Skip to main content

บนเส้นทางแห่งการภาวนา (๑)

คอลัมน์/ชุมชน

Reginald A. Ray เขียน


วิจักขณ์ พานิช แปล


 



 


คนทั่วไปมักจะเข้าใจกันว่า การฝึกจิตภาวนาเป็นกิจกรรมที่แยกขาดออกจากชีวิต หรือบ้างก็เข้าใจว่ามันเป็นกระบวนการการฝึกฝนเพื่อที่จะนำมา "ประยุกต์" ให้เข้ากับชีวิตประจำวัน


 


แต่หากเราลองมองในแง่มุมที่ลึกซึ้งกว่านั้น เราจะพบว่าแท้จริงแล้ว จิตภาวนาคือ "ชีวิตที่แท้" มันเผยให้เราได้สัมผัสถึงวิถีของการเรียนรู้พื้นฐานของจิตใจ เป็นความตระหนักรู้ที่ยิ่งใหญ่ไร้การเปรียบเทียบ เราได้ค้นพบพลังแห่งศักยภาพภายใน และเข้าใจถึงการเลื่อนไหลแห่งเหตุปัจจัยภายนอก ยามที่เราได้นั่งอยู่กับตัวเองบนเบาะสมาธิ เราจะพบว่ามันคือช่วงเวลาที่ทำให้เราได้สัมผัสถึงการดำรงชีวิตที่เต็ม และลุ่มลึกมากกว่าช่วงเวลาใดๆ ในชีวิต


 


ชีวิตปกติประจำวันของผู้คนในโลกสมัยใหม่ต่างก็ถูกจองจำด้วยความคิดที่อยากจะเป็นเหมือนคนอื่น น้อยคนนักที่จะรู้จักให้คุณค่ากับศักยภาพและคุณค่าในตนเอง เราต่างก็สับสนไปกับเสียงภายนอก ตะเกียกตะกายไขว่คว้าเพื่อแสวงหาความมั่นคง ความสะดวกสบาย และการยอมรับจากคนรอบข้าง มองไปทางไหน ใครๆ ก็ดูจะไหลไปในทิศทางเดียวกัน ตามกันไปราวกับเป็นทางเดียวที่ชีวิตสามารถดำเนินไปได้ ไม่มีใครคิดตั้งคำถามว่า ทำไมชีวิตของคนเราถึงต้องยากลำบาก เต็มไปด้วยการต่อสู้ แก่งแย่ง แข่งขันถึงเพียงนั้น ยิ่งตามๆ กันไป อะไรๆ ในใจก็ดูจะไม่ได้สับสนลดน้อยลงไปเลยแม้แต่น้อย ลึกๆ เราต่างก็รู้ว่ามันมีสิ่งที่จริงแท้กว่านั้นในชีวิต


 


ในการฝึกภาวนา เรายอมที่จะวางความเพ้อฝันทะยานอยากไว้ข้างนอก เพื่อที่จะได้เรียนรู้และสัมผัสความสดใหม่ในการดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ ทำให้เราได้เริ่มตระหนักถึงความมหัศจรรย์ของชีวิต อันเต็มไปด้วยอิสรภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และความรื่นรมย์ นั่นคือ ความหมายของชีวิตที่แท้ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพื้นที่ว่างของการเรียนรู้ภายใน และแน่นอนว่าก่อนที่เราจะได้สัมผัสถึงความมหัศจรรย์ที่ว่านั้น เราต้องเต็มใจที่จะลงทุนลงแรงกับการฝึกฝนอย่างเต็มที่ มันหมายถึงการสูญเสียการควบคุมอย่างถึงที่สุด และอัตตาของคุณก็จะยื้อยุดจนเฮือกสุดท้าย แต่อย่างน้อยคุณก็ควรจะมีมุมมองที่ถูกต้องว่า การปฏิบัติธรรมหาใช่เป็นการแสวงหาคำตอบสุดท้าย หรือเป็นความปรารถนาจะบรรลุถึง "จุดหมาย" ในลักษณะของสถานะสูงสุดเหนือจากบ่วงทุกข์ทั้งปวง  แต่การปฏิบัติธรรมคือ "การเดินทาง" เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยการฝึกฝนและการเรียนรู้จากประสบการณ์ในทุกขั้นตอน คุณไม่สามารถจะหาทางลัด หลบเลี่ยงสิ่งที่คุณไม่อยากเจอในตัวเองได้


 


ทุกปีในช่วงฤดูหนาวผมจะนำรีทรีท หรือการฝึกภาวนาเข้มหนึ่งเดือนให้กับคน ๑๕๐ คน นี่คือ "การเดินทาง" ที่คนกลุ่มนั้นได้เรียนรู้และค้นพบร่วมกัน


 


ธรรมะข้อแรก: วิ่งวุ่นหาหลัก หาจุดยืนใหม่ให้กับตนเอง


 


ในการฝึกรีทรีทระยะยาวเช่นนี้ ประสบการณ์แรกที่ผู้เข้าร่วมสัมผัสได้ก็คือ พวกเขาต่างรู้สึกถึงความไม่แน่นอนของประสบการณ์ที่อยู่ตรงหน้า และธรรมะข้อแรกที่พวกเขาต้องเรียนรู้ก็คือ การวิ่งวุ่นพยายามหาเสายึดเกาะหลักใหม่ให้กับตัวเอง ซึ่งไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่ผิดหรือเสียหายอะไร มันเป็นสัญชาตญาณที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทุกคนลงทะเบียน เข้าที่พัก จัดข้าวจัดของ ต่างคนต่างพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


 


หลังจากที่สามารถสร้างความสะดวกสบาย คลายความวุ่นวายใจได้ในระดับหนึ่ง เราจึงเริ่มลงมือปฏิบัติ เราเริ่มรู้สึกลงหลักปักฐาน กระบวนการมองด้านในทำให้เราเห็นถึงแบบแผนความคุ้นชิน ความคิดฟุ้งซ่าน ความกลัว ความคาดหวัง อีกทั้งกลวิธีต่างๆ นานาที่เรางัดเอามาใช้เป็นเกราะกำบังให้กับความเปราะบางที่เราเริ่มรู้สึกจากการปฏิบัติ


 


นอกจากนั้นยังมีความคิดในอีกลักษณะหนึ่งที่มักจะแวะมาเยี่ยมเยียนผู้ปฏิบัติอยู่เสมอ นั่นก็คือการพยายามจะหาคำยืนยันที่ว่า "ฉันทำถูก" เราพยายามชะเง้อมองคนข้างๆ เปรียบเทียบท่านั่งของตัวเอง ใจที่ว้อกแว้กวุ่นหาตารางการปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจว่า ฉันจะทำอะไรถูกต้องเหมือนคนอื่นเขา นั่นถือเป็นสัญญาณเบื้องต้นของการยื้อยุดของอัตตา ที่พยายามจะหาหลักใหม่ให้กับตนเอง อย่างน้อยก็เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยและคุ้นชินเบื้องต้นให้กับการเดินทางอันยาวไกลที่ไม่มีใครรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง


 



"ห้องฝึกภาวนาของนักเรียนและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ"  


 


ธรรมะข้อที่สอง: ความอึดอัด


 


ความรู้สึกปลอดภัยที่เราพยายามสร้างขึ้นสามารถแปรเปลี่ยนเป็นความอึดอัดได้โดยง่าย โดยเฉพาะยามที่เราไม่สามารถหาสิ่งภายนอกมาสร้างความบันเทิงได้เหมือนชีวิตข้างนอก เมื่อเราไม่มีโอกาสแม้กระทั่งจะขยับตัว เดินไปไหนมาไหนได้ตามใจ กล้ามเนื้อก็เริ่มรู้สึกปวดเมื่อย เพื่อนผู้ปฏิบัติที่นั่งอยู่ข้างๆ เริ่มทำให้เรารู้สึกอึดอัด รำคาญใจ ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า เราต้องนั่งนิ่ง ขดตัวเองอยู่บนเบาะนั่งสมาธิแคบๆ เรื่องง่ายๆ อย่างการตามลมหายใจเข้าออกดูจะทำให้ความอึดอัดยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ เราเริ่มรู้สึกถึงแรงต้านจากภายใน ราวกับว่ามันจะระเบิดออกมาเสียให้ได้ เราเริ่มที่จะมีความคิดนึงแว้บเข้ามาเป็นระยะๆ... "พอกันที...ฉันจะออกไปจากที่นี่"


 


นานๆ เข้า ใจเราเริ่มสงบลง คิดอะไรมากไปก็เท่านั้น ไหนๆ ก็ตัดสินใจมาแล้วก็ขอลองดูสักตั้ง เมื่อเราได้ตระหนักว่า มันไม่มีอะไรจะทำ นอกจากการนั่งอยู่กับตัวเอง ความสิ้นหวังไม่มีทางไป จึงพาเรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ เมื่อความคิดฟุ้งซ่านดูจะเบาบางลง ความรู้สึกและอารมณ์ดูจะปรากฏให้เราได้สัมผัสอย่างชัดเจนมากขึ้น เราเริ่มเข้าใจว่าแท้จริงการฝึกภาวนาหาได้มีเป้าหมายเพื่อการกำจัดประสบการณ์อันไม่พึงปรารถนา แต่การภาวนาจะฝึกให้เราสามารถเผชิญกับประสบการณ์เหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น หลายชั่วโมงของการนั่งผ่านไป เราจึงเริ่มใส่ใจกับความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เราเฝ้ามองดูมันอย่างใกล้ชิด สังเกต สำรวจ และสัมผัสมันด้วยใจที่ค่อยๆ เปิดกว้างมากขึ้น


 



"บรรยากาศของการฝึกร่วมกันในวัน Practice Day"


 


ธรรมะข้อที่สาม: ความเงียบ และ ความว่าง


 


หลังจากการปฏิบัติดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง ผู้คนค่อยๆ เริ่มปรับตัวกับตารางการฝึกที่เข้มข้น เรารับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในห้องปฏิบัติอย่างชัดเจน สิ่งแวดล้อมภายในเริ่มถูกสำรวจโดยผู้ปฏิบัติ กระบวนการการเรียนรู้ด้านในค่อยๆก่อตัวขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน


 


ในตอนเช้ายามที่เราเดินเข้ามานั่งในห้องปฏิบัติ เราเริ่มสังเกตถึงความนิ่งสงบของสถานที่ เป็นความรื่นรมย์ที่แปลกใหม่แม้มันจะอยู่กับเราได้ไม่นานนักก็ตามที แค่เพียงชั่วครู่โลกที่คุ้นชินแห่งความคิดฟุ้งซ่านก็ดูจะกลับมาเยี่ยมเยือนเราอีกครั้ง


 


ต่อมา ขณะกำลังนั่งตามลมหายใจ สติสะตังเริ่มหลุดหลงไปตามฝันกลางวันที่เราปรุงแต่งขึ้น ทันใดนั้นเราอาจจะตื่นขึ้นจากภวังค์ หันกลับมานั่งตระหนักรู้อยู่กับความเงียบที่รายรอบ  ณ วินาทีนั้นเราเริ่มใฝ่ฝันที่อยากจะสร้างความสัมพันธ์กับพื้นที่ตรงนั้นของจิตใจให้ได้มากขึ้น


 


พอใกล้จะหมดวัน เราอาจจะเริ่มรู้สึกอ่อนล้าจากการวิ่งไล่ตามความคิดฟุ้งซ่านที่มีอยู่เต็มหัว ความพยายามที่จะกลับมาตามลมหายใจดูจะไม่เป็นผล คุณรู้สึกศิโรราบ ล้มเลิกความพยายาม และยอมแพ้  เมื่อนั้นเรากลับพบตัวเองนั่งอยู่ในความสงบนิ่งโดยสมบูรณ์ ตระหนักรู้ถึงลมหายใจที่แผ่วเบาของเพื่อนข้างๆ สังเกตแสงเทียนริบหรี่หน้าพระพุทธรูป ได้ยินเสียงลมพัดกระทบทิวไม้นอกหน้าต่าง...


 


ยิ่งเราสัมผัสได้ถึงความเงียบในห้องปฏิบัติได้มากเท่าไร เราก็ยิ่งสังเกตเห็นว่ามันไม่ใช่ความเงียบที่เราเคยรู้จักเสียแล้ว ตามปกติความเงียบเป็นช่องว่างระหว่างความคิดที่เราไม่ชอบเอาเสียเลย ความเงียบระหว่างบทสนทนาทำเรารู้สึกเคอะเขิน เรามักจะมองความเงียบเป็นการรบกวนแผนการทางความคิดที่นำมาซึ่งความรำคาญใจ น่าแปลกเหลือเกินที่ความเงียบในห้องปฏิบัติดูจะแตกต่างออกไป เรารู้สึกถึงความลึกซึ้ง ความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของชีวิตด้านใน ความนิ่งสงบใสของจิตทำเอาเรารู้สึกราวกับว่า ณ วินาทีนั้นไม่มีสิ่งใดเคยเกิดขึ้น และไม่จำเป็นที่จะต้องมีสิ่งใดเกิดขึ้นอีกต่อไป นั่นคือชั่วขณะแห่งความรู้สึกเต็มเปี่ยมในชีวิต ที่เกิดขึ้นจากการตระหนักรู้ในศักยภาพภายในของเรา เรารู้สึกถึงจิตใจที่ขยายกว้าง ไร้เมฆหมอกขวางกั้น เป็นพื้นที่ว่างที่เปิดให้ประสบการณ์ใดๆ ในชีวิตได้ผ่านเข้ามาให้เราเรียนรู้โดยสะดวก ความเงียบหาใช่ความน่าเบื่อ ว่างเปล่าไม่มีอะไร ตรงกันข้าม ประสบการณ์ของการเข้าสู่ความเงียบภายในของชีวิตช่างดูมีชีวิตชีวา รื่นรมย์ และ "ตื่น"เป็นอย่างยิ่ง


 


พอมาถึงจุดนี้ ความรู้สึกที่มีต่อการปฏิบัติภาวนาดูจะต่างไปจากเดิม วันแรกๆ เรารู้สึกไม่เป็นธรรมชาติ อะไรๆ ก็ดูจะเกร็งและติดขัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ อันรายล้อมไปด้วยผู้คนแปลกๆที่แสนจะน่ารำคาญ เวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับความคิดที่จะกลับไปสู่พื้นที่กว้างของชีวิตข้างนอก พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ดึงดูดใจ ให้ความบันเทิง แต่พอมาตอนนี้พื้นที่ในห้องปฏิบัติดูจะค่อยๆกว้างใหญ่ขึ้นกว่าขอบเขตจำกัดของโลกภายนอกเสียอีก เรารู้สึกถึงอิสรภาพที่จะไปสัมผัสมุมต่างๆของชีวิตได้อย่างเสรี เป็นการออกสำรวจความเป็นไปได้อย่างไร้ขอบเขตในแง่ของประสบการณ์ตรง  เป็นการค้นพบที่สดใหม่ อันดูจะตรงกันข้ามกับกระแสแห่งโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยวงจรที่ซ้ำวนไปมาอย่างไม่รู้จบ


 


การเข้าสู่พื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้ภายในต้องอาศัยประตูแห่งความวิเวก บ่ายวันหนึ่งขณะที่ลมพัดเอาหิมะลอยกระทบหน้าต่างของห้องปฏิบัติ ความเงียบพาผู้เขียนเข้าไปสัมผัสถึงความโดดเดี่ยวที่ผู้ปฏิบัติภาวนาต่างรู้สึกร่วมกัน เราต่างคนต่างก็ก้าวเดินบนเส้นทางแห่งการแสวงหาคุณค่า และการเรียนรู้ของชีวิตนี้อย่างโดดเดี่ยว ประสบการณ์และการค้นพบของแต่ละคนไม่สามารถที่จะนำมาเปรียบเทียบกันได้ อาจกล่าวได้ว่าเรามีชีวิตอยู่บนคนละโลก หรือคนละจักรวาลเลยทีเดียว ความเข้าใจตรงนี้อาจนำมาซึ่งความเศร้าลึกๆ แต่กระนั้นมันก็ทำให้เรารู้จักเรียนรู้ที่จะเคารพและชื่นชม ในเส้นทางการปฏิบัติฝึกฝนของกันและกันอย่างเต็มหัวใจ  


 


(ติดตามอ่านตอนต่อไป)