Skip to main content

บนเส้นทางพิทักษ์สิทธิเด็ก : "ศูนย์เพื่อน้องหญิง" (๒)

คอลัมน์/ชุมชน

การเดินทางระยะเริ่มต้น


 


ภายหลังจากที่พี่ลอยด์และพี่หล้าได้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์เพื่อน้องหญิง ซึ่งเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในปี  ๒๕๔๐ ขณะนั้นได้ใช้พื้นที่บริเวณที่โล่งข้างบ้านพี่ลอยด์ จัดเป็นที่ทำกิจกรรมสำหรับเด็ก


 


กระต๊อบเล็กๆ คือ อาคารสำนักงานหลังแรกของศูนย์เพื่อน้องหญิง


 


ในระยะเริ่มแรกนั้น กลุ่มเด็กผู้หญิง ถือว่าเป็นกลุ่มหลัก ที่ศูนย์เพื่อน้องหญิง จะร่วมเรียนรู้และสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิให้


 


ด้วยเหตุนี้เอง ชื่อของกลุ่มที่พี่ลอยด์ และพี่หล้า ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมา จึงมีชื่อเรียกว่า ศูนย์เพื่อน้องหญิง


โดยมีการทำงานเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายเพื่อให้เด็กและผู้หญิงรู้จักสิทธิ มีทางออกของปัญหาที่ยุติธรรมและสอดคล้องกับความต้องการอย่างเท่าเทียมกัน และให้ชุมชนมีกลไกในการเปิดโอกาสให้คนในชุมชนโดยเฉพาะเด็กเยาวชน และผู้หญิง มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและมีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน


 


และให้ชุมชนมีความรู้ เข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก เปิดโอกาสให้กับเด็กเยาวชนชายหญิง ได้แสดงบทบาทหน้าที่ร่วมพัฒนาสังคมและมีมาตรการลดปัญหาการล่วงละเมิด รวมทั้งให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสและมีส่วนร่วม ในการพัฒนาตนเองสังคม อย่างเท่าเทียม กล้าแสดงออก ได้รับโอกาสในการส่งเสริมให้แสดงความสามารถตามความถนัด มีแหล่งบริการ เช่น ศูนย์เพื่อน้องหญิง


 


โดยศูนย์เพื่อน้องหญิงมีการดำเนินงานต่างๆ ดังนี้


 


. รณรงค์ให้ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก, ทักษะการป้องกันตัวเองจากการถูกเอาเปรียบทางเพศ และทักษะการเฝ้าระวังแก่เด็ก และผู้ใหญ่ โดยการสร้างอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิเด็กในโรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน ๒๕ โรง, ระดับมัธยมศึกษา จำนวน ๑ โรง, ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวน ๑ ชุมชน และสร้างอาสาสมัครเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิเด็กในชุมชน ๒ ตำบล คือ ตำบลแม่อ้อ และตำบลดอยงาม ซึ่งมีการสนับสนุนให้กลุ่มอาสาสมัครได้เผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิเด็กในโรงเรียนและชุมชน ผ่านการแสดงละครและการจัดรายการวิทยุ ผ่านสถานีวิทยุชุมชน ประจำตำบลแม่อ้อ


 


. งานสังคมสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก โดยการเยี่ยมบ้านผู้ประสบปัญหา งานช่วยเหลือเด็ก และผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงด้านต่าง ๆ และงานนักสังคมสงเคราะห์ รวมถึงการส่งต่อผู้ประสบปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


 


. เครือข่ายเพื่อความก้าวหน้าสตรี โดยการส่งเสริมงานอาชีพของกลุ่มสตรี ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มเย็บผ้า การจัดทำแชมพูสมุนไพร


           


. ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร โดยการจัดทำห้องสมุดชุมชนมีการบริการศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านต่างๆ เช่น เอดส์ เพศศึกษา สิทธิเด็ก การค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นการบริการแก่คนทุกคนในชุมชน


 


การดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์เพื่อน้องหญิง มีการกำหนดบทบาทและโครงการสร้างการทำงานคือมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา ๕ คน และมีที่ปรึกษาการทำงาน มีการแบ่งฝ่ายงานได้แก่ ฝ่ายสำนักงาน ฝ่ายบัญชี ฝ่ายเยาวชน ฝ่ายชุมชนและฝ่ายช่วยเหลือ


 


"เนื้องานที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมีโครงการที่ทำกับชุมชนได้แก่ งานพัฒนาอาสาสมัครนักเรียน/ผู้ใหญ่ งานสื่อสารเรื่องเอดส์ เพศศึกษา และงานพัฒนาเครือข่ายโรงเรียน การจัดอบรมเรื่องสิทธิเด็ก รวมทั้งมีโครงการย่อยเช่น การถอดองค์ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก"  พี่ลอยด์ เล่าถึงกระบวนการทำงานของศูนย์


 


ภายใต้การทำงานในช่วงแรกที่ถือว่าเป็นการเดินทางบนทางเดินเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็ก ที่ทุลักทุเล ไม่ว่าจะเป็นทักษะและจำนวนของคนทำงานต่อสภาพปัญหาที่ซับซ้อน และทุนในการทำงาน เหล่านี้จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับพี่ลอยด์ และพี่หล้า เป็นอย่างยิ่ง


 


การทำงานจากรูปแบบเดิม จึงเริ่มมีความคิดใหม่ๆ เข้ามาเสริมการทำงานมากขึ้น กล่าวคือ


 


ด้านคนทำงาน – ได้มีการจัดอบรมอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิเด็กขึ้น โดยเน้นอบรมเด็กผู้หญิง ซึ่งจะเป็นแกนนำในการกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์เพื่อน้องหญิงร่วมกัน และสร้างคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำกิจกรรมเพื่อชุมชน มีการขยายคนที่พร้อมจะทำงานเพื่อชุมชน แตกหน่อต่อยอดขึ้นมาเป็นรุ่นๆ


 


"ที่เข้ามารุ่นแรก ๆ จะมีแต่เด็กผู้หญิง เราชวนเพื่อนๆ ที่อยากทำกิจกรรม เพราะจะได้แสดงออกและช่วยพี่ๆ ทำกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชน" คำบอกกล่าวของ พี่แต๋น หรือ พัชรินทร์ คำจันทร์ อาสาสมัครรุ่นที่ ๑


           


พี่แต๋น เข้ามาทำกิจกรรมกับศูนย์หลังจากที่ลอยด์และหล้าเข้าไปจัดกิจกรรมให้ความรู้ที่โรงเรียน และเริ่มเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจและอยากพบปะเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ เพื่อมาทำกิจกรรมร่วมกันด้วยการเป็นวิทยากรจัดค่าย เป็นคนสอนดนตรีแก่รุ่นน้อง ……….อาสาสมัครรุ่น ๑ มีประมาณ ๑๐ คนโดยเป็นเด็กผู้หญิงทั้งหมด


 


สำหรับอาสาสมัครแล้วก่อนที่จะเข้ามาทำกิจกรรมนั้น ความรู้ ความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก เอดส์เพศศึกษา คนรักเพศเดียวกัน พบว่าอาสาสมัครไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ หรือบางคนก็มีความรู้แค่พื้นฐาน เช่น การดูแลสุขภาพ การเจริญเติบโตเท่านั้น และยังมองว่าเอดส์เรื่องไกลตัว ไม่ค่อยสนใจ ไม่รู้จักเอดส์ ซ้ำยังรังเกียจผู้ติดเชื้อ คิดว่าเอดส์ติดต่อกันง่าย ส่วนเรื่องคนรักเพศเดียวกันนั้นมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ บางคนก็รู้และเข้าใจเพราะมีเพื่อนเป็นรักเพศเดียวกัน


 


"ตอนนั้นเป็นเด็กนักเรียนมัธยมต้นโรงเรียนแม่อ้อวิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมในตำบลแม่อ้อ  ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ก็จะมาเรียนหนังสือตามปกติ โดยการปั่นจักรยานมากับเพื่อนๆ ในหมู่บ้านเป็นระยะทาง ๒-๓ กิโลเมตร ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็จะช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ดูทีวี เที่ยวบ้านเพื่อน ๆ ในตำบลแม่อ้อ ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจทำกิจกรรมอะไรเท่าไหร่" อาสาสมัครคนหนึ่งกล่าว


 


ส่วนด้านต่อมาเรื่อง งบประมาณ – มีการระดมทุนโดยการเขียนโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จากมูลนิธิผู้หญิง และองค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทย เพื่อมาช่วยหล่อเลี้ยงการทำงาน ตามแผนและกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์เพื่อน้องหญิง


 


แรกๆ การเขียนโครงการถือว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับพี่ลอยด์และพี่หล้า แต่ยังไม่ใช่เรื่องยากเสียทีเดียวเพราะทั้งสอง มีที่ปรึกษาที่คอยปรับแก้โครงการ และแนะนำทักษะการเขียนโครงการที่สอดคล้องกับกิจกรรม เป้าหมายและงบประมาณสำหรับกิจกรรมของศูนย์


 


ครั้งหนึ่งพี่ลอยด์และพี่หล้า มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงชื่อของศูนย์ จาก ศูนย์เพื่อน้องหญิง เป็น ศูนย์เพื่อน้องหญิง-ชาย เนื่องจากว่า พอศูนย์ได้ทำกิจกรรมมาสักระยะหนึ่งพบว่ามีเด็กผู้ชายที่สนใจกิจกรรมมากขึ้น และที่สำคัญปัญหาการทารุณกรรมทางเพศกับเด็กนั้น ไม่ได้มีแต่เฉพาะเด็กผู้หญิง แต่ปัญหาเริ่มที่จะขยายสู่เด็กผู้ชาย จึงเป็นที่มาของความคิดที่จะเปลี่ยนชื่อศูนย์


 


แต่ผลสรุปสุดท้าย ทั้งเด็กหญิง-ชาย และเจ้าหน้าที่เองก็เห็นพ้องต้องกันว่า ยังคงจะใช้ชื่อ ศูนย์เพื่อน้องหญิง เหมือนเดิม แต่การทำงานเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ขยายจากเดิมที่เน้นเด็กผู้หญิง เป็นเด็กผู้ชายด้วย และขยายกลุ่มไปสู่เยาวชน คนหนุ่มสาวต่างๆ ที่เรียนหนังสือและไม่ได้เรียนหนังสือ เพื่อดึงมาเป็นแกนนำในการทำงานของศูนย์


 


อย่างไรก็ตาม ช่วงเริ่มต้นบนหนทางสู่การปกป้องคุ้มครองเด็กของศูนย์เพื่อน้องหญิง จึงถือว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับพี่ลอยด์และพี่หล้า ซึ่งท้าทายว่าจะต้องพบเจออะไรบ้างในการร่วมกันเดินทางครั้งนี้อีกมากมายในอนาคต


 


(โปรดติดตามตอนต่อไปครับ)