Skip to main content

ค่าไฟฟ้าซ่อนเร้น

มีข่าวว่าค่าไฟฟ้าจะปรับเพิ่มขึ้นมาในเร็วๆ นี้ ผมก็เลยขอเล่าเรื่องการปรับค่าไฟฟ้ามาให้ทราบในสัปดาห์นี้


 


ค่าไฟฟ้ามีองค์ประกอบหลักสามองค์ประกอบด้วยกัน คือ ค่าไฟฟ้าฐาน บวกด้วยค่าเอฟที บวกกับค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม


 


ค่าไฟฟ้าฐาน จะสะท้อนถึงต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า จะปรับทุก ๆ ๓ ถึง ๕ ปี


ค่าเอฟที คือค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งคำนวณจากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงจากค่าไฟฟ้าฐาน


ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดในอัตราร้อยละ ๗ ของมูลค่าไฟฟ้ารวม


 


ค่าเอฟทีได้ขึ้นมาเป็นลำดับดังนี้


 




























































ค่าเอฟทีประจำเดือน


ค่าเอฟที


เปลี่ยนแปลง


ต.ค.๔๓-ม.ค.๔๔            


๐.๐๐


 


ก.พ.๔๔-พ.ค.๔๔           


๒๔.๔๔


๒๔.๔๔


มิ.ย.๔๔-ก.ย.๔๔            


๒๗.๑๓


๒.๖๙


ต.ค.๔๔-ม.ค.๔๕        


๒๒.๗๗ 


(๔.๓๖)


ก.พ.๔๕-พ.ค.๔๕        


๒๑.๙๕  


(๐.๘๒)


มิ.ย.๔๕-ม.ค..๔๖        


๒๑.๙๕  


-


ก.พ.๔๖-พ.ค.๔๖         


๒๖.๑๒


๔.๑๗


มิ.ย.๔๖-ม.ค.๔๗          


๒๖.๑๒


-


ก.พ.๔๗-ก.ย.๔๗        


๓๘.๒๘


๑๒.๑๖


ต.ค.๔๗-พ.ค.๔๘         


๔๓.๒๘ 



มิ.ย.๔๘-ก.ย.๔๘           


๔๖.๘๓   


๓.๕๕


ต.ค.๔๘-ม.ค.๔๙           


๕๖.๘๓  


๑๐


ก.พ.๔๙-พ.ค.๔๙            


๗๕.๘๔


๑๙.๐๑


                


 


จะเห็นว่าค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ ครั้งละสิบกว่าสตางค์ โดยเราไม่สังเกต  คณะกรรมาธิการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจวุฒิสภาได้ติงเรื่องนี้ว่าการที่จะให้รัฐวิสาหกิจเข้าไปขายในตลาดหลักทรัพย์ต้องระวังเรื่องอำนาจการผูกขาด เพราะอำนาจการผูกขาดจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะรัฐบาลอ้างว่าจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเน้นให้แข่งขันกับเอกชนได้


 


แต่ลืมไปว่ารัฐวิสาหกิจมีอำนาจการผูกขาดไว้เยอะเช่น ปตท.มีการผูกขาดท่อก๊าซธรรมชาติ ไม่มีเอกชนรายไหนมีสิทธิทำท่อก๊าซธรรมชาติจากปากบ่อไปยังโรงไฟฟ้าแข่งกับ ปตท.ได้


 


ปตท.ก็เลยไม่มีคู่แข่งคิดค่าผ่านท่อโดยไม่มีการลดราคา หากให้มีเอกชนรายอื่นทำท่อก๊าซแข่งกับ ปตท. มีหรือที่จะได้กำไรเป็นแสนล้าน


 


พอประชาชนโวยมากๆ ปตท.ก็เลยทำโฆษณาใหญ่โตว่าเป็นบริษัทติดอันดับโลก ทำกำไรนับแสนล้าน เป็นเงินของพวกเราที่จ่ายค่าไฟฟ้าเอฟทีให้ท่านทั้งนั้น เพราะค่าเอฟทีที่ขึ้นมาท่านได้ไปโดยผ่านทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั้นเอง เพราะค่าไฟฟ้าส่วนใหญ่แปดสิบเปอร์เซ็นต์ใช้เป็นค่าก๊าซธรรมชาติทั้งสิ้น


 


นี่ดีนะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.)โดนศาลปกครองเบรคเสียก่อนไม่ให้เข้าตลาด มิฉะนั้นค่าเอฟทีจะไม่รู้จะขึ้นไปอีกเท่าไร


 


เรียกว่าโดนสองเด้ง เด้งแรกเด้งจาก ปตท. เด้งที่สองเด้งจาก กฟผ. เพราะอำนาจการผูกขาดของ กฟผ. ก็คือสายส่งไฟฟ้านั่นเอง


 


คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าไม่รู้จะทำหน้าที่ได้จริงหรือเปล่า  เพราะหลายครั้งพอประชาชนโวยขึ้นมา ท่านก็บอกว่าเป็นเรื่องของราคาตลาดโลก  ทั้งๆ ที่ค่าผ่านท่อก๊าซน่าจะลดลงได้มากกว่านี้ ไม่เชื่อไปเปรียบเทียบนานาประเทศดูว่ามีองค์การควบคุมดูแลการผูกขาดอย่างไร  นี่ปล่อยให้ ปตท.คิดค่าผ่านท่ออย่างไม่ยั้งมือ ตั้งบริษัทลูกนับหลายสิบบริษัท ไม่รู้ว่าเงินไปไหนบ้าง  ถึงขนาดตั้งบริษัทในหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์กันแล้ว นะโยม


 


เป็นต่างประเทศเขาไม่มีปล่อยให้ทำกำไรเป็นแสนล้าน แล้วประชาชนเดือดร้อนขนาดนี้  เขียนถึงค่าไฟฟ้า ไหงโผล่มาเขียนเรื่องก๊าซธรรมชาติได้อย่างไรกันนะ  ก็เพราะมันอึดอัดใจมานานแล้ว ยิ่งท่านโฆษณาสรรพคุณ ปตท.เยอะมันคันไม้คันมือ มันเจ็บใจเพราะเป็นเงินของเราเหมือนกัน


 


ทำไมไม่เอาท่อก๊าซธรรมชาติแยกออกมาจาก ปตท. แน่จริงอย่าเอาอำนาจผูกขาดไว้ในมือ แล้วปล่อยให้เอกชนรายอื่น เช่น กฟผ.ทำท่อก๊าซแข่งกับ ปตท.ดีไหม  แล้ว กฟผ.ซึ่งเป็นของรัฐร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ต้องแปรรูป จะไม่ต้องขึ้นค่าไฟเลยก็ยังทำได้ ขยายโรงไฟฟ้าโดยไม่ต้องให้รัฐค้ำประกันยังได้เลย


 


ฝากท่านรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดูแลด้วย แต่ไม่รู้ว่า ฯพณฯ ยังถือหุ้น ปตท. อยู่หรือเปล่า แล้วท่านจะกล้าผ่าตัดระบบการคิดค่าผ่านท่อหรือ? หรือแม้กระทั่งปลัดกระทรวงพลังงานผู้กำกับดูแลท่านจะกล้าดูแลค่าผ่านท่อหรือเปล่า เพราะท่านยังเป็นประธานปตท.อยู่


 


นี่เขาเรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเปล่า ใครช่วยตอบที


 


ขออย่างเดียวอย่าอ้างแต่ว่าไม่ขึ้นค่าผ่านท่อมาเลยหลายปีแล้ว แล้วท่านคิดลดราคาบ้างหรือเปล่า ท่านคิดให้เกิดการแข่งขันบ้างหรือเปล่า เพราะกฎหมายการแปรรูปเขาให้กำหนดระยะเวลาในการผูกขาดเอาไว้ ท่านทำอะไรแล้วหรือยัง