Skip to main content

พลังหญิง

คอลัมน์/ชุมชน

ขอเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามสักเล็กน้อยว่า หากได้ยินเรื่องว่า ผู้หญิงทั้งหมู่บ้านช่วยกันล้อมจับผู้ชายที่กระทำการข่มขืนสาววัยรุ่นคนหนึ่ง นำผู้ชายคนนั้นมากล้อนหัว แล้วให้แก้ผ้าแล้วเดินไปรอบ ๆ หมู่บ้านแล้วจะรู้สึกอย่างไรบ้าง


อาจมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่จะตอบว่าสะใจ ที่มีบ้างที่ผู้หญิงสามารถรวมตัวกันจัดการกับคนไม่ดีได้ แต่หากเมื่อมาคิดซ้ำเรื่องนี้กลับไม่ได้เพียงความสะใจ แต่เรื่องนี้กลับสะท้อนให้เห็นแง่มุมอีกหลายแง่มุมในสังคม


เรื่องมีอยู่ว่า (ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น) เมื่อไม่นานมานี้ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่แคว้นรันจี ของอินเดีย มีผู้หญิงกว่า 40 คนในหมู่บ้านได้รวมตัวกันเข้าไปล้อมบ้านผู้ชายคนหนึ่งที่ได้กระทำการข่มขืนเด็กสาววัย 18 จากหมู่บ้านข้างเคียง โดยที่ผู้ชายวัย 50 ปีคนนี้มีภรรยาและลูกแล้ว 7 คนและเคยกระทำการละเมิดทางเพศหญิงมาหลายคนแล้ว และมักจะได้รับปล่อยตัวตัวกลับมาเสมอเมื่อเรื่องถึงตำรวจ


อีกเช่นกัน เพียงแค่ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ก็ก่อคดีขึ้นมาอีกแต่ถูกปล่อยตัวกลับมา และเขาก็ได้กระทำการนั้นอีก บรรดาผู้หญิงในหมู่บ้านจึงอดรนทนไม่ไหว เข้าไปล้อมบ้านและจับตัวชายคนนั้นมากล้อนหัว แล้วให้แก้ผ้าเดินไปรอบ ๆ หมู่บ้านเพื่อเป็นการประจาน รวมทั้งห้ามทุกคนในหมู่บ้านออกไปข้างนอกหมู่บ้านตลอดระยะเวลา 3 ชั่วโมงที่ชายคนนั้นกำลังถูกลงโทษอยู่ เรื่องถึงตำรวจจะเข้ามาจัดการเรื่องนี้ ปรากฏว่าก็ไม่สามารถเข้ามาในหมู่บ้านได้เพราะผู้หญิงเหล่านี้ได้วางการ์ดล้อมหมู่บ้านไว้หมดแล้วและไม่อนุญาตให้ตำรวจเข้ามาได้


ในขณะเดียวกันที่ประเทศไทย มีผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิตัวเองจากการถูกข่มขืนที่เป็นข่าวเกรียวกราว 2 คน คนหนึ่งได้กัดลิ้นของผู้ชายจนขาด ส่วนอีกคนหนึ่งสู่สุดฤทธิ์เช่นกันโดยใช้กุญแจทิ่มลงบนหัวและใช้มือทิ่มตาผู้ชายที่กำลังจะข่มขืนจนทำให้หนีออกมาได้จึงรอดพ้นจากการถูกข่มขืน และเนื่องในวันสตรีสากลวันที่ 8 มีนาคม คณะกรรมการวันสตรีสากล ได้มีการมอบรางวัลให้แก่สตรีดีเด่นในด้านต่างๆ ผู้หญิงสองคนนี้ก็ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในด้านการป้องกันสิทธิของตนเอง


สิ่งที่ทั้งสามตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นก็คือ พลังหญิงนั้นมีอยู่จริง เมื่อถึงคราวที่ผู้หญิงต้องลุกขึ้นสู้ก็ย่อมทำได้


ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่า จะสนับสนุนให้ผู้หญิงใช้วิธีต่อสู้แบบใช้ความรุนแรง แต่อย่างกรณีตัวอย่างเหตุการณ์ที่อินเดียนั้นเห็นได้ว่าการลุกขึ้นมาสู้ของผู้หญิงนั้นเกิดขึ้นเนื่องจาก กลุ่มผู้หญิงเองไม่สามารถพึ่งพากระบวนการยุติธรรมของประเทศที่มีอยู่ได้ เพราะทุกครั้งที่เกิดคดีขึ้น ผู้ชายที่ถูกกล่าวหาก็ได้รับการปล่อยตัวมาทุกครั้ง และเกิดความย่ามใจในการกระทำการคุกคามผู้หญิงและปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงเป็นตัวอย่างว่า เมื่อผู้หญิงถูกกดดันถึงขีดสุดจนทนไม่ไหวก็สามารถลุกขึ้นมาสู้ได้


ในกรณีประเทศไทยก็เช่นกัน เราก็เห็นการข่มขืนหรือกรณีการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นก็เป็นผลแห่งความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชายโดยที่ผู้ชายในสังคมชายเป็นใหญ่นั้นมักจะมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า หรือผู้หญิงเป็นสมบัติของผู้ชายจึงสามารถกระทำการย่ำยีผู้หญิงอย่างไรก็ได้ รวมทั้งมีจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าผู้หญิงเกิดมาเพื่อสนองความต้องการทางเพศของผู้ชาย หรือเป็นเพียงวัตถุทางเพศ (sex object) เท่านั้น ดังนั้นการให้ความสำคัญกับเพศหญิงในสังคมจึงน้อยกว่าการให้ความสำคัญกับเพศชาย ดังเราจะได้เห็นจากกฎหมายต่าง ๆ ที่ยังคงให้ความคุ้มครองที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชายในหลายกรณี และแม้แต่บทลงโทษในกรณีที่ผู้ชายได้กระทำต่อผู้หญิงก็มักจะน้อยกว่าที่พึงจะเป็นเสมอ


เคยมีกรณีตัวอย่างเช่น ชายผู้เป็นสามีทำร้ายร่างกายและตบตีผู้หญิงอยู่เป็นประจำ มีบางครั้งผู้หญิงทนไม่ไหวไปแจ้งความ ตำรวจก็บอกว่าเป็นเรื่องปกติให้ยอมความกันไป ผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางคนถึงกับฆ่าตัวตายไปเพื่อหนีความทุกข์เหล่านั้น แต่มีผู้หญิงคนหนึ่งทนไม่ไหวเลยฆ่าสามีตายและถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือในอีกคดีหนึ่งที่หลายคนคงจำได้ที่สามีฟาดภรรยาด้วยไม้กอล์ฟจนตาย แต่ได้รับการตัดสินว่าเป็นเรื่องของการบันดาลโทสะ เป็นอุบัติเหตุ ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา


เหล่านี้เป็นเหตุว่า ทำไมผู้หญิงที่ตามปกติมักจะยอมจำนนหรืออดทนมาก ๆ ถึงต้องลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเอง และเมื่อมาถึงตรงนี้ ผู้หญิงเองพึงจะต้องตระหนักว่า พลังของผู้หญิงนั้นมีอยู่จริงและการรวมพลังของผู้หญิงย่อมเป็นจริงและสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก่อนอื่นผู้หญิงต้องเชื่อในศักดิ์ศรีและศักยภาพของตนเองก่อน ผู้หญิงต้องเชื่อก่อนว่าเราทำได้ หากกำลังน้อยกว่าก็ใช้วิธีรวมตัวกัน หรืออาจต้องใช้ไหวพริบเข้าช่วยด้วย แต่ต้องมีความเชื่อมั่นในพลังของตนเองก่อน


นอกจากความเชื่อมั่นว่าพลังหญิงมีอยู่จริงแล้ว ผู้หญิงก็ควรที่จะต้องเลิกเชื่อว่าตนเองนั้นเป็นวัตถุทางเพศของผู้ชาย หลาย ๆ ครั้งผู้ชายมักมองผู้หญิงในแง่นี้ และมีผู้หญิงไม่น้อยเลยที่ยอมจำนนกับความคิดนี้ ทั้งอย่างรู้ตัวและไม่รู้ตัว เราจะเห็นสินค้าต่าง ๆ มากมายที่ปรากฏอยู่ในท้องตลาดที่ทำขึ้นมาเพื่อให้ผู้หญิงใช้ แต่ End product หรือปลายทางกลับไปอยู่ที่ผู้ชาย


ตัวอย่างเช่น ครีมเสริมหน้าอก หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นปากกันไปแล้วว่าครีมนมเด้ง หรือครีมหน้าเด้ง รวมทั้งเทรนด์ความงามแบบขาวเนียน หน้าอกใหญ่ ตาสองชั้น คางแหลม ซึ่งต่างเป็นเหตุให้ผู้หญิงต้องไปวุ่นวายมากกับการเสริมอก เสริมจมูก กรีดตา เสริมคาง ทำไมผู้หญิงถึงต้องไปวุ่นวายอยู่แต่กับเรื่องเหล่านี้ เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ชายชอบ เป็นเทรนด์ความงามที่ถูกกำหนดโดยผู้ผลิตสินค้าและนักโฆษณาสินค้าที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชาย ที่ทำให้ผู้หญิงเชื่อว่าหากผู้หญิงมีความงามในสไตล์อย่างว่าก็จะเป็นที่สนใจของผู้ชาย และการที่ผู้หญิงต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพียงเพื่อดึงดูดใจผู้ชายนั้นก็เท่ากับเราได้ยอมรับไปแล้วว่าผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศของผู้ชายไปแล้วโดยปริยาย อย่างนี้เราจะเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมได้อย่างไร หรือ ไปกล่าวหาผู้ชายว่ามองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศก็คงไม่ได้ ในเมื่อผู้หญิงเองก็ยอมรับในความเป็นวัตถุทางเพศของตัวเองไปแล้วด้วยตัวเอง


มองในทางตรงกันข้าม ในขณะที่ผู้ชายไม่ว่าจะ แก่ อ้วน หัวล้าน ลงพุง หรือจะดำดีสีไม่ตก หรือจะดูซกมกไปบ้างเราก็ยังรักอยู่ ไม่ได้คิดจะทอดทิ้งไปไหน หรือไม่ได้ไปยื่นคำขาดว่าถ้าพุงไม่ยุบ หรือผมไม่ขึ้นภายใน 1 อาทิตย์แล้วจะหาแฟนใหม่ ผู้หญิงกลับพยายามมองหาส่วนดีในตัวเขาที่มีอยู่เพื่อลบข้อด้อยที่เขามีให้หมดเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข


อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า จะให้ผู้หญิงมากลายเป็นยายเพิ้งที่ไหนหรือต้องปล่อยตัวโทรมหรอกนะ แต่ให้ผู้หญิงเองได้รู้จักคิดแยกแยะสิ่งที่ดี ที่ถูกที่ควรกับตนเอง และดูดีอย่างมีสติ ไม่ใช่ถูกบอกว่าอย่างนี้ดูดี และต้องกล้าหลุดกรอบค่านิยมเก่า ๆ ที่ทำให้ผู้หญิงต้องยอมจำนนกับชะตากรรม รวมทั้งต้องช่วยกันลบสำนวน หรือคำพังเพย อันแสดงชัดเจนในการเลือกปฎิบัติหรือทำให้ผู้หญิงด้อยค่า อาทิ มีลูกสาว เหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง หรือบางสำนวนที่รับมาจากจีน ว่า ผู้หญิงตอนเด็กเป็นสมบัติของบิดา โตขึ้นมาเป็นสมบัติของสามี แก่ตัวเป็นสมบัติของลูกชาย หรือความคิดเรื่อง ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร เป็นต้น


หากผู้หญิงไม่ไปติดกับที่จะต้องทำให้ตัวเองไปสนับสนุนความเป็นวัตถุทางเพศให้กับผู้ชายแล้ว ผู้หญิงก็คงจะได้หันมามองรอบตัวได้มากขึ้น เราคงจะมีเวลามาคิดเรื่องการยกระดับสถานภาพสตรี การเรียกร้องเพื่อให้เกิดการปฎิบัติให้เกิดความเท่าเทียมกันในระหว่างหญิงชายได้มากขึ้น และคงจะมีเวลามาคิดหาความสุข ความสำเร็จได้มากกว่านี้ และจะได้เห็นว่าหลาย ๆ เรื่องที่เราคิดว่าไม่เป็นธรรมกับผู้หญิงนั้น ก็ต้องใช้พลังหญิงนั่นเองเข้ามาแก้ไข ดังเช่นตัวอย่างของผู้หญิงในอินเดียที่เกิดขึ้นทั้งที่โดยบริบทสังคมอินเดียไม่ได้เอื้อให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาทำอะไรได้มากนัก แต่ผูหญิงกลุ่มนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมจำนน การไม่ยอมให้ผู้หญิงต้องก้มหน้ารับกรรมเพียงลำพังอีก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมีอยู่ของพลังหญิงได้เช่นกัน

สุดท้ายอยากฝากความตอนหนึ่งจากเพลงภราดร ของวงคุรุชน ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา (16) เนื่องในวันสตรีสากลปีนี้ เพื่อเสริมพลังให้แก่ผู้หญิงทุกคนว่า


"ตื่นเถิดหญิง ความจริงเธอยิ่งใหญ่ สิทธิ์พึงได้ร่วมแรงแสวงหา ประเพณีกำหนดกฎออกมา เธอต้องฝ่ากฎเหล่านี้สตรีไทย"