Skip to main content

ปัญหาอยู่ที่มองไม่เห็นปัญหา (ตอนหนึ่ง)

คอลัมน์/ชุมชน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีอะไรให้ต้องสะสางมาก ส่วนมากเป็นปัญหาที่ระบบ เพราะว่าคนที่อยู่ในระบบมองไม่เห็น หรือถึงเห็นก็เหมือนไม่เห็น ตราบใดที่ไม่มีใครโวย


 


เรื่องแรกคือ การสมัครขอบัตรเครดิตเพื่อจะเป็นลูกหนี้ธนาคาร ผู้เขียนนั้นต้องขอบอกว่ามีไว้เพื่อใช้ไม่กี่ประเด็น อันแรกคือ ไว้ใช้จ่ายกับข้าวและของยังชีพอื่นๆ อันที่สองไว้จ่ายค่าน้ำมันรถที่แพงขึ้นทุกวัน ยิ่งใช้ ฮอนด้า แอ๊คคอร์ดรุ่นปี 2000 เครื่องยนต์บิ๊กๆ ที่ที่บ้านมีไว้เล่นๆ กว่า 6 ปี แต่ใช้ไปแค่ 4 หมื่นกว่ากิโล ผู้เขียนนั้นนึกนิยมยี่ห้ออื่นมากกว่าคือ อิซูสุ เพราะเป็นรถใช้งานและค่าบำรุงรักษาต่ำมาก แต่มักโดนค่อนแคะว่าเป็นรถกระบะที่คนบางกลุ่มใช้กัน และมักขับกันแบบไม่ระมัดระวัง  ซึ่งยอมรับว่าจริงที่คนรายได้ไม่มากนิยมใช้ และมักจะตามมาด้วยความไม่ "ลึก" ทางความคิด นอกจากนี้จะเป็นที่เพ่งเล็งของตำรวจที่ชอบตั้งด่านตรวจจับ


 


อย่างไรก็ตาม ไม่ยุติธรรมนักที่จะมาสรุปกันและตีตราแบบนี้ เอาเป็นว่า ถ้าเหมาะๆ จะเปลี่ยนรถ ก็จะเอายี่ห้อนี้ กระบะนี่แหละ ถ้าคนที่ขับรถดีๆ มาขับกันบ้าง มันอาจจะมองภาพรถกระบะดีขึ้น และต้องให้คนไทยรู้ด้วยว่ากระบะไทยนั้น ราคาถูกที่สุดในโลก เมืองนอกนั้นต้องมีเงินพอควร ไม่งั้นซื้อได้แต่ซิตี้คาร์  แต่ถ้ากระบะนี่ต้องควักเงินมากกว่าหลายเท่า แม้บางส่วนจะเป็นพวกชาวไร่ชาวนาก็ตาม ที่เมืองไทยขายกันคันละ 4-5แสน ที่สหรัฐฯ นี่เป็นล้านทั้งนั้น  คนไทยไม่รู้ว่าตนเองโชคดีที่รถกระบะนี่ถูกแสนถูก แล้วก็ใช้งานได้จริง เสียแต่ว่าการใช้ดีเซลนี่ทำลายสภาพแวดล้อมมากไปหน่อย ไม่ว่าจะเอาระบบอะไรมาช่วยในการเผาไหม้ก็ตาม


 


เม้าท์เสียนาน อันที่สามที่เห็นว่าจำเป็นต้องใช้บัตรเครดิตคือ เผื่อฉุกเฉินต้องรักษาพยาบาล การมีบัตรพวกนี้ช่วยให้มีโอกาสที่ไม่โดนปฏิเสธ แต่ไม่คิดจะใช้ในการนี้นัก เพราะไม่อยากป่วย และมีประกันสุขภาพที่หน่วยงานจัดหาให้ (แต่ก็ไม่อยากคาดหวังมากเช่นกัน)  อันที่สี่คือ เผื่อไปธุระต่างประเทศสั้นๆ  การพกพาเงินสดหรือ เช็คเดินทางบางทีไม่สะดวก การถือบัตรเครดิตจึงสะดวกกว่าเพราะแค่รูด อีกทั้งมีบริการเสริมต่างๆ เช่น การประกันอุบัติเหตุเมื่อซื้อตั๋วเดินทางด้วยบัตร หรือในกรณีบัตรหายก็มีการระงับการใช้บัตรทันที นอกจากนี้การมีบัตรก็ใช้ค้ำตัวเองในต่างประเทศได้มากกว่าการมีเงินสดในบางกรณี เช่น การเช่ารถยนต์ อันนี้อาจมองไม่เห็นภาพนักหากอยู่แต่ในเมืองไทยที่นิยมเงินสดมากกว่าเพราะระเบียบวินัยการใช้รูปแบบเงินตรายังไม่หนีระบบแบบดั้งเดิมเพราะขาดการพัฒนาทางจิตใจ


 


ดังนั้น จึงสมัครไปเสียสองสถาบันทางการเงิน รู้มาว่าตอนนี้มีการเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านๆ มามีคนก่อหนี้ผ่านบัตรดังกล่าวนี้มากขึ้น คนใกล้ตัวผู้เขียนบางคนมีหนี้ต้นเพียง 100 ทบดอกอีกกว่า 100 กลายเป็นดอกท่วมต้น เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทนี้โหดร้ายมาก คือ กว่าร้อยละ15 ต่อปี นับว่าโหดมากแต่เป็นเงินกู้ที่สะดวก เพราะใช้รูดไปได้เรื่อยๆ ตราบใดที่มีการอนุมัติวงเงินเพิ่มหรือเพียงแค่ชำระบางส่วนที่จำเป็น ดังนั้น การใช้เงินแบบไม่มีวินัยของคนไทยเลยทำให้เกิดความเสียหายในวงการ อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าสมัยก่อนนั้นออกบัตรให้กันนั้นง่ายเหลือเกิน รู้มาว่าคนไทยบางคนมีบัตรแบบนี้ 7-8 ใบทั้งที่มีเงินเดือนจิ๊ดเดียว ส่วนบริษัทบัตรก็ปล่อยกันออกมาเพราะอยากทำยอด  รู้ทั้งรู้ว่าคนไทยนี่ไม่มีระเบียบวินัยในการบริหารเงิน ก็ปล่อยออกมา จนบานเบอะแล้วกลายเป็นปัญหาที่มาเข้มงวดอย่างบ้าๆ ภายหลัง


 


สถาบันการเงินแห่งแรกคือ ธนาคารกรุงเทพ ให้บัตรผู้เขียนมาทันทีใน 10 วันหลังจากสมัคร ส่วนสถาบันที่สองนั้นคอยเป็นเดือน จึงได้มีการตรวจสอบ จึงพบว่ามีปัญหา ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่าที่ต้องขอสองใบจากสองสถาบันนี่ก็เพราะว่าเพื่อนสนิทที่บริหารงานด้านนี้บอกว่าควรมีมากกว่าหนึ่ง เพราะระบบออนไลน์ในเมืองไทยล่มได้ง่าย ถ้าถือบัตรเดียวแล้วระบบออนไลน์บัตรนั้นล่มอาจทำให้เกิดปัญหาได้ แม้ว่าจะมีการโทรฯขอการอนุมัติได้เมื่อต้องทำธุรกรรม แต่ร้านค้าหลายแห่งในไทยก็งกเกินกว่าที่จะยอมโทรฯ  อีกทั้งไม่สะดวกอีกนานัปการ


 


เรื่องของสถาบันที่สองที่ไม่มีรายงานนั้น ผู้เขียนได้โทรฯไปตามงาน จึงพบว่ามีความผิดพลาด ใบสมัครผู้เขียนโดนปฏิเสธโดยอ้างว่าติดต่อผู้เขียนไม่ได้ ผู้เขียนมารู้ในวันที่ 21 มิถุนายน ทั้งที่การปฏิเสธนั้นเกิดในวันที่ 7 มิถุนายน กว่า 14 วันที่ไม่ได้การติดต่อเลย ไม่มีจดหมายหรือการติดต่อใดๆ เลย ทั้งที่ก่อนวันที่ 7 มีการขอเอกสารรับรองเงินเดือนเพิ่มเติม จากนั้นวันที่ 6 หรือ 7 ผู้เขียนยังโทรฯไปถามสถานภาพใบสมัครด้วยซ้ำ  ซึ่งได้รับคำตอบตอนนั้นว่ายังไม่ได้มีการพิจารณา


 


งานนี้ผู้เขียนจึงต้อง "วีนแตก" กลายร่างเป็นนางยักษ์ทันที โทรฯ ด่าทุกระดับ และเตรียมเอานักข่าวไปทำข่าวตอนเข้าพบผู้บริหาร บรรดาลิ่วล้อพวกนี้พยายามสุดฤทธิ์ที่จะไม่ให้เข้าถึงผู้บริหาร ผู้เขียนบอกว่างานนี้ ถ้าเป็นชาวบ้านตาดำๆ ที่ไม่เรียกร้องสิทธิ์นี่อะไรจะเกิดขึ้น  ท้ายสุดมีการพิจารณาใบสมัครของผู้เขียนใหม่อีกครั้ง จึงได้รับคำตอบว่าอนุมัติ พร้อมวงเงิน 2 แสนบาท และดำเนินการนำส่งทันที การปิดเคสแบบนี้ถือว่าไม่น่าประทับใจนัก แต่ผู้เขียนขยายผลไม่ได้เพราะถือว่าทางสถาบันนั้นได้จัดการแก้ไขเคสผู้เขียนได้ เพียงแต่ว่าผู้เขียนต้องนำเรื่องนี้มาเป็นเรื่องเล่า หากมีคนใดเจอแบบผู้เขียนจะได้ป้องกันตนเองได้เท่านั้น ฟ้องร้องอะไรไม่ได้แล้ว


 


เรื่องที่สองคือ เมื่อวานนี้ (27 มิถุนายน) ที่อู่บริการตรวจซ่อมของดีลเล่อร์รถยนต์ยี่ห้อที่ผู้เขียนใช้อยู่ บังเอิญอู่นั้นนี่มีน้องที่รักใคร่กันทำงานอยู่ จึงไหว้วานให้จองคิวเพื่อตรวจซ่อมที่เวลา 8.00-8.30 น.ไว้ให้ ผู้เขียนก็นำรถไปในเวลานั้น ปรากฏว่ามารู้ภายหลังว่ารถขึ้นแท่นตรวจเมื่อเวลาบ่ายโมงไปแล้ว ดีที่คนรับซ่อมมีความซื่อสัตย์บอกความจริง แต่เป็นความจริงที่เลวร้ายมากเพราะว่าผู้เขียนไม่ได้รับข้อมูลเลยว่ารถผู้เขียนต้องไปคอยขนาดนั้น ระบบการรับรถในสหรัฐฯ นั้นคือ ต้องรับนัดและจัดคิว ถ้าไม่มีนัด ก็ต้องถือว่าเป็นการฉุกเฉิน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน แล้วจึงจัดนัดกัน การที่บอกว่ามาหลังเวลา 8.00 น. ต้องคอยตามการนำรถเข้ามา ถือว่าไม่เป็นระบบ เพราะไม่งั้นมีคิวไปทำไม หรือถ้ามีคิวเพื่อเป็นการ "เฟเว่อร์" กัน  แต่มาให้คอยแบบนี้ ขอไม่เฟเว่อร์น่าจะดีกว่า จะไปเข้าคิวคอย แต่ถ้าเป็นแบบนี้ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ที่ทำเหมือนว่าเป็นการทำทานต่อผู้มาใช้บริการ ซึ่งก็เป็นมานานมากจนคนไทยมองไม่เห็นว่าเป็นการเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ


 


อันนี้ "สคบ." ควรเข้ามาดูแลด้วย ไม่ใช่ว่าดูแลแค่ทุบรถตามที่ผ่านมา และผู้บริโภคควรต้องร้องเรียนให้มากๆว่า บริษัทรถยนต์พวกนี้เอาเปรียบขนาดไหน ขอบอกว่าบริษัทรถยนต์ทุกยี่ห้อในเมืองไทยคิดราคาแพงกว่าที่ควรเป็น ไม่ว่าตัวรถหรือบริการ แต่เมื่อมีความผิดพลาดก็จะปัดไปเป็นเรื่องความผิดพลาดหรือความรับผิดชอบของผู้บริโภคหรือลูกค้าทั้งสิ้น การยกระดับให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องมีการสอนให้คนรู้จักทั้งสิทธิและหน้าที่ ไม่ใช่เอาสิทธิเพียงอย่างเดียว ผู้บริโภคมีสิทธิ แต่ก็ต้องมีหน้าที่ที่ต้องป้องกันสิทธิของตนเอง โดยการฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ ไม่ใช่ "ช่างแม่ง"


 


เมื่อผู้เขียนได้ข้อมูลปั๊บก็ติดต่อสำนักงานใหญ่ทันที ปรากฏว่าไม่มีผู้ใหญ่ของฝ่ายบริการลูกค้าอยู่สักคน ก็บอกว่าขอให้ติดต่อมาเพราะคุยกับแค่ระดับ "อ๊อฟฟิศเซ่อ" ไม่ได้เรื่อง ตอบแบบไดอาล็อคที่ฝึกๆ กันมา น่ารำคาญเป็นที่สุด จนต้องบอกไปว่า ตามกฎหมายลูกค้ามีสิทธิที่จะคุยกับผู้บริหาร เป็นการเข้าถึงข้อมูลในระดับหนึ่ง  โดยเฉพาะที่"อ๊อฟฟิศเซ่อ" ตอบปัญหาไม่ได้เป็นที่พึงพอใจ  ซึ่งอันนี้ต้องมีกรณีเล่าต่อไปเรื่อยๆ เพราะผู้ประกอบการหลายแห่งมักเข้าใจผิดและดูถูกการคิดของผู้บริโภคหรือลูกค้า ดังนั้น การที่มี "อ๊อฟฟิศเซ่อ" นี่ไม่ใช่สักแต่ให้ตอบแบบป้องกันผู้บริหารหรือหัวหน้างานเท่านั้น


 


จากนั้น ก็มีการติดต่อกลับจากอู่ที่นั่นทันที เรียกว่าต้องชี้แจงกันอลหม่าน แล้วสัญญาว่าจะมีการตั้งระบบใหม่กันเลยในการรับรถเข้ารับบริการ  ซึ่งก็ควรจะเป็นดังนั้น  ในสายตาผู้เขียนนั้น การที่จะเป็นระบบนั้นทำได้ แต่ต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค การที่บอกว่ามีคิวแต่ต้องเป็นคิวตอนเช้าก่อน 8.00 น. นั้นสะดวกทางอู่ แต่ไม่สะดวกลูกค้า การนัดคิวแบบฝรั่งน่าจะไม่ใช่ของยากแล้วในเมืองไทย เพราะการติดต่อกันง่ายขึ้น มือถือนั้นช่วยได้มากทีเดียว เพราะถ้านัดแล้วไปไม่ได้หรือไปสายก็ไม่ใช่เรื่องแปลก โทรฯ แจ้งได้  อย่างที่สหรัฐฯ นั้น เขาถือว่าการสลับคิวและจัดการคิวเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่เน้นความสะดวกของลูกค้าไม่ใช่ของตนเอง  มีการให้ข้อมูลกับลูกค้าอย่างฉับไวเพื่อการบริหารเวลาที่ดี


 


เรื่องนี้คงพูดกันอีกหลายครั้ง เพราะ 1) คนไทยยังมองว่าเวลาเป็นของมีค่านิดหน่อย ใช้เวลาและบริหารเวลากันไม่เป็นเอาเสียเลย  2) การทำงานที่จ้องเอาเปรียบผู้บริโภคหรือลูกค้าเพื่อผลกำไรที่มหาศาล ต้นทุนต่ำ อนิจจาเมืองไทยนั้นผู้ประกอบการเหล่านี้มีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากเสียด้วยเพราะเอาเงินไปซื้อนักการเมือง สนับสนุนพรรคการเมือง หรือตั้งพรรคการเมืองเสียเอง ดังนั้น ผู้บริโภคคนตาดำๆ ก็ซวยซับซวยซ้อน แถมทำมาหากินอิสระก็ไม่ได้ พวกนี้กินพื้นที่ทางการตลาดไปหมด ต้องกลายเป็นลูกค้า ลูกจ้าง และทาสของบริษัทเวรเหล่านี้อย่างครบวงจร


 


จึงทำให้มีกรณีแบบนี้มาเล่าต่อเรื่อยๆ โปรดติดตามก็แล้วกัน