Skip to main content

คนเล็กตัดใหญ่

คอลัมน์/ชุมชน

ในระดับบุคคล เราอาจจะเคยได้ยินคนบ่นกันบ้างว่า คนเล็ก ๆ อย่างเราจะไปสู้อะไรกับเขาได้ หรือหากเป็นในระดับประเทศในฐานะที่เกิดมาในประเทศไทยพอไปเทียบกับมหาอำนาจ เราก็มักจะพูดว่า ประเทศเล็ก ๆ อย่างเราจะไปสู้อะไรกับเขาได้ เมื่อคิดได้ดังนี้ หลายคนก็พาลไม่สู้และยอมจำนนต่อคนใหญ่ หรือประเทศใหญ่ไปเสียอย่างนั้นเอง


หัวเรื่องวันนี้อาจจะดูคล้ายเป็นชื่อหนังที่โจว ซิง ฉือ ดาราตัวเล็กหน้าทะเล้นของฮ่องกงเล่นอยู่บ้าง แต่เนื้อหาคงไม่ใช่เรื่องหนังเพราะในที่นี้อยากจะยกตัวอย่างให้เห็นว่า คนตัวเล็ก หรือประเทศเล็กนั้นสามารถต่อกรกับคนใหญ่หรือประเทศมหาอำนาจได้ และกระทั่งสามารถเอาชัยชนะเหนือในการทำสงครามกับมหาอำนาจได้ด้วยกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่น้อยกว่ามากด้วย ขอเพียงไม่ยอมจำนน นั่นคือ การเอาชนะเหนืออเมริกาของเวียดนาม


ในปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ประเทศเวียดนามได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี การได้ชัยชนะเหนืออเมริกาที่เข้าไปปกครองเวียดนามใต้อยู่ โดยในวันที่ 10 มีนาคม 1975 (2518) นี้ถือเป็นวันเริ่มต้นแห่งชัยชนะเพราะกองกำลังจากเวียดนามเหนือที่เรียกว่า เวียดกงนั้นสามารถโจมตีฐานทัพของอเมริกาที่จังหวัดบวน มา ถวต (Boun Ma Thout ) ซึ่งเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญของกองทัพสหรัฐฯ ทางตอนกลางของเวียดนาม ที่มีทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ และอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัยกว่าของเวียดนามมากลงไป ชัยชนะที่นี่จึงเป็นขวัญและกำลังใจอย่างมากให้เวียดกงเคลื่อนกองกำลังไปลงใต้ไปเรื่อย ๆ จนสามารถยึดไซ่ง่อน และได้ชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จ และชาวอเมริกันชุดสุดท้ายอพยพออกจากเวียดนามในวันที่ 30 เมษายนในปีเดียวกัน


ชัยชนะของเวียดนามนั้นมีนัยสำคัญอยู่ 2-3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ ประการแรกทำให้เวียดนามได้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง ไม่มีเวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้อีกต่อไป


ประการต่อมา คือการได้ปลดปล่อยจากการตกอยู่ใต้อาณัติของประเทศมหาอำนาจ และได้รับอิสรภาพและมีอำนาจอธิปไตยที่จะปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตามประวัติศาสตร์เวียดนามนั้นต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรืออำนาจของประเทศมหาอำนาจมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนมานานนับพันปี พ้นจากจีนก็เป็นฝรั่งเศส ต่อจากฝรั่งเศส ก็เป็นญี่ปุ่น และสุดท้ายเป็นอเมริกา ดังนั้นสิ่งที่เวียดนามโหยหามากก็คือ อิสรภาพ และเสรีภาพ ในช่วงที่ต้องต่อสู้กับอเมริกานั้น มีคำขวัญที่เขียนปลุกใจผู้คนให้มุ่งมั่นและมีกำลังที่จะรบชนะให้ได้เอาไว้ว่า " ไม่มีสิ่งใดมีค่ายิ่งกว่าอิสรภาพและเสรีภาพ "


ประการสุดท้าย คือชัยชนะในครั้งนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงสปิริตของคนเวียดนามที่มีใจมุ่งมั่น แม้กำลังที่มีอยู่น้อยกว่าและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ด้อยกว่า แต่ด้วยความอดทนและการใช้สติปัญญาหายุทธวิธีที่จะต่อสู้ในแบบที่มีกำลังน้อยกว่า และสุดท้ายก็ทำให้ฝ่ายอเมริกันต้องถอนทัพกลับไปในที่สุด และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของเวียดนามที่ได้ร่วมแรงและการต่อสู้กับมหาอำนาจแล้วได้ชัยชนะ ในการสู้รบกับฝรั่งเศสนั้นก็ได้ทำให้เห็นแล้วว่า " เข็นครกขึ้นภูเขา " เป็นเรื่องที่ทำได้ ดังปรากฏให้เห็นในการได้ชัยชนะที่เดียนเบียนฟูจนสามารถขับไล่ฝรั่งเศสออกไปได้ในที่สุด ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเวียดนามก็มีงานรำลึกครบรอบ 50 ปีการเอาชนะฝรั่งเศส


นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่แสดงให้เห็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ การมีจำนวนกองกำลังมหาศาลนั้น ในบางครั้งก็ไม่สามารถเป็นคำตอบของการประสบความสำเร็จได้ ว่ากันว่าระเบิดที่อเมริกานำไปถล่มเวียดนามนั้นเฉพาะที่เวียดนามเหนือเพียงอย่างเดียวก็มีจำนวนถึง 650,000 ตัน ซึ่งมากกว่าจำนวนระเบิดที่ถูกนำไปใช้ในภูมิภาคแปซิฟิคในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก และระเบิดที่ถูกทิ้งลงไปทั้งในเวียดนามเหนือและใต้ทั้งหมดมีจำนวนถึง 1,840,000 ตัน มากกว่าจำนวนที่ใช้ในยุโรปและแปซิฟิครวมกันในสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก กระนั้นสุดท้ายอเมริกาก็ต้องมาพลาดท่าให้กับเวียดนาม


เห็นเรื่องนี้แล้ว มีประเด็นที่คิดว่าเป็นบทเรียนหรือข้อสังเกตสำหรับประเทศเล็ก ๆ และคนเล็ก ๆ อย่างเราได้ว่า การใช้กำลังหรือมีกองกำลังมากแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะมีชัยชนะหรือจะแก้ปัญหาได้


ตัวอย่างการเสริมกำลังลงไปที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ก็ไม่แน่ใจว่าจะเอาเข้าไปแก้ปัญหาในเรื่องใด เพราะในที่สุดก็จะเกิดอาการมีกำลังแล้วต้องใช้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นย่อมตกอยู่กับผู้บริสุทธิ์ อย่างเช่นการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ในเวียดนามหรือการโปรยฝนเหลือง ( agent orange) ลงไปเพื่อทำลายฐานที่มั่นของกองทัพเวียดนาม ซึ่งในที่สุดคนที่ได้รับผลอันนี้กลับกลายเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ล้วน ๆ


ข้อสังเกตประการที่สองก็คือ ในขณะที่ประเทศถูกแบ่งแยกออกไปเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ โดยอยู่ภายใต้การปกครองในสองระบอบ ผู้นำของเวียดนามก็พยายามอย่างยิ่งที่จะรวมประเทศและสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในประเทศให้ได้ แต่ในขณะที่ประเทศไทยเองนั้น ผู้คนต่างรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวและรู้รักประเทศชาติอยู่แล้ว แต่จู่ ๆ ก็มาถูกชี้นำให้แบ่งแยกกันเอง


เริ่มจากว่าถ้าใครไม่ได้อยู่ใน 19 ล้านคนถือว่าไม่ใช่พวกหรือเป็นอีกพวก หรือร้ายกว่านั้นถือว่าไม่รักชาติด้วยซ้ำ คนที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม หรือเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้บริสุทธิ์ในเหตุการณ์กรือเซะ หรือตากใบเป็นพวกไม่รักชาติ หรือรับเงินต่างชาติเข้ามาบ่อนทำลายประเทศตัวเอง นอกจากนั้นใครคิดต่าง หรือออกมาทักท้วงนโยบายของรัฐก็ไม่ใช่พวก ดังนั้น ทำให้ประชาชนผู้รักชาติทั้งหลายที่หลงเชื่อตามคำบอกในทุก ๆ เช้าวันเสาร์ก็คิดตามว่า หากใครคิดต่างหรือพูดไม่ตรงดังคำกล่าวในเช้าวันเสาร์ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่พวกเดียวกัน ก็เกิดอาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันขึ้นโดยปริยาย นี่ยังไม่นับการจัดโซนจัดสี คล้ายดั่งว่านี่เป็นลูกรัก นี่เป็นลูกชังอีก ซึ่งรังแต่จะสร้างความแบ่งแยกและชิงชังกันเองในที่สุด


ข้อสังเกตประการต่อมาก็คือ อันเนื่องมาจากประเทศไทยนั้นไม่เคยต้องประสบกับสงครามตรง ๆ เช่นนี้ คนไทยจึงไม่เคยระแวงภัยที่จะมาถึงตัว และไม่เคยระแวงว่าต้องตกอยู่ใต้อาณัติของประเทศใด และในโลกสมัยใหม่นี้ การทำสงครามนั้นอาจไม่ใช่สงครามแบบใช้อาวุธถล่มเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสงครามเศรษฐกิจที่กำลังคืบคลานเข้ามา แต่เราก็มิได้ระมัดระวังตัว


ข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่เกิดขึ้น ตัวอย่างที่ไปทำกับจีนซึ่งมี scale ใหญ่กว่าไทยมาก ๆ นั้น จริง ๆ แล้วเรารับมืออย่างไร ทุกวันนี้รู้หรือไม่ว่าไม่เพียงแต่ผลิตผลทางการเกษตรของเราราคาตกต่ำลงแล้ว เรายังต้องกินผักและผลไม้ที่ปนเปื้อนสารพิษมากน้อยแค่ไหน เราต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพต่ำเสี่ยงต่ออันตรายมากขนาดไหน


ในอนาคต เราจะต้องทำเขตการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา รู้หรือไม่ว่ายาจะแพงขึ้นขนาดไหน คนจน ๆ จะเข้าถึงการรักษาได้มากน้อยขนาดไหน หรือแม้แต่ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เป็นบริการให้กับประชาชนจะมีราคาแพงขึ้นขนาดไหน หรือแม้กระทั่งเราต้องเผชิญกับการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต อันเนื่องมาจากการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษก็เป็นได้ เราอาจจะไม่ได้เตรียมตัวตั้งรับกันเลย เพราะมองเห็นเฉพาะสิ่งสะดวกสบายเฉพาะหน้า และเห็นว่านโยบายของรัฐบาลซึ่งถูกบอกให้เชื่อว่าเจ๋งที่สุดเท่าที่มีรัฐบาลมาจึงต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแน่ และที่สำคัญแม้ปัจจุบันอาจมีคนคิดถึงประเด็นนี้อยู่บ้าง แต่การออกมาทักท้วงหรือถกเถียงกลับถูกชิงชังจากสังคมไปแล้ว ด้วยว่าคนนั้นกลายเป็นตัวถ่วงหรือบ่อนทำลายไป หรืออยู่คนละพวก


เหล่านี้ล้วนเป็นสงครามยุคใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับเรา ก็หวนกลับมาถึงตอนต้นที่ว่าแล้วประเทศเล็ก ๆ หรือคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราจะทำอะไรได้ คำตอบก็คือ เราก็เห็นบทเรียนแล้วว่าการต่อสู้นั้นไม่จำเป็นว่ากำลังมากกว่าจึงจะชนะ แต่เราจำเป็นต้องใช้ยุทธวิธี (tactics) ซึ่งหมายความว่าต้องมีสติปัญญาและความมุ่งมั่นที่จะใช้สติปัญญานั้นมาต่อสู้ จึงจะทำให้เราแม้จะเป็นคนเล็ก ๆ ก็จะสู้คนใหญ่ได้


เชื่อว่าประเทศไทยนั้นมีคนฉลาดหรือคนที่มีสติปัญญาอยู่ แต่ว่า คนเหล่านั้นได้ใช้สติปัญญาสู้เพื่อชาติ เพื่อประชาชนโดยรวมหรือเปล่า หรือคนเหล่านั้นได้มีโอกาสได้ใช้สติปัญญาที่มีอยู่เพื่อชาติหรือเปล่า และที่สำคัญ " ความมุ่งมั่น " ที่จะสู้เพื่อชาตินั้นมีอยู่หรือไม่ หรือเพียงว่าได้แค่ระดับตัวเองก็ถือเป็นเสร็จภารกิจไปเสียแล้ว และถ้าเป็นอย่างนี้ก็เชื่อว่า สักวันหนึ่ง เราคงจะเข้าใจคำว่า " ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่เท่าอิสรภาพและเสรีภาพ " ได้อย่างลึกซึ้งแน่