูงานได้นำไปปลูกต่อกันอีก เป็นการเติมอินทรีย์ธาตุให้แม่ธรณีด้วยความเคารพ "ได้จากดิน คืนสู่ดิน" คือหลักการของอาจารย์แปลก


 


วัว ควาย ม้า กินหญ้าแล้วเปลี่ยนเป็นปุ๋ยในนาในสวน ทำให้ไม่ต้องเสียค่าน้ำมันใส่เครื่องตัดหญ้า เจ้าของเห็นหญ้าที่ไหน แทนที่จะคิดถึงยาฆ่าหญ้า คิดว่าจะเกี่ยวหญ้าไปฝาก วัว ควาย ดีกว่า เหมือนหาขนมไปฝากลูกหลาน


 


เกษตรกรที่แม่จัน เปลี่ยนจากไถนาด้วยควายมาเป็นใช้รถไถ นานกว่า ๒๐ ปีแล้ว เมื่ออาจารย์แปลกฟื้นฟูการนำควายมาไถนาเพื่อสู้วิกฤตราคาน้ำมันและคืนปุ๋ยให้ดิน โดยทำพิธีเรียกขวัญ ขอขมาควาย ก่อนจะฝึก จะใช้ไถนา ตามประเพณีดั้งเดิมของชาวเหนือ เด็ก ๆ ในหมู่บ้านก็ตื่นเต้นดีใจ พากันมาดู มาช่วยเลี้ยงควาย มาขี่ควาย  ควายกลายเป็นขวัญใจเด็ก ๆ


 


นาข้าวที่นี่จึงเป็นนาอินทรีย์ ซึ่งอาจารย์แปลกรณรงค์การกินข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ โดยเขียนเอกสารอ้างอิงงานวิจัยของอเมริกาว่า "ข้าวกล้องเป็นยอดอาหารอายุวัฒนะ ประกอบด้วยโปรตีน ไขมัน วิตามินมากมาย มีเส้นใยมาก ทำให้ระบบขับถ่ายดี ลดการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลดการเกิดโรคหัวใจ ป้องกันเหน็บชา มีธาตุเหล็กป้องกันโรคโลหิตจาง มีฟอสฟอรัสทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ป้องกันนิ่ว มีวิตามินรวมช่วยบำรุงสมอง ข้าวกล้องจึงเป็นยอดอาหารของมนุษย์ ชนิดที่ข้าวขาวต้องชิดซ้ายไปเลย"


 


                         


                                   แกงแคสมุนไพร ซึ่งมีผักมากกว่า ๓๒ ชนิด


 


ข้าวโพดหวานเพิ่งตัดจากต้น ต้มเสร็จใหม่ ๆ ยังร้อน ควันกรุ่น กินแล้วมีรสหวาน หอม น้ำดอกอัญชัญ คือ อาหารว่างที่พี่มีบุญ "ขวัญใจของอาจารย์แปลก" จัดไว้ต้อนรับด้วยน้ำใจในช่วงเช้า อาหารกลางวันสุดวิเศษ คือ แกงแค "พี่มีบุญ" กับแม่บ้านลงมือตำน้ำพริกเองด้วยครกหิน เก็บเครื่องแกงจากสวน คือ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กระเทียม หอมแดง รากผักชี พริกชี้ฟ้า ตำให้ละเอียดแล้วผัดน้ำมัน แล้วใส่เนื้อปลาลงผัดจนหอม เติมน้ำตั้งไว้ให้เดือด ใส่ผักที่แข็งสุกยากลงไปก่อน เช่น หางหวาย มะแขว่น มะเขือ เห็ด ตูน แล้วจึงใส่ผักอื่นๆ ซึ่งแม่วัย ๗๒ ของพี่มีบุญช่วยเก็บมาให้ รวมแล้วมากกว่า ๓๒ ชนิด ได้แก่ ใบชะพลู ดอกแค ดอกข่า หน่อข่า ผักเซียงดา ผักหวานบ้าน ตำลึง ยอดชะอม ฯลฯ นับว่าเป็นอาหารทิพย์ที่บำรุงธาตุ บำรุงสุขภาพ ระบายท้องอย่างดีเยี่ยม


 


น้ำพริกถั่วดิน (ถั่วลิสง) ผักลวก กับดอกอัญชัญสีม่วง สีขาว ชุบไข่ทอดคืออาหารจานรอง ที่อร่อยไม่แพ้แกงแค กินกับข้าวกล้องหุงสุกใหม่ อร่อยจนลืมอิ่ม ปิดท้ายด้วยน้ำเต้าหู้ (ซึ่งได้จากถั่วเหลืองที่ปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว)


 


ชาวนาหลายพื้นที่มักนิยมปลูกข้าวนาปี ต่อจากข้าวนาปรัง ซึ่งอาจารย์แปลกมีข้อเสนอว่า การปลูกข้าวนาปรังก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง คือ การแย่งชิงน้ำ เพราะต้องใช้น้ำมาก วงจรศัตรูข้าวไม่ถูกตัดตอน จึงต้องใช้สารเคมีเข้มข้น ดินไม่ได้พัก ต้องใช้ปุ๋ยเติมลงไป ทำให้ดินเสีย ข้าวนาปรังจึงคุณภาพด้อยกว่าข้าวนาปี โรงสีหรือพ่อค้าจึงต้องนำมาผสมกับข้าวพันธุ์ดี ทำให้ข้าวไทยที่ส่งออกคุณภาพต่ำ


 


                       


                                                           ผักปู่ย่า


 


ทางเลือกที่ดีกว่าคือปลูกถั่วเหลืองสลับข้าวนาปี ซึ่งจะได้ปุ๋ยจากรากและใบของถั่ว บำรุงดิน ตัดปัญหาการแย่งชิงน้ำ ตัดวงจรศัตรูของข้าว ได้กินถั่วเหลืองเป็นโปรตีนจากพืช ได้ขายถั่วเหลืองราคาดี ได้กินเห็ดจากซากถั่วเหลือง ดังตัวอย่างทุ่งนาตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน ที่ปลูกถั่วเหลืองประจำ ดินจึงดีไม่มีศัตรูพืช


 


แผนงานหลายอย่างที่อาจารย์แปลกจะทำต่อไป เช่น ศึกษาการปรับปรุงดินด้วยการปลูกหญ้าแฝก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก การใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ใช้พลังน้ำ พลังลม บ่อแก็สชีวภาพ การเก็บน้ำฝนไว้บริโภค การทำบ้านดิน การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำจัดขยะ ค่ายเรียนรู้เพื่อเยาวชน การประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำผักพื้นบ้านสู่ครัวของชาวบ้านและหน่วยงาน ซึ่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นโรงพยาบาลนำร่องเรื่องการใช้ข้าวอินทรีย์และผักพื้นบ้านเป็นเมนูหลัก


 


ปณิธานของอาจารย์แปลกที่ลาออกจากชีวิตครูของวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีเชียงราย ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๗  เพื่อทุ่มเทสร้าง "บ้านนาหลังคาแดง" สวนเกษตรอินทรีย์ คือ "ผมมาสร้างที่นี่ เพื่อหวังจะรักษาสิ่งดีงามที่ ปู่ย่า ตายาย ของพวกเราได้คิด ได้ทำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของครอบครัว ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ผมไม่อยากให้สิ่งดีๆหลายอย่างถูกลบเลือนไปตามกาลเวลา ผมขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมเยียน คอยให้กำลังใจ ผมยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขอรับใช้ทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง"


 


หมายเหตุ   ท่านผู้อ่านที่สนใจไปเยี่ยม บ้านนาหลังคาแดง ติดต่อ อาจารย์แปลก   เดชะบุญ ได้ที่ โทร. ๐๕๓ – ๖๖๕๐๔๖  มือถือ ๐๙ – ๘๓๘๓๔๒๑


           


ภาพโดยมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา