Skip to main content

พาเหรดสีรุ้ง

คอลัมน์/ชุมชน

ไม่ได้ส่งต้นฉบับผู้หญิงสีรุ้งเสียนานค่ะ วันนี้พอดีมีเวลาว่างเลยแวบมาเขียนค่ะ ความจริงเดือนมิถุนายนนี้ เป็นเดือนที่มีความหมายต่อชาว LGBT ผู้มีความหลากหลายทางเพศมากเลยนะคะ ด้วยความที่เดือนนี้ เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิของชาว LGBT ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์


 


จากที่เคยอยู่ๆ กันมา จะถูกข่มเหง ด่าว่าอย่างไรก็ได้ มานานพอสมควร


 


ค่ำคืนของวันที่ 27 มิถุนายน 2512 ณ บาร์เกย์ชื่อสโตนวอลล์ ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ชาว LGBTที่ถูกตำรวจหาเรื่องทำร้ายอยู่เนืองๆ ก็เลยพากันลุกขึ้นมาโต้ตอบกลับไปบ้าง


 


จนกลายเป็นที่มาของการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนับเป็นกระแสที่สามของการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่มคนที่เสียเปรียบในสังคมอเมริกัน ในช่วงปี 1960 ถัดจากการรวมตัวของชนกลุ่มผิวดำ และกลุ่มสิทธิสตรี


 


ปัจจุบัน บาร์สโตนวอลล์รวมทั้งพื้นที่บริเวณใกล้เคียงได้ถูกกองโบราณสถานของสหรัฐฯ จดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานของชาติไปแล้ว


 


                               


 


ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายในเดือนมิถุนายน ณ ถนนสายที่ห้า ของมหานครนิวยอร์ค จึงคราคร่ำไปด้วย ชายหญิงรักต่างเพศ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่เข้าใจเคารพในวิถีชีวิตที่แตกต่างของคนกลุ่มนี้ รวมทั้งหญิงรักหญิง ชายรักชายเอง ที่ภาคภูมิใจและมองเห็นคุณค่าของตนเองพากันออกมาเดินขบวนพาเหรดที่ประดับประดาด้วยสีรุ้งอันแสดงถึงความหลากหลายของผู้คนบนโลกนี้


 


   


 


แต่ที่เมืองไทย งานไพรด์ของเราจะมีในช่วงปลายปีแทน และเป็นงานในลักษณะรื่นเริงสังสรรค์สนุกสนานเสียมากกว่า และเรื่องการเรียกร้องสิทธิของชาว LGBT ในเมืองไทย ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่านี้ ทั้งเวลาสำหรับสังคมไทยและสำหรับชาว LGBT เอง ที่จะตระหนักในเรื่องดังกล่าว จะว่าไปสถานการณ์เรื่องสิทธิของ LGBTที่เมืองไทยกับประเทศอื่นๆ มีความแตกต่างกันอยู่ไม่ใช่น้อย


 


อย่างที่เคยเขียนในผู้หญิงสีรุ้งตอนก่อนๆ ไง หญิงรักหญิงชายรักชาย พวกเราสบายดี?? และกรุงเทพฯ ก็เป็นที่รับรู้กัน (ในหมู่เกย์ว่า) เป็นสวรรค์ของชาวเกย์ ก็แล้วจะไปเรียกร้องอะไร แม้จะมีกรณีเช่นว่ากระทรวงวัฒนธรรมจะออกกฎไม่รับ LGBT เข้ารับราชการทำงานก็เถอะ


 


"แค่นี้สังคมไทยก็ให้ความเมตตากับพวกเรามากแล้ว อยู่เงียบๆ ดีกว่า เดี๋ยวเขาหมั่นไส้เอา" หญิงรักหญิง ชายรักชายส่วนใหญ่ที่ผู้เขียนรู้จักมักคิดเช่นนี้


 


เพราะเราไม่ได้รู้สึกว่าตนเองถูกเลือกปฏิบัติจากสังคมนั่นเอง งานไพรด์ของเมืองไทยจึงแตกต่างจากที่อื่นๆ เช่น งานไพรด์ของต่างประเทศ คนที่มาเดินในพาเหรด นอกเหนือจากคนที่เป็นเกย์-เลสเบี้ยนเองแล้ว ก็ยังเป็นคนที่ไม่ใช่เกย์ ไม่ใช่เลสเบี้ยนที่เข้าใจ เคารพในความแตกต่างของมนุษย์ มาร่วมเดินด้วย โดยเฉพาะกลุ่มพ่อแม่พี่น้องที่มีลูกเป็นประชากรสีรุ้ง  การแต่งตัวก็มีทั้งแต่งกันง่ายๆ ธรรมดา ไม่ได้เริ่ดหรูอลังการเช่นที่เห็นในภาพข่าวทางทีวีอะไรเลย ขณะที่ขบวนพาเหรดในเมืองไทย จะต้องแต่งตัวกันแบบให้จำหน้ากันไม่ได้ และคนที่อยู่ในพาเหรดส่วนใหญ่ก็มักเป็นคนที่ทำงานในร้านค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับเกย์เสียมากกว่า


 


และหญิงรักหญิงชายรักชายธรรมดาๆ ส่วนใหญ่เท่าที่ทราบคือไม่ค่อยมีใครกล้าเดินในพาเหรดนั้นสักเท่าไร ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ากลุ่ม LGBT ชาวไทยส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนที่สามารถเปิดเผยตัวได้ เรื่องให้ลงไปเดินอยู่ในขบวนพาเหรดจึงเลิกคิดไปได้เลย


 


อย่างมากก็แค่ไปยืนอยู่ตามข้างถนนดูผู้คนในขบวนขำๆ เท่านั้นเอง


 


งานไพรด์ที่เมืองไทย จึงเป็นงานที่หญิงรักหญิงชายรักชายรู้สึกว่าเป็นงานอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่เกี่ยวกับตัวเราแม้แต่น้อย


 


ภาพประกอบเรื่องจากเว็บ http://www.gbpflag.org