Skip to main content

กิจกรรม กับการพัฒนาสภาวะการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน

น๊าน นานมาแล้วเคยได้รับข้อมูลจากพี่สาว ที่ทำงานที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก (ม.ศพด.) เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง (พวกที่เราเรียกว่าเค้ามีลักษณะของ Risk behavior) โดยเป็นการระดมสมองหลายๆ สมองของกลุ่มคุณหมอ (ที่ทำงานกับวัยรุ่น) เพราะที่ผ่านมา การจัดการปัญหา และพัฒนาการของเด็กวัยรุ่นมีปัญหาที่สุด หมอๆ ก็เลยมาร่วมกันหาทางออก ทั้งในรูปแบบของแนวคิดและนำเสนอกิจกรรม


 


ด้วยความที่ทำกิจกรรมกับวัยรุ่นและเด็กๆ อยู่บ้าง ก็เลยอยากแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านด้วยในเรื่องของการทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชน ก็คือเรื่องความเข้าใจพัฒนาการของวัยรุ่นทั่วไป วัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และวัยรุ่นที่เคยเป็นผู้กระทำความผิดมาก่อน ซึ่งวัยรุ่นสองกลุ่มหลัง จะมีปัญหาค่อนข้างซับซ้อนกว่ากลุ่มวัยรุ่นทั่วไปมั่กๆ กลุ่มหลังนี่ไม่ใช่ความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low- self esteem) อย่างเดียว แต่เป็นลักษณะของความรู้สึกว่าเค้าไม่มีตัวตน ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม


 


ซึ่งหากผู้ทำงาน ทำกิจกรรม หรือครูผู้สอนไม่ทราบว่ากลุ่มเป้าหมายของเรามีปัญหาอย่างไร หรือมีความจำเป็นต้องแก้ไขในเรื่องใด ก็อาจจะเป็นการเกาไม่ถูกที่คันก็ได้ (ลองคิดดูนะครับ เวลาเกาไม่ถูกที่คัน มันจะคัน และหงุดหงิดแค่ไหน)


 


ผมก็เลยจะได้นำมาบทสรุปบางส่วนจากการประชุม และจากประสบการณ์การทำงานมาแลกเปลี่ยนกับทุกท่าน ถือโอกาสขออนุญาตพี่ๆที่ ชมรมครอบครัว ม.ศพด.  ไว้ ณ ที่นี้เลยครับ


 


 


..........................................


 




อาสาสมัครกับน้องเด็ก


 


 


ปัญหาของวัยรุ่นถ้าเราทั่วไปมองอย่างเพียงผิวเผิน จะพบว่ามีมากมายเนื่องจากเขาไม่มีทางออกอย่างสร้างสรรค์ และก็หาทางออกตามจริตของแต่ละคน การแก้ปัญหาก็สามารถแก้ได้หลายจุด โดยแบ่งกลุ่มเด็กได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้


 


1. กลุ่มเด็กที่มีปัญหาสภาพจิตใจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนพ่อแม่ครูช่วยเหลือได้ค่อนข้างยาก ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหลายวิชาชีพร่วมเข้าช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาผลกระทบทางด้านสภาวะอารมณ์ จิตใจ ครอบครัว ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการได้รับการใช้ความรุนแรงจากครอบครัว ผลกระทบทางด้านจิตใจจากเพื่อน ครู หรือบุคคลรอบข้าง อันเกิดจากการที่เด็กและเยาวชน ไม่มีทักษะชีวิตและไม่สามารถสังเคราะห์และจัดการอารมณ์ตนเองได้ อันก่อให้เกิดปัญหาต่อตัวเด็กและเยาวชน


 


2. กลุ่มที่เริ่มมีปัญหา  เป็นกลุ่มที่เริ่มมีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการที่ผู้ปกครองให้เวลากับบุตรหลาน ให้คำปรึกษา สร้างความเข้าใจภายในครอบครัว ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ หรือดูแลความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับสังคม อย่างไม่มีอคติ ก็จะช่วยให้เป็นการป้องกันการเกิดปัญหาได้ในระดับหนึ่ง


 


3. กลุ่มทั่วไป  พ่อแม่ ผู้ปกครอง หน่วยงาน องค์กร ทั้งรัฐและเอกชน ต้องช่วยกันสร้างทัศนคติ รณรงค์ ให้ความรู้ พัฒนาศักยภาพ ทั้งเป็นรายบุคคล และเป็นกลุ่ม นอกจากนี้แล้วยังต้องสร้างกลุ่มเพื่อน กลุ่มชมรม กลุ่มกิจกรรม เพื่อเกิดพลังในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมดำเนินการต่างๆ ตามแนวทางที่เหมาะสมในช่วงวัย ซึ่งจะดีต่อตัวเด็กและเยาวชน อันจะทำให้เด็กและเยาวชน รู้สึกว่าได้รับการยอมรับและมีสังคมเล็กๆ ของตัวเอง ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน หากท่านเห็นว่ามีเด็ก เยาวชนรวมตัวกันไปทำเรื่องที่ท่านผู้ใหญ่ทั้งหลายมองเห็นกันว่าไม่ถูกไม่ควร เช่น กินเหล้า นั่งมั่วสุมกัน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็มีให้เห็นทั่วไป เกิดจากจากการที่เด็กและเยาวชน ยอมรับกันเองในกลุ่ม และรู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากเพื่อนในกลุ่มของตนเอง เด็ก เยาวชนรู้สึกมีตัวตน ทำให้เกิดความสนใจและใส่ใจกลุ่มมากกว่าสิ่งอื่นๆ ดังนั้นการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้มีการรวมตัวกัน เพื่อแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ จึงพอจะเป็นแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้


 


 


-----------------------------------------


 


 


มีมุมมองส่วนตัวของคุณหมอท่านหนึ่งที่ได้เสนอไว้ และน่าสนใจมากคือ ปัญหาของวัยรุ่น ส่วนหนึ่งเป็นพัฒนาการปกติของวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยส่วนใหญ่เป็นพัฒนาการปกติ แต่ส่วนหนึ่งจะมีการล้ำเส้น ถลำลึก ประกอบกับการตอบสนองหลายอย่างทำให้เกิดเป็นปัญหาสะสมจนกลายเป็นโรค หรือเป็นพฤติกรรมปกติของเด็ก เยาวชน คนนั้นๆ


 


พฤติกรรมเสี่ยง (Risk behavior) เกิดขึ้นมาจากกระบวนการอยากรู้อยากลอง (เคยได้ยินมั้ยครับที่เค้าบอกกันว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังอยากรู้อยากลอง ชอบเสี่ยง)  ซึ่งเด็กและเยาวชนเค้าก็อยากเรียนรู้ความสามารถของตนเอง อยากทดสอบความกล้า ชอบท้าทาย และเพื่อทำให้เกิดการยอมรับตนเอง และให้ผู้อื่นยอมรับ รวมถึงการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Identity) ยืนยันความมีอยู่ของตนเอง ทำให้เกิดภาพของความภูมิใจ (esteem) และในที่สุดก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะของการมีแนวคิดอิสระ (independent) มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง (Self- Confidence) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาภายในจิตใจ ของเด็กและเยาวชน


 


คำถามที่ผู้ใหญ่ และผู้เกี่ยวข้องจะต้องตอบ และทำ ก็คือ ... เราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้พฤติกรรมเสี่ยง (Risk behavior) กลายเป็นโรค ที่จะส่งผลร้ายกระทบกระเทือนตัวเด็กเอง ซึ่งในที่นี้จะกระทบกระเทือนคนอื่นๆ และสังคมด้วย


 


 


 


น้องเยาวชนที่ผู้เขียนทำกิจกรรมด้วย อดีตหัวหน้าแก๊งค์วัยรุ่น  
ปัจจุบันเลิกเอาดีด้านต่อยตี หันมาช่วยแม่ขายข้าว   


 


 


เด็กในชุมชนที่ผู้เขียนทำกิจกรรมด้วย รูปนี้ชิว ชิว


 


 


 


-----------------------------------------


 


ข้อคิดสำหรับการพัฒนาสมอง ซึ่งสมองจะเจริญเติบโตและพัฒนาได้ดีจาก



  1. สิ่งแวดล้อม ในการเรียนรู้ที่มีความสุข ไร้แรงกดดัน มีความรักที่อบอุ่น และอาหารที่สมบูรณ์ครบ 5 หมู่ (หารายละเอียดเรื่องภาวะไร้แรงกดดันได้ในบทความเรื่อง ใครว่าหนูโง่ )


 



  1. มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และการเรียนคือการมีกิจกรรมทางสังคมที่ท้าทายความคิดอยู่เสมอ เราจะเรียนดีขึ้น และมีความสุขขึ้น เมื่อทำงานด้วยกัน เป็นหนึ่งในรูปแบบของการเรียนที่จัดให้มีการถกเถียง พูดคุย เสนอความคิดเห็นโดยไม่จำกัดรูปแบบวิธีการ แต่มีการวางกรอบการเรียนรู้อย่างกว้างๆ เพื่อให้การพูดคุยได้รับประโยชน์ และมีข้อสรุปที่จะเกิดจากความเข้าใจโดยตัวของเด็ก และเยาวชน


 



  1. การสัมผัส สัมผัสอันอ่อนโยนอบอุ่น ความมีเมตตา ในการเลี้ยงดูหรือดูแล (การนวด การโอบ-กอด สัมผัสเบาๆ) กรณีนี้สัมผัสได้ทั้งทางกาย และทางจิตใจ คำพูด การกระทำ ต้องอย่าลืมว่าเด็ก หรือเยาวชน จะสามารถรับรู้ความรู้สึกได้ไว และจับความรู้สึกได้ดีกว่าผู้ใหญ่


 



  1. มีปฏิสัมพันธ์ ต่อสิ่งแวดล้อม ปลูกต้นไม้ เก็บขยะ ทำกิจกรรมร่วมกัน


      ณ ที่นี้ขอกล่าวถึงการทำกิจกรรมร่วมกันภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติ และทำให้เด็ก เยาวชน สามารถเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งต่างๆรอบตัวเราได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างกระบวนการสังเคราะห์อารมณ์ และความรู้สึกของตนเองได้  


 


การทำกิจกรรมร่วมกันนี้ รวมไปถึงค่าย/การฝึกอบรม พัฒนาศักยภาพต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีกระบวนการที่ไม่จำกัด และกีดกั้นกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน อันจะนำมาซึ่งพลังอย่างไม่มีขีดจำกัดของการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่ม


 



  1. สมองจะไวต่อสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในระยะวัยเด็กๆ (ประมาณก่อน 10 ขวบ) เค้าถึงบอกไงครับว่า เด็กในช่วงวัยนี้ต้องการความรักความอบอุ่น ต้องการมีเพื่อนตามวัย ครอบครัวจึงจำเป็นต้องให้เวลา ความรัก ความอบอุ่น และสร้างกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวให้เกิดขึ้น เช่น ผู้ปกครองควรพาลูกไปเที่ยวๆ ต่างจังหวัด หรือไปเที่ยวด้วยกัน(อย่างสนุกสนาน) การไปทานข้าวนอกสถานที่ร่วมกัน ประเภทร้านเหล้าร้านคาราโอเกะ ไม่ดีแน่นอนครับ ต้องเป็นไปทานข้าวที่ร้านอาหารบรรยากาศดีๆ หรือสวนน้ำ สวนสนุก สวนสาธารณะ เป็นต้น


 



  1. สมองควรถูกใช้และกระตุ้นในทุกช่วงอายุ และใช้คิดสิ่งต่างๆ ที่ท้าทายต่อสมอง ถ้าจะให้ดีพ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสำรวจตนเอง ว่าตนเองมีทัศนะคติอย่างไรต่อเด็ก และวัยรุ่น มีการดุด่าว่ากล่าวบ่อยๆ โกรธอย่างไม่มีสาเหตุ รำคาญพฤติกรรมของลูกหลาน หรือไม่ ถ้าเกิดใช่ ต้องรีบถามตัวเองแล้วแหละครับว่า หากเป็นเราในวัยเด็ก เราจะชอบหรือไม่


 


ดังนั้น การแนะนำและให้คำปรึกษาแก่วัยรุ่น จึงควรเป็นการพูดคุย และใช้คำถามปลายเปิดไม่ลงท้ายด้วยการตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ /ควรถามคำถามที่ทำให้เกิดการอธิบาย เช่น ขึ้นต้นด้วยการถามว่า ทำอย่างไร? หรือ เพราะอะไร? เป็นต้น   


 



  1. การเล่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเรียนรู้ในวัยเด็กเล็ก ส่วนเด็กโตก็เป็นการทำกิจกรรมต่างๆ การช่วยเหลือตัวเองตามวัย การทำงานการมีความรับผิดชอบตามวัย


 



  1. ในการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การทำให้สภาวะในขณะเรียนรู้มีแรงกดดัน/ความเครียดน้อยที่สุด และกระตุ้นให้เด็กคิดในทุกๆรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการคิดสร้างสรรค์ คิดจินตนาการ คิดแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์ ฯลฯ และทำสิ่งดีที่ท้าทายมากที่สุด


 



  1. การที่จะให้เด็กเป็นคนดี ต้องปลูกฝังสิ่งดีๆ ตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่อายุ 2 – 3 ขวบ ถึงก่อนวัยเรียน


 


-----------------------------------------


 




งานอบรมแกนนำสภาเด็กและเยาวชน ภาคตะวันออก 6-8 มิ.ย. 49 ที่ผู้เขียนไปเป็นวิทยากรมา


 




กิจกรรม กับเด็กและเยาวชนในชุมชนวัดหงส์รัตนาราม บางกอกใหญ่ กทม.


 


 


แนวทางสำรับการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและวัยรุ่น สำหรับกิจกรรมหรืออะไรก็ตามที่จะให้วัยรุ่นสนใจ


ควรมีการทำให้เป็น C 4 (เหมือนชื่อระเบิดเลยนะครับ) ซึ่งกระบวนการต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยง (risk behv.) เป็นพฤติกรรมเชิงบวก (positive)


 


C 4 ประกอบด้วย


- Challenging ความท้าทาย ท้าทายแนวคิด ท้าทายความสามารถ ท้าทายตนเอง ท้าทายกลุ่ม ฯลฯ ทำให้เด็กและเยาวชนได้ใช้ความคิดของตนเองอย่างเต็มที่


 


- Competition การแข่งขัน ซึ่งอาจเป็นการแข่งขันกับกลุ่ม กับตนเอง ภายใต้ข้อจำกัดบางอย่าง เช่น แข่งกับเวลา แข่งกับตนเองในการทำให้สิ่งเดิมๆดีขึ้น ฯลฯ  แต่ไม่ควรเป็นการแข่งขันที่ทำลายความสามัคคีของกลุ่ม การใช้กิจกรรมเพื่อการแข่งขันสามารถใช้กิจกรรมประเภทการแข่งขันของกลุ่มได้ด้วย


 


- Creativity การสร้างสรรค์ เป็นกระบวนการของการผลิตสิ่งใหม่ สิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือมีคนทำมาแล้วแต่ยังไม่แพร่หลายก็ได้ อย่าพึ่งจำกัดความคิดของเด็กและเยาวชน ว่าความคิดที่เขาคิดมีคนทำเยอะแล้ว แต่ให้โอกาสเขาได้ลองทำด้วยตนเอง เพื่อทำให้เกิดคุณค่า (value) ซึ่งแทนตัวเขาเอง หรือจะแทนกลุ่มของเขาเอง


 


Companionship ความเป็นเพื่อน ความเป็นกลุ่มเดียวกัน มนุษย์เป็นสัตว์สังคม หากได้ทำอะไรร่วมกันกับเพื่อนเป็นหมู่คณะแล้วละก็ มันก็จะเกิดการร่วมทุกข์ร่วมสุข ความสนุกสนาน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อาจจะมีจีบกัน กุ๊กกิ๊กกันบ้างตามวัยก็ไม่เป็นไร ควรมองในเรื่องของการพัฒนาอันจะเกิดขึ้นกับลูกหลาน อาทิ เชิงสังคม เชิงแนวคิด เป็นสำคัญ ซึ่งผลดีต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลดีต่อบุตรหลานในระยะยาว  


 


หมายเหตุของ C 4 :


 


เรื่องความท้าทาย ความสร้างสรรค์นี้สินค้ามอมเมาเยาวชนหลายยี่ห้อ ใช้เป็นแนวทางในการโฆษณา ทำให้เป็นจุดขายเพื่อขายสินค้ามอมเมาเยาวชน อาทิ เหล้า-เบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย รวมไปถึงเครื่องดื่มประเภทชูกำลัง ซึ่งไม่ควรส่งเสริม และผู้ปกครองก็ควรสอนให้บุตรหลานรู้จักพิจารณาด้วย (ในกรณีที่ผู้ปกครองเสพสิ่งมอมเมา ก็เลิกเสียเถอะครับ ไม่อย่างนั้นสอนใครก็ไม่ได้หรอก)


 


เรื่องกิจกรรมต่างๆ นั้น ให้ลองนำมาพิจารณาดูว่า กิจกรรมนั้นๆ ลื่นไหลหรือไม่ มีข้อจำกัดหรือไม่ ถ้ากิจกรรมไม่ลื่นไหล ไม่ต่อเนื่องก็อย่าฝืนเลยครับ ไม่งั้นก็รังแต่จะทำให้กระบวนการมันฝืด และเด็ก เยาวชน ไม่สนุกสนาน (ว่าง่ายๆ ก็คือ อะไรดีก็ทำ ก็เลือกเก็บไว้อะไรที่มันขัดขวางกระบวนการก็อย่าทำ เช่น เล่นแล้วไม่สนุก ก็หาทางทำให้มันสนุกซะ สถานที่ไม่เอื้ออำนวย ก็ควรหาที่ที่มันเหมาะสม) 


 


-----------------------------------------


 


พฤติกรรมเสี่ยง(Risk behv.) ทั้งหลายนั้นไปตอบสนองต่อแนว 4 อย่างนี้ของวัยรุ่น ซึ่งจะว่าไปถ้าใครทำกิจกรรม รณรงค์ หรือให้ความรู้ด้วยวิธีแบบนี้มันโดน(ใจ)กว่าจริงๆ นะ


 


ดังนั้น การมีกิจกรรมเฉยๆ อาจไม่เพียงพอต่อไปอีกแล้ว เพราะถ้าไม่สามารถบรรลุ อย่างนี้ ถึงจะไม่บรรลุ 4 อย่างที่ว่ามา เด็กและเยาวชนก็อาจจะได้รับความรู้ จากการบรรยาย การได้มานั่งฟังความรู้ จากท่านกูรู้ เอ๊ย ผู้รู้ สัก 2-3 ชั่วโมง ถึงแม้จะใครจะบรรยายดีแค่ไหน เชื่อขนมกินได้เลยว่าทั้งเด็ก เยาวชน คงไม่เว้นแม้แต่ผู้ใหญ่เอง คงต้องเกิดอาการเบื่อหน่าย ง่วงเหงา อย่างแน่นอน (ไม่ได้ตั้งใจจะว่าใครนะ แต่ใครที่จัดงานแบบนี้บ่อยๆ คงจะรู้ดี ว่าไอ้การที่คนฟังนั่งหลับ โงกเงก มันเป็นยังไง จัดแล้วคุ้มค้าไหม คงต้องคิดเอาเอง)


 


 


นอกจากนี้สิ่งจำเป็นอีกอย่างที่ต้องเกิดร่วมกัน คือต้องให้วัยรุ่น เกิดการควบคุมตนเอง (Self control) ควบคุมกิจกรรมได้ ถ้าเป็นกลุ่มก็สามารถให้มีกติกาที่ตกลงร่วมกันได้ขณะทำกิจกรรม ถ้าจะมีการควบคุมตนเองได้ กิจกรรม และกระบวนการจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความต่อเนื่องระดับหนึ่ง


 


ว่ากันไปเรื่องแนวทาง และแนวกิจกรรมเสียยืดยาว ฉบับหน้า จะส่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากระบวนการ และความสำคัญของการพัฒนากระบวนการมาแลกเปลี่ยนกัน หวังว่าท่านผู้อ่านจะติดตามกันนะครับ เพราะการพัฒนากระบวนการ และการส่งเสริมมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการทำกิจกรรม พัฒนาตนเอง พัฒนาสังคม ถือเป็นหัวใจหลักของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเลยทีเดียว


 




อาสาสมัครรุ่นเดอะ กับน้องเด็ก


 


ผมมีความเชื่ออย่างแน่วแน่ว่า ทุกคนสามารถส่งเสริมการมีส่วนร่วม เข้าใจกิจกรรม และสนับสนุนลูกหลานให้ลูกหลานได้ทำกิจกรรม อันจะทำให้ลูกหลานท่านได้เติบโต และเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข


ในสังคมที่ยังไม่เลวร้ายนักอย่างเช่นทุกวันนี้


 


แล้วพบกันบทความหน้าครับ