Skip to main content

สถานการณ์พลังงานในภาคใต้ กับ การสร้างสุขในชุมชน

คอลัมน์/ชุมชน

๑.      คำนำ


เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่พ่อค้าพลังงานและกลไกของรัฐทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดในหลายมิติ เช่น (๑) เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น  ผู้บริโภคคอยจ่ายเงินซื้ออย่างเดียว เมื่อเดือดร้อนทนไม่ไหวก็อนุญาตให้บ่นได้เล็กน้อยเพื่อลดความเครียด (๒) เป็นเรื่องของไฟฟ้า น้ำมัน และ ก๊าซหุงต้ม เท่านั้น ซึ่งมียอดรายจ่ายโดยตรงรวมกันแล้วไม่มากนัก แต่ไม่คิดรวมไปถึงต้นทุนพลังงานในสินค้าชนิดอื่นๆ (๓) ไม่เชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งปัญหาโลกร้อน น้ำท่วม แผ่นดินไหว (๔) ไม่เกี่ยวกับปัญหาอื่น เช่น ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน การว่างงานและความยากจนที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกขณะ


 


บทความนี้จะนำเสนอทั้งข้อมูลและแนวคิดบางอย่าง เพื่อค้านแย้งกับสิ่งที่กลุ่มพ่อค้าพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค และรัฐบาลพยายามทำให้คนเราเข้าใจผิด


 


นอกจากนี้ จะชี้ให้เห็นแนวทางที่ชัดเจนว่า (๑) ระดับปัจเจกสามารถร่วมกันผลักดันเชิงนโยบายสาธารณะได้  เพราะเรื่องนี้กระทบถึงทุกคน (๒) ระดับชุมชนสามารถร่วมกันสร้างสุขได้จริง ถ้าสามารถรวมตัวกันทำธุรกิจด้านพลังงานในชุมชนของตนเองได้


 


อนึ่ง เนื่องจากเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่กว้างขวางมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะที่สำคัญต่อพื้นที่ภาคใต้เป็นพิเศษเพียงบางประเด็นเท่านั้น


 


๒. ขนาดของรายจ่ายด้านพลังงาน


 


เราจะพิจารณาใน ๒ ระดับ คือ


 


ในระดับประเทศ


ในปี ๒๕๔๕ คนไทยทั้งประเทศได้เสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยเฉลี่ยประมาณ ๑๔% ของรายได้ประชาชาติหรือของจีดีพี[1] ซึ่งตอนนั้นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกประมาณ ๔๐ เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  แต่ในปี ๒๕๔๘ ซึ่งราคาน้ำมันดิบได้ทะยานไปอยู่ที่เกือบๆ ๖๐ เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ ๒๐% หรือ ๑ ใน ๕ ของรายได้  คิดเป็นมูลค่าพลังงานที่ใช้ในปี ๒๕๔๘ ประมาณ ๑.๓ ล้านล้านบาท[2]


 


ในปี ๒๕๔๘ บริษัท ปตท. จำกัด(ที่เคยเป็นของรัฐแต่ถูกแปรรูปเป็นเอกชน ๔๘%)ได้โกยกำไรไปถึง ๘.๕ หมื่นล้านบาท ในขณะที่คนไทยต้องซื้อน้ำมันในราคาแพงเป็นประวัติการณ์  คุณโสภณ สุภาพงษ์ กล่าวว่า  "นี่คือการปล้นประชาชนชัดๆ"


 


ในระดับชุมชน


เราแทบจะไม่เคยมีการสำรวจว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของเรามีมากน้อยแค่ไหน แต่ชาวชุมชนอู่โลก อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ ได้เก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน แล้วจึงได้ค้นพบด้วยตนเองว่า ชุมชนขนาด ๑,๐๔๑ ครัวเรือน มีประชากร ๕,๔๓๔ คน มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างเดียวปีละกว่า ๑๔.๕ ล้านบาท (ปี ๒๕๔๕) คิดเฉลี่ยครัวเรือนละ ๑๔,๐๐๐ บาทต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ ๒๕,๐๐๐ บาทต่อปี ก็คิดเป็นร้อยละ ๕๖ ของรายได้ทั้งหมดทีเดียว[3]


 


ที่กล่าวมานี้เพื่อยืนยันว่า เรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่โตมากในมิติเศรษฐกิจ สร้างผลกำไรจำนวนมหาศาลแก่ผู้ประกอบการ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศ ทางออกของปัญหาดังกล่าว อยู่ที่การเปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลและชุมชนสามารถขายพลังงานเข้าสู่ระบบรวมของประเทศได้      เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำได้เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและอื่นๆ


 


ประเด็นต่อไปจะกล่าวถึงมิติทางสุขภาพและความขัดแย้ง


 


๓. ปัญหาชุมชน : จากจะนะ ถึง สะบ้าย้อย แล้วย้อนไปแม่เมาะ


 


หลายปีก่อนชาวบ้านอำเภอจะนะ จ. สงขลา ที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง" ได้ออกมาคัดค้านโครงการที่พวกเขา(รวมทั้งนักวิชาการทั่วประเทศกว่าหนึ่งพันคน) เห็นว่าเป็นโครงการที่ "ไม่โปร่งใส ขัดรัฐธรรมนูญ และละเมิดสิทธิชุมชน" (ไม่ทำประชาพิจารณ์ให้ถูกต้อง อีไอเอก็ยังไม่ผ่านการพิจารณาของผู้ชำนาญการ) จนนำไปสู่เหตุการณ์ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมอย่างสงบ จนนำไปสู่ศาลยุติธรรม ล่าสุดศาลอาญาได้ตัดสินว่าชาวบ้านไม่มีความผิด และศาลปกครองได้ตัดสินว่าตำรวจเป็นฝ่ายผิด ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้าน ปัจจุบันชาวบ้านกลุ่มนี้ก็ยังคงยืนยันจะคัดค้านต่อไป


 


คนทั่วไปที่ถูกฝ่ายรัฐสร้าง "มายาภาพ"   ว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ชาวบ้านจะไปรู้อะไร นักวิชาการก็รับเงินต่างชาติมาคัดค้านโครงการ   ต่างก็หลงเชื่อตามคำโฆษณาของรัฐบาล   ต่างก็วางเฉยต่อความรุนแรงในแผ่นดิน


 


แท้ที่จริงแล้ว เขาควรจะต้องขวนขวายค้นหาความจริง แล้วร่วมทำหน้าที่ของ "พลเมืองผู้ตื่นรู้ และร่วมกันสร้างสุข"


 


ขณะนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตกำลังลงพื้นที่เพื่อโหมโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนักเพื่อที่จะ ขุดเหมืองลิกไนต์ ที่ตำบลทุ่งพอ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา จากการสำรวจพบว่าพื้นที่ดังกล่าวกินวงกว้างถึง ๔๖๐ ตารางกิโลเมตร (หรือประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่น้ำในทะเลสาบสงขลา) มีลิกไนต์อยู่มากเป็นอันดับสองรองจากเหมืองแม่เมาะที่กำลังก่อปัญหาอย่างรุนแรง


 


หนังสือพิมพ์รายฉบับรายงานข่าวตรงกันว่า "ชาวสะบ้าย้อยกว่า ๑,๕๐๐ คน ชุมนุมทวงสิทธิ์ ขอเป็นกรรมการศึกษาเหมืองลิกไนต์" (๑๘ เมษายน ๔๙)


 


นี่คือสัญญาณของปัญหาที่เริ่มก่อตัวขึ้น เป็นสัญญาณที่ทุกภาคส่วนไม่ควรมองข้าม


อนึ่ง พื้นบริเวณนี้มีปัญหาทางสังคมมานานนับสิบปี แต่เริ่มรุนแรงจนเป็นส่วนหนึ่งของ "กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 


 


คำถามที่พลเมืองผู้สร้างสุข ควรจะตั้งคำถามก็คือ เราขาดแหล่งพลังงานจริงหรือ เราไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วหรือ หรือว่านี่คือแหล่งเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ที่สามารถทำกำไรก้อนโตให้กับกลุ่มของตนเอง


 


เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มกรีนพีซ (พฤษภาคม ๔๙)  ได้ออกหนังสือชื่อ "แม่เมาะ ความตายจากถ่านหิน"   เพื่อสื่อสารกับสังคมโดยรวม (ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าจากแม่เมาะ  รวมทั้งคนภาคใต้ด้วย) ผมขอนำภาพปกหนังสือมาลงไว้ที่นี่ด้วย  


 


รายงานของกรีนพีซชิ้นนี้ระบุว่า มีชาวบ้านที่เสียชีวิตจากภัยของโรงไฟฟ้าไปแล้วนับแต่เริ่มต้นประมาณ ๓๐๐ คน อีก ๓๐,๐๐๐  คนต้องอพยพหนีความตาย


 


บทเรียนที่น่าสนใจและเก็บรับไปศึกษาในแวดวงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ก็คือ ข้อเสนอของชาวบ้านที่ว่า


"รัฐบาลต้องรับฟังหลักฐานที่มิใช่เพียงจากนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นลูกจ้างของรัฐ แต่ต้องรวมถึงประจักษ์พยานของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในหลายๆ กรณี พวกเขามีชีวิตอยู่อย่างสิ้นหวังจากผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังเช่นที่แม่เมาะ"


 



 


ผมเชื่อว่า ถ้าสังคมไทยได้รับทราบความจริงเช่นนี้ คงจะยอมไม่ได้ที่ปล่อยให้ชาวบ้านแม่เมาะต้องเผชิญกับความตาย  เช่นเดียวกับชาวยุโรปที่ตื่นรู้ส่วนใหญ่ได้ร่วมกันผลักดันจนรัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานของประเทศ


 


ปฏิบัติการที่เป็นจริงของชาวเยอรมนี ก็คือ ทางรัฐบาล (หรือบริษัทจัดการไฟฟ้า) จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินในราคาที่ต่ำกว่าปกติ (ราคาประมาณ ๕ บาทต่อหน่วย) เพราะถือว่าเป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อม แต่จะรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงสะอาดในราคาแพงกว่าปกติ (เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ในราคาหน่วยละ ๒๕ บาท)  แล้วนำไปเฉลี่ยขายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในราคาหน่วยละ ๑๘ บาท เป็นต้น


 


ด้วยนโยบายราคาแบบ "เอื้ออาทร" ขนานแท้ทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม เช่นนี้ ทำให้การใช้พลังงานสกปรกลดลง แต่พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงมากขึ้น


 


๔. พลังงานลมในภาคใต้


 


เจ้าหน้าที่รัฐอ้างมาตลอดว่า ลมในประเทศไทยไม่แรงพอที่จะทำไฟฟ้าได้ ทั้งๆที่ผลการศึกษาที่แหลมพรหมเทพ จ. ภูเก็ต สรุปว่า "เป็นที่น่าพอใจ"


 


ในปี ๒๕๔๔ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ศึกษาพบว่า "ภาคใต้บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี มีศักยภาพที่จะผลิตกังหันลมถึง ๑,๖๐๐ เมกะวัตต์ โดยใช้ความสูงที่ระดับ ๕๐ เมตร"


 


ล่าสุดผลการศึกษาของธนาคารโลก (ค้นได้จาก google.com ภายใต้ชื่อ Wind Energy Resource Atlas Southeast Asia) พบว่า "ความเร็วลมที่ระดับความสูง ๖๕ เมตรในประเทศไทยอยู่ในระดับดีถึงดีมาก(ความเร็วลมเฉลี่ย ๗.๐ ถึง ๗.๕ เมตรต่อวินาที) รวมกันถึง ๗๖๑ ตารางกิโลเมตรและมีศักยภาพที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง ๓,๐๖๗  เมกะวัตต์"


 


ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้รวมกันมีเพียงประมาณ       ,๕๐๐  เมกะวัตต์เท่านั้น


 


ข้อมูลจากสมาคมพลังงานลมแห่งสหรัฐอเมริกา(http://www.awea.org/pubs/factsheets/EconomicsofWind-March2002.pdf)  ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนว่า ถ้าความเร็วลมเฉลี่ยที่ ๗.๑๕ เมตรต่อนาที ราคาการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ ๑.๕๐ ถึง ๑.๙๗ บาทต่อหน่วยเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นกิจการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ โดยที่จะได้ทุนคืนในช่วงเวลาประมาณ ๘ ปีเท่านั้น 


 


ขณะนี้กิจการกังหันลมลมกำลังก้าวหน้ามาก ทั้งทางเทคนิคและการลงทุน  ประเทศในเอเชียซึ่งถูกอ้างว่าลมไม่แรงพอ เช่น อินเดีย  เวียตนาม  ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ ต่างก็กำลังเอาจริงเอาจังกันมาก


 


ในที่นี้ผมขอนำภาพกังหันลมในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ในระดับเส้นรุ้งเดียวกันกับบ้านเรามาลงให้ดู  


 



 


ขอแถมอีกสักนิดครับ ข้อมูลของกรีนพีช จากฮ่องกง[4] บอกว่า กังหันลมขนาด 0.8 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับชาวฮ่องกง ๔๒๐ ครอบครัว  ชาวฮ่องกงโดยเฉลี่ยต่อหัวใช้ไฟฟ้ามากกว่าคนไทยเยอะ ดังนั้นสำหรับคนไทยแล้วอาจได้มากครอบครัวกว่านี้


 


ที่กล่าวมาแล้วเป็นกังหันลมขนาดใหญ่ ที่ใช้เงินลงทุนระดับร้อยล้านบาทต่อตัว   แต่เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (๑๘ พฤษภาคม ๔๙) ว่า  ผู้อำนวยการบริษัท เอสซีไอ เเมนูแฟคเตอร์เรอร์ จำกัด (ซึ่งอยู่ในประเทศไทย) มีแผนจะผลิตกังหันลมบนหลังคาตึกสูงมาจำหน่ายในประเทศไทยและเอเซียภายในปีนี้


 


ข่าวบอกว่า ต้นทุนตกประมาณตัวละ ๙ แสนบาท  ผมค้นข้อมูลเพิ่มเติมจึงขอนำรูปจากเมืองนอกมาให้คนไทยที่ถูกหลอกมานานได้ชมเป็นขวัญตาครับ


 



 


ถ้าบริษัทดังกล่าวไม่มีความมั่นใจในเรื่องความเร็วลม เขาคงไม่กล้าวางแผนถึงขนาดนี้ สำหรับการผลิตไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับความเร็วลมซึ่งเป็นเรื่องละเอียดเกินไปที่จะกล่าวถึงในที่นี้


 


๕. ไม้ฟืน


 


เรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ ๓ ประเด็น คือ


๑. กล่าวเฉพาะจังหวัดสงขลาเพียงจังหวัดเดียว ขณะนี้มีการใช้ไม้ฟืนจากยางพาราในภาคอุตสาหกรรมปีละ ๒.๓ ล้านตัน แต่ประมาณครึ่งหนึ่งต้องขนส่งมาจากจังหวัดข้างเคียงระยะทางประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร ในระยะแรกราคาไม้ฟืนกิโลกรัมละ ๕๐ สตางค์ แต่ขณะได้เพิ่มขึ้นเป็น ๙๐ สตางค์ต่อกิโลกรัม 


คำถามก็คือว่า มันคุ้มกันหรือไม่กับการขนส่งในยุคน้ำมันแพง


 


๒. ในแต่ละปีมีไม้ยางพาราที่สามารถเป็นเชื้อเพลิงได้ แต่ตกค้างอยู่ในสวน เฉพาะในจังหวัดสงขลาเพียงแห่งเดียวประมาณปีละ ๒ แสนตัน ถ้านับทั้งภาคใต้น่าจะถึง ๒ ล้านตัน ยางพวกนี้ต้องตัดทุกปีเพราะอายุแก่เกินไป


คำถามก็คือว่า ทำไมเราไม่ทำโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในระดับตำบล โดยไม่ต้องขนส่งไม้ฟืนไปไกลให้เปลืองน้ำมันเล่นด้วยเล่า


 


เรื่องนี้สอดคล้องตรงเป๋งเลยกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง (๔ ธันวาคม ๒๕๔๐) ในประเด็นการขนส่ง ที่ว่า


"ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้อง ผลิตอาหารของตัวจะต้องทอผ้าใส่ให้ตัวเองสำหรับครอบครัวอย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ  จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร  บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก"


 


๓. กล่าวโดยรวมทั้งภาคใต้ ในช่วง ๕-๖ ปีมานี้ มีที่นารกร้างว่างเปล่าเพิ่มขึ้น ๕ แสนไร่[5]  เนื่องจากขาดแรงงานในการเก็บเกี่ยว และรายได้ต่ำ (พื้นที่นาขนาด ๑๕ ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย ๑๕๐๐ บาทต่อคนต่อปี)


 


ท่านที่เดินทางระหว่างจังหวัด คงจะเห็นว่าสองข้างทางมีที่นาว่างเปล่าอยู่มากมาย (ผมเคยนั่งรถยนต์ในประเทศเยอรมนีประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร แต่ไม่พบที่ดินว่างเปล่าแม้แต่ตารางเมตรเดียว-ไม่ได้เวอร์นะครับ)


 


ถ้าเราเปลี่ยนที่ว่างเหล่านี้มาปลูกไม้โตเร็วเพื่อทำเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องไม่มีตลาด ถ้ารัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายมาสนับสนุน


 


ผมยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่า ไม้ฟื้นกี่ตันจึงจะเพียงพอกับการผลิตไฟฟ้าขนาดเท่านั้นเท่านี้วัตต์  แต่ผมทราบจากข้อมูลของประเทศฟินแลนด์ว่า ไม้ฟืนหนึ่งกิโลกรัม ให้ค่าความร้อนได้เท่ากับน้ำมันเตาครึ่งลิตร ปัจจุบันราคาน้ำมันเตาประมาณ ๒๐ บาทต่อลิตร ดังนั้นมูลค่าทางเศรษฐกิจของไม้ฟืนจึงไม่อาจมองข้ามได้เลย แต่บ้านเรามองข้ามเฉย เพราะอะไร?


 


ถ้าทำได้จริงชาวบ้านในชนบทจะหายยากจนไหม? จะว่างงานไหม? จะต้องอพยพเข้าเมืองให้เกิดผลกระทบทั้งตนเอง การจราจรและชุมชนในเมืองไหม?


 


ผมเพิ่งทราบจากคุณประมวล รุจนเสนีย์ (เมืองไทยรายสัปดาห์ ๒๓ มิถุนายน  ๔๙) ว่า"จริงๆแล้ว ทักษิณยังไม่ทราบเลยว่า จะแก้ความจนด้วยวิธีใด นอกจากสร้างความหวังลวงให้กับชาวรากหญ้าเท่านั้น"


 


อย่างไรก็ตาม เรื่องพลังงานดังกล่าวจะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อทางการไฟฟ้าต้องรับซื้อไฟฟ้าที่ชาวบ้านผลิตได้ เรื่องนี้ในประเทศยุโรปเขาได้ตราเป็นกฎหมายเรียกว่า "Feed in tariff law"   ใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนเดียวหรือกลุ่มคนที่ผลิตไฟฟ้าได้ สามารถขายไฟฟ้าของตนเข้าสู่สายส่งเพื่อให้การไฟฟ้านำไปขายต่อได้โดยอัตโนมัติ  ราคาซื้อขายไฟฟ้าก็เป็นแบบเอื้ออาทร เพื่อคุณภาพชีวิตหรือ "ความสุขของส่วนรวม" และสิ่งแวดล้อม  การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม ไม้ฟืน และเซลแสงอาทิตย์ ถ้าไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าสายส่งรวมได้ก็ไม่สามารถทำได้เลย